xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน เครือข่ายทางการค้าของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ในราชวงศ์ซ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

สมาพันธรัฐตามพรลิงค์อยู่ในช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับยุคราชวงศ์ซ่งตอนปลายที่สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.1818 เมื่อสมาพันธรัฐตามพรลิงค์อ่อนแอลง เมืองตามพรลิงค์อาจจะหาพันธมิตรจากเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือจักรวรรดิ์เขมร จารึกดงแม่นางเมืองที่เขียนเป็นภาษาเขมรหรือขอมโบราณในปีพ.ศ.1710 (จารึกหลักที่ 35) อาจจะเป็นหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์นี้ โดยจารึกกล่าวว่ามหาราชาธิราชหรือมหาราชาศรีธรรมาโศกราช (อโศกมหาราชา) ออกพระราชโองการให้ราชาสุนัตตะแห่งธานยะปุระจัดที่ดินสำหรับสร้างสถูปบรรจุพระอัฐิของกมรเต็ง ชัคตะ ศรีธรรมาโศก (แปลว่าเจ้าจักรวาลเป็นเกียรติให้แก่พระราชาผู้ล่วงลับโดยส่งพระราชสาส์นผ่านเสนาบดี ศรีภูวนาทิตย์ไปให้พระเจ้าสุนัตตะในปีพ.ศ.1710 ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งแม่ทัพในสมาพันธรัฐศรีวิชัย ในช่วงเวลาดังกล่าวในหลิ่งว่ายไต้ต่า (พ.ศ.1731) และจูฟ่านจื้อ (พ.ศ.1768) การเดินทางจากจีนตอนใต้ไปอินเดียต้องอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดลมหนาวมาถึง 2 ครั้ง โดยใช้ลมมรสุมแรกเดินทางจากจีนไปแวะพักที่ทางเหนือของเกาะสุมาตราเพื่อรอลมมรสุมเดียวกันที่จะพัดในปีต่อไปเดินทางไปยังอินเดีย [Fukami 2004b]

เมื่อมหาราชาจันทรภาณุเห็นว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงจึงตัดสินพระทัยแยกหัวเมืองในแหลมมลายูออกไปในปีพ.ศ.1773 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์ซ่งทำให้เมืองตามพรลิงค์อดีตเมืองขึ้นศรีวิชัยสร้างความยิ่งใหญ่ได้ตั้งแต่เมืองครหิ (ไชยา) ทางเหนือจนถึงปาหังทางใต้โดยเมืองท่าเหล่านี้ให้บริการในเรื่องคลังสินค้า ที่พักลูกเรือและพ่อค้ารวมทั้งตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าที่พ่อค้าชวา จีนและอินเดียต้องการ ลินเนฮันกล่าวว่าตามพรลิงค์มีประชากรหลายเชื้อชาติโดยที่ชาวมลายูปกครอง [Linehan 1973] อาจเป็นเพราะเป็นผู้สืบทอดสมาพันธรัฐศรีวิชัยในแหลมมลายู [So 1998; Wade 2004a]

สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ยังคงสืบทอดประเพณีพุทธศาสนามหายานและพราหมณ์ของสมาพันธรัฐศรีวิชัย ทั้งสองสมาพันธรัฐเป็นสมาพันธรัฐเมืองท่าที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ลัทธิไศวนิกายให้ความเป็นเทวราชากับกษัตริย์ การรับเอาวรรณะกษัตริย์จากอินเดียและการสร้างพระราชวังใหญ่โตมโหฬารเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับราชวงศ์ที่ปกครอง [Kathirithamby-Well 1986] เนื่องจากการเคลื่อนย้ายสินค้าและแรงงานเป็นสิ่งจำเป็น ชนชั้นทางสังคมของศรีวิชัยที่สืบต่อมายังสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ เช่น เจ้าชายและขุนนางเป็นเจ้าเมืองที่ถือครองที่ดิน ตำแหน่งในราชวงศ์ เช่น ราชกุมารจะมีบิดาและมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์ ราชบุตรจะมีมารดาเป็นสามัญชนซึ่งไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ ดาโต๊ะอาศัยอยูในบริเวณใกล้เคียง ฑปุนดาเป็นตำแหน่งที่อาจมาจากพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้นำทางโลกและได้รับตำแหน่งสูงในราชสำนักที่นับถือพุทธมหายานและพราหมณ์ ชนชั้นสูงที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ เช่นปรัตยายะที่ดูแลการคลังของราชวงศ์ นายกะหรือผู้เก็บภาษีรวมทั้งหัวหน้าที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองดินแดนรอบนอก [Kathirithamby-Well 1986]

อย่างไรก็ตามชนชั้นสูงใหม่ที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ เช่นโอรัง คะยา (เศรษฐี) ที่ร่ำรวยจากการค้าขายเริ่มก่อตัวขึ้นในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์และมีตำแหน่งเจ้ากระทรวงเกิดขึ้นมาใหม่ เช่น บันดาหรา ตำมะหงง บันดาหรีและลักษมาณา [Kathirithamby-Well 1986] บิลลี่ โซ คีลงทบทวนเอกสารจีนที่เกี่ยวกับศรีวิชัยใหม่และสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยเสื่อมลง [So 1988] พ่อค้าจีนมีเสรีภาพในการเดินทางไปค้าขายในต่างประเทศ ทำให้การส่งบรรณาการแบบรัฐต่อรัฐไม่มีความจำเป็นในการดำรงสถานภาพทางการค้า นอกจากพ่อค้าจีนแล้ว พ่อค้าอินเดีย ศรีลังกา อาหรับและเปอร์เซียอาจเดินทางมาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายู ฮารดี้และซาคารอฟ [Hardy 2019; Zakharov 2019] เสนอว่าอาณาจักรจามปาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ใช่สมาพันธรัฐแบบที่นักวิชาการรุ่นเก่าเข้าใจโดยมีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับโลกมลายู (นูซันตารา) โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการค้านี้ซึ่งเชื่อมกับแหลมมลายูและชวาไปยังอินเดียและจีน จามปาได้รับประโยชน์จากการค้าขายในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย มีการอพยพไปมาระหว่างชาวจามจากชายฝั่งเวียดนามและชาวมลายูในแหลมมลายูมากว่า 2000 ปีแล้ว ดังนั้นชาวจามยังคงอพยพมายังเมืองต่างๆในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์โดยที่บางส่วนตั้งถิ่นฐานเหมือนกับบรรพบุรุษของตนในยุคศรีวิชัย

เครือข่ายทางการค้าของสมาพันธรัฐนครศรีธรรมราชในราชวงศ์หยวน
สมาพันธรัฐนครศรีธรรมราชอยู่ร่วมสมัยกับราชวงศ์หยวนหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากตามพรลิงค์สู่นครศรีธรรมราชเมื่อมหาราชาจันทรภาณุและราชบุตรไม่เสด็จกลับมาจากศรีลังกาสอดคล้องกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชที่เขียนขึ้นในปีพ.ศ.2171 โดยศรีมหาราชา [Munro-Hay 2001] เต้าอี้จาจื้อ อี้หยูจื้อและจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชยืนยันการมีอยู่ของสมาพันธรัฐนี้ รีดกล่าวว่าพ่อค้าชาวอินเดียและอาหรับมักจะแลกเปลี่ยนสินค้าตามเมืองท่าฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย เช่น ปาไซ อาเจะห์ พะโค (หงสาวดี) มะริด ตะนาวศรี เคดาห์และมะละกาส่วนพ่อค้าจีนจะมาค้าขายที่อยุธยา ปัตตานี บรูไน มะนิลา มะละกาและเมืองท่าในเกาะชวา และพ่อค้าชาวอินเดียมักจะไม่เข้ามาค้าขายที่อยุธยาและชวา [Reid 1980] แต่การสำรวจดีเอ็นเอของคุตานันและคณะยืนยันว่ามีชาวอินเดียเข้ามาอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว [Kutanun et al 2018] เครือข่ายการค้าของสมาพันธรัฐนครศรีธรรมราชยังคงเชื่อมกับแหลมมลายูและชวาไปยังอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง แต่ในยุคนี้พ่อค้าชาวจีนและเรือสินค้าจีนออกค้าขายยังทะเลใต้และมหาสมุทรอินเดียมาก เมืองในสมาพันธรัฐจึงไม่มีบทบาทในการขนถ่ายสินค้า (Transshipment) แต่เป็นเพียงผู้นำเข้าระหว่างเมืองชายฝั่งแหลมมลายูตะวันออกกับจีนเป็นหลัก

เอกสารอ้างอิง
Fukami Sumio, 深見純生. (2004b). Passage of Emporium: The Malacca Straits during the Yuan Period 元代のマラッカ海峡-通路か拠点か. Southeast Asia: History and Culture, 33, 100–118.
Hardy, A. (2019).. Champa, Integrating Kingdom, Mechanism of Political Integration in a Southeast Asian Segmentary State 15th Century In A. Griffiths, A. Hardy, & G. Wade, Champa Territories and Networks of a Southeast Asian Kingdom (pp. 221-252). Paris: EFEO.
Kathirithamby-Wells, J. (1986). Royal Authority and the Orang Kaya in the Western Archipelago, Circa 1500–1800. Journal of Southeast Asian Studies, 17(2), 256–267.
Kutanun et al. (2018) New insights from Thailand into the maternal genetic history of Mainland Southeast Asia. European Journal of Human Genetic, 26, 898-911
Linehan, W. (1973). History of Pahang. MBRAS.
Munro-Hay, S. (2001). Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Pattaya: White Lotus
Reid, A. (1980). The Structure of Cities in Southeast Asia, Fifteenth to Seventeenth Centuries. Journal of Southeast Asian Studies, 11(2), 235–250.
So, B. K. (Su Jilang 蘇基朗). (1998). Dissolving Hegemony or Changing Trade Pattern? Images of Srivijaya in the Chinese Sources of Twelfth and Thirteenth Centuries. Journal of Southeast Asian Studies, 29(2), 295–308.
Wade, G. (2004). From Chaiya to Pahang: The Eastern Seaboard of the Peninsula as Recorded in Classical Chinese Texts. In D. Perret, A. Sisuchat, & T. Sombun, Études sur l'histoire du sultanat de Patani (pp. 37-78). Paris: EFEO.
Zakharov, A. O. (2019). Was the Early History of Canpa Really Revised: A Reassessment of the Classical Narratives of Linyi and the 6th-8th Century Campa Kingdom. In A. Griffiths, A. Hardy, & G. Wade, Champa Territories and Networks of a Southeast Asian Kingdom (pp. 147-157). Paris: EFEO.



กำลังโหลดความคิดเห็น