บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ พระนคร
กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๘
เรียน พี่น้องปวงชนชาวไทยผู้รักชาติรักแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ
เรื่อง การปกป้องดินแดนของราชอาณาจักรไทยบริเวณปราสาทตาเมือนธม
ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งให้กองทัพภาคที่ ๒ ถอนกำลังจากบริเวณปราสามตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ โดยอ้างว่าเพื่อลดการเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังของราขอาณาจักรไทยกับประเทศกัมพูชา และให้ใช้ MOU 43 เป็นกรอบการเจรจากรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งพวกเราไม่อาจเห็นด้วยกับการสั่งการดังกล่าวได้ ซึ่งการกระทำของนายภูมิธรรมฯ เป็นการกระทำที่ะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างร้ายแรงที่จะทำให้ราชอาณาจักรไทยสูญเสียดินแดนได้ในอนาคต เพราะประเทศกัมพูชาจะนำการสั่งการดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ในเวทีนานาชาติในการรุกล้ำดินแดนของประเทศเรา อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกราชอาณาจักร พวกเราจึงขอให้ข้อมูลทางวิชาการทั้งในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนไทยบริเวณปราสาทตาเมือนธมแก่ปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรี และกองทัพไทยดังนี้
๑. ปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่บริเวณช่องเขาตาเมือน เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ ๘ ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งหากพิจารณาตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ แล้ว บริเวณปราสาทตาเมือนธมทั้งหมดอยู่หลังแนวสันปันน้ำบนบริเวณพื้นที่ของราชอาณาจักรไทย แม้การกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศจะยังไม่ลุล่วงในบางพื้นที่ แต่หลักการเรื่องการใช้สันปันน้ำนั้นชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้หลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) ทำให้ประเทศไทยอ้างเรื่องสันปันน้ำไม่ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่รวมถึงปราสาทตาเมือนธมหรือพื้นที่อื่น ๆ แต่อย่างใด
๒. กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนธมเป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วย โบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิทธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๗) อันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนกับปราสาทตาเมือนธมโดยประเทศกัมพูชาไม่ได้โต้แย้งมากว่า ๙๐ ปีแล้วซึ่งการที่ประเทศกัมพูชาไม่เคยทักท้วงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของไทยมาตลอดระยะเวลากว่า ๙๐ ปีนี้ย่อมนานพอที่จะถือว่ามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปราสาทที่อาจกล่าวได้ตามหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) ซึ่งประเทศกัมพูชาจะไม่สามารถอ้างว่าปราสาทตามเมือนธมอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนได้
๓. การนำเรื่อง MOU43 มาใช้แก่การบริหารจัดการปราสาทตาเมือนธมเป็นการนำเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนทางบกมาปะปนกับการดูแลโบราณสถาน การที่ทหารกัมพูชาและประชาชนชาวกัมพูชารุกล้ำและมีพฤติกรรมไม่ถูกต้องเป็นเรื่องที่เกิดบริเวณที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ชาวกัมพูชาซึ่งปรากฏตัวที่ปราสาทตาเมือนธมและมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายไทยมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาท และผิดระเบียบข้อบังคับการเข้าชมโบราณสถาน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปห้ามปรามการกระทำดังกล่าวได้ หากจะมีการปะทะกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเจ้าหน้าที่ไทยที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ตราบเท่าที่การกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งการนำMOU43 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีการตั้งคณะกรรมการหารือกัน จึงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงประเด็นและอาจทำให้ประเทศกัมพูชากล่าวอ้างได้ว่าราชอาณาจักรไทยยอมรับว่าพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธมเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะก่อปัญหาให้ราชอาณาจักรไทยต้องเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นเรื่องของความประพฤติและการกระทำของทหารกัมพูชาและประชาชนกัมพูชาที่ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามระเบียบการเข้าชมโบราณสถานของราชอาณาจักรไทย
๔. นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า เกรงว่าจะเกิดสงคราม ดูจะเป็นการหวั่นวิตกเกินกว่าเหตุไปมาก การกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้ามีการกระทำหรือการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมระหว่างกัน และหากเป็นการสงครามเกิดขึ้น ต้องเป็นกรณีที่ราชอาณาจักรไทยหรือประเทศกัมพูชาได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ซึ่งการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายของราชอาณาจักรไทยคือ พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง และเข้าร่วมในความขัดแย้งทางอาวุธโดยตรงของราชอาณาจักรไทยครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์คือสงครามเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๐๙ การกล่าวว่าเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่การกล่าวว่าจะเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่สงครามจึงเป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้องและเป็นคนละมิติกัน นอกจากนี้ราชอาณาจักรไทยก็เคยปะทะกับประเทศกัมพูชาในบริเวณแนวชายแดนในคราวมีข้อพิพาทการที่ประเทศกัมพูชาจะขื้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งรุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ปราสาทตาเมือนธมมา แต่ถึงกระนั้นการปะทะกันดังกล่าวก็ยังไม่บานปลายเป็นสงคราม
๕. ในห้วงเวลานี้ ความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาล (และอาจรวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาล) ระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ในระดับดีมาก เห็นได้จากการที่สมเด็จฮุน เซน อดีตผู้นำของประเทศกัมพูชายังเคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยหลังจากที่ได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์ รวมถึงครอบครัวของผู้นำรัฐบาลประเทศไทยก็มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับครอบครัวของผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ยิ่งแทบไม่มีเหตุปัจจัยที่เหตุการณ์ ณ ปราสาทตาเมือนธมจะพัฒนากลายเป็นสงคราม
๖.การกระทำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีคำสั่งให้ทหารถอยออกจากบริเวณปราสาทตาเมือนธม และให้ใช้กรอบตามแนว MOU 43 ในการเจรจาสะท้อนถึงภาวะปราศจากความเป็นผู้นำ ไม่มีความเข้าใจในจุดยืนของตนเอง ไม่เข้าใจข้อกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และไม่รักษาสิทธิผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติบ้านเมือง
๗ . หากการกระทำดังกล่าวของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล นำมาซึ่งการครอบครองพื้นที่ (occupy) โดยกองกำลังหรือประชาชนชาวกัมพูชา เท่ากับประเทศไทยกำลังสูญเสียอธิปไตยในเชิงข้อเท็จจริงเหนือดินแดนบริเวณปราสาทตาเมือนธมไป จึงเป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาเป็นใจ และมิใช่เพียงการกระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการประพฤติมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ เท่านั้น เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๙ ซึ่งระบุให้ ผู้ทำให้เสียอธิปไตยหรือดินแดนแม้เพียงบางส่วนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ด้วยเหตุผลในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว จึงขอให้กำลังใจแก่กองทัพไทยในการทำหน้าที่ปกป้องรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน และปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ จงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งกล้าหาญ ประชาชนจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กสนับสนุนกองทัพอย่างแน่นอน
ด้วยจิตคารวะ
อาจารย์ ดร.วิศรุต สำลีอ่อน
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง
นักวิชาการอิสระ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์