xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทย และเป้าหมายที่แท้จริงของพรรคส้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเราจะได้ผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นผลผลิตของระบอบประชาธิปไตยและเธอมีที่มาอย่างชอบธรรม แต่ความรู้ความสามารถและสติปัญญาของเธอนั้นถูกตั้งคำถามว่า เธอดีพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยกเว้นว่าเพราะเธอเป็นลูกสาวของทักษิณ

ดูจะมีคุณสมบัติข้อนี้เพียงข้อเดียวที่ทำให้เธอเหาะเหินก้าวข้ามนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยทุกคนมาเป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีได้ และนักการเมืองอาวุโสหลายคนในพรรคต้องช่วยประคับประคองเป็นวอลล์เปเปอร์หรือยกคณะไปไหนมาไหนกับเธอ เพื่อช่วยให้ลูกสาวของนายใหญ่สามารถบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น

93 ปีของระบอบประชาธิปไตยจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เราได้นักการเมืองที่มีคุณภาพและคุณธรรมมาปกครองประเทศหรือไม่ บางคนมีฝีปากกล้าแต่ทำไม่เป็น บางคนทำเป็นแต่แสวงหาประโยชน์เข้าส่วนตัว แทบจะมองไม่เห็นเลยว่ามีนักการเมืองคนไหนบ้างที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงๆ ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะมีประชาชนฝ่ายไหนเป็นติ่งก็ตาม 

ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนคณะราษฎรปล้นชิงพระราชอำนาจ เราคงจะทราบจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้น เตรียมที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อส่งมอบให้กับประชาชนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่คณะราษฎรที่รวมกันของนายทหารบางฝ่ายและพลเรือนได้ใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืนทำรัฐประหารชิงสุกก่อนห่ามเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน แต่สุดท้ายพวกเขาก็เกิดความขัดแย้งกันเสียเอง และประชาธิปไตยของไทยก็ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่บัดนั้น

แม้ใครเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่ดีที่สุดแต่จริงๆ แล้ว นักปรัชญาหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยในมุมลบ โดยชี้ให้เห็นข้อจำกัดและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

เพลโต (Plato) มองว่าประชาธิปไตยอาจนำไปสู่ความโกลาหล เนื่องจากให้อำนาจประชาชนที่ขาดความรู้และเหตุผล เขาเชื่อว่าผู้ปกครองควรเป็น “นักปราชญ์” (philosopher-king) ที่มีความรู้และคุณธรรมสูงสุด เหตุผลเพราะประชาชนทั่วไปอาจถูกชักจูงด้วยอารมณ์หรือวาทศิลป์ของนักการเมืองที่มุ่งหาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม

อริสโตเติล (Aristotle) กังวลว่าประชาธิปไตยอาจกลายเป็นการปกครองโดยมวลชนที่ขาดการควบคุม ซึ่งอาจนำไปสู่ความอยุติธรรมหรือการกดขี่กลุ่มน้อย เหตุผลเพราะเขาเห็นว่าประชาธิปไตยที่ไร้การถ่วงดุลอาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ขาดเหตุผลหรือมุ่งตอบสนองความต้องการระยะสั้น

ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) วิพากษ์ว่าประชาธิปไตยส่งเสริมความเท่าเทียมที่ลดทอนความยิ่งใหญ่ของปัจเจกชนที่มีความสามารถโดดเด่น เขาเรียกแนวคิดนี้ว่า “ศีลธรรมฝูงชน” (herd morality) เหตุผลเพราะประชาธิปไตยอาจกดดันให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน ขัดขวางการพัฒนาความเป็นเลิศของบุคคล

คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) มองว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอ่อนแอต่อการถูกใช้ประโยชน์โดยกลุ่มที่มุ่งทำลายระบบ เขาเน้นว่าประชาธิปไตยขาดความเด็ดขาดในการจัดการวิกฤต เหตุผลเพราะการให้ความสำคัญกับฉันทามติและการถกเถียงอาจทำให้รัฐไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) แม้มิลล์จะสนับสนุนประชาธิปไตย แต่เขาก็เตือนถึง “ทรราชย์ของคนส่วนใหญ่” (tyranny of the majority) ที่อาจกดขี่ความคิดเห็นหรือสิทธิของกลุ่มน้อย เหตุผลเพราะเสียงส่วนใหญ่อาจบังคับให้ทุกคนยอมรับค่านิยมหรือความเชื่อเดียวกัน ทำลายเสรีภาพส่วนบุคคล




นักปรัชญาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยอาจมีปัญหา เช่น การตัดสินใจที่ขาดเหตุผล การกดขี่กลุ่มน้อย ความอ่อนแอในภาวะวิกฤต หรือการลดทอนความเป็นเลิศของปัจเจก อย่างไรก็ตาม ทัศนะเหล่านี้มักขึ้นอยู่กับบริบทและอุดมการณ์ของนักปรัชญาแต่ละคน ซึ่งอาจไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง แต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงหรือถ่วงดุลเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง

ก่อนที่คณะราษฎรจะชิงสุกก่อนห่ามและปล้นชิงพระราชอำนาจนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำ และประชาชน โดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง พระองค์ทรงระบุในบันทึกและพระราชหัตถเลขาว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องอาศัยประชาชนที่มีการศึกษาและความพร้อม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกินไปอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคง

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว” และเมื่อเสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกา ทรงยิ่งมั่นใจว่าการพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ “สมควร” นั่นแสดงว่าพระองค์ทรงมีเจตนาที่แน่วแน่ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนอยู่แล้วแบบค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับสังคมไทย และพระองค์ต้องการให้ประชาชนมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่

และความไม่พร้อมของประชาชนก็เป็นความจริง เพราะแม้คณะราษฎรจะปฏิวัติสำเร็จ ก็ส่งมอบประชาธิปไตยให้ประชาชนแบบผ่อนส่ง ช่วงแรก สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) มาสู่รัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม

และกว่าประชาชนจะได้รับการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกก็คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 นานถึง 5 ปีหลังการปฏิวัติ ที่ประชาชนมีผู้แทนสภามาจากการแต่งตั้งของรัฏฐาธิปัตย์มาโดยตลอด

วันนี้ประชาชนมีความพร้อมตามระบอบประชาธิปไตยไหม ก็อาจต้องตอบว่ามีความพร้อม แต่ประชาชนหวงแหนสิทธิของตัวเองไหมก็คงต้องตอบว่า ไม่ เพราะวันนี้นักการเมืองสามารถซื้อสิทธิ์และประชาชนจำนวนมากพร้อมรับเงินขายเสียงเพื่อแลกกับประโยชน์และเงินเพียงเล็กน้อย และทำให้นักการเมืองเข้าไปหาประโยชน์กลับคืนเมื่อได้อำนาจที่ประชาชนมอบให้

ย้อนกลับไปก็ถือว่ายังโชคดีที่วันนั้นคณะราษฎร์ขัดแย้งกันเองระหว่างสายทหารและพลเรือน และขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มทหารอาวุโส (พระยาพหลฯ) กับกลุ่มทหารหนุ่ม (หลวงพิบูลสงคราม) ซึ่งต่อมาแยกตัวชัดเจนเมื่อหลวงพิบูลฯ เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น โชคดีที่วันนั้นปรีดี พนมยงค์ ผลักดันเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาไม่สำเร็จ เพราะไม่นั้นที่ดินทั้งหลายจะตกเป็นของรัฐ และคนไทยต้องทำนารวมกัน

เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ปรีดีต้องการก็คือ สังคมนิยมไม่ใช่ประชาธิปไตย แนวคิดของปรีดีได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสังคมนิยมแบบอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่เขาได้ศึกษาในฝรั่งเศส โดยเฉพาะแนวคิดของ นักสังคมนิยมยูโทเปีย (Utopian Socialism) และลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) ในบางส่วน

ไม่รู้ว่านี่คือสิ่งที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่าจะสืบทอดภารกิจของปรีดีให้สำเร็จหรือไม่ เขาพูดว่า สถานะพลเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 คือการยึดหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการยกสถานะตัวเองจากผู้ที่ถูกปกครองเป็นสู่การเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในการกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีในสังคมไทย

การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภาระกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริง ธงที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2475 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นั่นคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”ธนาธรกล่าวอย่างอหังการ์

นั่นสะท้อนว่า สิ่งที่ธนาธรในฐานะผู้ก่อตั้งอนาคตใหม่และวันนี้กลายเป็นพรรคประชาชนหรือพรรคส้มนั้นมีความต้องการมากกว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ ทั้งที่ทุกวันนี้พระมหากษัตริย์ไทยก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(Constitutional Monarchy )อยู่แล้ว แต่เหมือนว่าสิ่งที่ธนาธรและพวกต้องการนั้นจะมีมากกว่านี้

เช่นที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้

ถ้าเราศึกษาความคิดของนักการเมืองและพรรคการเมืองพรรคส้มที่เป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ เราจะเห็นว่า สิ่งที่เขาต้องการนั้นมากกว่าประชาธิปไตย แต่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิมดังที่พวกเขาประกาศเจตนารมย์เอาไว้อย่างชัดแจ้งก็คือการสืบทอดเจนารมย์ของปรีดีดังที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคลั่นวาจาไว้นั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น