มีคนถามว่าคดีทักษิณจะไปยังไงต่อตามคำแถลงของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็คือให้ผู้เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงมาภายใน 30 วันแล้วพิจารณาจากเอกสารนั้นว่าเพียงพอจะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าพอศาลก็วินิจฉัยได้เลยในวันนัดพร้อมที่ 13 มิถุนายน
แต่ถ้าหลักฐานตามเอกสารยังไม่เพียงพอศาลก็จะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนโดยทำเป็นนัดๆ ไป
ซึ่งผมเห็นว่าการไต่สวนพยานบุคคลประกอบจะตัดข้อครหาในเรื่องการรีบร้อนด่วนวินิจฉัยกรณีเป็นคุณไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเชื่อว่าหลักฐานเอกสารที่ผู้เกี่ยวข้องส่งมาน่าจะไม่เพียงพอในการวินิจฉัยเพราะอาจจะส่งเอกสารเฉพาะที่เป็นคุณต่อฝ่ายตัวเอง ดังนั้นศาลน่าจะต้องทำการไต่สวนให้เป็นที่สิ้นข้อสงสัยเสียก่อนจะวินิจฉัย
ส่วนทางฝ่ายจำเลยเองก็คงให้ทนายยื่นอะไรมาติดในสำนวนลักษณะเป็นคำแถลงเพื่อให้ศาลพิจารณา ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรปิดกั้นยื่นได้ศาลก็จะพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้มาจากหน่วยงานต่างๆ
มีนักกฎหมายบางคนบอกว่า ทักษิณถูกศาลตัดสินแล้วศาลจะมาตัดสินซ้ำไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาโทษซ้ำ แต่ศาลพิจารณาว่าการบังคับโทษของทักษิณนั้นถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือยัง และการนำตัวทักษิณออกมารักษาที่โรงพยาบาลนั้นชอบด้วยกฎหมายไหม
ถ้าดูให้ดีเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายข้อเท็จจริงมีไม่มาก และเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วศาลน่าจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกฎหมายที่ฝ่ายราชทัณฑ์อ้างส่งตัวทักษิณไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตามมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์นั้นเขียนชัดว่าใช้กับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและโรคติดต่อ เช่นเดียวกับกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ใช้อ้างในการส่งตัวทักษิณก็ออกตามมาตรา 55 นี้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากการป่วยของทักษิณที่กรมราชทัณฑ์อ้างมาก็ไม่น่าเข้าข่ายการอ้างมาตรานี้ได้
มาตรา 55 วรรคสองระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้นให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำต่อไป”
ส่วนกฎกระทรวงที่อ้างซึ่งออกตามวรรคสองของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์มาตรา 55 ข้อ 2 ระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว
ขีดเส้นใต้คำว่า “มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อ”
แต่เมื่อทักษิณไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือโรคติดต่อ จึงไม่สามารถใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ส่งตัวทักษิณไปรักษานอกเรือนจำได้ต้องขออนุญาตจากศาลตามกฎหมายวิอาญามาตรา 246 เท่านั้น แทบจะไม่ต้องพิจารณาเลยว่าศักดิ์กฎหมายไหนเหนือกว่ากัน ดูแค่ว่าโรคของทักษิณนั้นเข้าตามมาตรา 55 และกฎกระทรวงที่อ้างหรือไม่เท่านั้นหรือไม่ก็พอก็รอดูว่าศาลจะพิจารณาว่าอย่างไร
ตอนที่ทักษิณลงจากเครื่องบินไม่แสดงอาการป่วยไข้ให้เห็นเลย แต่กลับถูกนำตัวไปโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรกที่ถูกนำตัวไปที่เรือนจำด้วยอาการแน่นหน้าอก, ความดันโลหิตสูง, ระดับออกซิเจนต่ำ, และโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงตลอด 180 วันแพทย์รายงานว่าเขามีอาการป่วยต่อเนื่องรวมถึงการผ่าตัด, ปัญหาหัวใจและปอดที่ต้องเฝ้าระวัง, และอาการที่ต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางโดยในช่วงท้ายมีสัญญาณของการรักษาที่เกี่ยวข้องกับกระดูกหรือข้อ
วันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจระบุว่าทักษิณมีอาการความดันโลหิตสูงและแน่นหน้าอกต่อเนื่องมีอาการเหนื่อยหอบและต้องใช้สายออกซิเจนช่วยหายใจรวมถึงได้รับน้ำเกลือ แพทย์ให้ยาเช่นยาละลายลิ่มเลือด, ยาความดัน, และยาคลายเครียดการตรวจด้วยเครื่อง ECMO พบว่าปอดและหัวใจยังน่าเป็นห่วง แต่ผู้ป่วยยังมีสติและสื่อสารได้แพทย์สั่งงดเยี่ยมทุกกรณีเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
วันที่ 22 ธันวาคม 2566 เมื่อครบ 120 วันกรมราชทัณฑ์ระบุว่าทักษิณยังมีอาการป่วยที่ต้องเฝ้าระวังและต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางต่อไปแพทย์โรงพยาบาลตำรวจส่งรายงานว่าผู้ป่วยยังไม่หายป่วยและต้องอยู่โรงพยาบาลต่อ อธิบดีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้รักษาตัวนอกเรือนจำต่อตามกฎกระทรวง
ทั้งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจและกรมราชทัณฑ์ช่วยกันยืนยันว่าทักษิณป่วยจริงและมีอาการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยอ้างว่าอาจจะถึงแก่ชีวิต แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเวชระเบียนอย่างชัดเจน เนื่องจากอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใส แต่คนทั่วไปสงสัยว่า ทำไมโรงพยาบาลตำรวจถึงต้องใช้เวลารักษานานขนาดนั้น นานจนทักษิณได้พักโทษโดยไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว
นอกจากนั้นทักษิณยังได้เข้ารับการรักษาตัวในห้องรอยัลสูท 1401 ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง ซึ่งเป็นห้องพักที่ดีที่สุดของโรงพยาบาลตำรวจ จนสังคมกล่าวขานกันว่า เป็นนักโทษเทวดา
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเห็นข้อมูลเวชระเบียนที่ชัดเจนและการพักในห้องพิเศษทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการปฏิบัติพิเศษซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งแพทยสภา และป.ป.ช.ซึ่งน่าจะเรียกหลักฐานส่วนนี้มาตรวจสอบได้
มีรายงานว่าวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากที่ผมจะเขียนบทความนี้แพทยสภาจะเปิดเผยผลการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทักษิณ ซึ่งมีรายงานข่าวเล็ดลอดออกมาว่า แพทย์ที่ถูกสอบสวนมาจะมีความผิดฐานเอื้อประโยชน์ต่อทักษิณช่วยให้ไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำ ก็รอดูว่าจะเป็นจริงตามที่ว่ามาไหม
ตอนออกจากโรงพยาบาล ทักษิณใส่ปลอกคอและสะพายแขนอยู่วันสองวันโดยถ่ายรูปให้คนเห็น แล้วสลัดทิ้งไปหลังจากนั้น เขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้เหมือนคนปกติทั่วไป และยังสามารถเล่นกีฬาเช่นกอล์ฟได้ ทั้งที่มีลิ่วล้อบอกว่าทักษิณเอ็นเปื่อยยุ่ยระบุว่ามีการผ่าตัดเจาะรูที่หัวไหล่
ความจริงแล้วตอนที่อ้างเพื่อมานอนโรงพยาบาลแพทย์ก็บอกว่าทักษิณมีอาการหนักที่อาจจะเสียชีวิตจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลมาแล้วถ้าให้เนียนทักษิณน่าจะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกสักระยะไม่ใช่พอออกมาได้ก็โลดแล่นเหมือนกับคนไม่มีอาการป่วยอะไรเลย
ถ้าหากผลการสอบสวนของแพทยสภาออกมาตามที่สังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าทักษิณป่วยทิพย์ ก็จะส่งผลต่อคดีที่ศาลจะนัดไต่สวนด้วย เพราะศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองได้ และศาลสามารถเรียกคนที่เคยอ้างว่าไปเยี่ยมทักษิณถึง 2 ครั้ง และเห็นว่าทักษิณแข็งแรงดีอย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส มาไต่สวนได้
ก็ต้องรอดูว่าผลจะเป็นอย่างไรแต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรบ้านเมืองเราก็กลับมาอยู่ในภาวะของความขัดแย้งต่อไปหากทักษิณจะต้องกลับเข้าไปสู่คุก แต่ก็คงโทษใครไม่ได้เพราะกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายทำผิดก็ต้องรับโทษ
แต่ผลจากการที่ศาลรับวินิจฉัยก็น่าจะทำให้ทักษิณหยุดชะงักที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่เหมือนกับเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองไปสักระยะหนึ่ง และเจ้าหน้าที่แพทย์และราชทัณฑ์ที่โดนคดีในป.ป.ช.ก็คงจะร้อนๆ หนาวๆ ไปด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan