xs
xsm
sm
md
lg

“มาเคียเวลลี-คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง”(ตอนสิบสี่)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลุมศพของมาเคียเวลลีในโบสถ์ซานตาโครเชในเมืองฟลอเรนซ์ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
 
สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”


จากตอนสิบสาม.. หนึ่งปี หลังจาก “โอลีเวรอตโต” สังหาร “โจวันนี ฟอลยานี” ลุงผู้มีพระคุณชุบเลี้ยงเขามา “เซซาร์ บอร์จา” จับกุมชาวออร์ซีนีและชาววีเตลลีที่เซนีกัลเลีย โอลีเวรอตโตก็ถูกจับกุมเช่นกัน เขาถูกฆ่ารัดคอพร้อมกับ “วีเตลลอซโซ” ครูผู้เป็นต้นแบบทั้งด้านคุณธรรมและอาชญากรรม

มาพิจารณาถึง “อกาทอคลีส” อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่อกาทอคลีสและบุคคลเช่นเขา สามารถดำรงชีวิตอยู่บนแผ่นดินปิตุภูมิได้อย่างปลอดภัย หลังจากทรยศหักหลังและป่าเถื่อนโหดร้ายเหลือคณานับ เป็นไปได้อย่างไรที่พวกเขาสามารถป้องกันตนเองจากศัตรูภายนอก มิหนำซ้ำประชาชนยังไม่เคยคิดกบฏต่อเขาเลย การกระทำของเขาร้ายแรงพอๆ กับคนอื่นที่เคยทำแล้ว ทว่าเขาเหล่านั้นไม่สามารถดำรงรักษารัฐของตนไว้ได้แม้ในยามสงบ ไม่ต้องกล่าวถึงยามสงคราม

 มาเคียเวลลีเชื่อว่า เหตุนี้มาจากที่ความป่าเถื่อนโหดร้ายนั้นใช้ในทางเลวหรือดี ในประการที่เรียกได้ว่าดีนั้น (หากความชั่วร้ายจะเรียกได้ว่าดี โดยชอบด้วยกฎหมาย) คือ การกระทำให้เสร็จในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าตนเองจะปลอดภัยหรือไม่ แล้วจากนั้นก็มิดื้อด้านทำต่อไปอีก หากแต่เปลี่ยนให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ข้าแผ่นดินให้มากเท่าที่จะทำได้

 ส่วนความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เรียกว่าใช้ในทางเลวคือ การกระทำที่แม้จะเล็กน้อยในเบื้องต้น หากแต่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับตามกาลเวลา แทนที่จะหยุดยั้งเสีย บรรดาผู้ปฏิบัติตามวิธีแรกจะสามารถบำบัดแก้ไขเพื่อรัฐในปกครองของพวกเขาได้ในบางประการ ทั้งต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์ ดังเช่นอกาทอคลีส ส่วนอีกวิธีการนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้พวกเขารักษาตนเองไว้ได้

ดังนั้น จึงควรเป็นที่สังเกตว่า ในการยึดครองรัฐรัฐหนึ่ง ผู้เข้ายึดครองควรทบทวนการกระทำละเมิดที่เขาจำเป็นต้องทำ และกระทำอย่างฉับพลันในคราวเดียว เพื่อจะได้ไม่ต้องกระทำซ้ำๆ ทุกวัน และการไม่กระทำซ้ำนั้นเป็นการทำให้ผู้คนมั่นใจในความปลอดภัย และนำพาให้พวกเขาเข้ามาเป็นพรรคพวกโดยยังประโยชน์ให้ ผู้ใดก็ตามที่กระทำไปในทางอื่น ไม่ว่าจะด้วยความขลาดกลัวหรือมีที่ปรึกษาเลวทราม จะต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ถือมีดอยู่ในมือเสมอ และยังไม่สามารถวางรากฐานของตนไว้กับข้าแผ่นดินได้อีกด้วย เพราะการประทุษร้ายที่เกิดขึ้นครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง จะทำให้พวกเขาไม่อาจไว้วางใจในผู้ปกครองผู้นั้นได้

 ดังนั้น การประทุษร้ายต้องกระทำให้สำเร็จในคราวเดียว เพราะการได้ลิ้มรสน้อยครั้ง พวกเขาย่อมเจ็บแค้นน้อย ส่วนการให้ผลประโยชน์ต้องค่อยๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยๆ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ลิ้มรสที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

และเหนือสิ่งอื่นใด เจ้าผู้ครองนครควรพำนักอยู่กับข้าแผ่นดินของเขา เพื่อมิให้มีอุบัติการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเลวหรือดี ที่แม้จะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวก็ทำให้เขาต้องเปลี่ยนแปลงสิ้นในบางสิ่ง เพราะเมื่อความจำเป็นมาถึงในเวลาคับขัน จักไม่ทันการณ์ที่จะกระทำในทางชั่วร้าย และสิ่งดีที่ท่านกระทำก็จะไม่ช่วยอะไร เพราะจะถูกวินิจฉัยว่าถูกบังคับให้กระทำ และจะไม่นำมาซึ่งการสำนึกบุญคุญท่านแต่อย่างใด

 9. ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่ได้มาโดยพลเมือง

คราวนี้เรามาถึงในทางกลับกัน เมื่อสามัญชนขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครบนแผ่นดินปิตุภูมิ โดยมิใช่ด้วยความชั่วร้ายหรือความรุนแรงอันเหลือทนใดๆ แต่ด้วยความโปรดปรานของพลเมืองด้วยกัน ที่สนับสนุนให้เขาได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครในแผ่นดินของเขาเอง อันเรียกได้ว่า รัฐภายใต้ผู้ครองนครที่ได้มาโดยพลเมือง (และในการบรรลุเป้าหมายนี้มิจำเป็นต้องอาศัยความเป็นอัจฉริยะหรือโชควาสนาโดยสิ้นเชิง แต่อาศัยไหวพริบอันเฉียบไวและความโชคดี)

มาเคียเวลลีกล่าวว่า การขึ้นครองรัฐแบบนี้เป็นการได้มาโดยการสนับสนุนของประชาชน หรือมิเช่นนั้นก็ด้วยการสนับสนุนจากผู้ทรงอำนาจ ด้วยเหตุที่ในทุกๆ นครมักพบเห็นอารมณ์ความรู้สึกอันแตกต่างกันของสองฝ่ายนี้ ซึ่งจากอารมณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดกรณีที่ประชาชนไม่ปรารถนาที่จะอยู่ภายใต้คำบัญชาหรือการกดขี่ของผู้ทรงอำนาจ ส่วนผู้ทรงอำนาจก็ปรารถนาจะปกครองและกดขี่ประชาชน และความปรารถนาทั้งสองอันตรงกันข้ามกันนี้ จะส่งผลให้เกิดการปกครองนครขึ้นหนึ่งในสามแบบ อันได้แก่ รัฐภายใต้การปกครองของเจ้าผู้ครองนคร หรือรัฐเสรีปกครองตนเอง หรือรัฐอนาธิปไตย

รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครหากไม่ได้มาโดยพลเมือง ก็ได้มาโดยผู้ทรงอำนาจ แล้วแต่ว่าฝ่ายใดจะมีโอกาสนำพาเช่นนั้น เพราะเมื่อผู้ทรงอำนาจเห็นว่าฝ่ายตนไม่สามารถต้านทานฝ่ายประชาชน พวกเขาก็จะเริ่มสร้างชื่อเสียงให้คนใดคนหนึ่งในหมู่ตน แล้วสถาปนาคนนั้นขึ้นมาเป็นเจ้า เพื่อให้พวกเขาสามารถหาทางออกให้กับความตะกละตะกลามของตนได้

และเช่นเดียวกัน เมื่อฝ่ายประชาชนเห็นว่าฝ่ายตนไม่สามารถต้านทานฝ่ายผู้ทรงอำนาจ ก็หาทางสร้างชื่อเสียงแก่คนคนหนึ่ง ยกเขาขึ้นเป็นเจ้า เพื่อป้องกันตนเองโดยอาศัยสิทธิอำนาจของเขาผู้นั้น เขาผู้ซึ่งขึ้นมาเป็นเจ้าผู้ครองนครโดยความช่วยเหลือของผู้ทรงอำนาจ จะรักษาตนไว้ได้ด้วยความยากลำบากกว่าผู้ขึ้นมาเป็นเจ้าโดยความช่วยเหลือจากประชาชน เพราะฝ่ายแรกจะพบว่าตนเองเป็นเจ้าผู้ถูกห้อมล้อมท่ามกลางคนหมู่มากที่มีฐานะเท่าเทียมตน และด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่สามารถออกคำสั่งแก่คนเหล่านั้น และไม่สามารถจัดการให้อยู่ภายใต้การปกครองตามแบบของเขาได้

ในขณะที่ผู้ได้รับสถาปนาขึ้นมาเป็นเจ้าโดยการสนับสนุนของประชาชนจะพบว่า ในระดับชั้นเขามีเพียงตัวเขา และไม่มีผู้ใดหรือมีน้อยคนมากที่ไม่พร้อมจะเชื่อฟังเขา นอกจากนี้ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้ผู้ทรงอำนาจพึงพอใจได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ทำร้ายผู้อื่น ทว่า ผู้ที่ขึ้นมาเป็นเจ้าสามารถทำให้ประชาชนพึงพอใจได้ เพราะจุดหมายของประชาชนนั้นเป็นสิ่งเหมาะสมบังควรกว่าจุดประสงค์ของผู้ทรงอำนาจ ด้วยว่าผู้ทรงอำนาจย่อมปรารถนาที่จะกดขี่ประชาชน และประชาชนไม่ต้องการถูกกดขี่ นอกจากนี้เจ้ายังไม่อาจมั่นคงปลอดภัยท่ามกลางประชาชนที่เป็นศัตรู เพราะคนเหล่านี้มีจำนวนมากกว่า

ส่วนด้านเจ้าผู้ทรงอำนาจสามารถรักษาตนให้มั่นคงปลอดภัยได้เพราะชนกลุ่มนี้มีน้อย สิ่งเลวร้ายที่สุดที่เจ้าคาดการณ์ได้จากประชาชนที่เป็นศัตรูคือการถูกพวกเขาทอดทิ้ง ทว่าด้านผู้ทรงอำนาจเมื่อพวกเขาเป็นศัตรู เจ้าไม่เพียงต้องกลัวการถูกทอดทิ้ง หากแต่ต้องกลัวการต่อต้านจากพวกเขาด้วย เพราะเหล่าผู้ทรงอำนาจนี้มองการณ์ไกลกว่า และมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่า

พวกเขามักหลบหลีกเพื่อรักษาตนเองให้ปลอดภัยได้เสมอ ทั้งยังแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์จากผู้ที่พวกเขาหวังว่าจะชนะ เจ้าจำเป็นต้องพำนักอยู่กับประชาชนหมู่เหล่าเดิมไปตลอด แต่เขาจะทำได้ดีโดยปราศจากผู้ทรงอำนาจคนเดิมๆ เพราะสามารถมอบและปลดอำนาจคนเหล่านี้ได้ทุกวัน และสามารถริบคืนและมอบเกียรติยศชื่อเสียงให้พวกเขาตามอำเภอใจได้อีกด้วย

อ่านบทความ “เจ้าผู้ครองนคร”หรือ“THE PRINCE” ซึ่งเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ “มาเคียเวลลี”ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ การหักหลัง การฆ่าฟันกันอย่างเหี้ยมโหด โดยไม่สนใจเรื่องของบุญคุณ ที่สำคัญมิได้ทำดีหรือทำเพื่อชาติกับประชาชนแม้แต่น้อย ทั้งหมดหวังเพียง อำนาจ.. อำนาจ.. และอำนาจเท่านั้น!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น