xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวของประชาธิปไตย และทางออกจากผู้นำด้อยปัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล
ปุจฉาว่า ประชาธิปไตยไทยมันล้มเหลวหมดแล้ว ล้มจนกระทั่งการเลือกตั้งระบอบเดิมเป็นประชาธิปไตยของนายทุน ร่างออกมาเท่าไหร่ประชาชนไม่เคยได้ดี กลายเป็นประโยชน์ของคนที่เล่นการเมือง เพราะการเมืองพร้อมที่จะมาซื้อเสียงเพื่อเอาอำนาจเข้ามา เพื่อเอาอำนาจนั้นไม่ทำมาหากินต่อไป และเอาอำนาจนั้นไปแบ่งปันให้นายทุนที่อยู่เบื้องหลังคนพวกนี้

ก่อนหน้านี้ เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เคยพูดว่า “ผมว่าถ้าประชาธิปไตยมันเป็นแบบนี้ ผมเสนอท้ายที่สุดเลิกประชาธิปไตยมันเถอะ ถ้าประชาธิปไตยมันชั่วแบบนี้ เลิกประชาธิปไตยกันเถอะครับ” ข้อเสนอของอาจารย์เจษฎ์ได้นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยบางฝ่ายชี้ว่าสิ่งที่อาจารย์เจษฎ์ชี้นำนั้นกำลังกระทำความผิดตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญา

 ทำไมระบอบที่คนทั่วโลกเคยบอกว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุด เมื่อใช้ที่เมืองไทยแล้วมันกลายเป็นระบอบที่เลวร้ายไปได้

 ถามว่า ระบอบประชาธิปไตยทำให้เราได้ผู้นำที่ดีที่สุดไหม คำตอบคือ เราได้ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 อุ๊งอิ๊งค์เป็นนายกฯที่ดีไหม เก่งกาจมีความรู้ความสามารถไหม คำตอบคือไม่ใช่ คุณสมบัติข้อเดียวที่อุ๊งอิ๊งค์มีก็คือเป็นลูกสาวของทักษิณเท่านั้นเอง และวันนี้เธอกำลังเป็นผู้นำพาเราไปเผชิญกับวิกฤตบนภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ซับซ้อนและต้องใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถอย่างสูงเพื่อจะให้ฝ่าพ้นวิกฤตไปได้

เรามองกวาดสายตาไปทั่วพิภพว่าถ้าไม่ใช่อุ๊งอิ๊งค์ ระบอบประชาธิปไตยที่เรามีอยู่แล้ว และวิธีการเลือกตั้งจะสามารถทำให้เราได้ผู้นำที่ดีมีความรู้ความสามารถไหม จากบรรดานักการเมืองและหัวหน้าพรรคการเมืองที่แสดงตัวเป็นผู้เล่นในระบอบนี้อยู่ก็มองไม่เห็นเลยว่าใครดีพอ และหนทางที่คนดีคนเก่งจะเข้าสู่การเมืองนั้นก็ไม่มีเช่นเดียวกัน

จริงๆ แล้วไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยเมืองไทยเท่านั้น การเลือกตั้งอเมริกาที่ได้โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ก็เป็นผลผลิตของประชาธิปไตย แล้วสิ่งที่ทรัมป์ทำก็คือ สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่าการที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีจะเป็นเจตจำนงของคนอเมริกัน แต่ระบอบประชาธิปไตยที่เลือกผู้นำแบบทรัมป์ที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โลกนอกจากผลประโยชน์ของตัวเอง สะท้อนว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การรับประกันผลที่สมบูรณ์แบบที่สุด

หากถามว่าอะไรคือข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย ใช่ไหมว่ากลุ่มที่มีอำนาจหรือเงินสามารถครอบงำนโยบาย ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม ผู้ลงคะแนนขาดข้อมูลเพียงพอหรือถูกชักจูงโดยข้อมูลเท็จ นำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมทำให้ได้นักการเมืองที่ไม่ดี นักการเมืองเน้นนโยบายระยะสั้นที่ดึงดูดใจประชาชน แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว การแข่งขันทางการเมืองอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม และค่าใช้จ่ายสูงเพราะการจัดการเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

 ถามว่า ถ้าเราไม่เอาประชาธิปไตยแล้ว จะเอาระบอบไหน เพราะพิสูจน์แล้วว่าระบอบเผด็จการที่ยึดอำนาจมาจากปลายกระบอกปืนสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้สนองตอบผลประโยชน์ของประชาชน แต่แบ่งปันผลประโยชน์กันในหมู่พวกพ้องเช่นเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราช่วยกันคิดหาทางออกก็น่าจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์คงจะไม่มืดมนเสียทีเดียว

แม้เราคิดว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ถามว่าจะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถทำให้เราได้ผู้นำที่ดีที่มีความรู้ความสามารถและนำพาประเทศชาติไปสู่หนทางที่ดีได้ด้วย ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ที่กลายเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มทุน เพื่อตอบสนองกลุ่มทุน ไม่เพียงแต่ทักษิณที่ผันจากเป็นทุนชาติมาเล่นการเมืองเท่านั้น วันนี้คนที่ได้ประโยชน์จากอำนาจของทักษิณก็คือ กลุ่มทุนที่รายล้อมทักษิณนั่นเอง ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

คำถามของผมคือ ถ้าเราจะออกแบบระบอบการปกครองกันใหม่โดยการรักษาคุณค่าหลักของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมเอาไว้ พร้อมทั้งจัดการข้อเสีย เช่น ความล่าช้าในการตัดสินใจ กำจัดอิทธิพลกลุ่มผลประโยชน์ ความรู้ไม่เพียงพอของประชาชน และลดความแตกแยกในสังคมออกไปเราควรจะต้องทำอย่างไร

สิ่งที่เราเห็นในการเมืองไทยก็คือ ความรู้และความตระหนักของประชาชนไม่เพียงพอจึงกลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองในระบอบเลือกตั้งด้วยแรงจูงใจจากประชานิยม เราสามารถสร้างหลักสูตรการศึกษาที่เน้นความเข้าใจในระบบการเมือง สิทธิหน้าที่ และทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจอย่างมีข้อมูลได้ไหม สามารถให้ข้อมูลนโยบายที่เป็นกลาง ตรวจสอบได้ และเข้าใจง่าย เพื่อประชาชนมีความรู้ในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จและการโฆษณาชวนเชื่อได้ไหม

เราสามารถลดอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์และการเมืองแบบประชานิยม ด้วยการควบคุมเงินในการเมือง จำกัดการบริจาคหาเสียงและกำหนดให้การระดมทุนโปร่งใส เช่น ใช้กองทุนสาธารณะสำหรับการหาเสียง เพื่อลดการพึ่งพานายทุน สร้างกฎหมายที่เข้มงวดต่อการล็อบบี้และกำหนดบทลงโทษสำหรับการทุจริต และเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อลดการผูกขาดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ระดับชาติได้หรือไม่

เห็นได้ชัดว่า ระบอบการเลือกตั้งที่เราออกแบบไว้นั้นต้องใช้เงินหาเสียงจำนวนมาก แม้จะมีการควบคุมและจำกัดการใช้เงินก็จริง แต่หน่วยงานเช่น กกต.ไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งให้อยู่ในกติกาได้จริง ไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงินได้จริง ไม่สามารถป้องกันการซื้อเสียงได้ ซึ่งสะท้อนจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยของเรา คำถามว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างวิธีการที่ดี จำกัดระยะเวลาการรณรงค์หาเสียงเพื่อลดค่าใช้จ่ายและการแข่งขันที่ใช้เงินเป็นปัจจัยลง

 ความหมายของผมคือ เราสามารถผสมผสานระบอบการเมืองแบบจีนกับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้ไหม คือ ทำให้เราได้ผู้นำที่มีคุณภาพ ระบบรวมศูนย์อำนาจช่วยให้สามารถตัดสินใจและดำเนินนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การจัดการวิกฤตโควิด-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีความมั่นคงทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบาย คัดเลือกผู้นำโดยเน้นความสามารถ ประสบการณ์ และผลงาน มากกว่าความนิยมจากประชาชน แต่ยังรักษาคุณค่าหลักของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมเอาไว้

มีสภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั่วไป มี “คณะผู้นำ” (Leadership Council) ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์ผ่านกระบวนการประเมินที่เข้มงวด (เช่น การสอบความรู้ คุณสมบัติ และจริยธรรม) คล้ายระบบของจีน แต่มีการตรวจสอบโดยสภาประชาชน คณะผู้นำมีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายที่ซับซ้อนหรือฉุกเฉิน แต่ต้องรายงานและรับการอนุมัติจากสภาประชาชนในระยะยาว

การแบ่งแยกอำนาจที่ยืดหยุ่น คือยังมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการเหมือนประชาธิปไตย แต่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องการความรวดเร็วภายใต้การตรวจสอบของสภาประชาชน แต่อำนาจตุลาการต้องเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบและถูกแทรกแซง

ข้อเสนอของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ไม่เลื่อนลอย เพื่อให้ได้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพและรักษาหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ โดยเอาตัวอย่างที่ดีของการคัดสรรผู้นำแบบจีนมาผสมผสานกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเป็นทางออกจากกับดักทางการเมืองที่เป็นอยู่ และมองไม่เห็นหนทางแห่งความหวังที่เราจะก้าวไปข้างหน้าโดยการนำของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเลย

บ้านเรามีนักรัฐศาสตร์เก่งมากมาย แม้ส่วนใหญ่จะจบจากตะวันตก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกกับสังคมไทย เหมือนสองสิ่งที่ไม่ลงตัว ประชาชนยังขาดความรู้ขั้นพื้นฐานอยู่มากและง่ายที่นักการเมืองจะชักจูงด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนทั้งนโยบายประชานิยม และเงินที่ใช้ซื้อเสียง และสุดท้ายก็กลับมากอบโกยเพื่อตัวเองและกลุ่มทุนที่รายล้อม เราจะช่วยกันคิดได้ไหมว่า เราจะออกจากกับดักนี้อย่างไร ที่จะทำให้เราได้ผู้นำที่เข้มแข็งมีความรู้ความ สามารถที่แท้จริง และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน

เราคิดว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆที่เรามีอยู่นั้นจะนำพาประเทศไปรอดไหม เราได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองในระดับท็อปสามของโลก เป็นรองเฉพาะโดมินิกันและเวเนซุเอล่าเท่านั้น แล้วเราต้องใช้รัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับที่จะพบผู้นำที่จะนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาได้

 ข้อเสนอของผมนั้นเป็นเพียงการคิดนำเอาระบอบการคัดเลือกผู้นำแบบจีนมาผสมผสานกับระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นไม่ใช่วิถีทางเผด็จการ เพื่อให้เรามีผู้นำที่มีประสิทธิภาพมีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ได้คนที่ไม่เคยทำงานและประสบความสำเร็จอะไรเลยมานำพาประเทศของเรา แต่ยังรักษาคุณค่าหลักของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมเอาไว้



ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น