การพ่ายแพ้อย่างย่อยยับได้เพียง 4,000 กว่าคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในเขต 8 นครศรีธรรมราช ไม่ใช่ลางบอกเหตุการล่มสลายของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ แต่เป็นการตอกย้ำอนาคตที่จะประสบกับชะตากรรมที่หนักหนาจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ ปชป.ได้ สส.ภาคใต้มา 17 คน แม้จะยังมากกว่าทุกพรรค แต่ก็เป็นสัญญาณว่าภาคใต้ไม่ใช่ของตายของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะส่งเสาไฟฟ้าลงอีกแล้ว
ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คนใต้เบื่อพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องตอบว่า เพราะเป็นพรรคที่พูดมากกว่าทำ ภาคใต้ที่มี สส.ประชาธิปัตย์ยกพรรคมาในอดีต ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาภาคใต้เท่าที่ควร เมื่อเทียบกับที่บรรหาร ศิลปอาชา ทำที่สุพรรณบุรี กับเนวิน ชิดชอบ ทำที่บุรีรัมย์ แล้วย้อนมาดูชวน หลีกภัย ที่เมืองตรังมันแตกต่างกันมาก
คนตรังมักเล่าให้ฟังว่า ข้อแก้ตัวของนายชวนก็คือ สส.เขาเลือกไปให้ออกกฎหมาย หน้าที่ของ สส.จึงมีแค่นั้น
ลองย้อนไปดูนะครับการเลือกตั้งที่เมืองตรังในเขต 1 ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของนายชวน ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับโดยผู้สมัครของพรรคได้ลำดับที่ 5 ได้คะแนนเพียง 7,095 คะแนนเท่านั้น และพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนบัญชีรายชื่อที่จังหวัดตรังเพียง 10.15% ในขณะที่พรรคก้าวไกลได้ถึง 32.42%
จริงๆ แล้วผมเองได้เขียนถึงพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้ง เพราะยอมรับว่า ในอดีตก็เป็นโหวตเตอร์ของประชาธิปัตย์คนหนึ่ง และติดตามการปราศรัยของ สส.ปชป.ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองฝีปากกล้ามาตั้งแต่เด็ก
พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นในปี 2489 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยกลุ่มนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการครองอำนาจของคณะราษฎรโดยเฉพาะกลุ่มทหารที่นำโดยจอมพลป. พิบูลสงครามจากกลุ่มเสรีนิยมที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงนำโดยควง อภัยวงศ์, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
พรรคประชาธิปัตย์ดึงดูดทั้งกลุ่มเจ้าและกลุ่มปัญญาชนที่ต้องการรักษาความสมดุลระหว่างประเพณีและประชาธิปไตยมีบทบาทในการผลักดันแนวคิดเสรีนิยมและการปกครองโดยสภาฯ มีฐานเสียงในหมู่ชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาในเมืองรวมถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายสังคมนิยมของปรีดี พนมยงค์ ท่ามกลางความขัดแย้งกันเองของคณะราษฎรกลุ่มพลเรือนและกลุ่มทหาร
จะเห็นว่าวันนี้หมู่ชนชั้นกลาง และผู้มีการศึกษาในเมืองกลายเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคประชาชน จนมีคนพูดกันว่า พรรคประชาชนก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ในอดีตยกเว้นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเอาเจ้า ขณะที่พรรคประชาชนเป็นพรรคที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตก็คือการต่อต้านเผด็จการทหาร พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักที่ต่อต้านการครองอำนาจของจอมพลป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะในช่วงที่จอมพลป. กลับมามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคนี้สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยและต่อต้านแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งของจอมพลป.
บทบาทที่เด่นชัดของพรรคประชาธิปัตย์ในการต่อสู้กับคณะราษฎรคือการเป็นพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและต่อต้านระบอบเผด็จการทหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม รวมถึงการเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยมและเสรีนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปฏิรูปสุดโต่งของคณะราษฎร
พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญในการสร้างสมดุลทางการเมืองและวางรากฐานสำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย แม้ว่าจะต้องเผชิญข้อจำกัดจากอำนาจทหารและการเมืองที่ผันผวนในช่วงนั้นการต่อสู้ในช่วงนี้ยังช่วยกำหนดอัตลักษณ์ของพรรคในฐานะพรรคที่ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทของพรรคในเวลาต่อมา
วันนี้ต้องยอมรับว่าวันเวลาของพรรคประชาธิปัตย์หมดลงแล้ว ไม่ใช่เพียงเพราะศักยภาพของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันเท่านั้น แต่น่าจะมาจากการสั่งสมมาจากอดีตตั้งแต่ยุคชวน หลีกภัย มาจนถึงยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และส่งผลมาถึงยุคของเฉลิมชัย ศรีอ่อน
แต่ก็ต้องยอมรับว่านายเฉลิมชัย ขาดความโดดเด่นเมื่อเทียบกับหัวหน้าพรรคคนอื่นของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต และไม่สามารถแข่งขันได้กับหัวหน้าพรรคอื่นในปัจจุบัน แต่น่าสนใจคือ นายเฉลิมชัยสามารถยึดกุม สส.ของพรรคในปัจจุบันได้เบ็ดเสร็จมีเพียง 4 คนที่แตกแถวคือนายชวน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี ส่วนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่ประกาศว่า จะมายืนข้าง 4 คนนี้ก็พ่ายแพ้ไปแบบย่อยยับ
นักวิจารณ์ทางการเมืองมองว่า จุดผิดพลาดที่สำคัญคือ การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลผสมกับพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 ซึ่งนำโดยกลุ่มทหารจากคณะรัฐประหาร 2557 ที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำให้พรรคถูกมองว่าทรยศอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เคยยึดมั่นและครั้งนี้ที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
พรรคประชาธิปัตย์เผชิญความขัดแย้งภายในเช่น ความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมรุ่นเก่าและกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปรวมถึงการพึ่งพา “ตระกูลการเมือง” และบุคคลที่มีอิทธิพลเดิมๆโดยเฉพาะการครอบงำตามแนวทางของนายชวน การบริหารที่ยังคงยึดติดกับโครงสร้างเดิมๆ ทำให้พรรคไม่สามารถดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาในพรรค
ที่สำคัญคือการสูญเสียฐานเสียงคนเมือง คนชั้นกลาง คนวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ให้กับพรรคส้มด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่น การปฏิรูปกองทัพและการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกมองเป็นพรรคอนุรักษนิยมล้าหลังที่ยึดติดกับประเพณีและไม่กล้าเสนอแนวคิดที่ก้าวหน้าทำให้ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเช่นคนรุ่นใหม่และปัญญาชน
ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยได้รับเงินจากส่วนแบ่งการจัดเก็บภาษีมากแต่วันนี้เงินก้อนนี้ไหลไปอยู่พรรคส้ม ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขายึดกุมหัวใจคนชั้นกลางและคนวัยทำงานไว้ได้มาก
ถ้าจะให้สรุปปัจจัยสำคัญของความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันได้แก่ 1. การขาดผู้นำที่ทันสมัยและมีบารมี 2. การตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาดเช่น การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย 3. การปรับตัวที่ช้าและขาดนโยบายที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ 4. การสูญเสียฐานเสียงในเขตเมืองใหญ่และการพึ่งพาภาคใต้มากเกินไป 5. ความขัดแย้งและการบริหารภายในที่ไม่มีประสิทธิภาพ 6. การแข่งขันที่รุนแรงจากพรรคใหม่เช่นพรรคประชาชน 7. ภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยมเกินไป
ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาได้ไหม คำตอบของผมคือ ยากมากและเชื่อว่า ครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ สส.ลดลงจากเดิม
แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำอย่างไรในฐานะที่ผมเคยเป็นโหวตเตอร์ของพรรคก็มีข้อเสนอแนะว่า พรรคต้องปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยและดึงดูดคนรุ่นใหม่ด้วยผู้นำที่มีพลังและนโยบายที่ตอบโจทย์เสนอนโยบายที่เน้นการปฏิรูปในประเด็นที่คนรุ่นใหม่สนใจเช่นความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อมสร้างความน่าเชื่อถือโดยยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ และใช้จุดแข็งในประสบการณ์และความน่าเชื่อถือในกลุ่มชนชั้นกลางที่อนุรักษนิยมเพื่อรักษาฐานเสียงเดิมและขยายไปยังกลุ่มใหม่
พรรคประชาธิปัตย์จะไปทางไหน คนของพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละรู้ดีกว่าใครว่าทำไมพรรคถึงเดินทางมาถึงจุดนี้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan