โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน
ในปี พ.ศ.1808 ชื่อเคดาห์ปรากฏในจารึกทมิฬของพวกปาณฑัย มหาราชาจันทรภาณุอาจใช้เคดาห์เป็นที่รวมกองทัพเรือก่อนยกทัพบุกศรีลังกาในปีพ.ศ.1790 [Miksic 2010: 187] แม้ว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์จะแยกตัวออกจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย เอกสารจีนตั้งแต่ปลายราชวงศ์ซ่งอย่างสารานุกรมสือหลินกว๊างจี๊ในปีพ.ศ.1813 และเอกสารราชวงศ์หยวนอย่างบันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อในปีพ.ศ.1847 และเต้าอี้จื้อเลื่อยปีพ.ศ.1892 ไม่มีชื่อเคดาห์ปรากฏในฐานะเมืองขึ้นของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ทั้งๆที่หลักฐานทางโบราณคดียังคงชี้ให้เห็นว่าเมืองนี้มีอยู่มาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 แม้ว่าตำนานเมืองนครศรีธรรมราชจะบันทึกว่าไทรบุรี (เคดาห์) เป็นหนึ่งในเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราชแต่ก็บันทึกเอาไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี เคดาห์เคยเป็นเมืองขึ้นของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์หรือไม่เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก
เอกสารจีนหลังจากปลายราชวงศ์ซ่งจนถึงต้นราชวงศ์หมิงไม่เคยกล่าวถึงเคดาห์ อาจเป็นเพราะเคดาห์อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู เมื่อเทคโนโลยีการเดินเรือของจีนก้าวหน้าขึ้น เรืออาจจะไม่แวะเคดาห์แต่แล่นตรงไปยังอาเจะห์ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดียังคงมีการค้นพบเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนและซากสินค้าจีนอื่นๆทำให้ต้องค้นคว้ากันต่อไปว่าทำไมเคดาห์จึงหายไปจากบันทึกของจีน อาหรับและอินเดียตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19
เคดาห์ในยุคการแย่งชิงอิทธิพลระหว่างกรุงศรีอยุธยา มัชปาหิตและมะละกา
เมืองเคดาห์อยู่ในการช่วงชิงอำนาจระหว่างมัชปาหิตและกรุงศรีอยุธยาเมื่อบทกวีนครเขตร์คามของมปู ประพันจาได้ระบุว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของมัชปาหิตในปีพ.ศ.1908 หลังจากที่บันทึกในจารึกเลย์เดนแผ่นใหญ่ของโจฬะในปีพ.ศ.1633 และจารึกปาณฑัยในปีพ.ศ.1808 แม้ว่าหลักฐานเอกสารต่างประเทศที่บันทึกเกี่ยวกับเคดาห์จะขาดๆหายๆไปบ้างแต่หลักฐานทางโบราณคดียังคงแสดงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของนครรัฐแห่งนี้ แสดงว่าเคดาห์ยังคงเป็นเมืองท่าสำคัญแม้ว่าเอกสารจีนจะไม่บันทึกเอาไว้ก็ตาม แต่เคดาห์ยังคงค้าขายกับเมืองท่าต่างๆในช่องแคบมะละกา แหลมมลายูและอ่าวเบงกอลอยู่
โตเม่ ปิรึชกล่าวว่าเคดาห์อยู่นอกเขตอิทธิพลของมะละกาและเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา แต่ไม่ได้กล่าวถึงการที่เคดาห์เป็นเมืองขึ้นของมะละกาในช่วงสั้นๆก่อนที่โปรตุเกสจะยึดมะละกาในปีพ.ศ.2054 [Basset 1963] ประมาณปีพ.ศ.2043 ปาไซสูญเสียอิทธิพลที่เคดาห์ทำให้เคดาห์และตรังกานูไปเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา [Wake 1964; Phan-Ngam Gothamasan. 1984] ในปีพ.ศ.2017 เจ้าเมืองเคดาห์หันไปนับถือศาสนาอิสลามและขอตราตั้งว่าเป็นเมืองขึ้นของมะละกาหลังจากที่มะละการบชนะกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ หลังจากโปรตุเกสยึดมะละกาได้แล้ว โตเม่ ปิรึช นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสและจดหมายของอุปราชเมืองกัวยืนยันว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา แต่เคดาห์รับเอาโครงสร้างการปกครองจากมะละกา หลักฐานอาเจะห์ยืนยันเซอจาราห์มลายูว่า ราชาเคดาห์แปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.2017 และเดินทางไปรับตราตั้งจากสุลต่านมาห์มูด ซยาห์ [Winstedt 1920] แต่ในขณะที่ไปมะละกายังใช้ตำแหน่งราชาแบบพุทธ-ฮินดูอยู่ บาร์บอซ่า บอกว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา [Barbosa 1946] โปรตุเกสโจมตีเคดาห์หลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ.2055-2056 และปีพ.ศ.2154 และอาเจะห์โจมตีเคดาห์และจับสุลต่านสุไลมาน ซยาห์กลับไปอาเจะห์ในปีพ.ศ.2162 โดยที่กรุงศรีอยุธยาไม่สามารถทำอะไรได้ อาเจะห์ปกครองเคดาห์ถึงปีพ.ศ.2179 เมื่อเคดาห์ส่งบุหงามาสไปให้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง [Winstedt 1920; Na Pombejra 2011]
ความน่าเชื่อถือของตำนาน มะหรง มหาวงศ์
ราชา เบอร์เซียงที่มีเขี้ยวและกินคนในตำนานมะหรงมหาวงศ์ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงวาทกรรมอำนาจของรัฐสุลต่านเคดาห์ประมาณปีพ.ศ.2350 ในปีพ.ศ.2364 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ยกทัพบุกเคดาห์ที่มีกำลังทหารอ่อนแอเนื่องจากเคดาห์ไม่ยอมส่งบุหงามาส ทำให้เคดาห์ต้องเขียนตำนานมะหรงมหาวงศ์เพื่อปกปิดสถานะที่เป็นประเทศราชว่าเป็นเครือญาติกับกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งถือว่าแตกสาขาไปจากเคดาห์ มีเนื้อหาคลุมเครือเพื่อหาทางออกสำหรับรัฐเล็กๆซึ่งจะใช้เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ ราชา เบอร์เซียงเป็นตัวแทนของรัตนโกสินทร์ที่ถูกขับออกจากเคดาห์ [Tan 2020] ประชุมพงศาวดารฝ่ายไทยได้ย่อเรื่องตำนานมะหรงมหาวงศ์แล้วแปลเป็นภาษาไทยในหัวข้อพงศาวดารเมืองไทรบุรี [กรมศิลปากร 2545]
ตำนานมะหรงมหาวงศ์กล่าวว่าเคดาห์ก่อตั้งโดยกษัตริย์ฮินดูทรงพระนามว่ามะหรงมหาวงศ์ รัฐสุลต่านแห่งเคดาห์เริ่มต้นเมื่อพ.ศ.1679 เมื่อพระองค์มหาวงศ์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและใช้ชื่อว่าสุลต่านมุดซาฟาร์ ซยาห์ ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานอาเจะห์และเซอจาราห์ มลายูซึ่งกล่าวว่าราชาเคดาห์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.2017 [Winstedt 1920] ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชบอกว่าไทรบุรี (เคดาห์) เป็นหนึ่งในเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราชที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาแต่เปลี่ยนไปเป็นรัฐมลายูเมื่ออาณาจักรมุสลิม (มะละกาหรืออาเจะห์) รุกราน เนื้อหาในตำนานมะหรงมหาวงศ์กล่าวว่าสุลต่านมุดซาฟาร์ ซยาห์ เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.1679 แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี เอกสารอาเจะห์ เซอจาราห์ มลายู เคดาห์ยังคงเป็นเมืองพุทธ-ฮินดูจนถึงพุทธศตวรรษที่ 21 [Dokras 2020] นอกจากนี้จารึกหลายแผ่นของโจฬะบันทึกว่าราชวงศ์ไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์อย่างน้อยจนถึงปีพ.ศ.1633 ตำนานนี้ยังขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าเคดาห์เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายู ดังนั้นกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองเคดาห์ตามตำนานนี้อาจเป็นกษัตริย์องค์แรกหลังจากราชวงศ์ไศเลนทร์สิ้นสุดลงในปีพ.ศ.1679 ใช่หรือไม่? นอกจากนี้ยังไม่กล่าวถึงการที่เคดาห์เคยเป็นเมืองขึ้นของมัชปาหิตและปาไซจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร (2545). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศก (เล่มที่ 6). กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
Barbosa, D. (1946). Livro em que dá relação do que viu e ouviu no Oriente. Edited by Augusto Reis Machado. Lisboa: Agência Real das Colónias.
Bassett, D. K. (1963). European Influence in South-East Asia, c.1500–1630. Journal of Southeast Asian History, 4(2), 173–209.
Dokras, U. (2020). The spread of Hindu Culture and Religion by Trade routes to far East (Not including Cambodia, Indonesia or Thailand). The Journal of Indo Nordic Author’s Collective.
Miksic, J. N. (2010). The A-Z of Ancient Southeast Asia. Scarecrow Press: Lanham, MD.
Phan-Ngam Gothamasan. (1984). Some Aspects of the Political and Economic Systems of the Nineteenth Century of Northern Malay States: Kedah, Kelantan and Trengganu: Comparative View. Journal of the Siam Society, 72, 146–165.
Dhivarat Na Pombejra (2011). “Conflict and Commerce in the Gulf of Siam c.1629-1642.” In Southeast Asian Historiography: Unravelling the Myths: Essay in Honour of Barend Jan Terwiel, 142–61. Bangkok: River Books.
Tan, Z. H. (2020). Raja Bersiong or the Fanged King: The Abject of Kedah’s Geopolitical Insecurity. Indonesia and the Malay World, 48(142), 263–280.
Wake, C. H. (1964). Malacca’s Early Kings and the Reception of Islam. Journal of Southeast Asian History, 5(2), 104–128.
Winstedt, R. O. (1920). History of Kedah. Journal of the Straits Branch of Royal Asiatic Society, 81, 29–35.
ในปี พ.ศ.1808 ชื่อเคดาห์ปรากฏในจารึกทมิฬของพวกปาณฑัย มหาราชาจันทรภาณุอาจใช้เคดาห์เป็นที่รวมกองทัพเรือก่อนยกทัพบุกศรีลังกาในปีพ.ศ.1790 [Miksic 2010: 187] แม้ว่าสมาพันธรัฐตามพรลิงค์จะแยกตัวออกจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย เอกสารจีนตั้งแต่ปลายราชวงศ์ซ่งอย่างสารานุกรมสือหลินกว๊างจี๊ในปีพ.ศ.1813 และเอกสารราชวงศ์หยวนอย่างบันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อในปีพ.ศ.1847 และเต้าอี้จื้อเลื่อยปีพ.ศ.1892 ไม่มีชื่อเคดาห์ปรากฏในฐานะเมืองขึ้นของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ทั้งๆที่หลักฐานทางโบราณคดียังคงชี้ให้เห็นว่าเมืองนี้มีอยู่มาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 แม้ว่าตำนานเมืองนครศรีธรรมราชจะบันทึกว่าไทรบุรี (เคดาห์) เป็นหนึ่งในเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราชแต่ก็บันทึกเอาไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี เคดาห์เคยเป็นเมืองขึ้นของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์หรือไม่เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก
เอกสารจีนหลังจากปลายราชวงศ์ซ่งจนถึงต้นราชวงศ์หมิงไม่เคยกล่าวถึงเคดาห์ อาจเป็นเพราะเคดาห์อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู เมื่อเทคโนโลยีการเดินเรือของจีนก้าวหน้าขึ้น เรืออาจจะไม่แวะเคดาห์แต่แล่นตรงไปยังอาเจะห์ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดียังคงมีการค้นพบเครื่องกระเบื้องเคลือบจีนและซากสินค้าจีนอื่นๆทำให้ต้องค้นคว้ากันต่อไปว่าทำไมเคดาห์จึงหายไปจากบันทึกของจีน อาหรับและอินเดียตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19
เคดาห์ในยุคการแย่งชิงอิทธิพลระหว่างกรุงศรีอยุธยา มัชปาหิตและมะละกา
เมืองเคดาห์อยู่ในการช่วงชิงอำนาจระหว่างมัชปาหิตและกรุงศรีอยุธยาเมื่อบทกวีนครเขตร์คามของมปู ประพันจาได้ระบุว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของมัชปาหิตในปีพ.ศ.1908 หลังจากที่บันทึกในจารึกเลย์เดนแผ่นใหญ่ของโจฬะในปีพ.ศ.1633 และจารึกปาณฑัยในปีพ.ศ.1808 แม้ว่าหลักฐานเอกสารต่างประเทศที่บันทึกเกี่ยวกับเคดาห์จะขาดๆหายๆไปบ้างแต่หลักฐานทางโบราณคดียังคงแสดงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของนครรัฐแห่งนี้ แสดงว่าเคดาห์ยังคงเป็นเมืองท่าสำคัญแม้ว่าเอกสารจีนจะไม่บันทึกเอาไว้ก็ตาม แต่เคดาห์ยังคงค้าขายกับเมืองท่าต่างๆในช่องแคบมะละกา แหลมมลายูและอ่าวเบงกอลอยู่
โตเม่ ปิรึชกล่าวว่าเคดาห์อยู่นอกเขตอิทธิพลของมะละกาและเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา แต่ไม่ได้กล่าวถึงการที่เคดาห์เป็นเมืองขึ้นของมะละกาในช่วงสั้นๆก่อนที่โปรตุเกสจะยึดมะละกาในปีพ.ศ.2054 [Basset 1963] ประมาณปีพ.ศ.2043 ปาไซสูญเสียอิทธิพลที่เคดาห์ทำให้เคดาห์และตรังกานูไปเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา [Wake 1964; Phan-Ngam Gothamasan. 1984] ในปีพ.ศ.2017 เจ้าเมืองเคดาห์หันไปนับถือศาสนาอิสลามและขอตราตั้งว่าเป็นเมืองขึ้นของมะละกาหลังจากที่มะละการบชนะกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ หลังจากโปรตุเกสยึดมะละกาได้แล้ว โตเม่ ปิรึช นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสและจดหมายของอุปราชเมืองกัวยืนยันว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา แต่เคดาห์รับเอาโครงสร้างการปกครองจากมะละกา หลักฐานอาเจะห์ยืนยันเซอจาราห์มลายูว่า ราชาเคดาห์แปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.2017 และเดินทางไปรับตราตั้งจากสุลต่านมาห์มูด ซยาห์ [Winstedt 1920] แต่ในขณะที่ไปมะละกายังใช้ตำแหน่งราชาแบบพุทธ-ฮินดูอยู่ บาร์บอซ่า บอกว่าเคดาห์เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา [Barbosa 1946] โปรตุเกสโจมตีเคดาห์หลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ.2055-2056 และปีพ.ศ.2154 และอาเจะห์โจมตีเคดาห์และจับสุลต่านสุไลมาน ซยาห์กลับไปอาเจะห์ในปีพ.ศ.2162 โดยที่กรุงศรีอยุธยาไม่สามารถทำอะไรได้ อาเจะห์ปกครองเคดาห์ถึงปีพ.ศ.2179 เมื่อเคดาห์ส่งบุหงามาสไปให้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง [Winstedt 1920; Na Pombejra 2011]
ความน่าเชื่อถือของตำนาน มะหรง มหาวงศ์
ราชา เบอร์เซียงที่มีเขี้ยวและกินคนในตำนานมะหรงมหาวงศ์ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงวาทกรรมอำนาจของรัฐสุลต่านเคดาห์ประมาณปีพ.ศ.2350 ในปีพ.ศ.2364 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ยกทัพบุกเคดาห์ที่มีกำลังทหารอ่อนแอเนื่องจากเคดาห์ไม่ยอมส่งบุหงามาส ทำให้เคดาห์ต้องเขียนตำนานมะหรงมหาวงศ์เพื่อปกปิดสถานะที่เป็นประเทศราชว่าเป็นเครือญาติกับกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งถือว่าแตกสาขาไปจากเคดาห์ มีเนื้อหาคลุมเครือเพื่อหาทางออกสำหรับรัฐเล็กๆซึ่งจะใช้เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ ราชา เบอร์เซียงเป็นตัวแทนของรัตนโกสินทร์ที่ถูกขับออกจากเคดาห์ [Tan 2020] ประชุมพงศาวดารฝ่ายไทยได้ย่อเรื่องตำนานมะหรงมหาวงศ์แล้วแปลเป็นภาษาไทยในหัวข้อพงศาวดารเมืองไทรบุรี [กรมศิลปากร 2545]
ตำนานมะหรงมหาวงศ์กล่าวว่าเคดาห์ก่อตั้งโดยกษัตริย์ฮินดูทรงพระนามว่ามะหรงมหาวงศ์ รัฐสุลต่านแห่งเคดาห์เริ่มต้นเมื่อพ.ศ.1679 เมื่อพระองค์มหาวงศ์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและใช้ชื่อว่าสุลต่านมุดซาฟาร์ ซยาห์ ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานอาเจะห์และเซอจาราห์ มลายูซึ่งกล่าวว่าราชาเคดาห์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.2017 [Winstedt 1920] ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชบอกว่าไทรบุรี (เคดาห์) เป็นหนึ่งในเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราชที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาแต่เปลี่ยนไปเป็นรัฐมลายูเมื่ออาณาจักรมุสลิม (มะละกาหรืออาเจะห์) รุกราน เนื้อหาในตำนานมะหรงมหาวงศ์กล่าวว่าสุลต่านมุดซาฟาร์ ซยาห์ เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.1679 แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี เอกสารอาเจะห์ เซอจาราห์ มลายู เคดาห์ยังคงเป็นเมืองพุทธ-ฮินดูจนถึงพุทธศตวรรษที่ 21 [Dokras 2020] นอกจากนี้จารึกหลายแผ่นของโจฬะบันทึกว่าราชวงศ์ไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์อย่างน้อยจนถึงปีพ.ศ.1633 ตำนานนี้ยังขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าเคดาห์เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายู ดังนั้นกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองเคดาห์ตามตำนานนี้อาจเป็นกษัตริย์องค์แรกหลังจากราชวงศ์ไศเลนทร์สิ้นสุดลงในปีพ.ศ.1679 ใช่หรือไม่? นอกจากนี้ยังไม่กล่าวถึงการที่เคดาห์เคยเป็นเมืองขึ้นของมัชปาหิตและปาไซจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร (2545). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศก (เล่มที่ 6). กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
Barbosa, D. (1946). Livro em que dá relação do que viu e ouviu no Oriente. Edited by Augusto Reis Machado. Lisboa: Agência Real das Colónias.
Bassett, D. K. (1963). European Influence in South-East Asia, c.1500–1630. Journal of Southeast Asian History, 4(2), 173–209.
Dokras, U. (2020). The spread of Hindu Culture and Religion by Trade routes to far East (Not including Cambodia, Indonesia or Thailand). The Journal of Indo Nordic Author’s Collective.
Miksic, J. N. (2010). The A-Z of Ancient Southeast Asia. Scarecrow Press: Lanham, MD.
Phan-Ngam Gothamasan. (1984). Some Aspects of the Political and Economic Systems of the Nineteenth Century of Northern Malay States: Kedah, Kelantan and Trengganu: Comparative View. Journal of the Siam Society, 72, 146–165.
Dhivarat Na Pombejra (2011). “Conflict and Commerce in the Gulf of Siam c.1629-1642.” In Southeast Asian Historiography: Unravelling the Myths: Essay in Honour of Barend Jan Terwiel, 142–61. Bangkok: River Books.
Tan, Z. H. (2020). Raja Bersiong or the Fanged King: The Abject of Kedah’s Geopolitical Insecurity. Indonesia and the Malay World, 48(142), 263–280.
Wake, C. H. (1964). Malacca’s Early Kings and the Reception of Islam. Journal of Southeast Asian History, 5(2), 104–128.
Winstedt, R. O. (1920). History of Kedah. Journal of the Straits Branch of Royal Asiatic Society, 81, 29–35.