หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
การพึ่งพาทักษิณและระบอบทักษิณของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำนาจเก่านั้น กลายเป็นใบเบิกทางให้ทักษิณใช้อำนาจได้อย่างไม่บันยะบันยัง และกลายเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้กลุ่มคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือยิ่งมองเห็นว่า อำนาจและระบบภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่นั้น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และความเท่าเทียมในสังคม อำนาจถูกผูกขาดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่คน
อาจจะมีข้อดีอยู่บ้างที่การกลับมาของทักษิณได้สลายกลุ่มขั้วที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยออกเป็นสองส่วน ฝ่ายหนึ่งยังภักดีต่อทักษิณ และฝ่ายหนึ่งหันไปสนับสนุนพรรคส้มที่คิดว่าร้อนแรงและท้าทายต่ออำนาจเก่ามากกว่า โดยฝ่ายทักษิณถูกกล่าวหาว่าดีลกับปิศาจและข้ามขั้วตระบัดสัตย์ จนเกิดนางแบกนายแบกทั้งสองฝ่าย
นางแบกฝ่ายทักษิณ นำโดย คำผกา หรือลักขณา ปันวิชัย ในขณะที่นายแบกฝั่งส้มนำโดยใบตองแห้ง อธึกกิต แสวงสุข ซึ่งต่างฟาดฟันกันด้วยวาทกรรม คำกล่าวของพวกเขาทำให้เราเข้าใจไม่ยากว่าปิศาจหมายถึงใคร
การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมราษฎร ได้แสดงให้เห็นถึงการเรียกร้องและการท้าทายต่อระบอบรัฐและอำนาจเก่าที่ชัดเจน พวกเขาถูกให้ท้ายดันหลังจากผู้ใหญ่หลายคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและยังอารมณ์ค้างกับการพ่ายแพ้สงครามการต่อสู้อำนาจรัฐภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีต และนักวิชาการที่ฝักใฝ่เสรีนิยมแบบสุดขั้ว
เกิดการท้าทายสถาบันกษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนการเคลื่อนไหวภายหลังพรรคอนาคตใหม่ของพวกเขาถูกยุบพรรคในช่วงปี 2563-2564 ได้หยิบยกประเด็นที่เคยเป็น “ข้อห้าม” ในสังคมไทย ที่พวกให้ท้ายเรียกว่า *การทลายเพดานของสังคมไทย โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เช่น การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) และการกำหนดบทบาทของสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทั้งๆที่สถาบันกษัตริย์และพระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่การรัฐประหารช่วงชิงอำนาจด้วยทหารและปากกระบอกปืนในปี 2475
แต่ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ การขาดโลกทัศน์ และชีวทัศน์ ทำให้คนรุ่นใหม่แสดงออกด้วยความหยาบคายและรุนแรง จนบางครั้งเลยสันติวิธีไปมาก เช่นการก่อความรุนแรงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงหลายครั้ง และคำพูดคำจาที่หยาบคายของพวกเขาล้วนแล้วแต่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 นั่นคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ จนทำให้คนรุ่นใหม่ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก มีหลายคนที่ติดคุก และหลายคนต้องหลบหนีคดีไปต่างประเทศ พวกที่หลบหนีไปได้ส่วนใหญ่เป็นแกนนำคนสำคัญ และคนที่หนีไปไม่ได้ก็ติดคุกซึ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบและอำนาจรัฐ
แม้ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จะอ่อนแรงลงไปด้วยการใช้มาตรการที่เฉียบขาดของอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ถามว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มอำนาจเก่าหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายัง แม้ว่าจะจับมือกับทักษิณและสามารถสลายมวลชนให้แบ่งออกเป็นสองขั้วก็ตาม เพราะสิ่งที่ทักษิณแสดงออกนั้นยังเป็นระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ทักษิณคนเดียว
วันนี้ทักษิณกลับมาผยองเดชเหมือนเดิมที่นักการเมืองทุกคนต้องวิ่งเข้าหา พรรคการเมืองกลายเป็นเพียงเครื่องมือของทักษิณมากกว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง โดยอำนาจอยู่ในมือของทักษิณคนเดียว สิ่งที่ทักษิณซื้อใจประชาชนก็ยังคงใช้นโยบายประชานิยมด้วยการแจกเงินประชาชน โดยไม่ได้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และสร้างกลยุทธ์ให้เห็นว่ามีแต่ทักษิณเท่านั้นที่จะช่วยกอบกู้สังคมไทยได้ สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิบุคคล” (cult of personality) ทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวบุคคลมากกว่าการพัฒนาระบบหรือสถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจและการขาดการถ่วงดุลในระยะยาว
หากเราจำได้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจากระบอบทักษิณในยุคที่ทักษิณมีอำนาจก็คือ การแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการขายหุ้นชินคอร์ป หรือการออกนโยบายที่ส่งเสริมธุรกิจของเครือข่ายทักษิณและพันธมิตร การใช้กลไกของรัฐ เช่น การตรวจสอบภาษีหรือการฟ้องคดี เพื่อกดดันนักการเมืองฝ่ายค้านและสื่อที่วิจารณ์รัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลงและเสียสมดุลในระบบการเมือง การพยายามควบคุมหรือลดอิทธิพลของศาลและองค์กรอิสระทำให้เกิดการรับรู้ว่ารัฐบาลอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม
คำถามว่าสิ่งเหล่านี้จะกลับมาเกิดขึ้นอีกไหมในยุคที่ทักษิณมีอำนาจ แถมยุคนี้ทักษิณยังได้รับการยอมรับจากกลุ่มอำนาจเก่าที่เคยมองว่าทักษิณเป็นอันตรายอย่างเช่นในอดีต และจะคุ้มค่าไหมที่เอาอนาคตของสถาบันหลักของชาติฝากไว้กับระบอบทักษิณ
แม้ว่าวันนี้คนรุ่นใหม่จะอ่อนแรงลง หลายคนกระเสือกกระสนอยู่ในต่างแดน จำนวนหนึ่งอยู่ในคุก แต่การไม่เคลื่อนไหวของพวกเขาก็ไม่ได้บอกว่าความคิดที่ท้าทายของพวกเขาอ่อนแอลง แต่การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่บันยะบันยังของระบอบทักษิณที่ไม่ทอดทิ้งอุปนิสัยแบบเดิมเมื่อมีอำนาจกลับทำให้พรรคของคนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นและขยายความนิยมมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการลดบทบาทที่จะท้าทายสถาบันกษัตริย์ลง ซึ่งสามารถซื้อใจคนในสังคมไทยได้มาก
ทั้งที่ในอดีตการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนส่วนใหญ่มีฐานในกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในเมือง แต่ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มอื่น เช่น ชนชั้นแรงงาน เกษตรกร หรือคนในชนบท ซึ่งมีจำนวนมากและมีพลังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวาทกรรมที่เน้นประเด็นก้าวหน้า เช่น การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความกังวลด้านเศรษฐกิจของประชาชน แต่วันนี้บทบาทที่เด่นของพรรคส้มสามารถโน้มน้าวมวลชนให้เปลี่ยนใจได้มากกว่าวิธีการผลักดันคนหนุ่มสาวให้ออกมาเคลื่อนไหว
ถ้าถามผมว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ผมคิดว่าวันนี้พวกเขามองเห็นแล้วว่า การต่อสู้อย่างมุทะลุหัวชนกำแพงนั้น ไม่มีวันที่จะทำให้พวกเขาได้อำนาจรัฐ แม้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าพวกเขาจะชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก และต่อให้พวกเขาทำสำเร็จก็ไม่ใช่หลักประกันว่าพวกเขาจะได้อำนาจรัฐ ถ้าพวกเขายังแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบของรัฐและสถาบันกษัตริย์ก็จะถูกต่อต้านอย่างถึงที่สุดจากเครือข่ายและองคาพยพของอำนาจเก่า
เราเห็นแล้วว่า แม้ว่าการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายสถาบันกษัตริย์ในไทยอ่อนแรงลงจากปัจจัยหลัก ได้แก่ การปราบปรามจากรัฐผ่านกฎหมายและความเด็ดขาด ความขัดแย้งภายในขบวนการล่าสุดก็มีความขัดแย้งของการว่าจ้างทำบัญชีของแม่พริษฐ์ ชีวารักษ์กับมูลนิธิของชาญวิทย์ เกษตรศิริ การตอบโต้จากกลุ่มอนุรักษนิยม ผลกระทบจากโควิด-19 ความเหนื่อยล้าและความผิดหวังของผู้เข้าร่วม และข้อจำกัดในการขยายฐานมวลชน แม้ว่าการชุมนุมจะสูญเสียโมเมนตัม แต่ขบวนการนี้ได้ทิ้งมรดกสำคัญไว้ เช่น การทำลายกำแพงข้อห้ามในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน และการปูทางให้พรรคการเมืองของพวกเขาอย่างพรรคส้มเข้ามามีบทบาทในระบบการเมืองที่อาจจะกลายเป็นสถาบันหลักในอนาคตอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต
การต่อสู้กับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มปัญญาชนซ้ายจัดทั้งในอดีตและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แลกกับการพึ่งพาระบอบทักษิณนั้นมีผลดีต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐหรือไม่เป็นคำถามสำคัญว่า นี่เป็นเครื่องมือที่จะพาประเทศเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง และเราจะมั่นใจทักษิณที่เคยใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในอดีตได้อย่างไร
การทำสงครามทางความคิดในการช่วงชิงคนรุ่นใหม่ได้ใช้แนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ หรือทำให้เลวร้ายลง การพึ่งพาระบอบทักษิณเป็นเพียงการชะลอเวลาไปได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เราคิดไหมว่า การปล่อยให้ทักษิณมีบทบาทซ้อนทับกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลูกสาวในฐานะอภินายกรัฐมนตรีนั้นจะสามารถซื้อใจประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้กลับมาอยู่ในประเทศไทยที่มีมีความร่มเย็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ จากความเหลื่อมล้ำที่ทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว และทุกคนมองออกมองเห็นด้วยสายตาว่านั่นเป็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล
หรือการทำประเทศนี้ให้มีความชอบธรรม ความเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นประเทศของทุกคน การเอาทักษิณกลับมาติดคุก เพื่อให้คนเห็นว่า ประเทศยังมีหลักการกติกาที่จะสร้างความเสมอภาคในสังคมนั่นต่างหากที่จะทำให้ระบอบและอุดมการณ์ของรัฐที่ดำรงอยู่ยั่งยืนกว่าและเปลี่ยนใจคนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบท้าทายลงไปได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan