ทุกวันนี้เวลามีทุกข์ยากสังคมไทยมักจะพึ่งพาอินฟลูเอนเซอร์ เช่น กัน จอมพลัง, หนุ่ม กรรชัย หรือกลุ่มสายไหมต้องรอด ฯลฯ หรือในอดีต เช่น ทนายตั้มหรือศรีสุวรรณ จรรยา ทนายโน่นนี่นั่นที่ทำมาหากินหาลูกความผ่านโซเชียล มากกว่าการพึ่งพาหน่วยงานรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความรู้สึกของประชาชนต่อระบบยุติธรรมและหน่วยงานรัฐ
ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจ ศาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพ ปัญหาคอร์รัปชัน การทุจริต หรือการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทำให้ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจ
ไม่รู้เหมือนกันว่า ทุกวันนี้ยังมีคนไปร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมไหม อาจจะมีนะ แต่เงียบ ไม่รู้ว่า ข้อเรียกร้องที่ต้องการนั้นจะได้รับการตอบสนองเมื่อไหร่ แต่ถ้าไปพึ่งพาบรรดาอินฟลูฯ ชื่อดังจะเกิดกระแสเรื่องจะเร็วและแรง
อินฟลูฯ อย่างหนุ่ม กรรชัย แห่งรายการโหนกระแส หรือกัน จอมพลัง ใช้แพลตฟอร์มสื่อและโซเชียลมีเดียในการนำเสนอประเด็นอย่างรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก การออกอากาศหรือโพสต์บนโซเชียลช่วยให้คดีหรือปัญหาต่างๆ ได้รับความสนใจจากสาธารณะและสื่อทันที ซึ่งกดดันให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งรีบดำเนินการ
อินฟลูฯ เหล่านี้จึงถูกมองเป็น “ฮีโร่” หรือ “ซูเปอร์ฮีโร่” ที่เข้ามาแก้ปัญหาในยามที่ระบบล้มเหลว ราวกับซูเปอร์แมนในยุค Great Depression (1930s) ที่เป็นสัญลักษณ์ของความหวังและพลังที่ปกป้องผู้คนจากความยากลำบาก หรือมนุษย์ค้างคาว (Batman) ที่ต่อสู้กับอาชญากรรมในเมืองก็อตแธม ซึ่งเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน อาจสะท้อนความรู้สึกว่ากฎหมายและอำนาจรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เพราะประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจต่อรองในระบบยุติธรรม การพึ่งพาอินฟลูฯ กลายเป็นทางเลือกที่เข้าถึงง่ายและให้ความหวัง และทุกข์ร้อนมีโอกาสที่จะได้รับการแก้ไขมากกว่าการพึ่งพาหน่วยงานรัฐ
หากย้อนไปในอดีตก่อนที่สังคมไทยจะมีโซเชียลมีเดียนั้น เมื่อเรามีเรื่องเดือดร้อนทุกข์ยาก ถ้าเราไม่ไว้วางใจอำนาจรัฐ เราจะพึ่งพาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้การพึ่งพาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นในอดีตที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ เพราะคนธรรมดาที่ไม่มีเส้นสายบารมีก็ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้เช่นกัน หรืออำนาจรัฐหรือระบบราชการมีข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลหรือการบริหารที่ไม่ทั่วถึง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกลายเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าในการแก้ปัญหา เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการจัดสรรทรัพยากร
ในอดีตระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น เจ้าที่ดิน พ่อค้า หรือขุนนางท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็น “ผู้อุปถัมภ์” ที่ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากร ความคุ้มครอง หรือการเข้าถึงโอกาสแก่ “ลูกน้อง” เช่น ช่วยเจรจากับทางการหรือปกป้องจากภัยคุกคาม แลกกับความภักดีและการสนับสนุน
ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็จะแขวนระฆังไว้หากใครมีความทุกข์ร้อนก็ไปเคาะระฆังจะได้รับการแก้ไขให้ซึ่งเราเรียกระบบนั้นว่า ระบบพ่อปกครองลูก
ในยุคปัจจุบัน อินฟลูฯ เช่น กัน จอมพลัง หรือหนุ่ม กรรชัย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงประชาชนกับหน่วยงานรัฐหรือสื่อมวลชน ช่วยผลักดันประเด็น เช่น การร้องทุกข์ในคดีอาชญากรรมหรือการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แลกกับการได้รับความนิยม ความไว้วางใจ หรือการสนับสนุนจากผู้ติดตาม
หลายคนมักถามว่า อินฟลูฯ บางคนเอารายได้มาจากไหน เท่าที่ทราบหลายคนเมื่อกลายเป็นฮีโร่ของสังคมก็จะมีผู้สนับสนุนผู้อุปถัมภ์ทั้งเป็นประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ และนักการเมือง เพราะมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนดีที่ช่วยเหลือสังคม ทั้งคนที่ให้ด้วยใจบริสุทธิ์และหวังประโยชน์ตอบแทนโดยมีการรับเงินทั้งในรูปส่วนตัวหรือการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา อีกด้านเมื่อคนเหล่านี้มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียมากรายได้ส่วนหนึ่งก็มาจากโซเชียลมีเดียนี่เอง
คำถามว่าวันนี้สังคมไทยกำลังยกย่องฮีโร่เหล่านี้จนเกินไปหรือไม่ แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นการอุทิศตนเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้รับความเดือดร้อนหรือถูกรังแก แต่กลับพบว่าหลายคนเล่นบทบาทเกินธงไปมากราวกับว่าตัวเองเป็นตุลาการผู้ตัดสินความยุติธรรมหรือว่ามีอำนาจรัฐในมือเสียเอง
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นดาบสองคมเพราะแท้จริงแล้วคนเหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจอะไร แต่กระแสสังคมที่เชิดชูทำให้ลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมเหมือนกับฮีโร่ในภาพยนตร์ ผมก็ไม่ได้เหมาว่า เป็นอย่างนั้นทุกคนนะครับเพราะอินฟลูฯ ช่วยสังคมที่วางบทบาทตัวเองแบบพอดีก็มีอยู่เหมือนกัน แต่คนหลงแสงคิดว่าตัวเองมีอำนาจบาตรใหญ่อย่างที่ว่ามาก็มีไม่น้อย
หลายคนเข้าไปซักถามสอบสวนฝ่ายตรงข้ามราวกับเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน หรือเหมือนกับการถูกสอบพยานในชั้นศาล แล้วถ่ายทอดสดสิ่งที่ตัวเองทำผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกยอดไลค์และสร้างกระแสให้สังคมคล้อยตาม หรือกระทั่งบุกไปถึงบ้านของคู่กรณี และที่น่าประหลาดใจก็คือบางครั้งมีเจ้าหน้าที่รัฐนี่แหละติดตามไปเหมือนกับเป็นลูกมืออีกทีหนึ่ง
ไม่รู้เหมือนกันว่า ผู้ที่มีอำนาจรัฐตัวจริงนั้นสะท้อนใจหรือไม่ ทั้งเจ้าหน้าที่ปกครอง ตำรวจ หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้สำนึกหรือไม่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ เพราะจะอ้างว่าที่คนเขาพาไปพึ่งพาอินฟลูฯ เหล่านั้นเพราะอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่สามารถสร้างกระแสขึ้นในสังคมเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ต้องมองย้อนกลับไปที่ตัวเองด้วย
ต้องยอมรับว่าวันนี้ระบบราชการของเราล้มเหลว ทั้งนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และกลไกของรัฐ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนว่าสามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ มันเลยเปิดโอกาสให้สังคมที่โหยหาฮีโร่ที่พึ่งพาอยู่แล้ว ทำให้อินฟลูฯกลายเป็นที่พึ่งแทนการพึ่งพาจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คำถามว่าเราจะสามารถปฏิรูปหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากประชาชนได้หรือไม่ คำตอบก็คือมองไม่เห็นเลยว่าหนทางนั้นจะกลับมาได้อย่างไร
การพึ่งพาอินฟลูฯ ในสังคมไทยเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานรัฐ ความรวดเร็วของสื่อโซเชียล และความรู้สึกไร้อำนาจของประชาชน อินฟลูฯ กลายเป็นตัวกลางที่ช่วยผลักดันประเด็นและให้ความหวัง แต่ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะการขาดประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อให้หน่วยงานรัฐกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง
แต่อีกด้านของอินฟลูฯ เหล่านี้ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารหลายครั้งบางคนก็ทำตัวเป็นศาลสูงสุดเสียเองสามารถชี้ขาดใครผิดถูกหรือกระทั่งเลยเถิดคิดว่า ตัวเองมีอำนาจรัฐในมือ และผู้ติดตามก็มักจะมีอารมณ์คล้อยตามไปในแนวทางเดียวกันจนกลายเป็น “ลูกขุน” โซเชียลกันทุกคน
หลายครั้งคนที่ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงถูกหรือผิด แต่เมื่อเผชิญกับอินฟลูฯ ชื่อดังก็ถูกศาลโซเชียลตัดสินเสียแล้วว่าผิด กลายเป็นจำเลยที่ชั่วช้าของสังคมในชั่วข้ามคืน แม้สุดท้ายศาลยุติธรรมจะตัดสินว่าไม่ผิดก็เรียกสิ่งที่สูญเสียไปกลับมาไม่ได้แล้ว
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan