xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน เคดาห์ในยุคราชวงศ์ไศเลนทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์มีเอกสารจีน อาหรับและจารึกในอินเดียกล่าวถึงเคดาห์มากที่สุด บันทึกนักเดินทางชาวอาหรับและเปอร์เซียหลายเล่มกล่าวถึงเมืองเคดาห์ เช่นบันทึกกิตาบ อัล-มะซาลิก วะ อัล-มะมาลิก (ตำราเส้นทางและอาณาจักร) ของอะบู อัล-กอซิม อุมัยดุลลอฮ์ อิบนุ คุรดาษบิฮ์ ในปีพ.ศ.1413 เรียกเมืองนี้ว่ากี-หล่าห์และกล่าวว่ามีเหมืองและป่าไผ่ ในบันทึกอัคบาร์ อัศ-ศิน วะ อัล-ฮินด์ (คำบอกเล่าจากจีนและอินเดีย) ของนักเดินเรือชื่อสุไลมานในปีพ.ศ.1393-1394 เรียกเคดาห์ว่าคาลัชบาร์ และในซิลิละฮ์ อัต-ตะวาริค (สายโซ่ประวัติศาสตร์) ของอบู ซัยด์ อัล-ฮะซัน อัส-ซิรอฟีย์ ในปี พ.ศ.1486-1487 บอกว่าเคดาห์ขึ้นกับศรีวิชัย (ซาบาก) และในบันทึกมุรุจณ์ อัษ-ษะฮับ วะ มะฮาดิน อัล-เญาฮัร์ (ทุ่งทองและเหมืองอัญมณี) ของอะบู อัล-ฮะซัน อะลี บิน อัล-ฮุซัยห์ บิน อะลี หรือ อัล-มัสอูดีย์ ในปี พ.ศ.1490 สรุปว่าซาบากคือซรีซ่าและอธิบายว่าเคดาห์เป็นจุดแวะพักสุดท้ายโดยเรือไปทางทิศตะวันออกในฐานะเมืองที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีกำแพงสูง สวน และลำคลอง คาลาห์มีเหมืองดีบุกและตะกั่ว และชาวเมืองนี้เป็นชาวพุทธ [สุนิติ จุฑามาศ พ.ศ.2567] ชูชูกิและซูมิโอะ ฟูกามิสันนิษฐานว่าประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ซัน-โฝ-ฉี (สัม-พุท-เชย) ย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่เคดาห์บนแหลมมลายูเนื่องจากจารึกหลายแผ่นของโจฬะระบุว่ามหาราชาไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์ [Fukami 1987; Suzuki 2012: 146-147]

มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะ (พ.ศ.1531-1547) พงศาวดารซ่งสือเรียกว่าพระองค์ว่า ซิ-เถี่ย-จิ่ว-ลา-มยู-เนย์-พุท-แม-เตว-แฮว (思离咮囉无尼佛麻调华ซื่อ-หลี-จู่-หลัว-อู๋-หนี่-โฝ-หม่า-เตี้ยว-หัว) และพระนามพระองค์ปรากฏในจารึกพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 ในเทวาลัยพฤหัตเทศวรที่ธันจาวูร์ พ.ศ.1587 พระองค์ขึ้นครองราชย์ที่จัมบิเป็นมหาราชาแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยตามจารึกแผ่นทองแดงที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆนี้บริเวณมัวร่าจัมบิ พระองค์ต้องเผชิญการรุกรานจากพระเจ้าธรรมวงศ์แห่งอาณาจักรเมดังในเกาะชวา ในปีพ.ศ.1533 พระเจ้าธรรมวงศ์ได้ส่งกองทัพเรือเข้ามารุกรานและพยายามโจมตีเมืองปาเล็มบังและจัมบิตลอดเวลาจนพระองค์อาจต้องย้ายไปประทับที่เคดาห์ในช่วงปีท้ายๆของการครองราชย์เพราะจารึกทองแดงเลย์เดนแผ่นใหญ่ระบุว่าราชวงศ์ไศเลนทร์อยู่ที่เคดาห์

พงศาวดารซ่งสือบันทึกว่าในปี พ.ศ.1546 มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิซ่งเจิ้นจงเพื่อขอความคุ้มครองจากจีนเนื่องจากถูกอาณาจักรในเกาะชวารุกราน ทรงให้ราชทูตกราบทูลจักรพรรดิซ่งเจิ้นจงว่า สมาพันธรัฐศรีวิชัยกำลังสร้างวัดใหม่ในนครหลวงเพื่อถวายพระพรให้จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงมีพระชนม์มายุยิ่งยืนนาน ขอให้จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงทรงพระราชทานนามวัดและพระราชทานระฆังประจำวัดด้วย จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงทรงโสมนัสแล้วจึงทรงพระราชทานนามวัดว่า เฉิงเทียนว่านโช้ว (承天万寿) แปลว่า “วัดสวรรค์ประทานหนึ่งหมื่นปี” และพระราชทานระฆังที่มีอักษรจีนเขียนสลักอยู่ในเนื้อเหล็กแก่วัดด้วย [Heng 2009: 83; Suzuki 2012, 146] บูคารี สลาเม็ต มูลยานาและโมฮาหมัด ยามินเชื่อว่าระฆังนี้แขวนอยู่ที่วัดในมัวร่า ตากุส จารึกโจฬะหลายแผ่นที่ระบุว่ามหาราชาแห่งไศเลนทร์ประทับอยู่ที่คฑารัมหรือคะฑะหะ (เคดาห์) ดังนั้นระฆังนี้น่าจะอยู่ที่เคดาห์ ในที่สุดมหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.1548 หลังจากที่ต้องกรำศึกกับพระเจ้าธรรมวงศ์แห่งอาณาจักรเมดังมาตลอดรัชสมัยพระองค์มีชื่ออยู่หนังสือบุซนภาษาทิเบตด้วย [Tulku & Helm 2006]

มหาราชาศรีมาราวิชโยตุงคะวรมัน (พ.ศ.1549-1559) พงศาวดารซ่งสือเรียกพระองค์ว่า-เถี่ย-แม-ลา-พเย (思离麻囉皮ซื่อ-หลี-หม่า-หลัว-ผี) และจารึกพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 ในเทวาลัยพฤหัตเทศวรที่ธันจาวูร์ พ.ศ.1587 เรียกพระองค์ว่า ซูละมานิวรมัน ในสมัยของพระองค์ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 แห่งอาณาจักรโจฬะในอินเดียตอนใต้ สมาพันธรัฐศรีวิชัยมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ซ่งและอาณาจักรโจฬะ

จากจารึกของพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 หรือจารึกเลย์เดนแผ่นใหญ่ภาคภาษาทมิฬ (พ.ศ.1549) กล่าวว่าพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 ยกรายได้ภาษีที่เก็บจากหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อบำรุงวัดจุฑามณีวรมะวิหารสร้างอุทิศแด่มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะแห่งคฑารัม (เคดาห์) ที่นาคปฏินัม ณ ชายฝั่งโคโรมันเดล ในอินเดียใต้เพื่อให้ชาวพุทธใช้เป็นที่พำนักเมื่อมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดียโดยจารึกว่ามหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะทรงเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ จารึก 3 หลักในวัดโฆโรศาสวมิน ที่นาคปฏินัม ธันจาวูร์ในปีพ.ศ.1557 พ.ศ.1558 และพ.ศ.1559 ยืนยันการบริจาคถึง 3 ครั้งให้กับวัดแห่งนี้ของกษัตริย์แห่งคฑารัม [Karashima & Subbarayalu 2009: 275-278] แต่ว่าจารึกเลย์เดนแผ่นใหญ่ภาคภาษาสันสกฤตกล่าวว่าพระองค์ทรงบริจาคเงินสร้างวัดแห่งนี้อุทิศให้กับพระราชบิดาของพระองค์นามว่ามหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะในปีพ.ศ.1548 [Karashima & Subbarayalu 2009: 272-275] พระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 พระโอรสของพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.1557 และได้ออกพระราชโองการสำหรับหมู่บ้านกล่าวถึงมหาราชาศรีมาราวิชโยตุงคะวรมันว่าเป็นทายาทของไศเลนทราวงศ์ กษัตริย์แห่งศรีวิชัยและคฑะหะในปีพ.ศ.1558 เป็นการยืนยันการบริจาคของพระราชบิดาที่อุทิศถวายแด่วัดจุฑามณีที่นาคปฏินัมในปีพ.ศ.1558 [Kulke 2009: 9]

มหาราชาศรีสงครามวิชโยตุงคะวรมัน (พ.ศ.1559-1568) ส่งศรีคุรุตัน เกสุธรรมเป็นหัวหน้าคณะทูตไปโจฬะเพื่อถวายทองคำจากจีนให้พระเจ้าราเชนทราโจฬะเพื่อคลายความระแวงจากฝ่ายโจฬะในเรื่องความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นในปีพ.ศ.1561 ในปีพ.ศ.1562 ศรีวิชัยส่งทองไปโจฬะเพื่อสร้างวัด [Kulke 2016, 68] จารึกเลย์เดนแผ่นใหญ่ภาคสันสกฤต (พ.ศ.1562) ยืนยันการสร้างวัดพุทธที่นาคปฏินัม

ต่อมาในปีพ.ศ.1568 สมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ขัดแย้งกับอาณาจักรโจฬะ พระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 จึงส่งกองทัพเรือในปีพ.ศ.1568 เข้าโจมตีหลายเมืองของสมาพันธรัฐศรีวิชัย เช่น ปาเล็มบัง เคดาห์ ลังกาสุกะ ตามพรลิงค์ ตักโกละ เป็นต้น และเข้ายึดเมืองเคดาห์และจับมหาราชาสงครามวิชโยตุงคะวรมันได้แล้วขังเอาไว้ที่อินเดียในปีพ.ศ.1568 จากจารึกในวัดราชราเชศวร (Rajarajesvara) ที่ธันจาวูร์กล่าวถึงการที่โจฬะโจมตีศรีวิชัยในปีพ.ศ.1568 โจฬะโจมตีศรีวิชัยเพราะศรีวิชัยขัดขวางและแทรกแซงการค้าโดยตรงระหว่างโจฬะกับจีนผ่านทางช่องแคบมะละกา จารึกธิรุกกระไดยูร์ภาษาทมิฬบอกว่าโจฬะบุกศรีวิชัยพ.ศ.1560 แต่ไม่น่าเป็นไปได้เพราะยังติดพันสงครามหลายแห่ง [Kulke 2016: 67-68] นักประวัติศาสตร์หลายท่านยังเชื่อว่าปาเล็มบังยังเป็นศูนย์กลางมากกว่าเคดาห์ทั้งๆที่จารึกโจฬะหลายหลักบอกว่ามหาราชาแห่งไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์ วัดจุฑามณีสร้างโดยเงินบริจาคจากมหาราชาแห่งเคดาห์ โดยจารึกที่นาคปฏินัมกล่าวถึงเคดาห์ 2 แผ่นและศรีวิชัย 1 แผ่น [Kulke 2016: 66, 70] หลักฐานอินเดียและอาหรับกล่าวว่าเคดาห์เป็น 1 ใน 2 ท่าเรือสำคัญของสมาพันธรัฐศรีวิชัยและเรียกกษัตริย์ที่คุมช่องแคบมะละกาว่าเป็นผู้ปกครองศรีวิชัยและคะฑะหะห์ [Miksic & Geok 2017]

9.6 เคดาห์ภายใต้การควบคุมของโจฬะ
จารึกโจฬะหลายแผ่นยังคงกล่าวถึงมหาราชาแห่งเคดาห์ที่ข้อร้องให้โจฬะดูแลวัดที่ศรีวิชัยสร้างขึ้นที่นาคปฏินัม [Kulke 2016: 70] ดังนั้นราชวงศ์ไศเลนทร์ใช้เคดาห์เป็นที่ประทับสุดท้ายที่ใดที่หนึ่งในหุบเขาบูจังที่เป็นสถานีการค้า แม้ว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยถูกโจมตีเสียหายยับเยิน มีหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการยึดครองของโจฬะในภาคใต้ของไทย มาเลเซียและเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย โจฬะควบคุมสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้หลังจากชนะสงครามในปีพ.ศ.1568 ซึ่งเคดาห์อยู่ภายใต้อิทธิพลของโจฬะมีหลักฐานคือซากวัดฮินดูแบบโจฬะที่นั่นซึ่งแสดงว่าอาณาจักรโจฬะเข้าควบคุมสมาพันธรัฐศรีวิชัยในระดับหนึ่ง ต่อมาเมืองเคดาห์จึงก่อกบฏขึ้นในปีพ.ศ.1611 สมาพันธรัฐศรีวิชัยจึงขอร้องให้พระเจ้าวีระราเชนทราโจฬะ (พ.ศ.1606-1613) มาปราบกบฏที่เคดาห์ โดยพระเจ้าวีระราเชนทราโจฬะปราบกบฏจนสำเร็จและกลับมาขึ้นกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยตามเดิม (จารึกเพรุมเบอร์ พ.ศ.1613) กบฏนี้อาจต้องการปลดแอกจากอิทธิพลของโจฬะ

ในปี พ.ศ.1627 สมาพันธรัฐศรีวิชัยที่เคดาห์ส่งทูตชื่อโควินราชะเกศารีปันนาไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากุโลตุงคะโจฬะที่ 1 ที่โจฬะและในปีพ.ศ.1632-1633 มหาราชาแห่งเคดาห์ขอให้พระเจ้ากุโลตุงคะโจฬะที่ 1 ทรงออกพระราชโองการใหม่ที่โจฬะในการให้เงินสนับสนุนวัดจุฑามณีวรมะวิหารที่นาคปฏินัม [มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.2535: 85] ซึ่งจากจารึกแผ่นทองแดงเล็กปัจจุบันอยู่ที่เลย์เดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.1633) กล่าวว่าพระองค์ทรงมีพระราชโองการให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านปาลลิคันตัมที่เป็นสถานที่ปาลลิสในพุทธศาสนาซึ่งนำรายได้เป็นกัลปนาของวัดพระพุทธศาสนาซึ่งมหาราชาศรีมาราวิชโยตุงคะวรมัน ทรงสร้างพระวิหารนี้ไว้เพื่ออุทิศให้แก่มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะหลังจากได้รับสาส์นของราชทูตจากเมืองเคดาห์ในสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่ชื่อว่า ราชวิทยาธระศรีสมันตะและอภิมาโนชตุงคะศรีสมันตะซึ่งเป็นหลักฐานว่ามหาราชาแห่งเคดาห์เป็นพวกราชวงศ์ไศเลนทร์ หมู่บ้านทั้ง 2 แห่งมีชื่อว่า คือราเชนทราโจฬัมเปรุมปาลลิ และจุฑามณีวรมันวิหารคือราชราชาเปรุมปาลลิ [Dayalan 2019] ดังนั้นในสมัยที่โจฬะควบคุมช่องแคบมะละกาสมาพันธรัฐศรีวิชัยส่งทูตไปจีนและโจฬะจากเคดาห์ไม่ใช่ปาเล็มบังตามที่นักประวัติศาสตร์ทั้งชาวตะวันตก อินโดนีเซียและมาเลเซียส่วนใหญ่เข้าใจเพราะจารึกโจฬะหลายแผ่นระบุว่าราชวงศ์ไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์ไม่ใช่ปาเล็มบัง เฮงและอัลจุนีเชื่อว่าพระเจ้ากุโลตุงคะควบคุมศรีวิชัยที่เคดาห์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 [Heng & Aljunied]

เอกสารอ้างอิง

สุนิติ จุฑามาศ. (2567). ล่องนาวาเจ็ดสมุทร ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกาสารอาหรับ-เปอร์เซียสตวรรษที่ 9-14. กรุงเทพฯ: ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร.

มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. (2535). ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.

Dayalan, D. (2019). Ancient Seaports on the Eastern Coast of India: The Hub of the Maritime Silk Route Network Acta via Serica 4 (1): 25-69

Fukami, S. 深見純生. (1987). Reexamination of San-fo-ch’i: Change of Perspective of the Study on Early History of the Western Part of Insular Southeast Asia. Japanese Journal of Southeast Asian Studies, 25(2), 205–232.

Heng, D. T. S. (2009). Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. ISEAS.

Heng, D. T. S. & Aljunied, K. (2018). Singapore in Global History. Amsterdam: Amsterdam University Press.

Karashima, N. 辛岛昇 & Subbarayalu, Y. (2009). Appendix I: Ancient and Medieval Tamil and Sanskrit Inscriptions Relating to Southeast Asia and China. In H. Kulke, K. Kesavapany & V. Sakhuja. Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflection on Chola Naval Expeditions to Southeast Asia, 271-291. Singapore: ISEAS.

Kulke, H. (2009). The Naval Expedition of the Cholas in the Context of Asian History. In H. Kulke, K. Kesavapany & V. Sakhuja. Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflection on Chola Naval Expeditions to Southeast Asia, 1–19. Singapore: ISEAS.

Kulke, H. (2016). Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy. Bulletin de l’École Française d’Extrême-Orient, 102, 45–95.

Miksic, J. N., & Geok, Y. G. (2017). Ancient Southeast Asia. London: Routledge.

Suzuki Takashi 铃木峻. (2012). The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Mekong.

Tulku, R. & Helm, A. (2006). The Ri-Me Philosophy of Jamgon Kongtrul the Great: A Study of the Buddhist Lineages of Tibet. Boston, MA: Shambala Publication.



กำลังโหลดความคิดเห็น