หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
บทบาทของทักษิณในทางการเมืองเริ่มแจ่มชัดขึ้น เราเห็นได้ว่า เขาไม่ได้เพียงแต่แสดงบทบาทหรือความเห็นในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์ทางการเมืองหรือในฐานะเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่เขาแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศและมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลชุดนี้
ทั้งที่แม้ว่าทักษิณจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพ่อของนายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถทำให้เขามีบทบาทเหมือนมีอำนาจรัฐอยู่ในมือได้ และยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายด้วยซ้ำเพราะกฎหมายพรรคการเมืองมีข้อห้ามไว้ มาตรา 29 กำหนดเรื่องคนนอก หรือ “ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง” ห้ามเข้ามาควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา ก้าวก่ายจนทำให้กิจกรรมของพรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ซึ่งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองนั้นให้หมายความรวมถึงคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เพราะถูกเว้นวรรคทางการเมือง ถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ รวมถึงบุคคลที่เคยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดสั่งยึดทรัพย์ เพราะทุจริต และทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. อันเป็นคุณลักษณะบุคคลต้องห้ามที่จะเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งคนนอกที่เข้ามาทำการครอบงำพรรค มีโทษถึงจำคุกเป็นเวลาห้าปีถึงสิบปี ปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นด้วยตามมาตรา 108
ซึ่งสะท้อนว่า ทักษิณไม่สามารถใช้สิทธิในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี พ่อของนายกรัฐมนตรี เข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำทางการเมืองได้ สิ่งสำคัญคือมันสร้างความสับสนว่า ใครคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง เพราะอำนาจของทักษิณเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือกระบวนการที่โปร่งใส ขัดต่อหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
หลายๆ ครั้งที่เราเห็นชัดเจนว่า ทักษิณได้ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และสุดท้ายรัฐบาลก็ขานรับความเห็นของทักษิณ ซึ่งไม่ทราบว่า กกต.มองว่า นี่เป็นการเข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำหรือไม่ หรือมองแค่ว่ากฎหมายครอบคลุมถึงการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำต่อรัฐบาล
ผมคิดว่าทุกวันนี้ไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการก็ยากที่จะทำตัวถูกว่า เขาต้องฟังใคร เพราะบทบาทของทักษิณไม่ต่างกับตำแหน่ง “อภินายกรัฐมนตรี” หรือเป็นอำนาจรัฐที่ซ้อนรัฐ อิทธิพลของทักษิณที่มากเกินไป ทำให้ข้าราชการหรือนักการเมืองรู้สึกถูกกดดัน ส่งผลให้การตัดสินใจไม่เป็นอิสระ หรือมุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของทักษิณมากกว่าประชาชน
ใครก็พูดกันว่า วันนี้ทักษิณมีอำนาจสั่งการรัฐมนตรีหรือข้าราชการที่ทุกคนจะต้องเกรงใจและรับฟังทั้งในฐานะอภินายกรัฐมนตรี โดยอิงกับฐานะพ่อของนายกรัฐมนตรีหรือคนที่ชักหุ่นนายกรัฐมนตรีอยู่หลังฉาก การที่ทักษิณมีอำนาจเหนือรัฐบาลไม่ใช่เรื่องดีในระยะยาว เพราะเป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรม ความโปร่งใส และเสถียรภาพของการปกครอง แม้ในบางกรณีอาจดูเหมือนช่วยงานรัฐบาล แต่ความเสี่ยงต่อการใช้อำนาจในทางที่ผิดและการลดทอนประชาธิปไตยลง
แม้ว่า ทักษิณจะมีประสบการณ์ทางการเมืองที่สูงและในฐานะพ่อย่อมจะต้องประคับประคองและให้การชี้แนะต่อการทำงานของแพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่เราเห็นได้ชัดว่าวันนี้ ทักษิณออกมาแสดงบทบาทอย่างนอกหน้าราวกับเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง ดังนั้นการที่จะเรียกทักษิณว่า อภินายกรัฐมนตรีและสังคมไทยเป็นรัฐที่ซ้อนรัฐจึงไม่แปลกอะไร
ทักษิณบอกว่า ได้ติดต่อพูดคุยกับบุคคลรอบตัวทรัมป์หลายคนแล้ว และอยากต่อสายคุยกับสหรัฐฯ ด้วยตัวเอง เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้า และแนะนำให้ทีมไทยแลนด์ “คุยในประเทศให้ตกผลึก” ก่อนเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้มีจุดยืนที่ชัดเจน และแนะนำว่าไทยควรใช้แนวทาง “รู้เขา-รู้เรา” และเจรจาโดยมุ่งลดผลกระทบ เช่น การลงทุนในสหรัฐฯ ในจุดที่ทรัมป์ต้องการ เช่น การสร้างงานให้กับฐานแฟนคลับของทรัมป์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน
นอกจากนี้ เขายังชี้ว่าระบบกีดกันทางการค้าบางอย่างของไทย เช่น ภาษีรถจักรยานยนต์ Harley-Davidson อาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งควรแก้ไขเพื่อให้การเจรจาง่ายขึ้น
ถ้าเรามองด้วยสายตาธรรมดาทักษิณก็อาจจะเป็นคนไทยคนหนึ่งที่หวังดีต่อชาติ และต้องการช่วยชาติในภาวะวิกฤตและเป็นสิ่งที่ตัวเองมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ถามว่าบทบาทเหล่านี้ทักษิณควรจะชี้แนะกับแพทองธารเป็นการภายในในฐานะพ่อกับลูกหรือแสดงบทบาทออกมาต่อสาธารณะเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตัวเองมีอำนาจและบทบาทต่อรัฐบาลชุดนี้
มันอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทักษิณเข้ามามีบทบาทในฐานะอะไร รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงปัญหาความขัดแย้งในพม่าที่เขาบอกว่าได้มีการพูดคุยกับมิน อ่อง หล่าย เรื่องการหยุดยิงและเจรจากับชนกลุ่มน้อยต่างๆ อาจจะมองว่า เขายังมีสถานะหนึ่งคือ ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน แต่ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เป็นทางการหรือให้บทบาทเขาถึงการเข้าไปแทรกแซงภายในกิจการของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เช่นนั้นหรือ
บทบาทของทักษิณในวันนี้ได้ก้าวล้ำอำนาจของรัฐไทยและนายกรัฐมนตรีไทยไปมาก การที่ทักษิณมีบทบาทเด่นในประเด็นสำคัญทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้อยู่ในตำแหน่งทางการ ถูกมองว่าเป็นการใช้อิทธิพลเหนือรัฐบาล ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เน้นความโปร่งใสและความรับผิดชอบ นักวิชาการบางคน เช่น ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่านี่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเมืองในระยะยาว
และต้องไม่ลืมว่าการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทักษิณอาจจะทำให้ความขัดแย้งกลับมาอีก เพราะคนส่วนหนึ่งในสังคมไม่ไว้วางใจเขาจากผลงานในอดีตที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งทำให้เขาถูกศาลพิพากษาให้จำคุกและยอมรับในพระบรมราชโองการต่อความผิดของตัวเอง ที่สังคมส่วนหนึ่งยังไม่พอใจที่เขาไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ทักษิณจึงเป็นบุคคลในทางการเมืองคนหนึ่งที่สร้างความแตกแยกในสังคมไทย ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าเขามีความชอบธรรมเพียงใดในการนำการเจรจาในนามของชาติ
วันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรากำลังมีอำนาจรัฐซ้อนรัฐ ที่ทักษิณมีอิทธิพลหรืออำนาจควบคุมการตัดสินใจของรัฐ โดยไม่ได้อยู่ในโครงสร้างทางการของรัฐ หรือไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย เช่น การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งตามระบบ อำนาจของทักษิณอยู่นอกการตรวจสอบและอาจขัดแย้งกับอำนาจที่มาจากประชาชน
ทักษิณมีสถานะเหมือนอภินายกรัฐมนตรี (Super Prime Minister) ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ แต่มีอิทธิพลเหนือการบริหารงานของรัฐบาล ราวกับเป็นผู้นำที่แท้จริง โดยอาจผ่านการให้คำแนะนำ การประสานงาน หรือการควบคุมผ่านเครือข่ายและลิ่วล้อของตัวเองในพรรค และยังมีอิทธิพลต่อเครือข่ายธุรกิจที่เห็นว่า เจ้าสัวต่างๆ ต้องเข้ามาห้อมล้อมสยบยอมต่อเขาทั้งสิ้น
แม้บางคนจะบอกว่า บทบาทของทักษิณสะท้อนผ่านความเห็นของเขาต่อนโยบายที่ชี้นำต่อรัฐบาลชุดนี้และการปรากฏตัวในฐานะพ่อของนายกรัฐมนตรี แต่การที่เขาไม่มีอำนาจโดยตรง และรัฐบาลยังคงบริหารโดยนายกฯ ที่เป็นทางการ ทำให้เขาเป็น “ผู้นำเงา” มากกว่าอภินายกรัฐมนตรีในความหมายเต็มรูปแบบ แต่ความจริงแล้วด้วยศักยภาพและความรู้ความสามารถที่ต่ำมากของแพทองธารมันก็ปฏิเสธยากว่า แท้จริงแล้วทักษิณเป็นอภินายกรัฐมนตรีที่ซ่อนอยู่หลังเงาของแพทองธารอีกทีหนึ่งนั่นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้านบทบาทของทักษิณ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยเน้นความสามารถของทักษิณที่สามารถนำมาช่วยชาติได้ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ในทางการเมือง ส่วนฝ่ายที่วิจารณ์เน้นความเสี่ยงต่อประชาธิปไตยและเสถียรภาพ ในภาพรวม บทบาทของทักษิณสะท้อนความท้าทายของการเมืองไทยที่ผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยและเครือข่ายอำนาจ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการใช้อิทธิพลในทางที่ผิด
ถ้าจำกันได้ในอดีตตอนที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณเคยกล่าวถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานองคมนตรี ว่าเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เพื่อสื่อว่าพลเอกเปรมมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยโดยไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งหรือกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การวิจารณ์ของทักษิณต่อพลเอกเปรมสะท้อนถึงความกังวลของเขาต่ออิทธิพลของกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น องคมนตรีและกองทัพ ซึ่งถูกมองว่าเป็น “เครือข่ายอำนาจเก่า” ที่คานอำนาจกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่วันนี้ทักษิณกลายเป็นอดีตนักโทษที่ศาลพิพากษาว่าทุจริตฉ้อฉลจากการใช้อำนาจ กลับมามีบทบาททางการเมืองที่สูงและใช้อำนาจของตัวเองไม่ต่างจากการเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แม้จะอ้างว่าใช้ประสบการณ์การในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและพ่อของนายกรัฐมนตรีที่ไร้ศักยภาพก็ตาม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan