“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
คำว่าโลกไร้พรหมแดนหรือโลกาภิวัตน์ตามบัญญัติของราชบัณฑิตนั้น ทำให้เราเข้าใจว่า นับแต่นี้โลกของเราจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แต่ความหมายที่การติดต่อสื่อสารได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีเท่านั้น แต่นัยของมันเคยทำให้ผมเข้าใจว่า นับจากนี้โลกของเราอาจจะไร้พรมแดนทางกายภาพด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแต่ละประเทศจะไม่มีอาณาเขตหรือเส้นแผนที่ของตัวเอง แต่หมายความว่า เส้นพรมแดนแม้ทุกประเทศจะหวงแหนอยู่ แต่มันจะกลายเป็นนามธรรมมากขึ้น
ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ในประเทศไทยที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง “โลกานุวัตร” (Globalization) เป็นคำที่อาจารย์ชัยอนันต์บัญญัติขึ้น โดยมีความหมายถึงการที่โลกหมุนไปตามกระแสหรือแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการเชื่อมโยงและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอันเนื่องมาจากพัฒนาการด้านการสื่อสาร การคมนาคม และเทคโนโลยี
อาจารย์ชัยอนันต์มองว่า “โลกานุวัตร” เป็นกระบวนการที่โลกกลายเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการสื่อสารที่ไร้พรมแดน เช่น อินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายกายภาพ ในการเขียนคอลัมน์ “โลกานุวัตร” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เขาได้อธิบายถึงผลกระทบของปรากฏการณ์นี้ต่อสังคมไทยและโลก โดยชี้ให้เห็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น การที่โลกไร้พรมแดนจะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความรู้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจสร้างความเหลื่อมล้ำหรือการสูญเสียอัตลักษณ์ท้องถิ่นหากไม่มีการจัดการที่ดี
แนวคิดของอาจารย์ชัยอนันต์เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สังคมไทยต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก โดยเขาเสนอว่า การเข้าใจและรับมือกับ “โลกานุวัตร” ไม่ใช่แค่การยอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกำหนดทิศทางของตนเองได้ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คำนี้ต่อมาได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่ราชบัณฑิตยสถานจะปรับใช้คำว่า “โลกาภิวัตน์” ซึ่งมีความหมายในเชิงพัฒนาการที่เจริญตามโลก แทนคำเดิมของอาจารย์ชัยอนันต์
โลกาภิวัตน์ทำให้ความคิดของเราไม่ได้หยุดนิ่งแค่การพัฒนาด้านการสื่อสาร การคมนาคม และเทคโนโลยี แต่โลกจะกลายเป็น “หมู่บ้านโลก” (global village) ที่ทุกอย่างไหลเวียนได้อย่างอิสระนั่นคือ การไหล่บ่าของทุนเพื่อไปหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า นั่นคือระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของโลกไร้พรมแดน จนกระทั่งจีนได้กลายเป็นโรงงานของโลก และสุดท้ายก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
สินค้าต้นทุนต่ำของจีนไหลบ่าไปทั่วโลก จนทำให้ชาติอย่างสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียงาน และเริ่มไม่พอใจต่อระบบการค้าเสรี จนต้องใช้นโยบาย “ปกป้องผลประโยชน์” เช่น การตั้งกำแพงภาษี การจำกัดการนำเข้าสินค้า หรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งขัดแย้งกับหลักการของโลกาภิวัตน์ที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้า
กระแสชาตินิยมกลับมาเป็นกระแสแรงในหลายประเทศ เพราะประชาชนรู้สึกว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้กระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น คนงานในอุตสาหกรรมดั้งเดิมในประเทศตะวันตกมองว่าการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูก (เช่น จีน หรืออินเดีย)
การเมืองและชาตินิยมทำให้โลกาภิวัตน์เปลี่ยนจากการหลอมรวมไปสู่การเลือกข้างมากขึ้น โลกไม่ได้เลิกเชื่อมโยงกัน แต่การเชื่อมโยงนั้นถูกกำหนดด้วยผลประโยชน์แห่งชาติและการเมืองมากกว่าอุดมคติของความเป็นหนึ่งเดียว มันเหมือนกับว่าโลกาภิวัตน์ถูก “กรอง” ผ่านเลนส์ของชาตินิยม ทำให้เกิดทั้งโอกาส (เช่น การพัฒนาในท้องถิ่น) และความท้าทาย (เช่น ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น)
สุดท้ายทำให้หลายประเทศกลายเป็นเพียงผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาการผลิตจากชาติที่มีค่าแรงต่ำกว่า นำมาซึ่งการขาดดุลทางการค้า จนเป็นที่มาที่โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องตั้งกำแพงภาษีกับหลายประเทศที่ขาดดุลการค้า ทั้งนี้ทรัมป์มองว่าการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ทำให้โรงงานในสหรัฐฯ ปิดตัว และคนงานอเมริกันตกงาน กำแพงภาษีจะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น ส่งเสริมให้บริษัทหันมาผลิตในสหรัฐฯ แทน
จนกระทั่งทรัมป์ประกาศตั้งกำแพงภาษีที่เรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก
เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งได้ดุลการค้าสหรัฐจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ด้วยสูงถึง 36 % ข้อมูลล่าสุดที่มีการสรุปอย่างเป็นทางการสำหรับปี 2567 (2024) จากกระทรวงพาณิชย์และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 35,625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคำนวณจากมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ 45,625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส และกระทรวงพาณิชย์)
ปัญหาว่าประเทศไทยจะรับมือกับนโยบายของทรัมป์อย่างไรในขณะที่เวียดนามซึ่งถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนาม 46% เวียดนามรีบยื่นจดหมายขอเจรจาโดย โต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ส่งจดหมายตรงถึงทรัมป์เสนอ ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% และขอให้ ชะลอมาตรการภาษีออกไปอย่างน้อย 45 วัน
แต่นายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว กล่าวว่า ข้อเสนอจากเวียดนามที่ระบุว่าจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังไม่มากพอที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการภาษีใหม่ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะจีนใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้า การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนแพทองธาร ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยระบุตอนหนึ่งว่า สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เชื่อถือได้ในระยะยาว โดยขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ และลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ
ดูเหมือนว่าไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ตามลำพัง โดยแพทองธารได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามสถานการณ์การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 6 ม.ค.2568 ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าคณะคือนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และคนอื่นรวม 9 คน
ขณะที่นายศุภวุฒิกล่าวว่า “คนใจร้อนให้ไปเจรจากับทรัมป์ เพื่อลดภาษี แต่ประธานาธิบดีทรัมป์นั้นไม่ได้ต้องการลดภาษี เพราะเขาก็บอกกับสื่อว่าประเทศที่จะลดภาษีให้ประเทศนั้นต้องมีข้อเสนอที่ Miracle (มหัศจรรย์) ให้กับเขา ซึ่งประเทศก็ไม่มีอะไรที่เป็นข้อเสนอที่มหัศจรรย์ให้สหรัฐฯ ถ้าไปทำแบบนั้นเดี๋ยวฝ่ายค้านก็จะถล่มว่าเราไปแอบทำข้อตกลงลับ และเราไม่มีหรอกครับ เราเดินสายกลางเพื่อหาทางออกว่าเราจะอยู่กับสหรัฐฯในยุคทรัมป์ใหม่อย่างไร เพราะโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม”
มีข่าวว่ารัฐบาลจะให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเจรจาในรอบแรก ส่วนการติดตามรายละเอียดย่อย กระทรวงพาณิชย์จะรับช่วงต่อ ว่าจะพูดคุยอย่างไรต่อไป
ถามว่าเรามีอะไรจะไปต่อรองกับเขาไหมคำตอบคือ ทางเดียวคือ ไทยต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นพวกสินค้าเทคโนโลยีสูงเช่น สินค้าเกษตร เครื่องจักร อุปกรณ์ไอที เพื่อให้สหรัฐฯ ขาดดุลต่อไทยน้อยลง หรือรัฐบาลไทยอาจผลักดันการเจรจาทวิภาคีเพื่อขอผ่อนผันภาษีบางสินค้า โดยเน้นสินค้าที่สหรัฐฯ ยังต้องการจากไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์หรืออาหารแปรรูป
ในขณะที่อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนคนปัจจุบัน ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพผ่านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Anwar Ibrahim เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ระบุว่า วันนี้มีโอกาสได้หารือผ่านทางโทรศัพท์กับผู้นำประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม และสิงคโปร์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประสานการตอบโต้ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา
การมัดรวมอาเซียนของอันวาร์เพื่อรับมือกับสหรัฐฯ นั้นกลับไม่มีประเทศไทยหรือแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยอยู่ในวงเจรจา ส่วนเวียดนามที่ไม่มีนั้นไม่แปลกเพราะเขาติดต่อสายตรงไปแล้ว คำถามคือเขาไม่ชวนเราหรือแม่นางแพทองธารมั่นใจว่าตัวเองจะรับมือกับสหรัฐฯ ตามลำพังได้แล้วคิดว่าเธอจะพาเราไปรอดไหม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan