สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
จากตัวอย่างอันสูงส่งดังกล่าว มาเคียเวลลีขอเพิ่มตัวอย่างเล็กๆ สักตัวอย่างหนึ่ง ทว่าเป็นตัวอย่างที่เสริมบางส่วนแก่ตัวอย่างอื่น และมาเคียเวลลีต้องการประกอบเข้ากับกรณีอื่นๆ ทั้งหมดที่คล้ายคลึงกันให้สมบูรณ์
เป็นกรณีของไฮโร แห่งซีรากูซา จากสามัญชนกลายเป็นเจ้าผู้ครองนครซีรากูซา โดยไม่ได้รับสิ่งใดจากโชคชะตามากไปกว่าโอกาส เพราะเมื่อชาวซีรากูซาถูกกดขี่ ก็เลือกเขาขึ้นมาเป็นแม่ทัพ และจากตำแหน่งนั้น เมื่อพิสูจน์ตนเองด้วยคุณความดี เขาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าผู้ครองนคร และด้วยคุณธรรมดังกล่าว แม้จะประกอบด้วยโชคชะตาของเขาส่วนหนึ่ง มีผู้เขียนถึงเขาว่า เขามิได้ขาดสิ่งใดเลยในการที่จะเป็นกษัตริย์นอกจากอาณาจักร
ไฮโรกำจัดกองทหารเดิมและจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ลบล้างพันธมิตรเก่าและสร้างพันธมิตรใหม่ เมื่อเขามีพันธมิตรและกองทหารเป็นของเขาเองแล้ว เขาก็สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ บนรากฐานนั้น เขาจึงก้าวข้ามผ่านปัญหายุ่งยากด้วยภารกิจหนักหน่วง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐในปกครอง และมีความยากลำบากเพียงเล็กน้อยในการรักษาไว้
7 ว่าด้วยรัฐ ภายใต้เจ้าผู้ครองนครแห่งใหม่ ซึ่งยึดครองมาโดยกองกำลังของผู้อื่นและโชควาสนา
บรรดาเจ้าผู้ครองนครที่มาจากสามัญชนโดยอาศัยโชควาสนาเพียงอย่างเดียวนั้น ได้มาด้วยความเหนื่อยยากเพียงเล็กน้อย หากแต่การดำรงรักษาสถานะไว้ต้องเหนื่อยยากอย่างมาก พวกเขามิได้เผชิญความยากลำบากในระหว่างหนทางเพราะโบยบินขึ้นมา
ทว่า ความยากลำบากทั้งหมด เกิดขึ้นเมื่อได้มาอยู่ในตำแหน่งแล้ว และเจ้าดังกล่าวนี้หากมิใช่ก้าวขึ้นมาครอบครองรัฐด้วยเงินทองก็ด้วยความโปรดปรานของผู้ที่มอบให้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศกรีก ในนครรัฐต่างๆ ของไอโอเนียและเฮลเลสปอนด์ ซึ่งเจ้าผู้ครองนครทั้งหลายได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาโดยดาริอุส ให้พวกเขาครองนครเหล่านั้นเพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยและบารมีของตน
ในขณะเดียวกัน มีจักรพรรดิอีกมากมายก้าวจากสามัญชนขึ้นมาเป็นเจ้าครอบครองอาณาจักรด้วยการติดสินบนพวกทหาร บุคคลเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์และโชควาสนาของผู้มอบรัฐให้แก่พวกเขา อันเป็นสองสิ่งซึ่งไม่คงที่และไม่แน่นอนอย่างมาก พวกเขาไม่รู้วิธีดำรงรักษาและไม่สามารถรักษาตำแหน่งไว้ พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร
เพราะหากใครคนนั้นไม่ได้เป็นผู้มีสติปัญญาและคุณธรรมเป็นเลิศแล้ว ก็คงไม่ชอบด้วยเหตุผลที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยลำพังโชคชะตาเพียงอย่างเดียวไปตลอด เขาควรรู้วิธีควบคุมดูแลและสั่งการ พวกเจ้าเหล่านั้นไม่สามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ เพราะไม่มีกองกำลังเก่งกล้าที่เป็นมิตรและจงรักภักดี
นอกจากนี้ รัฐที่ต้องกลายเป็นรัฐภายใต้การปกครองอย่างฉับพลัน ก็เฉกเช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งปวงในธรรมชาติ ที่เกิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว ย่อมไม่สามารถหยั่งรากลึกและแผ่ขยายกิ่งก้านสาขา สภาพอากาศอันเลวร้ายที่ประสบในครั้งแรก จึงสามารถทำลายล้างสิ่งเหล่านี้ได้หมดสิ้น
แน่นอนว่า เว้นเสียแต่บุคคลผู้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าโดยฉับพลันเหล่านั้นจะมีคุณธรรมสูงยิ่ง ซึ่งตัวเขาเองจะรู้ได้ทันทีว่าควรเตรียมการอย่างไร ในการที่จะรักษาสิ่งซึ่งโชคเคราะห์อันดีนี้นำมาวางให้บนตัก และดังที่กล่าวมาแล้ว รากฐานซึ่งควรมีผู้อื่นวางไว้ให้ก่อนหน้าที่พวกเขาจะกลายมาเป็นเจ้านั้น พวกเขาต้องวางให้มั่นคงขึ้นเองภายหลัง
สำหรับทั้งสองรูปแบบของการก้าวขึ้นเป็นเจ้าดังที่กล่าวมา นั่นคือ ด้วยคุณธรรม หรือด้วยโชคชะตา มาเคียเวลลีได้เสนอสองตัวอย่างอันเกิดขึ้นในวันเวลาที่อยู่ในความทรงจำของพวกเขา คือกรณีฟรันเชสโก สฟอร์ซา และกรณีของเชซาร์ บอร์จา
จากสามัญชนฟรันเชสโกได้กลายเป็นดยุกแห่งมิลาน ด้วยวิธีการเหมาะสมบวกกับคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของเขาเอง และจากการที่เขาได้ตำแหน่งมาด้วยความยากลำบากนับพันประการ เขาจึงรักษาตำแหน่งนั้นไว้ได้ด้วยปัญหายุ่งยากเพียงเล็กน้อย
ในทางตรงกันข้าม เชซาร์ บอร์จา ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า ดยุกวาเลนติโนนั้น ได้รัฐปกครองโดยอาศัยโชคชะตาของบิดาของเขา และสูญเสียรัฐไปในหนทางเดียวกัน แม้จะมีความจริงอยู่ว่า เขาได้ใช้ประโยชน์จากทุกการกระทำ และกระทำทุกอย่างเท่าที่บุรุษผู้สุขุมรอบคอบและยึดถือคุณธรรมควรกระทำ เพื่อหยั่งรากของตนลงในรัฐ ซึ่งได้มาด้วยกองกำลังและโชคชะตาของผู้อื่นที่มอบให้เขาแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า หากผู้ใดมิได้วางรากฐานของตนไว้ ก่อนจะต้องสร้างขึ้นในภายหลังด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง แม้จะต้องประสบความยากลำบากต่อตัวผู้สร้าง และอันตรายต่อสิ่งที่จะสร้างขึ้นไปบนรากฐานนั้นก็ตาม ดังนั้น หากผู้ใดได้ไตร่ตรองดูทุกย่างก้าวของดยุกผู้นี้ จะเห็นว่าเขาได้สร้างรากฐานอันยิ่งใหญ่สำหรับอำนาจในอนาคตแก่ตนเอง
ซึ่งมาเคียเวลลีวิเคราะห์ว่า ไม่ได้เป็นสิ่งมากเกินไปที่จะนำมาพิจารณา เพราะสิ่งดีที่สุดที่มาเคียเวลลีจะสามารถมอบแก่เจ้าคนใหม่ ก็คือตัวอย่างจากการปฏิบัติของดยุกผู้นี้ และหากแบบแผนของเขาไม่ก่อประโยชน์แก่ตัวเขา ก็มิใช่ความผิดของเขา เพราะสถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากโชคเคราะห์อันเหนือปรกติวิสัยและร้ายกาจอย่างที่สุด
พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ประสบความยากลำบากมากทั้งก่อนหน้า และภายหลังเมื่อตัดสินใจยกบุตรชายขึ้นเป็นดยุกผู้ยิ่งใหญ่ ประการแรก เขามองไม่เห็นหนทางที่จะสามารถยกบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าแห่งรัฐใดรัฐหนึ่ง อันมิใช่รัฐภายใต้ศาสนจักร และเมื่อพิจารณาว่าจะให้ถือครองรัฐซึ่งอยู่ภายใต้ศาสนจักร เขาก็รู้ดีว่าดยุกแห่งมิลานและชาวเวนิสจะไม่ยินยอม เพราะนครฟาเอนซาและรีมีนีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของชาวเวนิสมาช้านาน
นอกจากนี้เขายังเห็นว่า กองกำลังติดอาวุธของอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังของผู้ที่สามารถจะนำมาใช้ได้นั้น อยู่ในมือของบรรดาผู้เกรงกลัวความยิ่งใหญ่ของสันตะปาปาด้วยเหตุผลบางประการ เขาจึงไม่ไว้วางใจคนเหล่านั้น
ขณะที่กองกำลังทั้งหมดขึ้นอยู่กับตระกูลออร์ซีนี และตระกูลโคลอนนากับพรรคพวก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องล้มล้างแบบแผนเหล่านี้ และนำความไร้ระเบียบมาสู่รัฐของพวกเขา เพื่อให้ตัวดยุกสามารถเป็นเจ้าที่มีความมั่นคงปลอดภัยในบางส่วนของรัฐเหล่านี้
นี่เป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา เพราะเขาพบว่ามีสาเหตุอื่นเข้ามา เมื่อชาวเวนิสมีส่วนในการรับชาวฝรั่งเศสกลับเข้ามาในอิตาลี ซึ่งเขาไม่เพียงแต่ไม่คัดค้าน หากแต่ทำให้ง่ายดายยิ่งขึ้นโดยการยกเลิกการอภิเษกสมรสของพระเจ้าหลุยส์ครั้งก่อน ดังนั้นองค์กษัตริย์จึงเข้าสู่อิตาลีด้วยความช่วยเหลือของชาวเวนิสและการยินยอมของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ และทันทีที่พระองค์เข้าสู่มิลาน พระสันตะปาปาก็ได้กองกำลังของพระองค์มาช่วยในแผนการเข้ายึดโรมัญญา ซึ่งที่นั่นยอมรับดยุกเพราะชื่อเสียงขององค์กษัตริย์
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากดยุกได้ครอบครองโรมัญญาและตีตระกูลโคลอนนาราบคาบแล้ว สองสิ่งที่กีดกันดยุกผู้นี้จากการรักษารัฐไว้และการก้าวรุกหน้าไป คือ... ขอยกไปเฉลยในบทสิบเอ็ดนะครับ..
บทนี้กล่าวถึง “พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์” กับ “ดยุกมิลานผู้ลูกชาย” แถมมี “พระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส” มาสมทบด้วย.. น่าติดตามแผนที่จะรุกคืบ.. เพราะพวกนี้ลืมไปว่า บางเรื่องบางครั้ง “มนุษย์ลิขิต” ได้.. แต่บางครั้งบางเรื่อง “ฟ้าลิขิต” นะโว้ย.. จริงไหม???