หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบหลายปีนั้น เป็นสัญญาณเตือนเราว่า ที่เราเคยบอกว่าเราเป็นประเทศที่โชคดีที่ตั้งอยู่นั้นเป็นที่ไม่มีภัยธรรมชาติรุนแรงนั้นไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป และต่อไปนี้เราจะต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เพื่อไม่เกิดความโกลาหลเหมือนที่เกิดขึ้นและจะรับมือกับแผ่นดินไหวอย่างมีสติต่อไป
สิ่งที่ต้องทราบก็คือประเทศไทยของเรานั้นมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่มาก หมายถึงรอยแตกในชั้นหินของเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนตัว และ “รอยเลื่อนมีพลัง” (Active Faults) คือรอยเลื่อนที่ยังมีการขยับตัวในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต จากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ปัจจุบันประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังอย่างน้อย 16 กลุ่ม กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด โดยส่วนใหญ่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ภาคที่โชคดีไม่มีรอยเลื่อนเลยคือ ภาคอีสาน
รอยเลื่อนที่น่ากลัวที่สุดในแง่ผลกระทบต่อประชากรและโครงสร้างน่าจะเป็น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เพราะใกล้กรุงเทพฯ และมีพลังสูง พาดผ่านจ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ตาก มีความยาว: 220 กม. ลักษณะแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 เมื่อ 22 เมษายน 2526 รับรู้ถึงกรุงเทพฯ
หากไม่นับครั้งล่าสุดนี้ แผ่นดินไหวที่แรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ แผ่นดินไหว 6.3 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ผมจะไม่พูดถึงสิ่งที่เขาพูดกันมากถึงภาวะผู้นำของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะผมคิดว่า สังคมน่าจะตัดสินได้และอาจจะแตกต่างไปตามมุมมองและทัศนคติของแต่ละคน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมผมจะไม่พูดถึงเธอ แม้จะมีคนพูดกันมากถึงท่าทีของเธอในวันที่เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งแรก ที่แพทองธารเธอตั้งคำถามว่า “แผ่นดินไหวปุ๊ปสิ่งแรกที่ประชาชนควรรู้คืออะไรบ้าง ใช่ในเรื่องของ sms ไหมคะ ถ้าใช่หน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ทุกคนยกมือตอบได้เลยนะคะ เพราะต้องทำงานร่วมกัน”
จากนั้นนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตอบว่า "ปกติแล้วจะมีการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รับรายงานเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และได้แจ้งมาทาง ปภ. เพื่อแจ้งเตือน หลังจาก ปภ. ปกติแล้ว แผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ จะรู้ก็แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ทุกคนจะรู้เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ของเราแจ้งเตือนครั้งแรกคือส่งไปยัง sms รวมทั้งแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดย ปภ. ส่งไปที่ กสทช. เพื่อให้ส่ง sms แจ้งให้พี่น้องประชาชน"
ถ้าเราฟังให้ดีก็เหมือนอธิบดีต้องการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบนั่นแหละว่า เหตุแผ่นดินไหวนั้นไม่มีใครสามารถรับรู้ได้ล่วงหน้าและจะรู้เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
ปัญหาใหญ่ที่พูดกันก็คือเรายังไม่มีระบบ Cell broadcast ที่แจ้งเตือนภัยประชาชน แต่ข้อดีคือมีการเตรียมการระบบนี้ไว้แล้วแต่ระบบจะเสร็จสมบูรณ์ใช้ได้ในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม แต่ปัจจุบันใช้ส่งด้วยระบบ sms และส่งได้ครั้งละ 200,000 เบอร์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน และพบว่าบางคนก็ได้บางคนก็ได้ในเวลาที่ล่วงเลยมานานแล้ว และได้รับเฉพาะคนใช้ระบบแอนดรอยเท่านั้น
ว่าไปแล้วแพทองธารก็น่าจะรู้ระบบ sms นะเพราะพ่อของเธอรวมถึงตัวเธอเองเคยเป็นเจ้าของ ais มาก่อน
แม้ว่าการเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าในทางวิทยาศาสตร์นั้นยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่บางประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ญี่ปุ่น ได้พัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่สามารถแจ้งเตือนได้ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากตรวจจับคลื่นไหวสะเทือนแรก (P-wave) ซึ่งเร็วกว่าคลื่นที่สร้างความเสียหาย (S-wave) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวสั้นๆ แต่มีประโยชน์มาก
ญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัยที่เรียกว่า J-Alert ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) โดยใช้เครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวกว่า 4,000 จุดทั่วประเทศ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่น P-wave ได้สองจุดขึ้นไป ระบบจะวิเคราะห์ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวและความรุนแรงที่คาดการณ์ไว้ทันที จากนั้นส่งสัญญาณเตือนไปยังประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ลำโพงสาธารณะ และโทรศัพท์มือถือ
การแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ที่เรากล่าวถึงนี่แหละ ซึ่งส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ทุกเครื่องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องสมัครหรือลงทะเบียนล่วงหน้า ข้อความจะมาพร้อมเสียงเตือนดังและข้อความที่ระบุระดับความรุนแรงและเวลาคาดการณ์ที่คลื่นจะมาถึง ระบบนี้ใช้เวลาเพียง 4-20 วินาทีหลังตรวจจับคลื่นแรก
อย่างที่กล่าวไป J-Alert ผสานกับ Cell Broadcast ของญี่ปุ่นจึงเป็นระบบที่เร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก ส่วนเกาหลีใต้ใช้ระบบ Korean Public Alert Service (KPAS) ที่ส่งข้อความเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast สำหรับแผ่นดินไหว พายุ และภัยอื่นๆ รวดเร็วและครอบคลุมทั่วประเทศ และสหรัฐอเมริกาใช้ Wireless Emergency Alerts (WEA) เป็นระบบ Cell Broadcast ที่ครอบคลุมภัยพิบัติหลายประเภท รวมถึงแผ่นดินไหวในบางรัฐ
ส่วนอินเดียมีระบบ Cell Broadcast ที่พัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เน้นเตือนพายุไซโคลนและน้ำท่วม แต่ยังไม่ครอบคลุมแผ่นดินไหวทั่วถึงเท่าญี่ปุ่น และเม็กซิโก ใช้ระบบ Sistema de Alerta Sísmica Mexicano – (SASMEX)มีเซ็นเซอร์ตามแนวชายฝั่งที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เมื่อตรวจจับคลื่น P-wave ระบบจะส่งสัญญาณเตือนผ่านลำโพงสาธารณะ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยเฉพาะในเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งอยู่ห่างจากรอยเลื่อน ทำให้มีเวลาเตือนล่วงหน้า 30-60 วินาที
ผมเอาหลักที่เขาปฏิบัติกันในญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟังว่าหากเกิดแผ่นดินไหวควรจะทำอย่างไร คำตอบคือ
หมอบ: นั่งลงหรือหมอบเพื่อป้องกันการล้ม
คลุม: เข้าไปใต้โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงเพื่อป้องกันของตกใส่ศีรษะ ถ้าไม่มี ให้ใช้แขนปกป้องศีรษะและคอ
กอด: จับขาโต๊ะหรือยึดตัวเองให้มั่นคง รอจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุด
เหตุผล: การอยู่ภายในอาคารที่มีโครงสร้างทนแผ่นดินไหว (เช่นในญี่ปุ่น) มักปลอดภัยกว่าการวิ่งออกไป
ห้ามใช้ลิฟต์ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น แต่ต้องรอให้การสั่นสะเทือนหยุดก่อน เพื่อป้องกันการติดค้างหรือบาดเจ็บ
หลีกเลี่ยงหน้าต่างและของหนัก และอยู่ห่างจากกระจก ชั้นวางของ หรือสิ่งของที่อาจล้มทับได้
หลังสั่นสะเทือนหยุดแล้วตรวจสอบความปลอดภัยรอบตัว หากตึกเสียหายหนักหรือมีไฟไหม้ ให้อพยพอย่างระมัดระวัง ใส่รองเท้าแข็งเพื่อป้องกันการเหยียบเศษกระจก เดินลงบันไดอย่างเป็นระเบียบ ไม่ผลักกัน เพื่อลดความชุลมุน
ข้อแนะนำสำหรับการจัดการบนตึกสูงคือ ไม่ควรรีบวิ่งออกทันที แต่ใช้หลัก “หมอบ,คลุม,กอด” เพื่อความปลอดภัยสูงสุด การอพยพควรทำหลังสั่นสะเทือนหยุดและประเมินสถานการณ์แล้วเท่านั้น
แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของไทย โชคดีที่ศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปจากกรุงเทพเป็น 1,000 กิโลเมตร ถ้าหากไม่เกิดโศกนาฏกรรมตึกของสตง.ถล่มลงมาก ประเทศไทยเราก็มีความเสียหายไม่เยอะ แต่ก็เปิดให้เห็นถึงร่องรอยการไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่เคยตรวจสอบการใช้เงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานรัฐอื่น ผลงานครั้งนี้คงจะทำให้เราต้องทบทวนการเปิดประมูลของหน่วยงานรัฐที่มุ่งให้กับผู้ที่ประมูลด้วยวงเงินขั้นต่ำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และสตง.เองก็น่าจะเข้าใจหลักการนี้ดี เพียงแต่เมื่อเรื่องนี้เกิดกับสตง.เสียเองใครเล่าจะตรวจสอบสำนักงานสตง.
ผมไม่อยากจะพูดถึงเวรกรรมที่อาจจะเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งอย่างที่โซเชียลพูดกันว่า ปี 2547 เราเกิดสึนามิและมีคนเสียชีวิตจำนวนมากในประเทศไทย ปี 2554 เราเกิดมหาอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาและปีนี้ 2568 เราเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่กรุงเทพฯเคยประสบมา ทั้งสามครั้งเกิดขึ้นในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีที่นามสกุลเดียวกัน คิดเสียว่า เป็นโชคชะตาของคนไทยร่วมกันก็แล้วกัน และหวังว่าจะไม่มีคนที่ 4 กับมหาภัยพิบัติจากธรรมชาติครั้งนี้อีก แค่ 3 คนก็พอแล้ว
อาจจะมีคนบอกว่า ไม่พูดถึงการเกิดขึ้นของโรคระบาดในสมัยนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งหรือ อันนั้นไม่น่าจะนับเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และคนทั่วโลกต้องรับชะตากรรมเดียวกัน
ภัยพิบัติครั้งนี้อาจทำให้เราต้องพบกับ new normal ในการใช้ชีวิตให้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่คิดไม่ถึง เมื่อเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคตความโกลาหลอาจจะน้อยลง แต่ถ้าหากเราคิดว่าเมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ เราต้องการผู้นำแบบไหน ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้เราตัดสินใจได้ว่า ในอนาคตเราควรจะมีผู้นำแบบไหนที่จะนำพาประเทศของเราให้รอดไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตการณ์หรือภัยพิบัติอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan