ในขณะที่เขียนบทความนี้ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงสองวัน และเป็นสองวันแห่งการเตรียมการทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยที่ฝ่ายค้านเตรียมตัวในการจัดทำข้อมูลในการกล่าวหา และในขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมข้อมูลในการแก้ข้อกล่าวหา
แต่ก่อนสองวันนี้การยื่นญัตติอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้มิได้ราบรื่น ตรงกันข้าม เต็มไปด้วยอุปสรรคเริ่มตั้งแต่ประธานสภาฯ ไม่ยอมบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม โดยอ้างว่ามีการนำชื่อคนนอกคือ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มาใส่ไว้ในญัตติเป็นการผิดข้อบังคับ และได้แจ้งให้ฝ่ายค้านแก้ไข
แรกๆ ดูเหมือนว่าฝ่ายค้านไม่ยอมและโต้กลับว่าไม่ขัด แต่สุดท้ายยอมแก้ไขโดยใช้คำว่า คนในครอบครัวแทน
ต่อมาได้มีความเห็นต่างเรื่องเวลาที่จะใช้ในการอภิปราย โดยที่ทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยเห็นว่าวันเดียวก็พอ แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าควรเป็น 5 วัน
แต่ในที่สุด ตกลงกันได้ว่า 2 วันและวันที่ 3 ลงมติ
ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นต่าง แต่ในที่สุดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีก็เกิดขึ้นก่อนที่จะปิดสมัยในวันที่ 10 เมษายน
ส่วนเนื้อหาที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกเป็นข้อกล่าวหา คาดว่าคงหนีไม่พ้นประเด็นดังต่อไปนี้
1. บุคลิกภาพไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ เช่น การแต่งกายไม่ถูกกาลเทศะในการพบปะกับผู้นำต่างประเทศ เป็นต้น
2. ไม่มีความรู้ ความสามารถ และขาดวุฒิภาวะที่ผู้นำจะพึงมี
3. ไม่สามารถผลักดันผลงานที่แถลงไว้ต่อสภาฯ ได้ครบถ้วน ทำได้ครึ่งๆ กลางๆ และไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เป็นต้น และมีการผลักดันโครงการบ่อนกาสิโนทั้งๆ ที่มิได้กำหนดเป็นนโยบายและมีประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
4. ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้คนนอกครอบงำและชี้นำพรรค ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพรรคการเมือง
ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น ประชาชนส่วนใหญ่รู้เห็นแล้ว ดังนั้น ถ้าฝ่ายค้านหยิบยกประเด็นเหล่านี้โดยไม่มีข้อมูลเชิงลึกมากไปกว่าที่ประชาชนและสื่อมวลชนรู้ ฝ่ายค้านก็จะทำให้นายกฯ สะเทือนไปกว่าที่ได้รับจากคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และสื่อมวลชนที่เป็นมาตลอด
ด้วยเหตุนี้ ถ้าฝ่ายค้านต้องการให้ได้คะแนนนิยมจากการเป็นฝ่ายค้าน จะต้องนำเสนอข้อมูลในเชิงลึกหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ยังไม่มีการเปิดเผยทางสื่อ จึงจะทำให้นายกฯ สะเทือนได้