xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน กลันตันและตรังกานู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

บทนำ
กา-หล่า-ตัน (诃罗旦เหอ-หลัว-ตัน) ในสุยชู้อาจจะเป็นหลักฐานจีนชิ้นแรกที่กล่าวถึงกลันตัน กลันตัน ตรังกานู เชอราติงและปะกา ไม่มีชื่อปรากฏในจารึกธิรุกกระไดยูรืที่บันทึกการที่โจฬะบุกโจมตีศรีวิชัยในปี พ.ศ.1568 กลันตัน ตรังกานู เชอราติงและปะกาน่าจะเป็นเมืองก่อตั้งใหม่ในแหลมมลายูของสมาพันธรัฐศรีวิชัยในสมัยราชวงศ์เมาลิ ซึ่งเมืองเหล่านี้น่าจะเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเล็กๆจนกลายเป็นเมืองในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองเหล่านี้เกิดจากการใช้ระบบศุลการกรทางทะเลในสมัยราชวงศ์ซ่งที่อนุญาตให้พ่อค้าชาวจีนออกไปค้าขายโดยตรงกับเมืองโพ้นทะเลทำให้มีเมืองทางชายฝั่งทะเลบนแหลมมลายูเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ซากปรักหักพังหรือโบราณสถานเป็นจำนวนมากเหมือนที่ลังกาสุกะ รักตมฤติกา ครหิหรือตามพรลิงค์ ดังนั้นเมืองเหล่านี้ไม่ได้ก่อตั้งในสมัยศรีวิชัยยุคแรกๆแต่มีมาก่อนการก่อตั้งสมาพันธรัฐตามพรลิงค์และกลายเป็นสมาชิกในสมาพันธรัฐแห่งนี้ก่อนที่จะตกเป้นเมืองขึ้นของมัชปาหิตในราวปีพ.ศ.1893 และเป็นอิสระในราวปีพ.ศ.1931

คริส จอลล์ได้รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับประวัติเมืองทางชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูในประเทศมาเลเซียพบว่าเอกสารเหล่านี้มักจะเชื่อมโยงประวัติเมืองกลันตัน ตรังกานูและปัตตานีเข้าด้วยกัน แต่เอกสารเหล่านี้เขียนขึ้นในยุคหลังที่เมืองเหล่านี้เปลี่ยนไปนับถือสาสนาอิสลามแล้วโดยไม่เชื่อมโยงกับเอกสารจีนหรือหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนหน้านั้นมากนักคล้ายกับอดีตเมืองในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ทางฝั่งไทยที่ไม่เชื่อมโยงกับหลักฐานทางโบราณคดีก่อนหน้าที่เปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์

เปรียบเทียบตำนานกลันตันของฝั่งไทยและมาเลเซีย
คนไทยเรียกเมืองนี้ว่ากลันตันในสมัยที่ยังเป็นหัวเมืองประเทศราชของไทย ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศกเล่มที่ 6 กล่าวว่ว่าเดิมกลันตันเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยอยู่แต่พรรคพวกของตัว เมื่อตุวัน มาโซ (Tuan Maso) มาเป็นเจ้าเมืองตรังกานูตั้งบ้านตั้งเมืองแล้วจึงยกทัพไปตีกลันตันเป็นเมืองขึ้น [กรมศิลปากร พ.ศ.2545: 389] เอกสารฝ่ายไทยให้ข้อมูลของเมืองกลันตัน ตรังกานูและเคดาห์ (ไทรบุรี) ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์น้อยมากเนื่องจากเอกสารต่างๆในสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2310 ดังนั้นเนื้อหาเอกสารที่เกี่ยวกับกลันตันทางฝั่งไทยและมาเลเซียแตกต่างกันมาก เนื่องจากทางฝั่งมาเลเซียไม่มีการเอ่ยชื่อตุวัน มาโซเลย เอกสารหลักทางฝั่งมาเลเซียคือ ตำนานศรีกลันตัน (Hikayat Seri Kelantan)

ตำนานนี้เล่าลำดับสันตติวงศ์ของกษัตริย์กลันตัน ดยเริ่มจากเรื่องราวของเอนจิค สิติ วัน เกมบัง (Encik Siti Wan Kembang) ผู้ปกครองรัฐกลันตันโบราณที่รู้จักกันในชื่อทนาห์ เซเรนดาห์ เกบุน บุหงา เจรังเตกะยุง (Tanah Serendah Kebun Bunga Cerangtegayung) จากนั้นต่อด้วยตำนานของปูเตรี ซาดอง (Puteri Sadong) ลูกสาวบุญธรรมของเอนซิก สิติ วัน เกิมบัง ที่แทงสามีที่นอกใจเธอ เจ้าหญิงซาดองสละบัลลังก์ให้แก่สุลต่านอิบราฮิม น้องเขยของเธอแต่การปกครองของสุลต่านอิบราฮิมโหดร้ายต่อประชาชนจนเลื่องลือไปถึงหูของเจ้าหญิงซาดองทำให้เธอรู้สึกเศร้าใจและหายตัวไปจากถ้ำบูกิตมารัค ต่อมาก็ไม่มีกษัตริย์ในแผ่นดินนี้ [Mohd 2004]

จากนั้นเป็นเรื่องราวของดาโต๊ะผู้สืบเชื้อสายของสุลต่านอิบราฮิม หลังจากการตายของดาโต๊ะ ราชา อุดัง ก็เข้าปกครองกลันตันจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ต่อมาราชาตวนหลง ปันดัก (Raja Tuan Long Pandak) ก็เข้าปกครองกลันตัน โดยทรงปกครองอย่างยุติธรรม จากนั้นไม่นาน พระองค์ก็มีพระราชโอรสธิดาสององค์ พระธิดาองค์โตชื่อตวน เกมบัง บุหงา (Tuan Gembang Bunga) และพระโอรสองค์เล็กชื่อ หลงสุไลมาน (Long Sulaiman) ทั้งสองพระองค์เสด็จหนีลงเรือไปปัตตานีเพราะกลัวกองทัพจีนที่มาโจมตีอาณาจักรของพระบิดา เมื่อไปถึงปัตตานีโอรัง เบซาร์ (Orang Besar) แห่งปัตตานีรับเลี้ยงทั้งสองพระองค์เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาโอรัง เบซาร์ยกลูกสาวให้กับหลงสุไลมานเมื่อโตเป็นหนุ่ม ซึ่งต่อมาพระชายาของหลงสุไลมานก็ตั้งครรภ์ [Mohd 2004]

เนื่องจากมีชายหลายคนหลงใหลในตวน เกมบัง บุหงา จึงกล่าวกันว่าหลงสุไลมานตัดสินใจฆ่านางตายในวังกัง (เรือ) หลังจากนั้นไม่นานภรรยาของหลงสุไลมานก็ให้กำเนิดบุตรชายชื่อหลงยูนุส (Long Junus) จากนั้นหลงสุไลมานไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของพี่สาวและออกจากปัตตานี หลงยูนุสอาศัยอยู่กับแม่และยายของเขาและเติบโตที่ปัตตานี [Mohd 2004]

กล่าวถึงพระนางจายังราชินีแห่งปัตตานีในสมัยนั้น หลังจากหลงยูนุสไปเข้าเฝ้าพระนางแล้ว พระนางพอใจหลงยูนุสและรับเลี้ยงเขาไว้เป็นบุตรบุญธรรม จากนั้นไม่นานพระนางจายังก็ล้มป่วยลงและได้เรียกหมอและหมอผีมารักษาโรค โดยวิธีการต่างๆนาๆในการรักษา แต่ไม่ได้ผล จึงมีโหราจารย์มาเข้าเฝ้าพระนางและได้อธิษฐานและทำนายต่อพระนางว่า ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นกับราชอาณาจักรหากบุตรบุญธรรมของพระนางไม่ถูกเนรเทศออกจากปัตตานีดังนั้นพระนางจายังจึงเนรเทศหลงยูนุสออกไป [Mohd 2004]

จากนั้นหลงยูนุสเดินไปสู่กลันตันถึงกัมปุงราชาซึ่งก็คือกัมปุงกูบังลาบู และเขายังเผชิญหน้ากับตวนโกตากูบังลาบูที่มีหน้าตาดีและมีนิสัยเย่อหยิ่ง หลงยูนุสได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระคลังแต่ไม่นานก็เกิดสงคราม หลงยูนุสและหลงจาฟาร์จึงไปที่ตรังกานู ขณะที่อยู่ในตรังกานู มีพวกบูกิสที่ต้องการแข่งขันการชนไก่และเดิมพันเงินมากเท่ากับทองในเรือของพวกเขา กษัตริย์แห่งตรังกานูจะยกเมืองให้เป็นรางวัลกับพวกบูกิสหากไก่ชนของพระองค์แพ้ ดังนั้นหลังจากการชนไก่อย่างยาวนาน ไก่ชนของหลงจาฟาร์ที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์ตรังกานูได้รับชัยชนะ หลังจากนั้น หลงยูนุสขอกลับกลันตันจากนั้นไม่นานก็ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกลันตันที่ปกครองอย่างยุติธรรมมาก หลังจากนั้น หลงยูนุสก็มีพระโอรสห้าองค์และพระธิดาสามองค์ พระโอรสของหลงยูนุสเป็นผู้สำเร็จราชการ จากนั้นพระเจ้าหลงยูนุสทรงปกครองกลันตันอย่างมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง และราชวงศ์หลงยูนุสปกครองกลันตันมานานหลายศตวรรษจนถึงปัจจุบัน หลังจากหลงยูนุสสิ้นพระชนม์จึงถูกฝังไว้ที่ลังการ์ หลังจากนั้น หลง มูฮัมหมัด เข้ามาสืบราชสมบัติปกครองกลันตันและหลง เจนัลเป็นพระคลัง หลังจากนั้นกลันตันก็เริ่มวุ่นวาย มีการแย่งชิงบัลลังก์จนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาและตรังกานู [Mohd 2004]

ตำนานศรีกลันตันกล่าวว่ากษัตริย์กลันตันหลงยูนุสไปชนไก่ที่ตรังกานูแล้วกลับมาครองราชย์ที่กลันตันส่วนประชุมพงศาวดารไทยกล่าวว่าตุวัน มาโซยกทัพจากตรังกานูกลับไปตีกลันตันเป็นเมืองขึ้น

เปรียบเทียบตำนานตรังกานูของฝั่งไทยและมาเลเซีย
จากหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศกเล่มที่ 6 กล่าวว่า เดิมเมืองยะโฮร์ เมืองตานีโดยที่เมืองยังเป็นปกติอยู่นั้น เจ้าเมืองยะโฮร์มีน้องสาว 2 คนคือตุนกูบุหลัน(Tengku Bulan) และตุนกูบุหวัน (Tengku Buwan) เมืองตรังกานูยังเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย ไม่เป็นกลุ่มก้อน เจ้าเมืองยะโฮร์จึงให้มะหะหมัด (Muhammad) เป็นเจ้าเมืองตรังกานูเกลี้ยกล่อมชนต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตุวันซาเอ็ด (Tuan Said) ผู้พี่ และตุวันมาโซ (Tuan Maso) ผู้น้องบุตรหลานเจ้าเมืองตานีที่ไปอยู่ยะโฮร์ เจ้าเมืองยะโฮร์ยกตุนกูบุหลันให้เป็นภรรยาของตุวัน ซาเอ็ด อาลีประสา และตุนกูบุหวันให้เป็นภรรยาของตุวันมาโซอยู่ที่เมืองยะโฮร์ ต่อมาตุวันมาโซเป็นเจ้าเมืองตรังกานูตีกลันตันได้ แต่ไม่มีพงศาวดารยะโฮร์ในประชุมพงศาวดารเล่มนี้ [กรมศิลปากร พ.ศ.2545: 403] ประชุมพงศาวดารเล่มนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับหัวเมืองมลายูน้อยมากในสมัยก่อนรัตนโกสินทร์จึงสันนิษฐานว่ารายละเอียดที่เก็บไว้ที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายหมดในเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2310 ทำให้สืบค้นในประวัติศาสตร์ไม่ได้โดยมีเนื้อหาต่างจากพงศาวดารฝั่งมาเลเซีย และหลักฐานจากจีน จามปา โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นที่ร่วมสมัยมากจึงใช้อ้างอิงไม่ได้มากนัก

เอกสารฝั่งมาเลเซียกล่าวว่าหลังจากยุคมัชปาหิตตรังกานูมีผู้ปกครองชื่อเมกัต ปันจีอาลัม และตุนตลาไน จากนั้นตรังกานูตกเป็นเมืองขึ้นของยะโฮร์ ในเวลานั้น บุคคลสำคัญของยะโฮร์สองคน ได้แก่ลักษมาณาและบาทุกา เมกัต ศรี รามา ถูกส่งไปปกครองตรังกานู ต่อมาพระคลังฮาซันถูกส่งไปดูแลตรังกานู จากนั้นตรังกานูถูกปกครองโดยตุน เซน อินทรา จากนั้นบุตรชายของตุน เซน อินทรา คือ ตุน หยวน ตุน สุไลมาน และตุน อิสมาอิล ตุนสุไลมานเป็นสุลต่านในปันไตลายัง (บาลิกบูกิต) ตุนหยวนเป็นพระคลัง และตุนอิสมาอิลเป็นบันดาหรา ตุน ไซนัล อบีดิน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ที่ปกครองตรังกานูในปัจจุบัน ประสูติประมาณปีพ.ศ.2220-2221 ที่ยะโฮร์ในรัชสมัยสุลต่านอิบราฮิม และได้รับการเลี้ยงดูจากลักษมาณา ตุน อับดุล จามิล หรือวัน เดรามาน เมื่อมีพระชนมายุ 10 พรรษาในปีพ.ศ.2231 ได้หนีตามตุน อับดุล จามิลไปปัตตานีหลังจากที่ ตุน จามิลโดนกล่าวหาว่าแย่งชิงบัลลังก์จากสุลต่านมะห์มุด ซยาห์ที่ 2 และถูกสังหารที่เตลุก ดาโต๊ะ แต่ตุน ไซนัลหนีไปปัตตานีได้ทำให้พระนางจายังรับพระองค์เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อสุลต่านอับดุล จาลิลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ที่ยะโฮร์ จึงยกเมืองตรังกานูให้ พระนางจายังจึงส่งพระองค์ไปทำพิธีราชาภิเศกที่ตรังกานูพร้อมกับชาวปัตตานี 80 คน [Omar Din et al. 2011] นักวิชาการสันนิษฐานว่าพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่ตรังกานูในระหว่างปีพ.ศ.2251-2268 เอกสารฝ่ายมาเลเซียไม่กล่าวถึงบุคคลใดๆในประวัติเมืองตรังกานูในประชุมพงศาวดารของไทย แต่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตรังกานูกับยะโฮร์เหมือนกันแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันก็ตามโดยกล่าวว่าเจ้าเมืองยะโฮร์ส่งคนไปปกครองตรังกานู ตำนานศรีกลันตันและเอกสารตรังกานูทางฝั่งมาเลเซียจะกล่าวถึงพระนางจายังผู้ปกครองปัตตานี

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร (2545). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศก (เล่มที่ 6). กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

Mohd, T. O. (2004). Hikayat Seri Kelantan. Dewan Bahasa dan Pustaka.
Mohamed Anwar Omar Din, Nik Anuar Nik Mahmud & Jawatankuasa Teknikal & Sidang Editor, Yayasan Diraja Sultan Mizan. (2011). Sejarah Kesultanan Terengganu 1708-2008 (New Edition). Terengganu: Yayasan Diraja Sultan Mizan.



กำลังโหลดความคิดเห็น