ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในบทความก่อนหน้านี้ได้นำเสนอความเป็นมาของตราพระราชลัญจกรและการคลี่คลาย และประเภทของตราพระราชลัญจกร https://mgronline.com/daily/detail/9680000018855
ในบทความนี้จะได้นำเสนอ การสร้างตราพระราชลัญจกรของไทย
การสร้างและวัสดุที่ใช้แกะตราพระราชลัญจกรของไทย
เราจะกล่าวถึงในแง่มุมของวิชาช่างในการแกะตรา เนื่องจากตรานั้นต้องใช้ประทับชาดหรือประทับครั่ง ช่างผู้แกะตราจึงต้องแกะตราโดยกลับซ้ายเป็นขวา กลับขวาเป็นซ้าย เพื่อให้ประทับตราออกมาแล้วสลับซ้ายกับขวาออกมาได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกันกับการส่องกระจกจะเกิดปรัศวภาควิโลม (Lateral inversion) อย่างที่เราเคยเรียนกันในวิชาฟิสิกส์เบื้องต้น
การแกะตราเป็นการใช้ของมีคมแกะลงไปบนวัสดุที่ต้องการแกะ โดยทั่วไปหน้าตราจะตัดเรียบเพื่อให้ประทับลงบนเอกสารได้โดยง่าย วัสดุที่ใช้แกะตราจะไม่เลือกวัสดุที่อ่อนเกินไปจนไม่อาจจะอยู่ตัวได้เพราะจะไม่คงทนถาวร ใช้ประทับได้ไม่นานก็จะเสียรูป แต่จะก็จะไม่เลือกวัสดุที่แข็งเกินไปจนแกะได้ยากลำบาก วัสดุที่นิยมใช้ในการแกะตรามาแต่โบราณของจีนคือหยก ส่วนของไทยนั้นนิยมแกะงาช้าง นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่น ๆ อีกเช่น หินโมรา หินสบู่ โลหะที่ไม่แข็งจนเกินไป ทองคำ หรือเงิน แม้กระทั่งไม้ก็สามารถใช้แกะตราได้แต่ไม่นิยมเนื่องจากตัวไม้เองก็มีลายไม้ประกอบกับจะสึกกร่อนได้ง่าย
การแกะตราเป็นการใช้ของมีคมกดลงไปบนหน้าของวัสดุ งัด แงะ หรือขุดทิ้งให้วัสดุหลุดออกมาเป็นร่องหรือเป็นหลุมเพื่อให้เกิดรูปร่างหรือลวดลายตามที่ต้องการได้ร่างแบบไว้ แต่ต้องรักษาความเรียบเนียนเสมอกันของหน้าวัสดุเอาไว้เพื่อใช้ประทับตราด้วยชาดหรือครั่ง จนได้ลายตามที่ต้องการ อาจกล่าวได้ว่าการแกะตราจัดเป็นงานภาพพิมพ์ประเภทหนึ่ง การแกะตราที่วัสดุเป็นโลหะอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น Engraving
งานแกะนี้ทางช่างเรียกออกเป็นสองชนิดคือแกะไว้เส้น โดยแกะเป็นลวดลายหรือเป็นภาพเป็นลายเส้นให้ปรากฎ ส่วนอีกชนิดคือ แกะทิ้งเส้น หรือ แกะเส้นทิ้ง โดยแกะเป็นลวดลายหรือเป็นภาพที่เป็นลายเส้นจม
สำหรับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน เช่น ตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ และตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน เช่น ตราพระราชลัญจกรมหาโองการ ตราพระราชลัญจกรไอยราพต ตราพระราชลัญจกรหงสพิมาน ที่ใช้ประทับบนรัฐธรรมนูญ นั้นแกะตราเพียงครั้งเดียวแล้วใช้ไปได้ตลอด ไม่ต้องแกะใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล

แต่ ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล หรือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ที่ล้อมด้วยตัวอักษรพระปรมาภิไธยนั้นต้องแกะอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกแกะเพื่อใช้ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแกะเพื่อใช้ชั่วคราว เพราะคำเฉลิมพระปรมาภิไธยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะตามราชประเพณีแผ่นดินจะสิ้นกษัตริย์มิได้ ต้องมีราชสันตติวงศ์สืบเนื่องรักษาชาติบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ในพระโกศสวรรคตแล้ว พระมหากษัตริย์ (องค์ใหม่) ทรงพระเจริญ อย่างที่ตะวันตกกล่าวกันว่า The king is dead, long live the king. พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ซึ่งเพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติก็ต้องทรงปฏิบัติราชการแผ่นดิน จึงมีความจำเป็นต้องแกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลเป็นตราพระครุฑพ่าห์ล้อมด้วยตัวอักษรพระปรมาภิไธยก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อใช้งานไปพลางก่อน

ครั้งสองแกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งจะมีการพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ หลังจากพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว
เช่นเดียวกันกับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ที่ต้องแกะใหม่ทุกครั้งในแต่ละรัชกาล เพราะมีตราหรือสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้ตราวชิราวุธ (วชิระ+อาวุธ) ในขณะที่ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ตราวชิราวุธมีจุลมงกุฎหรือตราพระเกี้ยวประดิษฐานด้านบน (วชิระ+อลงกรณ์)
3.1 การแกะตราพระราชลัญจกรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) จะมีการจารึกพระสุพรรณบัฎ อันเป็นการจารึกพระปรมาภิไธยที่ใช้หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการจารึกดวงพระบรมราชสมภพ และมีการแกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง
ยกตัวอย่างเช่นในภาพด้านล่างพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี
หลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) หัวหน้ากองปกาศิต ทำหน้าที่อาลักษณ์จารึกอักษรพระปรมาภิไธยลงในพระสุพรรณบัฏ
พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) โหรจารึกดวงพระบรมราชสมภพลงในแผ่นทอง
และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปินทำหน้าที่นายช่างแกะพระราชลัญจกร ที่ใช้วัสดุคืองาช้าง

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยผู้แทนพระองค์ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน บนโต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏ (โดยอาลักษณ์) โต๊ะจารึกดวงพระราชสมภพ (โดยพราหมณ์) และโต๊ะแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล (โดยช่างแกะ) (โต๊ะตั้งจากซ้ายไปขวา)

3.2 วัสดุที่ใช้แกะตราพระราชลัญจกรของไทย
วัสดุที่นิยมใช้ในการแกะตราพระราชลัญจกรของไทยมากที่สุดคืองาช้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม แกะได้ง่าย และคงทนถาวรพอสมควร
อย่างไรก็ตามองค์ตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชองค์แรก แกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพ.ศ. 2493 และใช้งานมายาวนานตลอดรัชกาลทำให้องค์ตราประทับมีการชำรุดเสียหาย จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แกะใหม่เป็นองค์ที่สองในรัชกาลเมื่อพ.ศ. 2538 องค์พระราชลัญจกรประชำรัชกาลที่ 9 องค์ที่สองนี้ทำด้วยทองคำทั้งองค์
องค์พระราชลัญจกรอีกองค์ที่แกะด้วยทองคำ คือพระราชลัญจกรโลกัคราช ที่แท่นตราประทับเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวแท่นเป็นรูปช้างหมอบ ใช้สำหรับประทับใบประกาศนียบัตรพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่พระอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ปัจจุบันมิได้ใช้แล้ว พระราชลัญจกรมหาโลโต (ตราอูฐทอง) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระราชลัญจกรนามกรุง เป็นต้น
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยเงิน เท่าที่สืบทราบมีอยู่องค์เดียวคือพระราชลัญจกรมหาโลโต ที่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจีนพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินไทย แกะเป็นตราสี่เหลี่ยม อักษรภาษาจีนและแมนจู ตัวด้ามจับตราพระราชลัญจกรเป็นรูปอูฐหมอบ เทียบเคียงกับพระราชลัญจกรมหาโลโตที่พระราชทานเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรล้านช้างร่มขาว ก็แกะด้วยเงินเช่นกัน
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยหยกนั้น ได้แก่ องค์พระราชลัญจกรมหาโลโต ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ใช้ในการประทับพระราชสาส์นในการจิ้มก้องถวายเครื่องราชบรรณาการ นอกจากนี้องค์พระราชลัญจกรมังกรหยก อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่มีอยู่ห้าองค์ สลักพระปรมาภิไธยองค์พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล (รัชกาลที่ 1-4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็แกะด้วยหยกเช่นกัน
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยงาช้างแต่ด้ามจับองค์พระราชลัญจกรทำด้วยทองคำได้แก่ พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์เดิม
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยหินโมรา แต่ด้ามจับองค์พระราชลัญจกรทำด้วยโลหะสีทอง ซึ่งช่างเรียกว่าโลหะสีทองกุดั่นมีควงขันควบโมรา คือองค์พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ตราพระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) เป็นต้น



3.3 รูปร่างของตราและด้ามกดตราพระราชลัญจกร
รูปร่างของตราพระราชลัญจกรของไทย มีหลายรูปร่างดังนี้
1. ตราเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้แก่ พระราชลัญจกรมหาโลโต พระราชลัญจกรมังกรหก (สององค์นี้ใช้ประทับพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจีน-จิ้มก้อง) พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช (ใช้ประทับในประกาศนียบัตรพระราชทานวิสุงคามสีมา)
2. ตราเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้แก่ พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์น้อย) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์น้อย) (ทั้งสามองค์นี้เป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ใช้ประทับเอกสารสำคัญของราชการแผ่นดิน) พระราชลัญจกรไตรสารเศวต (สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เชื่อว่าเป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 2 เพราะทรงได้ช้างเผือกมาหลายเชือก) พระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้โบราณคดีสโมสรเพื่อทรงอุดหนุนศิลปวิทยาการ) พระราชลัญจกรจักรรถ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวาย ตามพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๗ และพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๘ กำหนดให้ใช้พระราชลัญจกรจักรรถสำหรับประทับเรือนเลขในหนังสือซึ่งประทับตราพระราชลัญจกรมหาโองการและพระบรมราชโองการ)
3. ตราเป็นรูปวงรีรูปไข่แนวนอน เป็นรูปร่างของตราพระราชลัญจกรที่นิยมใช้ผูกลายพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4-7 พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 10
4. ตราเป็นรูปวงรีรูปไข่แนวตั้ง ได้แก่ พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์น้อย) พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) พระราชลัญจกรอุณาโลมในกลีบบัว (ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว) พระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์กลาง) พระราชลัญจกรหงสพิมาน ซึ่งต่างเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ใช้ประทับเอกสารสำคัญของราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ ที่เป็นพิเศษคือพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 เพราะพระนามภูมิพลทำให้ช่างเลือกผูกลายพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ทำให้ตราพระราชลัญจกรต้องเป็นตรารูปร่างวงรีรูปไข่แนวตั้ง




5. ตราเป็นรูปวงกลม ได้แก่ พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นตราอาร์มแผ่นดินล้อมรอบด้วยพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1-3 พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8 พระราชลัญจกรไอยราพต (เก่า) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์น้อย) ทั้งนี้สามองค์หลังเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน
สำหรับด้ามจับองค์พระราชลัญจกร มักทำเป็นรูปร่างแท่งกลมมนยาวเพื่อให้เป็นด้ามจับประทับได้สะดวก

สำหรับด้ามจับองค์พระราชลัญจกรที่มีรูปร่างอื่นได้แก่ด้ามจับตราพระราชลัญจกรไอยราพต ทำเป็นรูปทรงเจดีย์ พระราชลัญจกรมหาโลโต ทำเป็นรูปอูฐหมอบ พระราชลัญจกรมังกรหยก ทำเป็นรูปมังกร พระราชลัญจกรโลกัคราช ทำเป็นรูปช้างหมอบเป็นต้น
3.4 หมึกที่ใช้ประทับตราพระราชลัญจกรของไทย
มีเพียงสองชนิดคือใช้ครั่งประทับกับใช้ชาดประทับ เรียกว่าตราประจำครั่งและตราประจำชาด ตราประจำครั่งมักจะแกะจากโลหะเป็นหลักเพราะต้องใช้กดลงบนครั่งอันมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งร้อน ๆ ที่ต้องเผาก่อนแล้วใช้ตราพระราชลัญจกรกดทับลงไป อย่างที่ตะวันตกเรียกว่า Wax Seal
ตราประจำครั่งนั้นเกิดจากการเผาครั่ง ครั่งเกิดจากแมลงจำพวกเพลี้ย ใช้งวงดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ ต้นไม้ที่นิยมใช้เลี้ยงครั่งในประเทศไทยคือต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปู แล้วขับยาง ชันหรือสารออกมา เรียกว่า"ครั่งดิบ" สารนี้มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชลแล็คหรือแลคเกอร์ที่ใช้ทาเคลือบผิวไม้ เราจึงเรียกครั่งในภาษาอังกฤษว่า lac
สมัยใหม่แท่งครั่งมิได้มีแค่สีแดงหรือสีแดงม่วง แต่มีสารพัดสีเพราะมีการเจือปนสีเคมีลงไปบนแท่งครั่งเพื่อความสวยงาม และเมื่อนำครั่งมาหลอมเป็นแท่งจะเอาไว้เผาเพื่อประทับตราครั่งบนเอกสารหรือวัตถุสำคัญมาก ๆ เพราะผู้เปิดเอกสารต้องทำลายตราครั่งหรือ Wax seal ออกเสียก่อนจึงเปิดเอกสารหรือวัตถุดังกล่าวออกมาได้ ในมุมหนึ่งการตีตราครั่งจึงเป็นไปเพื่อรักษาความลับหรือเพื่อความปลอดภัย เช่น ต้นฉบับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีการตีตราครั่ง ประธานกรรมการจึงแกะเชือกทำลายตราครั่งก่อนส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ เป็นต้น ในสมัยโบราณพระกระยาหารจากห้องพระเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ก็จะผูกผ้าขาวตีตราครั่งก่อนจะอัญเชิญโดยชาวพนักงานวรภาชน์ขึ้นตั้งเครื่องเสวย อันจะเป็นการรับประกันให้มั่นใจได้ชั้นหนึ่งว่าไม่มีการลักลอบวางยาพิษในพระกระยาหารระหว่างทางที่อัญเชิญจากห้องพระเครื่องต้นไปยังห้องเสวยบนที่ประทับ เป็นอาทิ
ลองมาดูธรรมเนียมการตีตราครั่งของตะวันตกของราชสำนักวาติกันขององค์พระสันตะปาปา ดังภาพด้านล่างนี้ พระคาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน พระราชาคณะคาดินัลและพระคาร์ดินัลทั้งปวง เผาแท่งครั่งหยอดลงบนเส้นเชือกที่มัดหีบพระศพไม้ไซเปรสซึ่งบรรจุพระศพสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 โดยประทับตราครั่งบนฝาหีบ เป็นชั้นที่หนึ่ง หลังจากนั้นอัญเชิญหีบพระศพไม้ไซเปรสที่ตีตราครั่งแล้วบรรลงในหีบพระศพสังกะสีปิดผนึกและประทับตราตะกั่วเป็นชั้นที่สอง ก่อนที่จะบรรจุลงหีบพระศพไม้โอ๊ค เป็นชั้นที่สาม ก่อนบรรจุพระศพในมหาวิหารนักบุญเปโตร นครวาติกัน
การมีตราประทับทั้งตราครั่งและตราตะกั่ว ตลอดจนการมีหีบพระศพซ้อนกันสามชั้น แสดงให้เห็นว่าพระศพองค์พระสันตะปาปามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต้องถวายความปลอดภัยในการเก็บรักษาพระศพเป็นการสำคัญสูงสุด จึงต้องตีตราถึงสองครั้ง
ตราพระราชลัญจกรประจำชาดของไทย นั้นมีการสร้างไม่มากนัก ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่าเก็บรักษาเอกสารที่ประทับตราครั่งได้ยาก มักจะแบน หรือเลือนหายถูกทำลายไปมาก และน่าจะเป็นการใช้งานเมื่อจะต้องรักษาความลับของเอกสาร มิให้ผู้ใดเปิดดูก่อนถึงปลายทางหรือประทับพระราชสาส์นในการเจริญพระราชไมตรีกับชาติตะวันตกเนื่องจากตราประจำครั่งนั้นเป็นธรรมเนียมตะวันตกมากกว่าธรรมเนียมตะวันออก


หมึกประทับสำหรับตราพระราชลัญจกรของไทยที่เราใช้กันมากกว่าคือชาด หรือที่เราเรียกว่าตราประจำชาด ชาดหรือ Crimson เป็นผงสีชนิดหนึ่งมีสีแดงที่เรียกว่าสีแดงชาด หรืออาจจะเรียกว่าชาดผง ได้มาจากการถลุงแร่ซินนาบาร์ (cinnabarite) อันเป็นเมอร์คิวรี่ซัลไฟต์ (HgS) หรือซัลไฟต์ของปรอท ชาดได้นำมาใช้ในการทำยาไทย หากมาจากธรรมชาติเรียกว่าชาดจอแส อันรับอิทธิพลมาจากจีน ในขณะที่ชาดที่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมีก็เรียกว่าชาดหรคุณจีน ช่างเขียนของไทยจะผสมชาดผงกับน้ำมันบางชนิดในครกแล้วบดให้ละเอียดด้วยโกร่งบดยาจนเนียนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับเขียนภาพ เช่น ปิดทองแล้วเขียนชาด เรียกว่าเดินทองล่องชาด หรือใช้เขียนบนงานไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ หรือผสมน้ำมันสำหรับประทับตราบนสิ่งของ ผงชาดที่บดผสมกับน้ำมันแล้วจะมีลักษณะคล้ายดินเหนียวอ่อนมากกว่าจะเหลวเป็นสีน้ำ อาลักษณ์ผู้ต้องประทับตราพระราชลัญจกรประจำชาดจะอัญเชิญองค์พระราชลัญจกรด้านที่มีการแกะตราไปไปประทับบนแท่นที่บรรจุชาดบดผสมน้ำมันจะคล้ายดินเหนียวก่อน แล้วจึงนำไปกดลงบนกระดาษหรือเอกสารสำคัญอื่น ๆ ต่อไป

3.5 ภาษาที่ใช้ในตราพระราชลัญจกร
หน้าตราพระราชลัญจกรนอกจากการแกะเครื่องหมาย (Sign) ต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องมีการแกะตัวอักษรเช่นพระปรมาภิไธยหรือชื่อประเทศ
สำหรับตัวอักษรจีนและตัวอักษรแมนจูบนตราพระราชลัญจกรมหาโลโตและตราพระราชลัญจกรมังกรหกนั้นได้รับอิทธิพลมาจากจีนอย่างแน่นอน องค์พระราชลัญจกรเองในชั้นแรกก็แกะที่จีนและได้พระราชทานมาให้พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งใช้ประทับบนพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีที่เรียกว่าจิ้มก้อง อันเป็นการแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจริญพระราชไมตรี
ตราพระราชลัญจกรย่อมมีการแกะพระปรมาภิไธยองค์พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลเอาไว้เสมอเช่นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลเป็นต้น
ตราพระราชลัญจกรที่แกะเป็นอักษรขอมของไทยนั้นก็มีมาก เช่น พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ พระราชลัญจกรนามกรุง พระราชลัญจกรโลกัคราช เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีที่เขียนด้วยตัวอักษรขอม เพราะแต่เดิมสยามใช้อักษรขอม และการเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุแต่โบราณก็เรียนด้วยตัวอักษรขอม ก่อนที่จะมีพระไตรปิฏกที่เขียนเป็นตัวอักษรไทยครบทุกเล่มที่เรียกว่าฉบับสยามรัฐก็ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

ตราพระราชลัญจกรของไทยที่แกะด้วยภาษาละตินนั้นก็มีอยู่บ้าง เช่น ตราพระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) อันเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มสร้างและใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงศึกษาและแตกฉานภาษาละตินจากสมเด็จพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ พระสหาย ตั้งแต่ยังทรงพระผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากนี้ในยุคสมัยนั้นภาษาละตินถือว่าเป็นภาษาสากลสำหรับผู้มีความรู้และมีการศึกษาสูงในโลกตะวันตกในยุคนั้นพอดี
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในบทความก่อนหน้านี้ได้นำเสนอความเป็นมาของตราพระราชลัญจกรและการคลี่คลาย และประเภทของตราพระราชลัญจกร https://mgronline.com/daily/detail/9680000018855
ในบทความนี้จะได้นำเสนอ การสร้างตราพระราชลัญจกรของไทย
การสร้างและวัสดุที่ใช้แกะตราพระราชลัญจกรของไทย
เราจะกล่าวถึงในแง่มุมของวิชาช่างในการแกะตรา เนื่องจากตรานั้นต้องใช้ประทับชาดหรือประทับครั่ง ช่างผู้แกะตราจึงต้องแกะตราโดยกลับซ้ายเป็นขวา กลับขวาเป็นซ้าย เพื่อให้ประทับตราออกมาแล้วสลับซ้ายกับขวาออกมาได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกันกับการส่องกระจกจะเกิดปรัศวภาควิโลม (Lateral inversion) อย่างที่เราเคยเรียนกันในวิชาฟิสิกส์เบื้องต้น
การแกะตราเป็นการใช้ของมีคมแกะลงไปบนวัสดุที่ต้องการแกะ โดยทั่วไปหน้าตราจะตัดเรียบเพื่อให้ประทับลงบนเอกสารได้โดยง่าย วัสดุที่ใช้แกะตราจะไม่เลือกวัสดุที่อ่อนเกินไปจนไม่อาจจะอยู่ตัวได้เพราะจะไม่คงทนถาวร ใช้ประทับได้ไม่นานก็จะเสียรูป แต่จะก็จะไม่เลือกวัสดุที่แข็งเกินไปจนแกะได้ยากลำบาก วัสดุที่นิยมใช้ในการแกะตรามาแต่โบราณของจีนคือหยก ส่วนของไทยนั้นนิยมแกะงาช้าง นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่น ๆ อีกเช่น หินโมรา หินสบู่ โลหะที่ไม่แข็งจนเกินไป ทองคำ หรือเงิน แม้กระทั่งไม้ก็สามารถใช้แกะตราได้แต่ไม่นิยมเนื่องจากตัวไม้เองก็มีลายไม้ประกอบกับจะสึกกร่อนได้ง่าย
การแกะตราเป็นการใช้ของมีคมกดลงไปบนหน้าของวัสดุ งัด แงะ หรือขุดทิ้งให้วัสดุหลุดออกมาเป็นร่องหรือเป็นหลุมเพื่อให้เกิดรูปร่างหรือลวดลายตามที่ต้องการได้ร่างแบบไว้ แต่ต้องรักษาความเรียบเนียนเสมอกันของหน้าวัสดุเอาไว้เพื่อใช้ประทับตราด้วยชาดหรือครั่ง จนได้ลายตามที่ต้องการ อาจกล่าวได้ว่าการแกะตราจัดเป็นงานภาพพิมพ์ประเภทหนึ่ง การแกะตราที่วัสดุเป็นโลหะอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น Engraving
งานแกะนี้ทางช่างเรียกออกเป็นสองชนิดคือแกะไว้เส้น โดยแกะเป็นลวดลายหรือเป็นภาพเป็นลายเส้นให้ปรากฎ ส่วนอีกชนิดคือ แกะทิ้งเส้น หรือ แกะเส้นทิ้ง โดยแกะเป็นลวดลายหรือเป็นภาพที่เป็นลายเส้นจม
สำหรับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน เช่น ตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ และตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน เช่น ตราพระราชลัญจกรมหาโองการ ตราพระราชลัญจกรไอยราพต ตราพระราชลัญจกรหงสพิมาน ที่ใช้ประทับบนรัฐธรรมนูญ นั้นแกะตราเพียงครั้งเดียวแล้วใช้ไปได้ตลอด ไม่ต้องแกะใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล
แต่ ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล หรือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ที่ล้อมด้วยตัวอักษรพระปรมาภิไธยนั้นต้องแกะอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกแกะเพื่อใช้ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแกะเพื่อใช้ชั่วคราว เพราะคำเฉลิมพระปรมาภิไธยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะตามราชประเพณีแผ่นดินจะสิ้นกษัตริย์มิได้ ต้องมีราชสันตติวงศ์สืบเนื่องรักษาชาติบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ในพระโกศสวรรคตแล้ว พระมหากษัตริย์ (องค์ใหม่) ทรงพระเจริญ อย่างที่ตะวันตกกล่าวกันว่า The king is dead, long live the king. พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ซึ่งเพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติก็ต้องทรงปฏิบัติราชการแผ่นดิน จึงมีความจำเป็นต้องแกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลเป็นตราพระครุฑพ่าห์ล้อมด้วยตัวอักษรพระปรมาภิไธยก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อใช้งานไปพลางก่อน
ครั้งสองแกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งจะมีการพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ หลังจากพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว
เช่นเดียวกันกับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ที่ต้องแกะใหม่ทุกครั้งในแต่ละรัชกาล เพราะมีตราหรือสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้ตราวชิราวุธ (วชิระ+อาวุธ) ในขณะที่ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ตราวชิราวุธมีจุลมงกุฎหรือตราพระเกี้ยวประดิษฐานด้านบน (วชิระ+อลงกรณ์)
3.1 การแกะตราพระราชลัญจกรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) จะมีการจารึกพระสุพรรณบัฎ อันเป็นการจารึกพระปรมาภิไธยที่ใช้หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการจารึกดวงพระบรมราชสมภพ และมีการแกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง
ยกตัวอย่างเช่นในภาพด้านล่างพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี
หลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) หัวหน้ากองปกาศิต ทำหน้าที่อาลักษณ์จารึกอักษรพระปรมาภิไธยลงในพระสุพรรณบัฏ
พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) โหรจารึกดวงพระบรมราชสมภพลงในแผ่นทอง
และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปินทำหน้าที่นายช่างแกะพระราชลัญจกร ที่ใช้วัสดุคืองาช้าง
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยผู้แทนพระองค์ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน บนโต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏ (โดยอาลักษณ์) โต๊ะจารึกดวงพระราชสมภพ (โดยพราหมณ์) และโต๊ะแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล (โดยช่างแกะ) (โต๊ะตั้งจากซ้ายไปขวา)
3.2 วัสดุที่ใช้แกะตราพระราชลัญจกรของไทย
วัสดุที่นิยมใช้ในการแกะตราพระราชลัญจกรของไทยมากที่สุดคืองาช้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม แกะได้ง่าย และคงทนถาวรพอสมควร
อย่างไรก็ตามองค์ตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชองค์แรก แกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพ.ศ. 2493 และใช้งานมายาวนานตลอดรัชกาลทำให้องค์ตราประทับมีการชำรุดเสียหาย จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แกะใหม่เป็นองค์ที่สองในรัชกาลเมื่อพ.ศ. 2538 องค์พระราชลัญจกรประชำรัชกาลที่ 9 องค์ที่สองนี้ทำด้วยทองคำทั้งองค์
องค์พระราชลัญจกรอีกองค์ที่แกะด้วยทองคำ คือพระราชลัญจกรโลกัคราช ที่แท่นตราประทับเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวแท่นเป็นรูปช้างหมอบ ใช้สำหรับประทับใบประกาศนียบัตรพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่พระอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ปัจจุบันมิได้ใช้แล้ว พระราชลัญจกรมหาโลโต (ตราอูฐทอง) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระราชลัญจกรนามกรุง เป็นต้น
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยเงิน เท่าที่สืบทราบมีอยู่องค์เดียวคือพระราชลัญจกรมหาโลโต ที่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจีนพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินไทย แกะเป็นตราสี่เหลี่ยม อักษรภาษาจีนและแมนจู ตัวด้ามจับตราพระราชลัญจกรเป็นรูปอูฐหมอบ เทียบเคียงกับพระราชลัญจกรมหาโลโตที่พระราชทานเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรล้านช้างร่มขาว ก็แกะด้วยเงินเช่นกัน
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยหยกนั้น ได้แก่ องค์พระราชลัญจกรมหาโลโต ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ใช้ในการประทับพระราชสาส์นในการจิ้มก้องถวายเครื่องราชบรรณาการ นอกจากนี้องค์พระราชลัญจกรมังกรหยก อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่มีอยู่ห้าองค์ สลักพระปรมาภิไธยองค์พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล (รัชกาลที่ 1-4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็แกะด้วยหยกเช่นกัน
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยงาช้างแต่ด้ามจับองค์พระราชลัญจกรทำด้วยทองคำได้แก่ พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์เดิม
องค์พระราชลัญจกรที่แกะด้วยหินโมรา แต่ด้ามจับองค์พระราชลัญจกรทำด้วยโลหะสีทอง ซึ่งช่างเรียกว่าโลหะสีทองกุดั่นมีควงขันควบโมรา คือองค์พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ตราพระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) เป็นต้น
3.3 รูปร่างของตราและด้ามกดตราพระราชลัญจกร
รูปร่างของตราพระราชลัญจกรของไทย มีหลายรูปร่างดังนี้
1. ตราเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้แก่ พระราชลัญจกรมหาโลโต พระราชลัญจกรมังกรหก (สององค์นี้ใช้ประทับพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจีน-จิ้มก้อง) พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช (ใช้ประทับในประกาศนียบัตรพระราชทานวิสุงคามสีมา)
2. ตราเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้แก่ พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์น้อย) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์น้อย) (ทั้งสามองค์นี้เป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ใช้ประทับเอกสารสำคัญของราชการแผ่นดิน) พระราชลัญจกรไตรสารเศวต (สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เชื่อว่าเป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 2 เพราะทรงได้ช้างเผือกมาหลายเชือก) พระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้โบราณคดีสโมสรเพื่อทรงอุดหนุนศิลปวิทยาการ) พระราชลัญจกรจักรรถ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวาย ตามพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๗ และพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๘ กำหนดให้ใช้พระราชลัญจกรจักรรถสำหรับประทับเรือนเลขในหนังสือซึ่งประทับตราพระราชลัญจกรมหาโองการและพระบรมราชโองการ)
3. ตราเป็นรูปวงรีรูปไข่แนวนอน เป็นรูปร่างของตราพระราชลัญจกรที่นิยมใช้ผูกลายพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4-7 พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 10
4. ตราเป็นรูปวงรีรูปไข่แนวตั้ง ได้แก่ พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์น้อย) พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) พระราชลัญจกรอุณาโลมในกลีบบัว (ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว) พระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์กลาง) พระราชลัญจกรหงสพิมาน ซึ่งต่างเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ใช้ประทับเอกสารสำคัญของราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ ที่เป็นพิเศษคือพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 เพราะพระนามภูมิพลทำให้ช่างเลือกผูกลายพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ทำให้ตราพระราชลัญจกรต้องเป็นตรารูปร่างวงรีรูปไข่แนวตั้ง
5. ตราเป็นรูปวงกลม ได้แก่ พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นตราอาร์มแผ่นดินล้อมรอบด้วยพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1-3 พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8 พระราชลัญจกรไอยราพต (เก่า) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์น้อย) ทั้งนี้สามองค์หลังเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน
สำหรับด้ามจับองค์พระราชลัญจกร มักทำเป็นรูปร่างแท่งกลมมนยาวเพื่อให้เป็นด้ามจับประทับได้สะดวก
สำหรับด้ามจับองค์พระราชลัญจกรที่มีรูปร่างอื่นได้แก่ด้ามจับตราพระราชลัญจกรไอยราพต ทำเป็นรูปทรงเจดีย์ พระราชลัญจกรมหาโลโต ทำเป็นรูปอูฐหมอบ พระราชลัญจกรมังกรหยก ทำเป็นรูปมังกร พระราชลัญจกรโลกัคราช ทำเป็นรูปช้างหมอบเป็นต้น
3.4 หมึกที่ใช้ประทับตราพระราชลัญจกรของไทย
มีเพียงสองชนิดคือใช้ครั่งประทับกับใช้ชาดประทับ เรียกว่าตราประจำครั่งและตราประจำชาด ตราประจำครั่งมักจะแกะจากโลหะเป็นหลักเพราะต้องใช้กดลงบนครั่งอันมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งร้อน ๆ ที่ต้องเผาก่อนแล้วใช้ตราพระราชลัญจกรกดทับลงไป อย่างที่ตะวันตกเรียกว่า Wax Seal
ตราประจำครั่งนั้นเกิดจากการเผาครั่ง ครั่งเกิดจากแมลงจำพวกเพลี้ย ใช้งวงดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ ต้นไม้ที่นิยมใช้เลี้ยงครั่งในประเทศไทยคือต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปู แล้วขับยาง ชันหรือสารออกมา เรียกว่า"ครั่งดิบ" สารนี้มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชลแล็คหรือแลคเกอร์ที่ใช้ทาเคลือบผิวไม้ เราจึงเรียกครั่งในภาษาอังกฤษว่า lac
สมัยใหม่แท่งครั่งมิได้มีแค่สีแดงหรือสีแดงม่วง แต่มีสารพัดสีเพราะมีการเจือปนสีเคมีลงไปบนแท่งครั่งเพื่อความสวยงาม และเมื่อนำครั่งมาหลอมเป็นแท่งจะเอาไว้เผาเพื่อประทับตราครั่งบนเอกสารหรือวัตถุสำคัญมาก ๆ เพราะผู้เปิดเอกสารต้องทำลายตราครั่งหรือ Wax seal ออกเสียก่อนจึงเปิดเอกสารหรือวัตถุดังกล่าวออกมาได้ ในมุมหนึ่งการตีตราครั่งจึงเป็นไปเพื่อรักษาความลับหรือเพื่อความปลอดภัย เช่น ต้นฉบับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีการตีตราครั่ง ประธานกรรมการจึงแกะเชือกทำลายตราครั่งก่อนส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ เป็นต้น ในสมัยโบราณพระกระยาหารจากห้องพระเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ก็จะผูกผ้าขาวตีตราครั่งก่อนจะอัญเชิญโดยชาวพนักงานวรภาชน์ขึ้นตั้งเครื่องเสวย อันจะเป็นการรับประกันให้มั่นใจได้ชั้นหนึ่งว่าไม่มีการลักลอบวางยาพิษในพระกระยาหารระหว่างทางที่อัญเชิญจากห้องพระเครื่องต้นไปยังห้องเสวยบนที่ประทับ เป็นอาทิ
ลองมาดูธรรมเนียมการตีตราครั่งของตะวันตกของราชสำนักวาติกันขององค์พระสันตะปาปา ดังภาพด้านล่างนี้ พระคาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน พระราชาคณะคาดินัลและพระคาร์ดินัลทั้งปวง เผาแท่งครั่งหยอดลงบนเส้นเชือกที่มัดหีบพระศพไม้ไซเปรสซึ่งบรรจุพระศพสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 โดยประทับตราครั่งบนฝาหีบ เป็นชั้นที่หนึ่ง หลังจากนั้นอัญเชิญหีบพระศพไม้ไซเปรสที่ตีตราครั่งแล้วบรรลงในหีบพระศพสังกะสีปิดผนึกและประทับตราตะกั่วเป็นชั้นที่สอง ก่อนที่จะบรรจุลงหีบพระศพไม้โอ๊ค เป็นชั้นที่สาม ก่อนบรรจุพระศพในมหาวิหารนักบุญเปโตร นครวาติกัน
การมีตราประทับทั้งตราครั่งและตราตะกั่ว ตลอดจนการมีหีบพระศพซ้อนกันสามชั้น แสดงให้เห็นว่าพระศพองค์พระสันตะปาปามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต้องถวายความปลอดภัยในการเก็บรักษาพระศพเป็นการสำคัญสูงสุด จึงต้องตีตราถึงสองครั้ง
ตราพระราชลัญจกรประจำชาดของไทย นั้นมีการสร้างไม่มากนัก ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่าเก็บรักษาเอกสารที่ประทับตราครั่งได้ยาก มักจะแบน หรือเลือนหายถูกทำลายไปมาก และน่าจะเป็นการใช้งานเมื่อจะต้องรักษาความลับของเอกสาร มิให้ผู้ใดเปิดดูก่อนถึงปลายทางหรือประทับพระราชสาส์นในการเจริญพระราชไมตรีกับชาติตะวันตกเนื่องจากตราประจำครั่งนั้นเป็นธรรมเนียมตะวันตกมากกว่าธรรมเนียมตะวันออก
หมึกประทับสำหรับตราพระราชลัญจกรของไทยที่เราใช้กันมากกว่าคือชาด หรือที่เราเรียกว่าตราประจำชาด ชาดหรือ Crimson เป็นผงสีชนิดหนึ่งมีสีแดงที่เรียกว่าสีแดงชาด หรืออาจจะเรียกว่าชาดผง ได้มาจากการถลุงแร่ซินนาบาร์ (cinnabarite) อันเป็นเมอร์คิวรี่ซัลไฟต์ (HgS) หรือซัลไฟต์ของปรอท ชาดได้นำมาใช้ในการทำยาไทย หากมาจากธรรมชาติเรียกว่าชาดจอแส อันรับอิทธิพลมาจากจีน ในขณะที่ชาดที่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมีก็เรียกว่าชาดหรคุณจีน ช่างเขียนของไทยจะผสมชาดผงกับน้ำมันบางชนิดในครกแล้วบดให้ละเอียดด้วยโกร่งบดยาจนเนียนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับเขียนภาพ เช่น ปิดทองแล้วเขียนชาด เรียกว่าเดินทองล่องชาด หรือใช้เขียนบนงานไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ หรือผสมน้ำมันสำหรับประทับตราบนสิ่งของ ผงชาดที่บดผสมกับน้ำมันแล้วจะมีลักษณะคล้ายดินเหนียวอ่อนมากกว่าจะเหลวเป็นสีน้ำ อาลักษณ์ผู้ต้องประทับตราพระราชลัญจกรประจำชาดจะอัญเชิญองค์พระราชลัญจกรด้านที่มีการแกะตราไปไปประทับบนแท่นที่บรรจุชาดบดผสมน้ำมันจะคล้ายดินเหนียวก่อน แล้วจึงนำไปกดลงบนกระดาษหรือเอกสารสำคัญอื่น ๆ ต่อไป
3.5 ภาษาที่ใช้ในตราพระราชลัญจกร
หน้าตราพระราชลัญจกรนอกจากการแกะเครื่องหมาย (Sign) ต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องมีการแกะตัวอักษรเช่นพระปรมาภิไธยหรือชื่อประเทศ
สำหรับตัวอักษรจีนและตัวอักษรแมนจูบนตราพระราชลัญจกรมหาโลโตและตราพระราชลัญจกรมังกรหกนั้นได้รับอิทธิพลมาจากจีนอย่างแน่นอน องค์พระราชลัญจกรเองในชั้นแรกก็แกะที่จีนและได้พระราชทานมาให้พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งใช้ประทับบนพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีที่เรียกว่าจิ้มก้อง อันเป็นการแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจริญพระราชไมตรี
ตราพระราชลัญจกรย่อมมีการแกะพระปรมาภิไธยองค์พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลเอาไว้เสมอเช่นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลเป็นต้น
ตราพระราชลัญจกรที่แกะเป็นอักษรขอมของไทยนั้นก็มีมาก เช่น พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ พระราชลัญจกรนามกรุง พระราชลัญจกรโลกัคราช เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีที่เขียนด้วยตัวอักษรขอม เพราะแต่เดิมสยามใช้อักษรขอม และการเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุแต่โบราณก็เรียนด้วยตัวอักษรขอม ก่อนที่จะมีพระไตรปิฏกที่เขียนเป็นตัวอักษรไทยครบทุกเล่มที่เรียกว่าฉบับสยามรัฐก็ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
ตราพระราชลัญจกรของไทยที่แกะด้วยภาษาละตินนั้นก็มีอยู่บ้าง เช่น ตราพระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) อันเป็นตราพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มสร้างและใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงศึกษาและแตกฉานภาษาละตินจากสมเด็จพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ พระสหาย ตั้งแต่ยังทรงพระผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากนี้ในยุคสมัยนั้นภาษาละตินถือว่าเป็นภาษาสากลสำหรับผู้มีความรู้และมีการศึกษาสูงในโลกตะวันตกในยุคนั้นพอดี