ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หนึ่ง เมื่อปี 2558 กองทุนประกันสังคมจ้างองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO มาประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial valuation) ทำให้มีข้อค้นพบที่น่าตกใจมากว่า ในปี 27 ปี เงินกองทุนจะเหลือศูนย์และติดลบ
สอง ในปี 2558+27 ปี คนที่ส่งเงินสมทบทุกเดือน ก็จะไม่ได้อะไร กองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินเหลือจ่ายบำนาญ จ่ายอะไรอีก
สาม กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่มากของประเทศไทย เงินสมทบต่อเดือน 750 บาท สมทบสามฝ่าย (นายจ้าง+ลูกจ้าง+รัฐ) ดังนั้นเงินสมทบต่อปีในเวลานี้หากจ่ายกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย =750 บาท * 3 ฝ่าย * 12 เดือน * 24 ล้านคนผู้ประกันตน ก็นับเป็นเงินมหาศาลพอสมควร
สี่ หากกองทุนประกันสังคมติดลบหรือล้มละลาย นี่คือระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือประมาณปี พ.ศ. 2585 จะกลายเป็นภาระการคลังสาธารณะมหาศาล และสร้างความเดือดร้อนใหญ่หลวงให้กับผู้ประกันตนจำนวนมหาศาล แค่หลับตาลงเห็นภาพก็สยดสยอง
ห้า ประเทศไทยมีสีนามิประชากร เกิดเกินล้านคนติดต่อกัน 35 ปี จาก 2505 ถึงราว 2540 แต่ปัจจุบันเด็กไทยเกิดไม่ถึงปีละห้าแสนคน และตายมากกว่าเกิด ประชากรไทยจะถดถอยไปเรื่อย ๆ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น เราจะไม่มีแรงงานใหม่เข้ามาเป็นผู้ประกันตนมากนัก ดังนั้นโอกาสที่เงินกองทุนหรือเงินสมทบจะมั่นคงมากขึ้นนั้นมีน้อยมาก
หก สาเหตุที่ ILO ค้นพบว่า กองทุนประกันสังคมของไทยจะล่มสลายคือ
1) อายุเกษียณของผู้ประกันตน (Pensionable age) ต่ำสุดในโลกคือ 55 ปี
2) อัตราการจ่ายสมทบรวม (Total contribution rate) รวมของไตรภาคีสามฝ่ายก็ต่ำสุดในโลก ของจีนนั้นสูงสุดในโลกรวมแล้วร้อยละ 20 ของไทยมีปรับลดเป็นส่วนใหญ่ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6%
3) การจ่ายเงินบำนาญก็จ่ายไปไม่มีการปิดปากกระบอก ใครเกษียณก่อนก็ได้เงินไปเรื่อย ๆ จนเงินกองทุนหมดก่อน
เจ็ด คนไทยอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้นมาก ผู้หญิงเกือบ 80.5 ปี ผู้ชาย 73.5 ปี สมมุติว่า เข้าสมทบจ่ายกองทุนประกันสังคมเมื่ออายุ 45 ปี จ่ายสมทบจนอายุ 55 ปี แล้วเกษียณ เท่ากับส่งเงินสมทบ 10 ปี แต่มีชีวิตอยู่ต่อจนอายุ 80 ปี เท่ากับได้เงินประกันสังคมเป็นบำนาญกว่า 25 ปี แต่ส่งแค่ 10 ปี หลับตาเท่านี้ก็คงพอทราบว่าทำไมกองทุนประกันสังคมจะไม่ล่มสลาย ยังไงก็ไม่รอด
แปด ที่ผ่านมากระแสประชานิยมในประเทศไทยรุนแรงมาก พรรคการเมืองก็เข้าไปกำหนดนโยบายกองทุนประกันสังคม เรียกร้องสารพัดเพื่อประชานิยมในนามของสวัสดิการสังคม แต่ไม่พูดถึงวิธีหาเงิน มีแต่วิธีใช้เงินล้วน ๆ แล้วก็มีแต่แนวคิดจะให้กู้เงินกองทุนมาใช้ก่อนเกษียณบ้าง ลดอัตราการจ่ายสมทบรวมลงไปบ้าง ซึ่งลูกจ้างก็ชอบ จ่ายลดลง นายจ้างก็ชอบ จ่ายลดลง รัฐก็ชอบ จ่ายลดลง แต่เงินกองทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่ควรเป็น แทนที่จะยั่งยืนก็มีแนวโน้มจะยอบแยบ ลงไป ย่ำแย่ไปเรื่อย ๆ
ก็ถ้าเชื่อพรรคการเมืองบางพรรค ที่ส่งคนเข้าไปสมัครเป็นกรรมการของกองทุนประกันสังคม เพื่อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ก็ดีครับ เป็นการเรียกร้องให้รุ่นผม รุ่นพี่ผม รุ่นน้าผม ได้เงินได้ผลประโยชน์จนเงินกองทุนหมด แล้วรุ่นเด็กๆ เริ่มต้นทำงานก็จะไม่ได้อะไรเลย คนไทยก็อย่างนี้แหละ หลงเชื่อ คิดว่าตัวเองจะได้ผลประโยชน์ จริง ๆ คือเสียประโยชน์เต็มๆ มีแต่นักการเมืองกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียง
เก้า ผ่านมา 10 ปี นับตั้งแต่ ILO ทักท้วงและเตือนภัยไว้ ไม่มีนักการเมืองใด พรรคการเมืองใดกล้าผ่าตัดมะเร็งร้ายของกองทุนประกันสังคมออกไป
วิธีการแก้ปัญหาที่พอเป็นไปได้คือ
1) ค่อย ๆ ขยายอายุเกษียณออกไปทีละปีสองทุกๆ ปีสองปี อายุเกษียณที่ต้องเป็นคือ 65 ปีขึ้นไป ประเทศบางประเทศในโลกเวลานี้เกษียณอายุที่ 69 ปีกันแล้ว เพราะเป็น superaged society ไม่เช่นนั้นสังคมอยู่ไม่ได้
2) ค่อยๆ ปรับเพิ่ม Total contribution rate ให้มีอัตราการจ่ายสมทบรวมไม่ต่ำกว่า 20% โดยค่อยๆ ปรับปีละ 1% ไปเรื่อย ๆ ทุกๆ ปี หรือปีเว้นปี ไม่พรวดพราด ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ต้องแก้กฎหมายประกันสังคม หรือ
3) ใครจ่ายสมทบเงินไว้เท่าไหร่ งอกเงยมาเท่าไหร่ หลังเกษียณก็จ่ายเงินบำนาญให้ไปจนกว่าเงินจะหมด แบบนี้กองทุนอยู่ได้ เงินของผู้ประกันตนคนไหน หมดแค่ไหนก็จ่ายแค่นั้น ไม่ไปเอาเงินของผู้ประกันตนรายอื่นมาจ่าย
สิบ ค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน (Management fee) ตามพรบ. ประกันสังคม 2533 มาตรา 24 กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบแต่ละปี เป็นการเขียนกฎหมายที่สร้างปัญหา เพราะต่อให้หักออกมาเป็นค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนเพียงร้อยละ 3 ก็มหาศาล ใช้เท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด
ที่รักชนก ศรีนอก พูดเรื่องปฏิทิน 10 ล้านบาท ดูงานด้วยเครื่องบิน First class นั้นเป็นแค่สิวฝ้า ไม่ใช่มะเร็ง
จะแก้ปัญหาต้องแก้ที่สาเหตุ ต้องกำหนดเพดานของค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน ไม่ให้เกินกี่พันล้านบาทต่อปีก็ว่าไป เพราะกองทุนยิ่งใหญ่ มาก ยิ่งเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) บริหารกองทุนขนาดสินทรัพย์สองล้านล้านบาท ก็มีต้นทุนในการบริหารอาจจะมากกว่าการบริหารกองทุนขนาดสินทรัพย์สองพันล้านบาท ไม่มากนัก พอเงินค่า management fee ไปกำหนดเป็น percentage ของเงินสมทบต่อปีไว้ ก็ใช้กันไม่หมด พอเงินมันมากก็ต้องพยายามใช้ให้หมดอย่างไม่คุ้มค่า ไม่ต้องไปตรวจสอบการใช้เงินหรอก ต้องทำให้ไม่มีเงินใช้ฟุ่มเฟื่อยต่างหาก ดังนั้นจึงต้องกำหนดเพดานหรือ limit ไว้ ต้องแก้กฎหมาย
รักชนก ควรไปแก้กฎหมายตรงนี้ ให้สมกับที่เป็นสส. ไม่ใช่ไปเพ่งเล็งสิวฝ้า มากกว่ามะเร็ง และ ข้อ 1-9 ที่กล่าวไปแล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่รักชนก ศรีนอกควรไปศึกษา เพื่อนำมาเสนอทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด และตรงเป้า
สิบเอ็ด มีคำถามว่า ถ้าเป็นจริงตามนี้ ซึ่งก็เป็นตามนี้นั่นแหละ ILO ใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดแล้วในการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็แปลว่า คนหนุ่มสาวเพิ่งเริ่มต้นทำงาน จ่ายเงินสมทบไปจนเกษียณอีก 20 ปี แล้วก็จะไม่ได้อะไร จะต้องทำอย่างไร
ก็คงต้องตอบว่า ทำใจ อย่าไปคาดหวังอะไร ว่าจะได้อะไรหลังเกษียณจะไม่ส่งเงินสมทบก็ไม่ได้ กฎหมายบังคับอยู่ แต่ก็มีสิ่งที่ตัวเราพอทำได้คือ
1) ชาญฉลาดเรียกร้องให้นักการเมือง ข้าราชการ แก้ปัญหาตามแนวทางสามข้อ ในข้อ 9 ที่กล่าวถึงแล้ว ณ เวลานี้ ปัจจุบันต้องยอมเจ็บตัว เสียสละ อดทน และอดเปรี้ยวไว้กินหวานยามเกษียณ
2) เก็บออม ลงทุน อย่างระมัดระวังรอบคอบ มีวินัย ด้วยตนเองเพื่อให้ตนเองมีบำนาญและมีเงินใช้ไปจนหมดอายุขัยที่ยืนยาว ไม่ใช่แก่แล้วยากจนเลี้ยงตนเองไม่ได้ ต้องเป็นภาระให้ลูกหลานหรือสังคมเลี้ยง ต้องเป็นคนแก่ที่มีเงิน มีสุขภาพดี พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องไปหวังพึ่งใคร แม้กระทั่งรัฐบาลก็อย่าได้ไปหวังพึ่ง
3) ไปเป็นหัวหน้าม็อบหรือร่วมม็อบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในอนาคต เติมเงินเข้ามาในกองทุนประกันสังคมเมื่อเงินกองทุนติดลบแล้ว รัฐบาลจะไปกู้มา จะไปหามาจากไหน ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลในอนาคต แต่ฉันในวันนั้นต้องได้ ต้องเรียกร้อง ลูกหลานไทยจะต้องรับภาระหนี้อะไรก็รับไป ฉันไม่อยู่แล้ว ฉันได้ตายไปแล้ว จะคิดแบบนี้ก็คงได้ แต่ก็ดูจะได้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรีมากไปหน่อย
สิ่งที่ทำได้สามทางนี้ อันไหนดีกว่ากัน ก็ไตร่ตรองดูเอาได้เองไม่ยาก
หรือจะแค่ดราม่าไปกับสิวฝ้าของกองทุนประกันสังคมที่นักการเมืองไปทำให้เด่นขึ้นมาเป็นดราม่า แต่ปัญหาจริง ๆ คือมะเร็งและสาเหตุของมะเร็งยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ฝากให้ไปลองคิดกันดู
ผมขออนุญาตเตือนสติสังคมไทย เอาไว้ประมาณนี้ครับ
ปล. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 112 การเลือกตั้ง สส. ทั้งสามวิธี ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ครับ แม้กระทั่งรัฐประหารที่ผ่านมาก็ไม่กล้าแก้ปัญหานี้ครับ ผ่านไปโดยไม่แก้ไขปัญหาทั้ง ๆ ที่รู้ปัญหา