xs
xsm
sm
md
lg

“มาเคียเวลลี-คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง”(ตอนสี่)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฟรันเชสโก สฟอร์ชา(Francesco Sforza) ผู้ครองรัฐมิลาน
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”


งานเขียนเรื่อง “THE PRINCE” หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” ที่นักวิชาการระบุว่า เป็น “การเมืองการปกครองสมัยใหม่” ซึ่งบรรดา “ผู้รู้” ระบุว่า “ใครที่เรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่ได้อ่านงานของมาเคียเวลลี ถือว่าไม่ได้เรียนวิชารัฐศาสตร์”

จึงมีผู้ขอให้ช่วยตีพิมพ์เรื่อง “เจ้าผู้ครองนคร” ฉบับเต็มๆ ให้ด้วย เพราะร้านหนังสือตามต่างจังหวัดหาซื้อไม่ได้ ผมจึงเริ่มจากบทแรกให้เลยนะครับ...W

1.รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนคร จำแนกที่ต่างถูกครอบครองโดยวิธีใด
.
ทุกรัฐและอาณาจักรทั้งปวง มีอำนาจและยังคงมีอำนาจปกครองเหนือมนุษย์ ดังที่เคยเป็นมา และยังคงเป็นอยู่นั้น หากมิใช่สาธารณรัฐ ก็ต้องอยู่ภายใต้เจ้าผู้ครองนครอย่างใดอย่างหนึ่ง

รัฐภายใต้เจ้าผู้ปกครองนคร มีทั้งที่สืบโดยสายโลหิต ดังเช่น ตระกูลเจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน รุ่นสู่รุ่น และมีทั้งรัฐใหม่ภายใต้เจ้าผู้ปกครอง มีทั้งแบบเป็นรัฐใหม่โดยสมบูรณ์ เช่น

“มิลาน” ภายใต้การปกครองของ “ฟรันเชสโก สฟอร์ชา”(Francesco Sforza ค.ศ.1401 - ค.ศ.1466) ผู้ครองรัฐมิลาน เดิมเป็นผู้นำกองทหารชาวอิตาลี เคยเป็นทหารรับจ้างให้กับ “ดยุก ฟิลิปโป มาเรีย วิสกอลดี”(Filippo Maria Visconti) ดยุกแห่งมิลานคนก่อน ภายหลังได้แต่งงานกับบุตรสาวของ “ดยุก ฟิลิปโป” แล้ว “ฟรันเชสโก สฟอร์ชา” ก็นำสู้รบจนชนะ และตั้งตนเป็น “ดยุก” คนใหม่แห่งมิลาน มีทายาทสืบต่อมาอีก 5 สมัย

และแบบเข้าผสมกับรัฐเดิมภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่มีการสืบตระกูลกันมาอยู่แล้ว ซึ่งผู้ครองนครเหล่านั้นรับส่วนใหม่นี้เข้าไป เหมือนเช่นอาณาจักร “เมเปิ้ล”แห่งกษัตริย์สเปน

อาณาเขตปกครองที่ได้มาลักษณะนี้ มีทั้งที่คุ้นเคยกับการดำรงอยู่ภายใต้เจ้าผู้ครองนคร และได้มาโดยกองกำลังของตนเอง มีทั้งได้มาโดยโชคชะตา และที่ได้มาโดยคุณธรรม (ต้องรู้นะว่า ถึงรัฐจะได้มาโดยคุณธรรม แต่เจ้าผู้ครองนครทุกคนก็ต้องทำดีให้ชาติกับประชาชนด้วยนะโว้ย..จริงไหม?)

2.ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดโดยสายโลหิต

(ขอข้ามเรื่องสาธารณรัฐไปก่อน โดยจะไปเอ่ยถึงอย่างมากมายและถี่ถ้วนในบทอื่น)

ในบทนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนคร และถักทอสานต่อจากที่ได้ขึงด้ายยืนไว้ โดยอภิปรายถึงวิธีการอันควรนำมาใช้ในการปกครอง และรักษารัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่

กล่าวได้ว่า รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดโดยสายโลหิต มีความคุ้นเคยกับการปกครองโดยตระกูลของเจ้าผู้ครองนครนั้นๆ จึงมีความยุ่งยากในการธำรงรักษาน้อยกว่ารัฐที่เกิดใหม่ ด้วยเหตุที่เพียงแค่การปกครองโดยไม่ละเมิดระเบียบแบบแผนเดิมที่มีมาแต่โบราณ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

จากนั้นจึงควบคุมดูแลตามสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เจ้าผู้ครองนครที่ปกครองด้วยแนวทางเช่นนี้ หากเป็นผู้มีความอุตสาหะเพียงระดับธรรมดาทั่วไป ก็จะรักษารัฐของตนไว้ได้เสมอ นอกจากจะมีอำนาจหรือกองกำลังอื่นใดอันมีกำลังอย่างล้นเหลือมาล้มล้าง อย่างไรก็ตาม แม้นรัฐจะถูกยึดครองไปแล้ว หากผู้ช่วงชิงเกิดโชคร้าย เจ้าผู้นั้นก็จะยึดครองรัฐกลับคืนมาได้

ดังตัวอย่างในอิตาลี เมื่อคราว “ดยุกแห่งแฟร์รารา” สามารถยืนหยัดต้านทานการโจมตีของชาวเวนิส ในปี ค.ศ.1484 และการโจมตีของ “พระสันตะปาปาจูลีโอ” ในปี ค.ศ.1510 ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ เขาเป็นบุคคลเก่าแก่ของอาณาจักร ซึ่งโดยธรรมชาติ เจ้าผู้ครองนครย่อมมีความจำเป็นน้อยมาก ที่จะกระทำการอันเป็นที่ขัดแย้งต่อประชาชน มีแต่จะต้องทำตัวให้เป็นที่รักที่นิยมยิ่งๆขึ้นไป และหากมิได้มีความเลวร้ายหนักหนาใดๆ เจ้าผู้นั้นก็จะไม่เป็นที่เกลียดชัง

การที่เจ้าผู้ครองนครเป็นที่นิยมรักใคร่ของประชาชนเสมอนั้น เป็นธรรมชาติอันสมควร ด้วยขนบแบบแผนโบราณที่ดำรงอยู่ ผนวกกับการสืบเนื่องยืนยาวของอาณาจักร จะทำให้ทั้งความทรงจำและเหตุผลแห่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มลายหายไป เหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง จะทิ้งไว้ซึ่งฟันเฟืองอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆต่อไปเสมอ (เหตุผลนี้ถูกต้องตามที่“มาเคียเวลลี”เขียนไว้ว่ะ)

3. ว่าด้วยรัฐภายใต้ผู้ครองนครอันเป็นรัฐผสม

อย่างไรก็ดี มีความยากลำบากมากมายฝังเร้นอยู่ในรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครแห่งใหม่ ประการแรกคือ หากรัฐนั้นมิได้เกิดใหม่ทั้งหมด แต่เกิดจากการมีเขตแคว้นอื่นมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกอาณาเขตส่วนรวมทั้งหมดว่ารัฐผสม

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในตอนแรก เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว ความยุ่งยากย่อมต้องเกิดขึ้นในรัฐภายใต้เจ้าผู้ปกครองแห่งใหม่ทุกแห่ง ที่พลเมืองเต็มใจเปลี่ยนผู้ปกครองใหม่ ด้วยเชื่อมั่นว่า เจ้าผู้ปกครองคนใหม่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น (อืม..เหมือนนักการเมืองไทยหลอกผู้คนในช่วงเลือกตั้ง เลือกพวกเราแล้วอนาคตจะดีขึ้น-นั่นแหละ!)

และความเชื่อเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้พวกเขาจับอาวุธขึ้นต่อต้านเจ้าผู้ครองนครคนเดิม ซึ่งนั่นคือความผิดพลาด เพราะในห้วงเวลาต่อมา พวกเขาจะประสบสิ่งเลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิมด้วยตนเอง!

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามธรรมชาติอื่นๆ โดยทั่วไปนานัปการไม่มีที่สิ้นสุด อันเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการครอบครองรัฐใหม่ ซึ่งเจ้าผู้ครองนครคนใหม่ ไม่มีความจำเป็นต้องข่มเหงประชาชนผู้ยอมจำนน ด้วยกองกำลังติดอาวุธ และกองทหารม้าหุ้มเกราะแต่อย่างใด

หากต้องมีกรณีเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า เจ้าคนใหม่จะต้องมีศัตรูเป็นทุกคนที่ขุ่นเคืองกับการก่อตั้งรัฐใหม่ และเขาจะไม่สามารถรักษามิตรที่สร้างไว้ได้ ด้วยไม่อาจให้อำนาจแก่พวกเขาได้เท่าที่พวกเขาพึงพอใจ และยังไม่สามารถใช้ยาขนานแรงกับพวกเขาอีกด้วย เพราะภาระผูกพันที่มีกับพวกเขา เท่าที่เคยเป็นมานั้น แม้แต่ผู้ที่มีกองทัพอันแข็งแกร่งอย่างมากในควบคุม ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการยกย่องจากทุกแคว้นในอาณาจักร

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส” ผู้สามารถยึดครองมิลานได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับสูญเสียนครรัฐแห่งนั้นไปในทันที นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เห็นว่า ลำพังกองกำลังของ “ดยุกลูโดวีโก” ผู้ครองมิลาน ก็เพียงพอที่จะขับพระเจ้าหลุยส์ฯ ออกไปได้ เพราะผู้เปิดประตูรัฐของพระองค์ได้พบแล้วว่า พวกเขาไม่หลงกลจากการล่อลวงให้คาดหวังถึงอนาคตอันดีงาม และพวกเขาไม่ยอมทนต่อพฤติกรรมอันเลวร้ายของเจ้าผู้ครองนครคนใหม่

 พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส


เป็นความจริงที่ว่า หากเขตแคว้นใดได้เกิดการกบฏขึ้นเป็นครั้งที่สอง เขตแคว้นนั้นจะไม่สูญเสียไปอีกง่ายๆ เพราะเจ้าผู้ครองนครจะใช้โอกาสที่เกิดการลงโทษผู้ก่อการกบฏเป็นรายบุคคล รวมทั้งเจ้าจะพิสูจน์ตนเอง และชี้แจงข้อสงสัย แก้ไขส่วนที่อ่อนแอ เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ตนเอง

เพราะฉะนั้น การจะทำให้ฝรั่งเศสเสียมิลานเป็นครั้งแรก เพียงแค่ “ดยุกลูโดวีโก” หาทางทำให้เกิดการจลาจลแถวพรหมแดน ก็เป็นการเพียงพอ

แต่การจะทำให้พระเจ้าหลุยส์ฯ สูญเสียเป็นครั้งที่สอง ต้องทำให้ทั้งโลกต่อต้านพระองค์ กองทัพของพระองต์ต้องพ่ายแพ้ และออกไปจากอิตาลี ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง มิลานก็ถูกแย่งชิงไปจากฝรั่งเศสได้สำเร็จ สาเหตุโดยทั่วไปสำหรับครั้งแรกได้กล่าวไปแล้ว ครานี้ยังคงเหลือการแยกแยะสาเหตุของการสูญเสียครั้งที่สอง

(รออ่านตอน 5 ของ “มาเคียเวลลี่” ในบทความสุดสัปดาห์หน้านะครับ)


กำลังโหลดความคิดเห็น