xs
xsm
sm
md
lg

สามก๊กในการเมืองไทย ในวันที่คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอ่อนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

สถานการณ์การเมืองไทยที่ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคต้องจับมือกันตั้งรัฐบาล จนมีเสียงในสภาท่วมท้นนั้นก็ว่าจะทำให้รัฐบาลมั่นคง เพราะมาจากความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันและต่างก็มีผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่แตกต่างกันด้วย ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแม้จะมีเสียงในสภามาก แต่ก็เหมือนขัดแย้งเหยียบขากันอยู่ในที

ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองของบรรดาคนรุ่นใหม่ ที่เกิดอาการที่เรียกกันว่า wokeจนเกิดอาการตระหนักรู้เกินจริงในสังคมไทยนับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแล้วปลุกให้คนรุ่นใหม่ออกมาเดินถนนด้วยปฏิกิริยาที่ก้าวร้าวรุนแรงหยาบคายต่อสถาบันกษัตริย์ในช่วงถอยหลังไป 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสเริ่มลดลงในตอนนี้ เพราะหลายคนถูกข้อกล่าวหาในคดี 112 มีทั้งที่ถูกตัดสินจำคุกและยังต่อสู้กับคดีความ และหนีไปเป็นพลเมืองชั้นสองในต่างประเทศ

คนที่หนีไปได้ก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เหมือน จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่มักโพสต์อวดรูปดื่มไวน์อย่างสุขสบายในปารีส แต่คนที่หนีไปไม่ได้ก็สู้คดีตามลำพังและศาลค่อยพิพากษาเป็นรายๆไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะคนรุ่นใหม่เหล่านั้นขาดทักษะในการพูดและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างหยาบคายไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยชั้นเชิงเพื่อหลบหลีกความผิดอย่างที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ทำอยู่เสมอเพราะมีความรู้ทางกฎหมาย

ด้วยความท้าทายต่อระบอบและอุดมการณ์ของรัฐของพรรคส้ม ทำให้พลังทั้งในระบบและนอกระบบของสังคมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมให้พรรคส้มเข้ามามีอำนาจรัฐได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องถูกฝ่ายที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกล่าวหาว่า ตระบัดสัตย์เมื่อจับมือกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นให้พรรคส้มกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน และพรรคส้มถูกบอนไซลงไปเรื่อยๆ ด้วยการกระทำผิดต่อกฎหมายจนหลายคนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จนคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงค่อยๆ คลี่คลายลง 
 
หากเราดูแล้วการเมืองในประเทศไทยตอนนี้นั้นแบ่งไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ พรรคส้มที่เป็นเสรีนิยมแบบสุดขั้วที่ต้องการรื้อทุกโครงสร้างของสังคมไทย กับพรรคแดงของทักษิณที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่มัวเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม และพรรคเหลืองของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ถูกมองว่าล้าหลัง

แต่ถ้าดูจำนวนส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคส้มนั้นได้มา 151 คน พรรคแดงของทักษิณนั้นได้มา 140 แต่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมหากรวมกันทั้งพรรคภูมิใจไทย 71 พรรคพลังประชารัฐ 40 พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 พรรคประชาธิปัตย์ 25 และพรรคชาติไทย 10 จะเห็นได้ว่าถ้ารวมกันขั้วอนุรักษนิยมนั้นมีจำนวนส.ส.ที่มากกว่า เพียงแต่แตกออกเป็นหลายพรรค เมื่อหมากบังคับทางการเมืองบีบให้พรรคของทักษิณต้องจับมือกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อแลกกับการกลับบ้านทำให้พรรคของทักษิณต้องทิ้งดีลกับพรรคส้มเพื่อรับกับข้อกล่าวหาว่าตระบัดสัตย์อยู่จนถึงปัจจุบัน 

ในขณะที่ขั้วฝ่ายอนุรักษนิยมมีพรรคสีน้ำเงินของเนวินเป็นพรรคใหญ่สุด และดูเหมือนจะมีอำนาจต่อรองมากที่สุดในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เท่านั้น ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุรีรัมย์ยังสามารถแก้สมการของการเลือกตั้งส.ว.ที่ซับซ้อนจนสามารถยึดเสียงข้างมากในสภาได้ เพราะถ้าสภาล่างกับสภาบนประชุมร่วมกันในนามของรัฐสภา ขั้วอำนาจที่ใหญ่สุดก็คือ พรรคสีน้ำเงินของเนวินแห่งบุรีรัมย์นี่เอง

นอกจากนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผูกไว้ในมาตรา 256 ต้องใช้เสียงของส.ว. 1 ใน 3 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์เสียก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงล่มเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อพรรคภูมิใจไทยประกาศไม่เอาด้วย นั่นยอมหมายความว่า ท่าทีของส.ว.ส่วนใหญ่ย่อมจะมีจุดยืนเดียวกับพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 นั้นต้องอาศัยเสียงส.ว.ในวาระที่ 1 และ 3 จำนวนส.ว. 67 คน

ฝ่ายของพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนจะแก้มาตรา 256 เพราะมาตรา 15/1 ระบุว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำให้มีความเห็นว่าต้องทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง แต่อีกฝ่ายเห็นว่า การแก้มาตรา 256 เพื่อเป็นกลไกไปแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการแก้เพียงมาตราเดียวไม่ต้องทำประชามติ จะเหลือการทำประชามติแก่ 2 ครั้ง
ถามว่าใครผิดใครถูก ในเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาได้ทำความเห็นทางกฎหมายไว้ว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับคือถามประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่เสียก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งคือ ครั้งที่ 18-22/2555 และครั้งที่ 4/2564 โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญยึดถือเป็นแนวบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการทำประชามติครั้งที่ 2 นั้นเกิดขึ้นเพื่อสอบถามประชาชนว่า เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภาเห็นชอบแล้วหรือไม่ และเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จก็ต้องไปขอประชามติจากประชาชนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3

ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงใช้เป็นข้ออ้างว่า หากร่วมลงชื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านประชามติจากประชาชนก่อนอาจจะมีความผิด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลนั้นเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นพันธสัญญาที่ทำไว้กับประชาชน

แม้จะไม่รู้ว่าถึงตอนนี้พรรคเพื่อไทยยังอยากจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หรือไม่เมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ก็มีทั้งคนมองว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยหรี่ตากันเพื่อให้อีกฝ่ายเล่นไปตามบทบาทเพราะไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ยอมเดินตามพรรคภูมิใจไทย คือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งเหยียบตาปลากันหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องกัญชา การเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ของตระกูลชินวัตร และความขัดแย้งเรื่องที่ดินเขากระโดงของการรถไฟที่ถูกตระกูลชิดชอบเข้าไปยึดครอง จนมาถึงการประกาศเล่นงานสนามกอล์ฟของตระกูลชาญวีรกุลของนายอนุทิน 
 
ทำให้มีคำถามในช่วงเวลานี้ว่าจะมีการปรับครม.หรือไม่ ซึ่งหากมองจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้ต้องจับมือกันสกัดกั้นพรรคประชาชนให้เป็นฝ่ายค้านนั้น ด้วยเงื่อนไขและอนุภาพของอำนาจที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมมือกันรักษาระบอบและอุดมการณ์ของรัฐให้พ้นจากภัยคุกคามนั้น ก็ยากที่จะให้เปลี่ยนแปลงขั้วรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคประชาชนซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะทักษิณเจ้าของพรรคเพื่อไทยน่าจะรู้ดีว่า เขาต้องทำอะไรบ้างในการได้กลับมาประเทศอีกครั้งและมุ่งหวังที่จะพาน้องสาวกลับประเทศอีกคน

แต่ถามว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่จะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่ เพราะพรรคประชาชนที่อ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันแล้วเรียกร้องให้ยุบสภาก็ตาม ผมก็มองว่า อาจจะเป็นไปได้นะ เพราะพรรคเพื่อไทยอาจจะอ้างว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทำให้ไม่สามารถทำตามสัญญาประชาชนได้ และทักษิณเองได้ออกมาแสดงความไม่พอใจกับพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง ดังนั้นอาจจะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยให้สามารถมีเสียงข้างมากที่มีเอกภาพ รวมถึงการมองว่าในขณะนี้พรรคประชาชนไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเก่า ดังนั้นการยุบสภาอาจถูกหยิบขึ้นมาเป็นทางเลือกก็ได้

ผมคิดว่าถึงวันนี้ ผู้มีอำนาจในสังคมไทยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังต่างก็มั่นใจแล้วว่า ยากมากที่พรรคประชาชนจะชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ในสถานการณ์ 3 กลุ่มทางการเมืองคือ พรรคส้ม พรรคของทักษิณ และพรรคของฝ่ายอนุรักษนิยม กระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่เคยหวาดกลัวกันนั้นถึงวันนี้ไม่ได้น่าพรั่งพรึงอย่างที่เคยหวาดกลัวกันอีกต่อไปแล้ว

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น