xs
xsm
sm
md
lg

“มาเคียเวลลี-คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง”(ตอนสาม)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”


งานเขียนของ “มาเคียเวลลี” เรื่อง “THE PRINCE” หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” ซึ่งเป็นแนวคิด “การเมืองการปกครองสมัยใหม่” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1513 ซึ่งผ่านเวลามากว่า 500 ปีแล้ว โดยงานชิ้นนี้มี “ผู้รู้มิใช่น้อย” ได้แสดงทัศนะกันว่า “ใครที่เรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่ได้อ่านงานเขียนของมาเคียเวลลี ถือว่าไม่ได้เรียนวิชารัฐศาสตร์”

คำดังกล่าวนี้ ทำให้ “นิโคไล มาเคียเวลลี” เป็นที่รู้จักและสนใจกันไปทั่วโลก อีกทั้ง “THE PRINCE” หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” ได้เป็นหนังสือต้องห้ามของ “สถาบันศาสนา” ในยุคนั้นด้วย แต่กลับเป็นหนังสือมีข้อมูลมากคุณค่า ที่ทุกคนจึงค้นหา และอ่านกันอย่างกว้างขวาง.. เรียกว่าเป็นหนังสือที่ฮือแอนด์ฮากันใหญ่เลยล่ะ..

แถมหนังสือหรือบันทึกสั้นๆ เล่มนี้ของ “มาเคียเวลลี” เกิดจากข้อเท็จจริงตามประสบการณ์ และผ่านการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ ช่วงที่ “มาเคียเวลลี” ผ่านการรับราชการนานถึง 15 ปี และผ่านการแยกแยะวิเคราะห์จากการเปรียบเทียบกับตำราที่มีมาแต่โบราณ ด้วยเนื้อหาที่กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงรูปแบบวิธีการปกครอง อันจะนำพาให้เจ้าผู้ครองนครดำรงอยู่ และรักษารัฐของตนไว้ได้อย่างทรงภาคภูมิ

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์คราแรก ที่ “มาเคียเวลลี” เร่งเขียนบันทึกเล่มนี้ ก็เพื่อจะเสนอต่อ “ดยุก จูเลียโน เด เมดีซี” เพราะ “มาเคียเวลลี” เห็นพรรคพวกในรัฐบาลสาธารณรัฐหลายคน ได้รับการปกป้องดูแลจากตระกูล “เด เมดีซี” แต่ “ดยุก จูเลียโน” ดันถึงแก่กรรมเสียก่อน “มาเคียเวลลี” จึงต้องนำเสนอต่อ “ดยุก โลเรนโซ เด เมดีซี” แทน ซึ่งตอนนั้นครองนครแต่เพียงผู้เดียว

ทว่า.. น่าเสียดายที่ “ดยุก โลเรนโซ ผู้พี่ชาย” กลับมองข้าม บันทึกเล่มนี้จึงถูกทอดทิ้งอย่างไร้ใยดี กระทั่งปี ค.ศ. 1516 แต่ก็ไม่บรรลุตามจุดประสงค์ของ “มาเคียเวลลี” จนเขาเสียชีวิต..

ในหนังสือเล่มนี้ “มาเคียเวลลี” ได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “คุณธรรมกับนโยบายการปกครอง” โดยได้หยิบยกนโยบายทั้งในประวัติศาสตร์การปกครอง และที่เป็นอยู่ในยุคสมัยของเขา

โดย “มาเคียเวลลี” ได้ตั้งประเด็นไว้ว่า ผู้ครองนครปกครองด้วยวิธีการอย่างไร? ธรรมชาติของอำนาจ มีเมตตากรุณา โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ และเป็นที่น่าไว้วางใจ แท้จริงแล้ว ผู้ครองนครสามารถใช้อำนาจในการบริหารการปกครองได้หรือไม่?

คำตอบในข้อหลังสุดของเขาก็คือ เจ้าผู้ครองนครควรมีคุณสมบัติเหล่านี้ ทว่าในการนำมาใช้ เจ้าผู้ครองนครต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับคุณสมบัติเหล่านี้ด้วย

หากแนวคิดที่ว่า ผู้ทรงคุณธรรมจะได้รับรางวัลเป็นความสำเร็จ และความสุขอย่างแน่นอนนั้นเป็นความจริง เจ้าผู้ครองนครที่มีคุณธรรมอย่างแท้จริง จะต้องประสบความสำเร็จทั้งบนโลกมนุษย์และบนสวรรค์

ทว่า.. “มาเคียเวลลี” ไม่แน่ใจเช่นนั้น เขานำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มาพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวอย่างของเจ้าผู้ครองนครที่จิตใจอ่อนแอ มีเมตตา และปกครองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพียงด้านเดียว แล้วประสบความสำเร็จนั้น มีจำนวนน้อย ส่วนที่เหลือล้มเหลวและพบจุดจบอย่างทรมาน

ในขณะที่เจ้าผู้ครองนครที่ใช้เล่ห์ลวง หักหลัง กระทำการฆาตกรรม หรือเจ้าผู้ครองนครที่มีจิตใจเหี้ยมโหด ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย!

ดังนั้น แท้จริงแล้ว เจ้าผู้ครองนครควรปฏิบัติเช่นไรเล่า? เขาเห็นว่าคุณธรรมจริยธรรมนั้นควรมีอย่างเปี่ยมล้น เจ้าผู้ครองนครต้องยึดมั่นกับการเป็นคนดี หากแต่การเป็นเจ้าผู้ครองนคร จำเป็นต้องบริหารจัดการผู้อยู่ใต้การปกครองทุกประเภท ดังนั้น วิธีการที่จะใช้กับนโยบายการปกครอง ต้องนำคุณสมบัติในทางเลวร้ายมาประกอบด้วย

“เจ้าผู้ครองนคร” หรือ “THE PRINCE” มีเนื้อหาทั้งหมด 26 บท เปิดด้วย “สารแสดงคารวะต่อ ดยุก โลเรนโซ เด เมดีซี” แสดงถึงเจตนารมณ์ของ “มาเคียเวลลี” เขาใช้ภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้เข้าใจกระจ่างชัดที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว และหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะเป็นที่พอใจ และเป็นประโยชน์ต่อตระกูล “เด เมดีซี”

ในส่วน 26 บท เป็นการอภิปรายถึงลักษณะวิธีการปกครองของบูรพกษัตริย์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน

บทที่ 1-11 อภิปรายความแตกต่างของรัฐ หรือรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดโดยตระกูล หรือโดยสายโลหิต กับรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครผู้ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่จากการช่วงชิงอำนาจด้วยการสงคราม หรือก่อกบฏ อันเรียกว่า รัฐใหม่ และเรียกเจ้าผู้ครองนครผู้นั้นว่า เจ้าใหม่ กับรัฐภายใต้เจ้าผู้ปกครองอันเป็นรัฐผสม นั่นคือการที่เจ้าผู้ครองนครอยู่เดิม และภายใต้เจ้าผู้ปกครองนครทางศาสนาจักร

จากนั้นได้อภิปรายถึงวิธีการที่ได้มาซึ่งรัฐนั้นๆ อันได้แก่..

ยึดครองมาโดยกำลังอำนาจและคุณธรรมของผู้ยึดครองเอง ยึดครองมาโดยกำลังของผู้อื่น ได้มาโดยโชควาสนา ขึ้นครองอำนาจด้วยความชั่วร้าย และขึ้นครองอำนาจโดยการยกย่องจากพลเมือง

รวมทั้งวิเคราะห์ถึงวิธีการปกครองรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งเคยอยู่ด้วยกฎหมายของตนเองว่า ควรธำรงรักษาไว้อย่างไร วิธีการประเมินกำลังอำนาจที่สำคัญที่สุดของรัฐควรทำอย่างไร และยกตัวอย่างเหตุและผลของการครอบครองอาณาจักรของ “ดาริอุส” โดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ว่าด้วยเหตุใด ทายาทของพระองค์จึงสืบราชสมบัติมาได้อย่างสงบเรียบร้อย และมั่นคงปลอดภัยจนสิ้นรัชกาลของพระองค์ พวกเขาใช้คุณธรรมใด วิธีการอย่างไร หรือเป็นเพราะรากฐานที่ดีที่พระองค์ได้วางไว้
ส่วนบทที่ 12-14 อภิปรายถึงภาระหน้าที่ทางการทหารของเจ้าผู้ครองนคร ความแตกต่างของกองกำลังประเภทต่างๆ ในการจัดตั้งกองทัพ อันได้แก่ กองทหารอาสาหลากหลายรูปแบบ กองทหารรับจ้าง กองกำลังเสริม กองกำลังผสม กองกำลังของตนเอง รวมถึงวิธีดำเนินการควบคุมกองกำลังทางทหารประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับ “เจ้าผู้ครองนครในฐานะผู้นำกองทัพ”

กล่าวถึงข้อดีข้อเสียของกองกำลังแบบต่างๆ โดย “มาเคียเวลลี” ลงความเห็นว่า กองกำลังทั้งหลายที่เป็นของผู้อื่นนั้น ไม่มีความดีแก่เจ้าผู้ครองนครแต่อย่างใด การที่จะให้สถานะของเจ้าผู้ครองนครและรัฐมั่นคงปลอดภัยนั้น จะต้องมีกองกำลังของตนเอง!!!

อืม..พูดมาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า..หนังสือหรือบันทึก “THE PRINCE”หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” ที่ถูกร้อยเรียงในอดีต อันมีที่มาจากสถานการณ์และประสบการณ์ที่ “มาเคียเวลลี” ผู้รับราชการมานาน 15 ปี ได้เก็บข้อมูล ได้ค้นคว้า ได้ทำทั้งการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และชี้ประเด็นสำคัญให้เห็น.. ซึ่งมีทั้ง “ดีและร้าย” มิใช่ของง่ายเลยที่จะเรียบเรียง “THE PRINCE” หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” จึงมีค่าอย่างยิ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งสำหรับ “เจ้าผู้ครองนครทุกแห่ง” โดยเฉพาะ “นักการเมืองทั่วโลก” และ “ชาวโลก”..จริงไหม?

แต่ทั้งนี้.. ขึ้นกับ“มุมมองของผู้ใช้” และ “ใช้อย่างถูกต้องหรือม่”?

เผด็จการอิตาลี “Benito Mussolini” ได้กล่าวไว้ว่า “คำถามว่า โดยระยะที่ห่างกันถึงสี่ศตวรรษ จะยังมีอะไรอีกหรือที่มีชีวิตชีวาใน“เจ้าผู้ครองนคร” คำสอนของมาเคียเวลลีจะยังมีประโยชน์ต่อผู้นำรัฐสมัยปัจจุบันบ้างหรือไม่ คุณค่าของระบบการเมืองใน“เจ้าผู้ครองนคร” จำกัดอยู่เฉพาะยุคสมัยที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้น หรือว่ามันเป็นเรื่องสากลและร่วมสมัย? ข้าพเจ้ายืนยันว่า ทุกวันนี้ หลักการของมาเคียเวลลี มีชีวิตชีวายิ่งกว่าเมื่อสี่ศตวรรษที่แล้วเสียอีก เพราะแม้ว่าส่วนนอกกายของชีวิตของเราจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่มันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งอย่างไร ในส่วนที่เป็นจิตใจของปัจเจกชนและประชาชน”

ส่วนผู้ที่ผิดพลาดในการวิเคราะห์ตีความงานเขียนของ “มาเคียเวลลี” จนชีวิตต้องพังพินาศไปก็มีมากมาย.. และหนึ่งในนั้นคือนาย “Adolf Hitler”..!!


กำลังโหลดความคิดเห็น