xs
xsm
sm
md
lg

กรณีพิรงรอง VS ทรูไอดี สู้ด้วยข้อเท็จจริงไม่ใช่กระแสดรามา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก นางพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 โดยมีทรูไอดีเป็นโจทก์นั้น สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมหลังศาลมีคำพิพากษา
มีการออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรนักวิชาการต่างๆเพื่อสนับสนุนนางพิรงรอง เพราะเธอมีฐานะเป็นนักวิชาการด้านสื่อมาก่อน มีการเปรียบเปรยเหมือนเธอเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ฟ้องปิดปาก ราวกับลืมไปว่า ปัจจุบันเธอเป็นกสทช.ที่ถืออำนาจรัฐ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่มีอำนาจมาก

เว็บไซต์ของเนชั่นรายงานข่าวโดยอ้างคนในเเวดวงกระบวนการยุติธรรมท่านหนึ่ง ระบุว่า ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 6 ก.พ. ศาลเคยอนุญาตเลื่อนคดีมาเเล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากอาจารย์พิรงรอง จำเลยยื่นขอเลื่อนตั้งเเต่เดือนพฤศจิกายน โดยให้เหตุว่า “เพื่อจะเจรจากับโจทก์” ซึ่งเข้าใจว่าตัวจำเลยเองซึ่งสู้คดีเองในศาลมาตลอด น่าจะพอดูรูปคดีรู้อยู่เเล้ว ว่าเสียเปรียบผลจะออกมาเป็นลบกับตัวเอง จึงอยากเจรจา จนเกิดกระเเสข่าว “ถ้าอาจารย์พิรงรองลาออกจาก กสทช. ทรูจะถอนฟ้อง”

 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน บอกว่าจะออกกฎหมายปกป้องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากเหตุผลในคดีนี้ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรกันนี่

เพราะผมมองว่า กฎหมายที่ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจรัฐเกินหน้าที่นั่นแหละคือกฎหมายที่ปกป้องสิทธิประชาชน  
อาจารย์พิรงรองนั้นอาจจะมีเจตนาที่ดี แต่ถ้าอ่านคำพิพากษาก็ต้องบอกว่า เหนื่อย เพียงแต่บังเอิญภาพของกลุ่มทรูสู้ภาพของอาจารย์พิรงรองไม่ได้ สังคมเทไปข้างอาจารย์พิรงรอง หรืออย่างน้อยรวมทั้งผมมองว่า  ศาลน่าจะรอลงอาญา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในการต่อสู้คดีได้หยิบยกถึงคุณงามความดีที่อาจารย์ได้ทำมาเพื่อบ้านเมืองและสังคมประกอบเพื่อให้เข้าไปอยู่ในสำนวนของศาลหรือไม่ ถ้าไม่ศาลก็ไม่อาจหยิบยกมาพิจารณาได้  
แต่ลองคิดว่าคดีนี้ถ้าผู้เสียหายไม่ใช่ทรู และจำเลยไม่ใช่อาจารย์พิรงรอง แต่เป็นใครสักคนหนึ่งที่มีอำนาจแล้วจงใจใช้อำนาจกลั่นแกล้งคนที่ตั้งใจจะล้มเค้าให้ได้ ยอมทำทุกวิถีทางแม้จะผิดกฎระเบียบ ทำหลักฐานเอกสารเท็จตามที่คำพิพากษาระบุ ผลลัพธ์ควรจะเป็นอย่างไร

 เท่าที่อ่านคำพิพากษาเข้าใจได้ว่าจำเลยก็ตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ มิใช่แค่การทำไปเพียงพลั้งเผลอ หรือเจตนาจะปกป้องผู้บริโภคเท่านั้น คำว่าจะล้มยักษ์ส่อเจตนาว่าจะเอาเขาให้ได้เพราะคิดว่าตัวมีอำนาจเหนือ ส่วนมูลเหตุจูงใจไม่ทราบได้   เราต้องคิดถึงการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับคนตัวเล็กตัวน้อยไว้ด้วย ว่ากฎหมายต้องป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจจนเกินขอบเขตมากกว่าจะคุ้มครองการใช้อำนาจรัฐหรือไม่

การกระทําที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

การกระทำผิดระเบียบหรือกฎหมายปกครองต่างๆ อันเป็นความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของวิญญูชนด้วยเหตุปัจจัยภายนอก แต่หากการกระทำนั้นขาดเจตนาพิเศษที่เป็นมูลเหตุจูงใจภายในก็เสมือนไม่มีจิตใจชั่วร้าย ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะเจตนาพิเศษที่ถือว่าเป็นความชั่วร้าย อันเป็นองค์ประกอบภายในของมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7663/2543 มาตรา 157นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย

มีคำอธิบาย  “เจตนาพิเศษ” ไว้ว่า คือ มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด เจตนาพิเศษเป็นคนละกรณีกับเจตนาธรรมดา เจตนาธรรมดาคือประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ความผิดใดกฎหมายต้องเจตนาพิเศษ ก็จะบัญญัติถ้อยคำที่แสดงว่าเป็นเจตนาพิเศษไว้ในองค์ประกอบของความผิดนั้น ๆ โดยตรง เช่น คำว่า โดยทุจริต ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานลักทรัพย์(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334) คำว่า เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานปลอมเอกสาร(มาตรา 264) ในการพิจารณาถ้อยคำนั้น ๆ เป็นเจตนาพิเศษหรือไม่ให้สังเกตที่คำว่า เพื่อ………..หรือคำว่า โดยทุจริต เป็นต้น

ความผิดที่กฎหมายต้องการเจตนาพิเศษ เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสาร(มาตรา 264) หากผู้กระทำมีแต่เจตนาธรรมดา เช่น ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเท่านั้น ผู้กระทำก็ยังไม่มีความผิด โดยถือว่าขาดองค์ประกอบภายใน

ในการอุทธรณ์คดีของอาจารย์พิรงรองคงต้องสู้ว่า ไม่มีเจตนาพิเศษ และต้องแสดงถึงความดีความชอบในการทำหน้าที่ทั้งในฐานะครูบาอาจารย์และการต่อสู้เพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษให้อยู่ในสำนวนไว้ด้วย

ท่านผู้ใดเป็นนักกฎหมายลองดูในเอกสารข่าวที่ศาลแถลงออกมา 3 หน้านะครับว่า คดีอาจารย์พิรงรองกับทรูไอดีว่ามีเจตนาพิเศษหรือไม่ แล้วควรต่อสู้คดีอย่างไร

ผมอยากเอาใจช่วยอาจารย์พิรงรองนะ ข้อดีของคดีนี้คือ มีนักกฎหมายออกมาแสดงความเห็นต่างๆมากมาย ทั้งที่ยืนข้างอาจารย์พิรงรองและเห็นด้วยกับการพิจารณาคดีของศาล มีทั้งพูดด้วยหลักการและการเลือกข้าง

รวมถึงกระแสดรามาต่างๆมากมาย แต่ผมเห็นว่า กระแสดรามาช่วยอะไรไม่ได้ จะเอาความคิดว่าฝั่งหนึ่งเป็นคนเลวฝั่งหนึ่งเป็นคนดีไม่ได้ ต้องว่ากันด้วยพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง

อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า อาจารย์พิรงรอง มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำใดๆ ต้องอยู่ในอำนาจที่จะทำได้ มีคนบอกว่า อาจารย์พิรงรองปกป้องสิทธิ์ของประชาชนก็ใช่ แต่ถ้าการใช้อำนาจรัฐที่เกินจากอำนาจและกระทบสิทธิของเอกชน เขาก็มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิ์ของตัวเองเหมือนกัน

 หวังว่าการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์นั้น จะแก้ประเด็น กสทช.ไม่มีอำนาจควบคุม OTT ได้ OTT คือ Over-The-Top อธิบายถึงภาพยนตร์, โทรทัศน์ รวมถึงวงการสื่อดิจิทัล ที่มีการส่งเนื้อหาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการแพลตฟอร์นอกจากทรูไไอดี เช่น Facebook, YouTube, VIU, Netflix, Line TV และผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอื่น ๆ

ทำไมยังเดินหน้าเมื่อที่ประชุมได้ท้วงติงว่า มีผู้ให้บริการลักษณะ OTT จำนวนมาก และไม่ได้อยู่ในกำกับของกสทช. การนำกรณีทรูไอดีมาพิจารณาเพียงรายเดียว อาจส่งผลต่อการพิจารณาในอนาคต

 เอกสารจากการพิจารณาคดีที่ศาลเผยแพร่ระบุชัดว่า ไม่มีมติที่ประชุมในเรื่องนี้ ฝ่ายสำนักงานได้ท้วงติงการระบุชื่อโจทก์เป็นการเฉพาะ แต่จำเลยสั่งการและเร่งรัดให้ทำบันทึกดังกล่าว การประชุมครั้งต่อมาจำเลยได้ตำหนิฝ่ายเลขานุการที่ไม่ได้ทำหนังสือระบุเจาะจงถึงทรูไอดี

การประชุมก่อนหน้าไม่มีมติให้ทำหนังสือไปถึงทรูไอดี และการประชุมครั้งถัดมาก็ไม่มีการรับรองมติแต่อย่างใด ดังนั้นศาลจึงชี้ว่าเป็นเอกสารการประชุมอันเป็นเท็จ

ในการประชุมจำเลยพยายามรวบรัดและโน้มน้าวการพิจารณา เพื่อต้องการจะล้มการให้บริการทรูไอดี โดยมีคำพูดว่า “ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์” และยอมรับว่า ยักษ์หมายถึงโจทก์

เมื่อจำเลยทำหนังสือไปถึงผู้ประกอบการ 127 ราย ผู้ประกอบการเหล่านั้นชะลอและขยายเวลาในการทำนิติกรรมกับทรูไอดี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

หลายคนบอกว่า ศาลไปเอาข้อมูลภายในมาได้อย่างไร ต้องไม่ลืมว่า ศาลอาญาทุจริตเป็นระบบไต่สวนนะ ตอนนี้หลายคนบอกว่ารอคำพิพากษาฉบับเต็ม เพื่อดูแนวทางการต่อสู้ของจำเลย ซึ่งคิดว่า คดีเป็นที่สนใจของสังคมศาลน่าจะเผยแพร่ฉบับเต็มออกมา แต่โดยหลักแล้วก็คือจำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหานั่นเอง

 ศาลจึงชี้ว่า อาจารย์พิรงรองจำเลยทำความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งความผิดฐานนี้ต้องมีเจตนาพิเศษ ก็ต้องต่อสู้ในประเด็นนี้ให้ได้ และหาเหตุในการบรรเทาโทษไว้ด้วย ต้องสู้ด้วยข้อเท็จจริงไม่ใช่กระแสดรามา เอาใจช่วยครับ เชื่อมั่นว่า ศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ติดตามผู้เขียนได้ที่

https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น