“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
บทความที่แล้ว เราได้รู้ว่า ชีวิตรับราชการของ “มาเคียเวลลี” นั้น.. มิได้เดินไปถึง “จุดสูงสุด”!
ทว่า.. ภายหลังลาจากโลก “มาเคียเวลลี” กลับมีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังสือเรื่อง “เดอะปริ๊นซ์”(THE PRINCE) ดังเห็นได้จากคำพูดของ Francis Bacon (ค.ศ. 1561-1626) ที่พูดไว้ว่า...
“เราเป็นหนี้มาเคียเวลลี และคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก ที่เขียนถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรจะกระทำ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ที่จะประสานความฉลาดของอสรพิษเข้ากับความไร้เดียงสาของนกพิราบ.. เว้นแต่มนุษย์จะรู้ถึงลักษณะทั้งปวงของอสรพิษอย่างถ่องแท้.. คนที่สัตย์ซื่อนั้นไม่อาจทำสิ่งที่ดีต่อคนชั่วร้ายได้เลย หากปราศจากความรู้เรื่องความชั่ว”
ส่วน Jean-Jacques Rousseau (ค.ศ. 1712-1778) ก็ได้กล่าวว่า...
“โดยการเสแสร้งทำว่าได้ให้บทเรียนแก่กษัตริย์ แต่เขา(มาเคียเวลลี)ได้ให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชน และเจ้าผู้ปกครอง.. คือตำราของผู้นิยมมหาชนรัฐ”
Benito Mussolini (ค.ศ.1883-1945) ผู้ซึ่งชาวโลกถือเป็นเผด็จการตัวพ่อคนหนึ่งของโลก ก็ได้พูดถึง “มาเคียเวลลี” ว่า...
“มีคำถามว่า โดยระยะเวลาที่ห่างกันถึงสี่ศตวรรษ จะยังมีอะไรอีกหรือที่มีชีวิตชีวาใน ‘เจ้าผู้ปกครอง’ คำสอนมาเคียเวลลีจะยังมีประโยชน์ต่อผู้นำรัฐสมัยปัจจุบันบ้างหรือไม่? คุณค่าระบบการเมืองใน ‘เจ้าผู้ปกครอง’ จำกัดอยู่เฉพาะยุคสมัยที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้น.. หรือว่ามันเป็นเรื่องสากลและร่วมสมัย?
ข้าพเจ้ายืนยันว่า ทุกวันนี้ หลักการของมาเคียเวลลี มีชีวิตชีวายิ่งกว่าเมื่อสี่ศตวรรษที่แล้วเสียอีก เพราะแม้ว่าส่วนนอกกายของชีวิตเราจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งอย่างไร ในส่วนที่เป็นจิตใจของปัจเจกชนและประชาชน”
มีการนำเรื่องของ “มาเคียเวลลี” มาโยงเกี่ยวพันกับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ของ Adolf Hitler เผด็จการตัวพ่อของโลก ที่มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ.1889-1945
ใครคนหนึ่ง ได้สรุปว่า Hitler มักชอบเก็บหนังสือเรื่อง The Prince ไว้ข้างเตียงเสมอ และเชื่อกันว่า ที่ Hitler ประสบกับหายนะในบั้นปลาย ก็เพราะ.. ตีความคำสอนพื้นฐานบางประการของ “มาเคียเวลลี” ผิดพลาดนั่นเอง!
โอ๊ะ! ถ้าจริง.. ไหงเป็นงั้นล่ะ?.. เฮ้อ!!!???
เอาล่ะ.. มาเข้าเรื่อง “มาเคียเวลลี” กันดีกว่า..
ภายหลังหนังสือเรื่อง The Prince ของ “มาเคียเวลลี” ถูกเผยแพร่ในปี ค.ศ.1532 และเป็นที่ยอมรับของชาวโลกอย่างกว้างขวางจวบจนปัจจุบัน ทำให้ “มาเคียเวลลี” ได้รับฉายาทั้งดีและไม่ดีอย่างมากมาย
บ้างวิจารณ์ว่า “เดอะปริ๊นซ์” เป็นเรื่องของ “เจ้าชายผู้ปกครอง” บ้างเรียก “มาเคียเวลลี” เป็น “เจ้าของศาสตร์ทรราช” แต่ในที่สุด “มาเคียเวลลี” ถูกศาสนจักรขึ้นบัญชีดำ”!!!
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน นักเขียนที่ติดตามเรื่องราวของ “มาเคียเวลลี” ระบุตามคำโจษจันที่เห็นตรงกันว่า “มาเคียเวลลี” สอนให้ “เจ้าชายที่ปรีชา” ต้องเรียนรู้ที่จะต้อง “ไม่เป็นคนดี” เพราะเขาระบุว่า “สิ่งสำคัญที่สุด คือการรักษาอำนาจไว้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม หากสามารถมีอำนาจ ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่มีไม่มากที่ยอมรับว่า.. น่านำไปปฏิบัติ”
ไนเจล สันนิษฐานว่า “มาเคียเวลลี” เขียนหนังสือ “เจ้าชายผู้ปกครอง” หรือ“เดอะปริ๊นซ์” เพื่อให้ผู้มีอำนาจประทับใจ ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อให้ได้กลับไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเมืองในฟลอเรนซ์ แต่แผนการนี้ มิได้เป็นไปตาม “มาเคียเวลลี” วางไว้
ไนเจล ระบุแนวคิดที่ “มาเคียเวลลี” นำเสนอ คือ “ผู้ปกครอง” ต้องมี “ความกล้าหาญ” เขาเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คือ ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งมาจากทางเลือกของเราเอง โอกาสเป็นสิ่งพัฒนาได้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ เพราะมาเคียเวลลีเชื่อเรื่องโชคว่า มีอิทธิพลเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรอโชคชะตาราวกับเป็นเหยื่อของมัน
“ผู้นำ” ที่ “มาเคียเวลลี” ประทับใจ คือ “เซซาร์บอร์เจีย” บุตรนอกสมรสของพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6
เมื่อไม่ได้เป็นไปตามแผนของ “มาเคียเวลลี” คิด สุดท้ายชีวิต “มาเคียเวลลี” จึงเป็นได้แค่นักเขียนที่มีชื่อเสียง จากเรื่อง “เดอะปริ๊นซ์” และผลงานอีกแค่หลายเล่มเท่านั้น
ทว่า.. นักประวัติศาตร์ได้บรรยายไว้ว่า “บอร์เจีย” ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย เมื่อต้องหลอกลวงศัตรูและสังหาร เพื่อยึดครองดินแดนในอิตาลี ซึ่งขณะที่ “มาเคียเวลลี” เชื่อในมุมมองว่า “เขาทำถูกต้อง” เพราะ “บอร์เจีย” ค้นพบว่า ครอบครัว “ออร์วินี” วางแผนจะโค่นล้ม โดยคิดว่า “บอร์เจีย” ไม่รู้ในแผนการนี้
เมื่อ “บอร์เจีย” นัดผู้นำครอบครัว “ออร์วินี” มาเจอ และได้สังหารทุกคนที่มาถึง “มาเคียเวลลี” เห็นด้วยกับแผนการนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ “กล้าหาญ” ตรงตามมุมมองของ “มาเคียเวลลี” เป๊ะเลย แต่แนวคิดทำนองนี้ของ “มาเคียเวลลี” กลับถูกมองว่า เป็นเล่ห์เหลี่ยมกลโกง และใช้คนเป็นเครื่องมือ ดังนั้น ในศตวรรษที่ 16 บรรยากาศของฟลอเรนซ์จึงมีแต่การนองเลือด!
ครั้งหนึ่ง “มาเคียเวลลี” เคยถูกจับเข้าคุกและถูกทรมาน จากข้อหาวางแผนโค่นล้มตระกูล “ตระกูลเมดิซี” ซึ่งครอบครัวนี้ครอบครองบ้านทั่วไปในเมืองฟลอเรนซ์ โดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือ “ตระกูลเมดิซี”
ระบบปกครองฟลอเรนซ์แตกต่างจากเมืองอื่น ฟลอเรนซ์มีประชากรไม่เกิน 50,000 คน มีการเลือกตั้ง แต่สิทธิเลือกตั้งถูกจำกัดเพียงแค่พ่อค้าที่มีฐานะ และช่างฝีมือทั่วไป ส่วนพลเมืองส่วนใหญ่ถูกจำกัดบทบาททางการเมือง
พอช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1494 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส เข้ารุกรานอิตาลี ผู้นำสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ คือ “ปิแยโร เด เมดิซี” ยอมมอบป้อมปราการที่สำคัญ เพื่อแลกกับสัญญาสนับสนุน “ตระกูลเมดิซี” ให้ปกครองฟลอเรนซ์ต่อไป ทำให้ชาวฟลอเรนซ์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จน “ตระกูลเมดิซี” ต้องหลบหนีออกจากเมือง โดยนำข้าวของที่ขนได้หนีไปด้วย
ในปี ค.ศ. 1512 “ตระกูลเมดิซี” ที่มี “โป๊ปจูเลียสที่ 2” หนุนหลัง และเอาชนะฟลอเรนซ์ได้ด้วยกองทหารของสเปน ภายหลัง “ตระกูลเมดิซี” กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้น “มาเคียเวลลี” ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าสมคบกันล้ม “ตระกูลเมดิซี”
เมื่อเพื่อนร่วมงานของ “มาเคียเวลลี” ถูกทรมานและรับสารภาพ “มาเคียเวลลี” ก็ถูกนำตัวไปขังที่คุก “เล สติงเค” และถูกทรมานด้วยวิธี “สตรัปปาโด” นั่นคือ ให้ยืนบนแท่น มือทั้งสองถูกมัดไพล่หลัง ร้อยเชือกที่มัดมือกับเชือกที่ผูกติดบนผนัง จากนั้นกระชากแท่นออก น้ำหนักของเขาจะถูกทิ้งลงมา ขณะที่แขนทั้งสองข้างจะถูกกระตุกขึ้นด้านบน เป็นผลให้เส้นเอ็นขาด ข้อต่อหลุด
“มาเคียเวลลี” ถูกทรมานถึง 6 ครั้ง แต่ไม่มีคำสารภาพใดๆ ทั้งสิ้นออกจากปาก เพราะไม่มีอะไรให้สารภาพ! “มาเคียเวลลี” เชื่อมั่นว่า “เขาแค่ถูกสงสัยเท่านั้น”
“มาเคียเวลลี” เล่าถึงเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวตอนนั้นอย่างติดตลก แต่ก็ทำให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวของเขาว่า “เสียงที่น่ารำคาญกว่าการกรีดร้องของเพื่อนร่วมห้องขัง คือเสียงท่องมนต์คาถาของพวกเคร่งศาสนา ความทุกข์ทรมานที่ได้รับไม่ได้สิ้นสุดด้วยบทกวี หรือการเคลื่อนไหว หรือคำร้องของเพื่อนฝูง”
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1513 “พระสันตะปาปาจูเลียส” ประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ พระคาดินัลใน “ตระกูลเมดิซี” วัย 38 ปีได้รับเลือกตั้งเป็น “พระสันตะปาปาเลโอที่ 10” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวฟลอเรนซ์ได้ขึ้นครองบัลลังก์ตำแหน่ง “ผู้นำวาติกัน” ชะตากรรมสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ในยุครุ่งเรืองสมัยนั้น จึงขึ้นกับนโยบายของสันตะปาปาแห่งตระกูลเมดิซี ผู้ครองบัลลังก์เซนต์ปีเตอร์
อ้าว!..แล้วชะตากรรม “มาเคียเวลลี” เจ้าของ “คัมภีร์ปีศาจ” ของ“ผู้ปกครองรัฐ” จะเป็นฉันใดเล่า?.. ต้องตามตอนต่อไปครับ...