xs
xsm
sm
md
lg

MOU 2544 แผนรีบจนเขียน “ทิศผิด” ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้เขียนบทความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ MOU 2544 ถึง 2 บทความต่อเนื่องกันคือวันที่ 19 มกราคม 2568 และ วันที่ 28 มกราคม 2568

บทความชิ้นแรกนั้นได้กล่าวถึงความผิดพลาดของข้อความในแผนที่ MOU 2544 และบทความที่สอง ได้วิเคราะห์ข้อดีเก๊ MOU 2544 ถึง 7 ประการ จึงเห็นว่า บทความทั้ง 2 ชิ้นนี้มีคุณค่าทางความรู้เพื่อยกเลิก MOU 2544 ในวันข้างหน้า จึงขอนำบทความของดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ทั้ง 2 ชิ้นนี้มาเผยแพร่ในบทความเดียวดังต่อไปนี้

สำหรับบทความแรกที่ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม นำเสนอในวันที่ 19 มกราคม 2568 นั้นมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

MOU 2544 ซึ่งเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป โดยได้กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งความตกลงร่วมกันในการปักปันเขตแดนและการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามรับรองเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 นั้น มีข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าวดังนี้

1)การจัดทำ MOU 2544 เป็นไปอย่างเร่งรีบ รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้จัดให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยและกัมพูชาที่เสียมราฐเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2544 ซึ่งนำไปสู่การจัดทำ MOU 2544 และต่อมา ดร.สุรเกียรติ์เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น และนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสและประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาในขณะนั้น ได้ลงนามรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ณ กรุงพนมเปญ ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายทักษิณ ชินวัตร จะเห็นว่าใช้เวลาเพียงแค่ราว 4 เดือนในการจัดทำ MOU 2544 ซึ่งบ่งบอกถึงการรีบเร่งในการจัดทำMOU 2544 โดยอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง

 ยิ่งไปกว่านั้น หากดูที่แผนที่แนบท้าย MOU 2544 ตามภาพที่ 1 ซึ่งแสดงถึงการแบ่งพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนและส่วนล่างของเส้นละติจูด 11° เหนือจะเห็นว่า มีการระบุเส้นละติจูดผิดจาก “องศาเหนือ (°N)” เป็น “องศาตะวันออก(°E)” อันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่อให้เห็นถึงการรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544

2) กรอบการเจรจาตาม MOU 2544 ได้เปลี่ยนท่าทีในการเจรจาของไทยต่อปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจากรอบการเจรจาตาม MOU 2544 มีผลทำให้กัมพูชาไม่ต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11o เหนือ ให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งทั้งกัมพูชาและไทยเป็นภาคี และกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถใช้การปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11° เหนือ ซึ่งกัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่ไหล่ทวีปเลยในส่วนนี้มาใช้เจรจาต่อรองในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11° เหนือ

 ตั้งแต่เริ่มเจราจากับกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2513 จนถึงก่อนการจัดทำ MOU 2544 นั้น ไทยมีท่าทีที่คงมั่นว่าเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาจึงต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้ถูกต้องเสียก่อน จนเหลือพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผลเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่เหลือน้อยที่สุดเพื่อทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ท่าทีของไทยนี้ถือเป็นท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

3) MOU 2544 เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 178 ถ้าพิจารณาเฉพาะตัว MOU 2544 เองในขณะที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 224

ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา จึงไม่ต้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนามรับรอง และไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 178

แต่หากพิจารณาว่าเมื่อการดำเนินการเจรจาตามกรอบและกลไกของ MOU 2544 เสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์แล้ว จะได้มาซึ่งร่างความตกลงระหว่างสองฝ่าย เมื่อได้ร่างความตกลงร่วมดังกล่าวแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อผ่านความเห็นชอบก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ลงนามรับรองร่วมกัน ซึ่งความตกลงนี้มีความชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายตามมาตรา 178 ดังกล่าว เนื่องจากเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และเป็นหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ความตกลงร่วมดังกล่าวจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังต้องมีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาดังกล่าวตามมาตรา 178 วรรคสี่ด้วย

4) การยกเลิก MOU 2544 ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถกระทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากกัมพูชา MOU 2544 ถือว่าเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการที่ไทยซึ่งเป็นรัฐคู่สัญญาจะบอกเลิก MOU 2544 กับกัมพูชาซึ่งเป็นรัฐคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีเหตุผลที่เพียงพอตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนอกจากนี้ MOU 2544 ไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเลิกหรือการถอนตัวระบุไว้หากพิจารณาอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (Vienna Convention on the Law of Treaties 1969) ในส่วนที่ 5 (Part V) หมวดที่ 3 (Section 3) การยกเลิกและการระงับชั่วคราวของการใช้สนธิสัญญา (Termination and Suspension of the Operation of Treaties) จะพบว่าไม่มีช่องทางใดที่จะใช้ยกเลิก MOU 2544 ได้เลยหากไม่ได้รับความยินยอมจากกัมพูชา

กัมพูชาเองก็ไม่เคยทำการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงต่อ MOU 2544 หรือแม้ไทยจะอ้างพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก (a fundamental change of circumstance) ตามข้อ 62 ของอนุสัญญาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะรับฟังได้ แม้ทั้งไทยและกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญากรุงเวียนนา แต่ข้อกำหนดดังกล่าวของอนุสัญญานี้เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้วน่าจะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นหลักแห่งการถือปฏิบัติโดยทั่วไป หรือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอารยะประเทศรับรอง ซึ่งส่งผลให้ไทยและกัมพูชาต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวนั้นด้วยอยู่ดี[1]

 จากบทความของ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ที่ว่า “มีการระบุเส้นละติจูดผิดจาก“องศาเหนือ (°N)” เป็น “องศาตะวันออก (°E)” อันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่อให้เห็นถึงการรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544” นั้น สมควรหรือไม่ที่จะต้องมีการยกเลิกแผนที่ที่ผิดทิศอย่างชัดเจน และไม่สามารถปฏิบัติด้านจริง

นอกจากนั้น ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ยังได้เขียนอีกบทความหนึ่งว่าด้วยเรื่องการหักล้างข้อมูลของคนที่อ้างว่า MOU 2544 มีประโยชน์ดังนี้
 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ผู้ลงนามรับรอง MOU 2544 ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้ให้ข้อดีของการจัดทําMOU 2544 ไว้ 7 ข้อในหนังสือชื่อ  “กฎหมายและผลประโยชน์ของไทยในอ่าวไทย : กรณีศึกษาบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา เรื่องการเจรจาสิทธิในอ่าวไทย” ที่พิมพ์เมื่อปี 2553 จึงขอสรุปข้อดีดังกล่าวซึ่งมักถูกกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ พร้อมทั้งให้ความเห็นและชี้ให้เห็นถึงข้อเสียที่อาจมีในแต่ละข้อไปพร้อมกัน ดังนี้

1) MOU 2544 มีข้อดีทําให้เกิดกรอบและกลไกสําหรับการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดนในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11° เหนือ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบน”) และการพัฒนาพื้นที่ร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11° เหนือ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่าง”) โดยการเจรจาหาข้อสรุปดังกล่าวยังไม่มีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย
 ถึงแม้จะมีข้อดีดังกล่าว แต่มีข้อเสียที่ทําให้การเจรจาถูกจํากัดกรอบไว้และไม่สามารถเจรจานอกเหนือไปจากกรอบนั้นได้ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่าง จะไปเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนไม่ได้ รวมทั้งจะไปอ้างอิงอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคี และกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิอ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงที่เล็กลงกว่าเดิมไม่ได้ โดยถูกจํากัดกรอบให้เจรจาได้เฉพาะว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ร่วมโดยแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไรเท่านั้น
2) MOU 2544 มีข้อดีทําให้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธี สําหรับปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนในพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมอันสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและนําไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง

  แต่อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าการจัดทํา MOU 2544 ทั้งสองฝ่ายก็สามารถเจรจาแบบสันติวิธีในเรื่องดังกล่าวมาได้โดยตลอด ไม่ได้มีความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันทางทะเลเหมือนอย่างทางบก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สําคัญน่าจะมาจากการที่กัมพูชาไม่สามารถรุกคืบโดยการแอบส่งทหารหรือประชาชนของตนไปประจําอยู่ในทะเลได้เหมือนอย่างที่ทําได้บนบก อีกทั้งไทยก็มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งกว่ากัมพูชาอย่างมาก

3) MOU 2544 มีข้อดีทําให้มีการผูกประเด็นการเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบน และการพัฒนาพื้นที่ร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างให้ทั้งสองเรื่องแยกต่างหากจากกันมิได้ ซึ่งเป็นผลดีเนื่องจากกัมพูชาให้ความสําคัญกับการพัฒนาร่วมมากกว่าการปักปันเขตแดน โดยเป็นการอาศัยความต้องการของกัมพูชาในการเร่งรัดการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนตอนล่าง เป็นประโยชน์ในการผลักดันให้เจรจาเพื่อปักปันเขตแดนในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนตอนบนมีความคืบหน้าเพื่อให้ตกลงกันได้โดยเร็ว นอกจากนี้แม้จะตกลงกันได้ในส่วนพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ก็ไม่สามารถรีบดําเนินการให้มีผลผูกพันกันได้เนื่องจากต้องตกลงในส่วนการปักปันเขตแดนให้ได้ก่อนด้วย

 ข้อดีในข้อนี้จะไม่มีข้อโต้แย้งได้เลยหากเส้นเขตไหลทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธินั้นถูกกําหนดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วกัมพูชามิได้กําหนดตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคี หรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนนั้นกัมพูชากําหนดเส้นเขตไหล่ทวีปตามใจชอบ ในขณะที่ไทยมีการกําหนดที่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัมพูชาอย่างมีนัยสําคัญ ดังนั้น หากกําหนดให้ถูกตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบน และพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างจะเหลือน้อยลงจากเดิมอย่างมากในทางที่เป็นคุณต่อไทย

ดังนั้น การผูกประเด็นการเจรจาให้ทั้งสองเรื่องแยกต่างหากจากกันมิได้ มีผลที่เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย โดยก่อนทํา MOU 2544 กัมพูชาอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มากเพราะกัมพูชากําหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของตน โดยไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ แต่เมื่อทํา MOU 2544 แล้ว พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างไม่มีประเด็นที่จะต้องอ้างอิงอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดอีกต่อไป ในขณะที่พื้นที่อ้างสิทธิส่วนบนซึ่งเป็นส่วนที่กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยอยู่แล้วหากอิงตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กัมพูชากลับสามารถใช้การเจรจาในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนมาเป็นประโยชน์สําหรับการเจรจาต่อรองกับไทยในพื้นที่อ้างสิทธิส่วนล่างได้
4) MOU 2544 มีข้อดีในการยืนยันว่ากัมพูชายินยอมถอนการเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด เนื่องจากในแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เส้นที่ลากจากฝั่งไปยังเกาะกูดนั้นอ้อมหลบไปตามขอบตอนล่างของเกาะกูด ไม่ได้ลากตัดผ่าเกาะกูด อัน เป็นการยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด
 ข้อนี้ไม่สามารถถือเป็นข้อดีได้ เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ อยู่แล้ว โดยหากดูแผนที่ฉบับที่แนบท้ายกฤษฎีกาที่ 439-72/PRK ที่กัมพูชาประกาศกําหนดเขตไหล่ทวีปของตน จะพบว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธินั้นลากมาหยุดที่ขอบของเกาะกูดด้านตะวันออกแล้วจึงเริ่มต้นใหม่ที่ขอบของเกาะกูดด้านตะวันตกตามที่กล่าวมาแล้วในบทความตอนที่ 1 ไม่ได้ลากผ่าเกาะกูดเหมือนอย่างที่แผนที่โดยสังเขปที่กัมพูชาใช้ประกอบการแถลงข่าวเรื่องนี้แสดงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในแผนที่ที่แนบท้ายกฤษฎีกาดังกล่าว กัมพูชาได้เขียนชื่อภาษาอังกฤษของเกาะกูดกํากับไว้ ว่า “Koh Kut (Siam)” ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่ากัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิใดๆ เหนือเกาะกูดอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิดไป
ยิ่งไปกว่านั้นสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 2 ว่า  “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย แลเมืองตราดกับทั้งเกาะหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม ตามกําหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว”  นอกจากนี้ ไทยยังได้สร้างกระโจมไฟที่ปลายด้านใต้ของเกาะกูดอันแสดงถึงอํานาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดตั้งแต่ปี 2517 อีกทั้งบนเกาะกูดมีเฉพาะคนไทยอาศัยอยู่ รวมทั้งมีทหารไทยประจําการอยู่ทางตอนใต้ของเกาะกูด จึงเป็นที่ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทยอย่างไม่มีข้อสงสัย จึงไม่มีประเด็นใดที่ต้องเจรจาต่อรองกับกัมพูชาเกี่ยวกับสิทธิเหนือเกาะกูด

ดังนั้น หากไทยไปยอมให้แผนที่แนบท้าย MOU 2544 มีการลากเส้นตัดผ่าเกาะกูดก็จะเป็นเรื่องแปลกและไม่ถูกต้อง ดังนั้นการไม่มีการลากเส้นตัดผ่าเกาะกูดจึงถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งที่จะถือว่าเป็นข้อดีของ MOU 2544 ได้

5) MOU 2544 มีข้อดีทําให้กัมพูชายอมรับอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทยตามที่ได้ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2516 นอกจากนี้ ยังทําให้กัมพูชายอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรอีกว่าการอ้างสิทธิทางทะเลของไทยจะไม่ถูกกระทบไม่ว่าการดําเนินการตาม MOU 2544 จะมีผลออกมาอย่างไร ซึ่งเป็นข้อป้องกันสิทธิของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 ข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อดีสําหรับไทยเท่านั้น แต่ในทางกลับกันก็เป็นข้อดีสําหรับกัมพูชาด้วย หากพิจารณาจากคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ระหว่างเยอรมนีฝ่ายหนึ่งกับเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กอีกฝ่ายหนึ่ง ในข้อพิพาทเกี่ยวกับไหล่ทวีปในทะเลเหนือ ค.ศ. 1969 (North Sea Continental Shelf 1960) ศาลได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปมิได้ขึ้นอยู่กับการประกาศอ้างสิทธิหรือการยึดครองไหล่ทวีปดังกล่าว สิทธินี้เป็นสิทธิที่เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่รัฐนั้นมีไหล่ทวีปมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงเป็นสิทธิที่ตกติดตามมาพร้อมกับการเป็นรัฐการที่รัฐมีสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปจึงเป็นการได้สิทธิมาตามธรรมชาติ ไม่จําเป็นต้องมีการประกาศอ้างสิทธิก่อนแต่อย่างใด


 ดังนั้น แม้มีรัฐอื่นเข้ายึดครองบริเวณในไหล่ทวีปของอีกรัฐหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่อาจอ้างสิทธิเหนือบริเวณในไหล่ทวีปนั้นได้ เว้นแต่รัฐนั้นจะไม่โต้แย้งหรือประกาศยอมรับการครอบครองนั้น หรือประกาศสละสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปของตน หรือมีพฤติการณ์ใดในทางยอมรับสิทธิของรัฐอื่นในลักษณะของการยอมรับโดยปริยายหรือเข้าลักษณะของหลักกฎหมายปิดปากดังนั้นข้อนี้จึงไม่อาจนับว่าเป็นข้อดีได้

6) MOU 2544 มีข้อดีทําให้การเจรจาเพื่อปักปันเขตแดนในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนต้องกระทําตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลให้ทั้งไทยและกัมพูชาในปัจจุบันและอนาคตไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

 ข้อนี้ถือได้ว่าเป็นข้อดีได้เพียงส่วนหนึ่ง ตามความเป็นจริงแล้วการดําเนินการใด ๆ ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้วยิ่งไปกว่านั้นทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ทั้งสองฝ่ายจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ MOU 2544 กลับไปทําให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างไม่ต้องมีการกําหนดเขตไหล่ทวีปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และ กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไปใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมแทน ซึ่งเป็นข้อเสีย

7) MOU 2544 มีข้อดีทําให้มีการเจรจาการพัฒนาร่วมสําหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่าง ซึ่งหากสามารถเจรจาได้ข้อยุติเร็วและสามารถนําเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากเนื่องจากไทยมีความต้องการด้านพลังงานและมีความพร้อมในการสํารวจและขุดเจาะปิโตรเลียม

 ข้อดีในข้อนี้จะไม่มีข้อโต้แย้งได้เลยหากกัมพูชาได้ปรับเส้นเขตไหล่ทวีปของตนให้ถูกต้องตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 และกฎหมายระหว่างประเทศจนเหลือพื้นที่ทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผลเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่เหลือน้อยที่สุดเพื่อทําเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ MOU 2544 ไปยอมรับให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม จึงทําให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่ไม่ควรได้ หรืออีกนัยหนึ่งทําให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มในส่วนที่ควรได้ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างมีแอ่งที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและแก๊สอยู่ส่วนใหญ่ในด้านที่ใกล้ฝั่งไทยตามที่จะได้กล่าวในบทความตอนต่อไป[2]

นับเป็นบทความที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และมีน้ำหนักว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรจะแสดงความกล้าหาญในการยกเลิก MOU 2544 ด้วยข้อดีเก๊ทั้ง 7 ประการ โดยอาจเริ่มต้นจากการยกเลิกแผนที่ใน MOU 2544 ที่รีบมากจนเขียน “ทิศผิด ”ลงในแผนที่ จนไม่สามรถบังคับใช้ได้จริง

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันอออกมหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม, แฉอีก “แม้ว” เร่งทำ MOU44 จนเขียนผิด เปลี่ยนท่าทีฝ่ายไทยสิ้นเชิง-เอื้อเขมร, ผู้จัดการออนไลน์, 19 มกราคม 2568
https://mgronline.com/politics/detail/9680000005776

[2] ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม, ชำแหละ 7 ข้อดีเก๊ MOU44 ไม่ดีจริงตาม “สุรเกียรติ์” ชอบอ้าง, ผู้จัดการออนไลน์, 28 มกราคม 2568
https://mgronline.com/politics/detail/9680000008764


กำลังโหลดความคิดเห็น