หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผลการเลือกตั้งอบจ.บอกอะไรกับเราไม่น้อย ที่สะท้อนชัดก็คือสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นบ้านใหญ่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนยังสามารถยึดครองพื้นที่ได้ มนต์ขลังของทักษิณเสื่อมคลายลง แม้พอจะมีฤทธิ์เดชเหลืออยู่บ้างก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว พรรคส้มที่ใครคิดว่ามาแรงและหมายมั่นชัยชนะมากก็พลาดไปเกือบทุกจังหวัด แม้จะมีส.ส.ของพรรคยกจังหวัดก็ตาม ชัยชนะหนึ่งเดียวที่ลำพูนที่แท้ก็คือหนึ่งในบ้านใหญ่ที่มีพื้นฐานทางการเมืองมาก่อน มีพ่อเป็นอดีตนายกอบจ.
แม้หลายคนจะบอกว่า ปัจจัยในการเลือกตั้งอบจ.กับเลือกตั้งใหญ่นั้นต่างๆ กัน ซึ่งก็จริงแต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันมาก พรรคส้มน่าจะเป็นพรรคเดียวที่อาศัยกระแสพรรคมากกว่าตัวบุคคล ขณะที่พรรคการเมืองอื่นนั้นยึดกุมฐานเสียงของบ้านใหญ่ที่ใกล้ชิดประชาชนด้วยระบบอุปถัมภ์ทั้งนั้น
การเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาที่พรรคส้มชนะนั้น ปัจจัยสำคัญเลยก็คือ กระแสเบื่อลุง ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้พรรคส้มชนะในเขตเมืองใหญ่ กรุงเทพและปริมณฑล
แต่การเลือกตั้งอบจ.ชาวบ้านต้องการคนที่เข้าถึงประชาชนใกล้ชิดกับประชาชนสามารถพึ่งพาได้ ส.ส.ของพรรคส้มส่วนใหญ่ไม่มีแสงในตัวเองไม่ได้มีฐานเสียงของตัวเองแต่อาศัยคะแนนพรรค คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ผู้สมัครส.ส.ของพรรคส้มนั้นเป็นใครมาจากไหน แถมเมื่อได้เป็นส.ส.แล้วก็เข้าไม่ถึงประชาชน ต่างกับส.ส.แบบขนบเดิมที่ต้องใกล้ชิดชาวบ้านงานบุญงานบวชงานศพต้องไปร่วมงานไม่ใช่ใช้พวงหรีดไปเวียน ต้องฉีดยุงลาย ฯลฯ พวกนี้ก็เลยไม่สามารถเป็นฐานเสียงช่วยผู้สมัครอบจ.ของพรรคได้ต้องอาศัยกระแสพรรคอย่างเดียว
ลองพิจารณาดูสิว่า จังหวัดที่มีส.ส.ส้มยกจังหวัดนั้น ทำไมไม่สามารถชนะเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ได้เลย แม้ว่าคะแนนของพรรคส้มที่แพ้จะได้ไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นกระแสของพรรคไม่ใช่ของตัวบุคคลเลยแต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ชนะในการแข่งขั้นทั้งจังหวัดได้ เพราะผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นที่รู้จักและใกล้ชิดประชาชนมาก่อนเหมือนกับบ้านใหญ่ที่เป็นร่มไม้ใหญ่ของคนในท้องถิ่น
ต้องยอมรับว่าเมื่อไม่มีกระแสเบื่อลุงแล้ว กระแสของพรรคส้มก็ตกลงมาก เพราะส.ส.ของพรรคไม่ได้สนใจเรื่องปากท้อง ทำแต่เรื่องนามธรรม จะรื้อโครงสร้างต่างๆ ของสังคมไทย ไปตั้งแต่กองทัพจนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องสิทธิของแรงงานต่างชาติที่ชาวบ้านมองว่าเข้ามาแย่งชิงสวัสดิการของรัฐ ไม่สนใจเรื่องปากท้องของชาวบ้าน ส.ส.ของพรรคร้อยกว่าคนมีบทบาทในสภาจริงๆไม่กี่คนนอกนั้นเป็นส.ส.ที่โลกลืม ไปถามชาวบ้านในเขตที่เลือกมาก็อาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าส.ส.ของตัวเองชื่ออะไร เพราะไปเลือกมาเพราะพรรค
แม้กระแสของทักษิณเองก็ไม่มีมนต์ขลังเหมือนเก่า เพราะจังหวัดที่ทักษิณทุ่มตัวไปหาเสียงนั้นพ่ายแพ้ในหลายจังหวัดที่สำคัญก็คือ เชียงราย และศรีสะเกษ ที่ทักษิณทุ่มเทมาก แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังได้นายกฯ อบจ.มากที่สุดในจังหวัดที่ส่งแข่งในนามพรรค เพราะส่วนใหญ่ที่ชนะนั้นก็เป็นการเมืองบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัดนั่นเอง
ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยแม้จะไม่ได้ส่งแข่งในนามพรรคอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็พิสูจน์ว่าฐานของพรรคภูมิใจไทยในหลายจังหวัดอีสานที่อาศัยร่มเงาของบ้านใหญ่เหมือนกันยังสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่แข่งสำคัญได้ ส่วนภาคใต้ก็แบ่งกันไประหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะไม่ได้เปิดตัวในนามพรรคอย่างเป็นทางการ และใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ยังเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นผลสะท้อนของการเมืองใหญ่นั่นเอง
เพียงแต่ในส่วนของพรรคส้มนั้น ต้องยอมรับว่า แผ่วลง แม้จะได้รับเลือกส.ส.มาเป็นอันดับ 1 แต่ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่า ส.ส.ของพรรคนั้นไม่ได้ใกล้ชิดประชาชน ไม่ได้ทำฐานมวลชน และว่ากันว่าส.ส.ในพรรคแม้จะอยู่พรรคเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน แต่ต่างคนต่างเดิน ไม่ประสานกัน ทะเลาะกัน เข้าไม่ถึงชาวบ้านหรือชาวบ้านเข้าไม่ถึงนั่นแหละ เพราะต่างก็เป็นส.ส.นกแลที่อาศัยบารมีของพรรคไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ
จะโทษว่า เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคไม่โดดเด่นก็ไม่ได้ เพราะพรรคส้มอาศัยบุคลากรของพรรคชุดใหญ่ทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงไปหาเสียงอย่างมั่นหมายมากว่าจะชนะในหลายจังหวัด แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดท่า
ดังนั้น แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะพิสูจน์ว่า ทักษิณเองก็ไม่ได้แรงและมีมนต์ขลังเหมือนเก่าแล้ว พรรคส้มที่ท้าทายต่อสถาบันหลักของชาติและอุดมการณ์ของรัฐก็ยังไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนในระดับท้องถิ่นได้ ก็อาจทำให้ใครต่อใครที่หวาดกลัวว่า พรรคส้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิมเบาใจได้ว่าเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากไม่มีกระแสเบื่อลุง ไม่มีหัวหน้าพรรคที่มีคาริสม่ามากแบบพิธาแล้ว พรรคส้มก็น่าจะแผ่วลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส.ส.เขตของพรรคที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาเพราะกระแสพรรคแต่ไม่ได้ใกล้ชิดประชาชน และไม่ได้ทำการเมืองแบบใกล้ชิดชาวบ้านนั้น ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่าจะยังเลือกอีกไหม
แน่นอนว่าสาวกที่เป็นส้มแบบสุดลิ่มโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ยังคงลงคะแนนให้พรรคส้มต่อไป แต่เมื่อไม่มีกระแสคนกลางๆที่เคยฝากความหวังไว้กับพรรคส้มอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจจะต้องคิดทบทวนว่า บทบาทของพรรคส้มในสภาที่หมกมุ่นอยู่กับการรื้อโครงสร้าง การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ มากกว่าจะสนใจปากท้องเศรษฐกิจของประชาชน การทำตัวเป็นพรรคประชาชนพม่านั้น พวกเขาควรจะให้โอกาสเข้าไปในสภาไหม เพราะหลายคนที่เลือกเข้าไปนั้นแทบจะไม่เห็นบทบาทอะไรเลย แถมไม่ได้ลงมาใกล้ชิดชาวบ้านแบบนักการเมืองรุ่นเก่าด้วยแล้วควรจะเลือกมาเป็นตัวแทนอีกไหม
แน่นอนว่าฐานการเมืองในเมืองใหญ่หรือชุมนุมเมืองฐานเสียงของพรรคส้มก็อาจจะยังเหนียวแน่น เพราะคนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าการพึ่งพิงนักการเมือง แต่บทบาทของนักการเมืองพรรคส้มในสภาก็ทำให้คนในเมืองไม่น้อยตั้งคำถามว่า พวกเขาได้ทำหน้าที่อะไรที่สะท้อนความเป็นอยู่ของชาวบ้านบ้าง ส.ส.ที่เขาจะได้ยินว่ามีปากเสียงมีบทบาทในสภามีความโดดเด่นของพรรคส้มนั้นมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่รู้เลยว่าส.ส.คนอื่นอีกนับร้อยคนที่ไม่เคยได้ยินเสียงออกมาสื่อสารกับสังคมนั้นเขาทำอะไรกัน
เรารู้กันอยู่แล้วว่า โอกาสเดียวที่พรรคส้มจะได้เข้ามาบริหารประเทศนั้นต้องชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายคือได้เสียงข้างมากแล้วจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งถ้าถามว่า โอกาสนั้นจะมีไหมก็อาจจะพูดได้ว่า เกิดขึ้นได้ยากมากในอนาคตอันใกล้ แล้วถามว่าจะประสบความสำเร็จไหมในอนาคตกันยาวไกล ส่วนตัวผมก็คิดว่า เป็นไปได้ยากเหมือนกัน หากส.ส.ของพรรคส้มไม่ได้ทำตัวเป็นส.ส.ที่ใกล้ชิดมวลชน เข้าถึงชุมนุมต่างๆ ในเขตเลือกตั้งของตัวเอง อาศัยเพียงแต่การทำหน้าที่ในสภา ซึ่งมันอาจจะถูกต้องตามคุณสมบัติและหน้าที่ของส.ส. แต่สำหรับสังคมไทยเขาต้องการส.ส.ที่สามารถเข้าถึงและพึ่งพาได้ หรืออย่างน้อยก็มีมือไม้หูตาที่เป็นทีมงานที่คอยแบ่งรับทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่แทนส.ส. ไม่ใช่ทำตัวเป็นส.ส.โลกลืมแบบพรรคส้ม ถามจริงๆว่าทุกวันนี้มีใครจำชื่อส.ส.พรรคส้มได้สักกี่คน แม้กระทั่งในเขตเลือกตั้งของตัวเองก็ตาม
ดังนั้น แม้ผู้มีอำนาจจะหวังพึ่งพลังของทักษิณในการรับมือกับพรรคส้มที่กำลังจะท้าทายโครงสร้างและอุดมการณ์ของรัฐ อาจจะพากันตระหนกถึงพลานุภาพที่เสื่อมถอยไปของทักษิณ แต่ขณะเดียวกันกระแสของพรรคส้มที่จะเติบโตกลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่กวาดชัยชนะอย่าถล่มทลายในการเลือกตั้งใหญ่อย่างที่หลายคนเคยหวาดกลัวนั้น ผมคิดว่าพลังของพรรคส้มได้ถดถอยลงไปมาก ทั้งเพราะแกนนำของพรรคส้มไม่ได้มีความโดดเด่นเหมือนเก่า และคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นว่า การเมืองแบบอุดมคติของพรรคส้มนั้นยังห่างไกลกับความใกล้ชิดประชาชนที่ต้องการพึ่งพานักการเมืองที่จะนำพาความกินดีอยู่ดีมาสู่ประชาชนมากกว่าจะรื้อโครงสร้างและเปลี่ยนแปลงระบอบและอุดกมารณ์ของรัฐแบบที่พรรคส้มมุ่งมั่นและหมกหมุ่น
การเลือกตั้งอบจ.แม้จะมีใครบอกว่า การตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนนั้น มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งใหญ่ แต่ความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของพรรคส้มแม้จะทุ่มเทกันจนสุดกำลัง ความพยายามที่ขายฝันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศที่เริ่มจากการเมืองท้องถิ่นกลับไม่ได้รับการขานรับจากประชาชน ก็ยิ่งไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคตพรรคส้มจะยึดครองประเทศไทยได้อย่างที่พวกเขาคาดหวัง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan