“ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ ทุกอย่างเกิดจากใจ” พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น อธิบายขยายความได้ว่า การแสดงพฤติกรรมคนไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือด้วยการกระทำ จะเริ่มต้นจากการคิดซึ่งเป็นพฤติกรรมของจิตหรือใจทั้งสิ้น
ส่วนว่าจะเป็นการคิดดีหรือคิดชั่ว ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เข้ามาครอบงำจิตในขณะที่พูดหรือทำ
ดังนั้น ถ้าเราได้ยินได้ฟังใครคนใดคนหนึ่งพูดหรือทำดีก็อนุมานได้ว่าจิตของเขาคนนั้นถูกปรุงแต่งด้วยกุศลธรรมเช่น เมตตา เป็นต้น ในทางกลับกัน ถ้าสิ่งที่เขาทำไม่ดีก็อนุมานได้ว่าจิตของเขาคนนั้นถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรม เช่น โกรธาคือความโกรธ เป็นต้น
เวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย กำลังกังขากับคำพูดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในการปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครเลือกตั้ง นายกอบจ.ของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน ที่มีลักษณะก้าวร้าวและคุกคามความรู้สึกของคนฟัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นชาวพุทธและยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าด้วยวาจาอันเป็นสุภาษิตหรือการพูดอันประกอบด้วยองค์ 5 คือ
1. เป็นความจริง
2. ถูกกาลเทศะ
3. มีประโยชน์
4. ไม่หยาบคาย
5. มีเมตตาเป็นที่ตั้ง
แต่คำพูดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่เข้าข่ายเป็นการพูดด้วยสุภาษิตดังกล่าวข้างต้น ตรงกันข้ามเข้าข่ายเป็นทุพภาษิตมากกว่า เนื่องจากว่ามีทั้งก้าวร้าวและแฝงไว้ด้วยความแค้นอาฆาตเช่น จะส่งเชือกไปให้และเข้าข่ายยกตนข่มท่าน เช่น บอกว่าตอนที่กูรวย มึงยังพึ่งขอตังค์พ่อใช้อยู่เลย เป็นต้น
จากลักษณะการพูดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ข้างต้น อนุมานได้ว่าในขณะที่พูดสภาวะจิตได้ถูกครอบงำอกุศลธรรมคือ ความโกรธและความอาฆาตแค้นฝังใจต่อผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในทางลบ รวมไปถึง คสช.ด้วย โดยลืมไปว่าตนเองเป็นบุคคลสาธารณะและคนที่วิพากษ์ตนเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลบริหารประเทศ
อีกประการหนึ่ง ในขณะนี้คดีต่างๆ ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรคเพื่อไทย คดีป่วยจริงป่วยปลอมที่เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัฑณ์และหมอโรงพยาบาลตำรวจตกเป็นจำเลย และคดีไม่ขออนุญาตศาลในการนำนักโทษออกคุกไปอยู่ที่อื่น
ทุกคดีกำลังงวดเข้ามาและคงจะปรากฏผลในอนาคตอันใกล้นี้ จึงน่าจะเป็นเหตุให้อดีตนายกฯ ทักษิณ เกิดความกังวลต่อผลที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความกดดัน และระบายออกมาทางคำพูดในภาวะที่ขาดสติควบคุมก็เป็นได้