xs
xsm
sm
md
lg

คน ทำร้าย/ฆ่า ช้างป่า ช้างป่า ทำร้าย/ฆ่า คน : วิธีการแก้ปัญหาช้างกระทบกระทั่งกับคน/ชุมชนในป่ารอยต่อห้าจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


แม้ชาติไทยเราจะมีภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อันยาวนานเกี่ยวกับช้าง แต่ประเทศไทยกลับมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างคน/ชุมชน กับช้างป่า ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ข้อมูลค่าสถิติการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่าจากศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวบรวมข้อมูลมา ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ค่าสถิตินี้น่าจะรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง (under report) ไปพอสมควรเนื่องจากคงมีรายที่บาดเจ็บ เสียหาย ที่ไม่ทราบหรือที่อาจจะไม่ได้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์ ซึ่งตัวเลขที่ได้อาจจะต่ำไปกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย

ปี พ.ศ. ทั้งหมดนี้ใช้ปีงบประมาณ (1 ตุลาคม-30 กันยายน) ไม่ตรงกับปีปฏิทิน (1 มกราคม-ธันวาคม) แต่ไม่น่าจะส่งผลอะไรมาก ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า ได้ประมาณการว่าประเทศไทยทั้งประเทศมีประชากรช้างป่า 4,013 – 4,422 ตัว มีการกระจายช้างป่า 16 กลุ่มป่า 94 หน่วยงานพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ 49 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง

ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าได้รับรายงานปัญหาและผลกระทบจากช้างป่า 71 หน่วยงานจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แบ่งเป็น อุทยานแห่งชาติ 35 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 29 แห่ง และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 7 แห่ง

ข้อมูลชี้ชัดให้เห็นว่า คนกับช้างป่านั้นกระทบกระทั่งกันมากจริง ๆ ทั้งคน ทำร้าย/ฆ่า ช้างป่า และ ช้างป่า ทำร้าย/ฆ่า คน อันเป็นปัญหาสังคมมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
หนึ่ง จำนวนครั้งที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มที่สูงขึ้น แม้ในสองปีหลังจะลดลงไปบ้าง เพราะเริ่มมีการจัดการ เช่น การผลักดันช้างป่าที่ออกมาเดินหากินริมถนนธนะรัชต์ที่เขาใหญ่กลับเข้าไปในป่า

แต่ในบางพื้นที่การแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังทำได้ไม่ดีนัก พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งคือป่ารอยต่อห้าจังหวัดในภาคตะวันออกคือ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี หรือเรียกโดยรวมว่ากลุ่มป่าภาคตะวันออก เป็นป่าที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นป่าราบต่ำ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช้างป่าชอบอาศัยมากกว่าป่าทึบและป่าที่เป็นเขาสูงชัน นอกจากนี้ยังล้อมรอบด้วยชุมชน โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกพืชอาหารช้างมากเป็นพิเศษคือไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง แม้มันสำปะหลังดิบจะมีพิษเพราะมีไซยาไนด์ กินไม่ได้ แต่ช้างป่าก็เรียนรู้ที่จะขุดมาแล้วกระทืบให้แตก ตากแดดทิ้งไว้ให้สารไซยาไนด์สลายก่อนแล้วค่อยกลับมากิน ช้างในบริเวณป่าตะวันออกชอบออกมาหากินตามขอบป่าหรือขอบอุทยาน เพราะมีชุมชน โดยเฉพาะครัวที่มีเกลือซึ่งช้างชอบ มีไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลัง นอกจากนี้ช้างป่าในป่าตะวันออกยังตั้งด่านลอยดักขอกินอ้อยที่ขนส่งผ่านทางหลวงหมายเลข 3259 ซึ่งตัดผ่านป่าเขาอ่างฤาไน ที่เมื่อสิบปีก่อนเคยมีรถสิบล้อขนอ้อยคว่ำ ทำให้ช้างป่าเรียนรู้ที่จะกินอ้อยจากรถบรรทุก พื้นที่บริเวณนี้จึงมีช้างออกมาริมถนนและออกมารบกวนชุมชน ประชาชน นอกพื้นที่อนุรักษ์อยู่เป็นประจำ

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
สอง จำนวนครั้งที่ช้างป่าสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงชันมาก จาก ไม่ถึงหนึ่งร้อยครั้งต่อปี มาเป็นเกือบสี่ร้อยครั้งต่อปีภายในระยะเวลาสี่ปี พื้นที่ที่ประสบปัญหานี้มากที่สุดคือพื้นที่กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อกับจังหวัดชัยภูมิ รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และอันดับสามคือ กลุ่มป่าตะวันออก

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
สาม จำนวนครั้งที่ช้างป่าสร้างความเสียหายต่อพืชผลเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอันดับหนึ่ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อันดับสองกลุ่มป่าตะวันออก และอันดับสามกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้จะลดลงบ้างเพียงเล็กน้อยในพ.ศ. 2567 การบุกรุกทำลายไร่นาของเกษตรกรเพื่อมากินพืช เช่น อ้อย (ป่าตะวันออก) และสับปะรด (แถวกุยบุรี) เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่า ทำให้เกิดการทำร้ายช้างด้วยการยิงปืน การกั้นรั้วไฟฟ้า เป็นต้น ปัญหานี้มีเพียงกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่จัดการได้ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ และลดแนวโน้มที่ช้างป่าสร้างความเสียหายต่อพืชผลได้ดีที่สุด เพราะมีการปรับปรุงสภาพป่าแก่งกระจาน ให้มีพืชอาหารสำหรับช้างเพิ่มขึ้น มีแหล่งน้ำเพียงพอ และมีโป่งเกลือให้ช้างป่ากลับเข้าไปหากินในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำได้ค่อนข้างดีมาก

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
สาม จำนวนราษฎรที่บาดเจ็บจากช้างป่าทำร้ายมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จากปี 2555 จนปัจจุบัน (2567) ที่รวมทั้งประเทศมีคนบาดเจ็บจากช้างป่าทำร้ายปีละ 35 ราย ค่าสถิติจำนวนราษฎรที่บาดเจ็บจากช้างป่าทำร้ายนั้นลดลงไปมากในช่วงมหาโรคระบาดโควิดในระหว่างพ.ศ. 2563-2564 เนื่องจากคนไม่ออกจากบ้านจึงไม่ได้ปะทะกระทบกระทั่งกับช้างมากเท่าเดิม แล้วก็กลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม พื้นที่ที่มีราษฎรถูกช้างป่าทำร้ายบาดเจ็บประมาณเกือบสองในสามของสถิติทั้งประเทศคือพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ที่มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างสูงมาก

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
สี่ พื้นที่ป่าที่มีปัญหาคนถูกช้างทำร้ายบาดเจ็บเกือบร้อยละ 76 คือกลุ่มป่าตะวันออก แผนภาพพาเรโตซึ่งเรียงลำดับจำนวนรายราษฎรที่บาดเจ็บจากช้างป่าทำร้ายในช่วง 12 ปีย้อนหลัง (2555-2567) พบว่าพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดคือกลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แต่ก็เพียงประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น ซึ่งต่างกันมากถึงสิบเท่าตัวขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าในบริเวณกลุ่มป่าตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างหนักมากจริง ๆ

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
ห้า จำนวนคนที่ตายจากช้างป่าทำร้าย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพบว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ของคนเสียชีวิตจากช้างป่าทำร้ายเกิดขึ้นในกลุ่มป่าตะวันออก ในพ.ศ. 2567

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
หก ในรอบสิบสองปีย้อนหลัง จำนวนคนที่ถูกช้างทำร้ายเสียชีวิตกว่าร้อยละ 53 เกิดขึ้นในกลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประมาณร้อยละ 12 และถัดมาเป็นกลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าภูเขียว – น้ำหนาว เท่า ๆ กันประมาณร้อยละ 10

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
เจ็ด จำนวนช้างที่ถูกคนทำร้ายจนบาดเจ็บและตาย ในกลุ่มป่าตะวันออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มที่ช้างจะถูกทำร้ายจนตายมากกว่าที่บาดเจ็บ

ที่มา: ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2567)
เราพอจะสรุปปัญหาได้ว่า ช้างป่าทำร้ายและฆ่าคนตาย คนหรือชุมชนเองก็ทำร้ายและฆ่าช้างป่าตายไปมากเช่นกัน มีแนวโน้มจะกระทบกระทั่งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาหนักอยู่ที่พื้นที่กลุ่มป่ารอยต่อหรือกลุ่มป่าภาคตะวันออก

สาเหตุหลักของปัญหาคือ 1. ช้างป่าออกมาหากินนอกป่า เพราะนอกป่ามีน้ำ มีอาหาร มีเกลือที่ช้างชอบ เพราะในป่าอาจจะมีสภาพไม่เหมาะสมให้ช้างอยู่อาศัย 2. ช้างป่าเองก็เสียนิสัยไปแล้วชอบมาอยู่ตามถนน ตั้งด่านลอย รีดไถรถขนอ้อยกิน บุกพังครัวชาวบ้านหาเกลือกิน บุกไร่ชาวบ้านหาอาหารกิน

การกระทบกระทั่งกันรุนแรง จำเป็นต้องแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้น ช้างป่าตัวที่ดุ จะถูกชาวบ้านทำร้ายหรือฆ่า และชาวบ้านก็จะถูกช้างป่าทำร้ายหรือฆ่าด้วย เป็นปัญหาหนัก ต้องลงมือรีบแก้ไข เรามาลองพิจารณาวิธีการกันดีกว่าครับ

วิธีที่หนึ่ง ฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้าง อันเป็นวิธีการที่กรมอุทยานแห่งชาติเองดำริจะให้ใช้

ข้อดี ง่าย ประหยัด รวดเร็ว
ข้อเสีย ไม่ได้ผลอะไรเลย กว่าจะควบคุมประชากรช้างได้คือมากกว่า 15 ปีขึ้นไปจึงเห็นผล ช้างกับคนยังต้องกระทบกระทั่งทำร้ายกันเหมือนเดิม

วิธีที่สอง ทำให้ป่าเป็นสัปปายะสำหรับช้าง ที่กลุ่มป่าแก่งกระจานพบปัญหานี้มาก่อน และแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการดังนี้

2.1 ถางต้นสีเสียดที่ปลูกป่า แต่มีหนามเยอะ และช้างไม่ชอบ ออกไปบ้าง เลิกปลูก

2.2 เผาป่าบริเวณที่มี alien species เช่นสาบเสือ มากๆ ที่ช้างไม่ชอบออกไป โดยควบคุมการเผาให้ดี จะทำให้เกิดทุ่งหญ้าระบัด ที่สัตว์เคี้ยวเอื้องชอบมาก

2.3 ขุดบ่อกลางป่าลึก หรือทำฝายเพิ่มขึ้น ให้ช้างมีแหล่งน้ำมากขึ้น จะช่วยให้ช้างกลับไปอยู่ในป่าลึกได้ เพราะมีน้ำ

2.4 ทำโป่ง ในป่าลึก ช้างชอบเกลือ จะได้ไม่มาบุกครัวชาวบ้าน กลับเข้าไปในป่าลึก หาเกลือกิน อาจจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทย บินลงไปทำโป่ง กองทัพไทยน่าจะช่วยได้

2.5 ตัดถางเถาวัลย์ที่คลุมป่ารก จนป่าล้ม แบบที่แก่งกระจาน ช้างไม่ชอบป่าทึบ แต่ชอบป่าโปร่ง ช้างไม่ได้กินเถาวัลย์ทุกชนิดเป็นอาหาร บางชนิดที่ระบาดลุกลาม ช้างก็กินไม่ไหว

ข้อดี ยั่งยืน ถาวร แก้ปัญหา carrying capacity ของป่า ให้ช้างกลับเข้าป่าอย่างมีความสุข มีน้ำ มีอาหาร มีเกลือแร่ อยู่สบาย ไม่เครียด เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ
ข้อเสีย ยาก ใช้แรงเยอะ ใช้เงินเยอะ ใช้เวลาเยอะ ฉาบฉวยไม่ได้

วิธีที่สาม เพิ่มพื้นที่ป่า รอบป่ารอยต่อ ไปสืบเถิด ที่บุกรุกเข้าไปในป่านั้นมีเพียบ ดีไม่ดี เป็นของนักการเมือง นายทุน ข้าราชการเต็มไปหมด

ข้อดี ยั่งยืน ทำให้ช้างมีป่าอยู่เพิ่มขึ้น รักษาสมบัติของชาติ ทวงคืนสมบัติของชาติ เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ
ข้อเสีย ทำได้ยาก เกิดแรงต้านจากผู้เสียผลประโยชน์ คดีจะยาวเป็นหางว่าว รัฐอาจจะต้องเสียเงินชดใช้ให้มาก เพราะผู้ซื้อต่อๆ กัน อาจจะไม่รู้เรื่องจริง ๆ ไม่ได้มีเจตนาบุกรุก ก็ต้องไปไล่เบี้ยฟ้องกันเอาหรือไม่?

วิธีที่สี่ ทำแบบสหรัฐอเมริกา พอมีกวางป่าหรือหมีป่าเยอะเกิน ประชากรล้น ออก ticket ให้ล่า เก็บค่าธรรมเนียมล่าสัตว์ เปิด hunting season เพื่อลดประชากร

ข้อดี ลดประชากรช้างได้อย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาได้ทันที ช้างป่าตัวที่ดุร้ายจะถูกฆ่าทันที ไม่มีการกระทบกระทั่งกันอีกต่อไปในทันที เป็นการแก้ปัญหาที่เด็ดขาดบนการสังเวยชีวิตช้าง
ข้อเสีย โหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรมสำหรับสัตว์ประจำชาติไทยอย่างช้าง ทั้งยังเป็น endangered species วิธีนี้ NGO จะโวยไม่รู้จบ บาปกรรมด้วยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนตัวไม่สนับสนุนอย่างยิ่ง ขอคัดค้านเต็มที่

วิธีที่ห้า ใช้วิธีโบราณคือคล้องช้างป่า แต่โบราณคล้องช้างป่ามาฝึกเป็นช้างบ้าน ช้างศึกนั้นคือช้างพลายตัวที่ดุที่สุด เอามาฝึกได้ เลือกช้างงาตัวที่ฆ่าคนตายมาเยอะ ๆ ก่อน แล้วบรรจุเป็นช้างข้าราชการ มีเงินเดือน มีควาญช้าง แต่โบราณมีกรมช้างหรือกรมคชบาล หน้าที่ก็คล้องช้างป่ามารับราชการ ปกป้องรักษาแผ่นดิน พระเพทราชา คือพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงเคยบังคับบัญชากรมช้างมาแล้ว ช้างที่คล้องไป ฝึกจนรู้ความ ทำหน้าที่ในราชการได้หลายอย่าง เช่น ลาดตระเวนพิทักษ์ป่าหรืออุทยาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือเจ้าหน้าที่อุทยาน บรรทุกขยะออกมาจากป่า หรืองานปรับปรุงสภาพป่าที่ต้องใช้แรงงาน หรือแม้กระทั่งเป็นพ่อพันธ์ุ เพื่อแก้ปัญหาช้างบ้านเลือดชิด inbreeding ก็ได้ เพราะช้างพลายตัวที่ดุคือพ่อพันธุ์ ชั้นดี ไทยเราไม่ได้คล้องช้างป่ามาเป็นร้อยปี ทำให้ช้างเลือดชิด ช่วยแก้ปัญหาช้างบ้านเลือดชิดได้ด้วย

ถ้าไม่คล้องช้างงาตัวที่ดุหรือฆ่าคนตายมารับราชการ สุดท้ายชาวบ้านก็จะฆ่าช้างตัวนี้ตายอยู่ดี คล้องมาฝึกให้รับราชการจะดีกว่า เป็นการช่วยชีวิต และเกิดประโยชน์แก่แผ่นดิน NGO ดัดจริตจะว่าอะไรก็ไม่ต้องไปสนใจ

ข้อดี แก้ปัญหาการปะทะระหว่างคนกับช้างได้ทันที เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ป้องกันช้างตัวที่ฆ่าคนตายถูกฆ่าตายโดยชาวบ้าน ช่วยชีวิตช้างตัวที่ดุร้ายไว้ได้ทันที
ข้อเสีย NGO โลกสวยโวยวาย อาจจะเกิดการสวมรอยคล้องช้างป่ามากเกินไปได้ ต้องควบคุมให้ดี
หาบุคลากรที่ฝึกช้างป่า หรือควาญช้างเก่ง ๆ แบบโบราณได้ยากเต็มที

วิธีที่หก คล้องช้างป่า จำนวนมากเพื่อลดประชากรในบางพื้นที่ แล้วขนย้ายเข้าคอกก่อน จนพอเชื่องที่จะขนใส่รถบรรทุกไปย้ายไปป่าแห่งใหม่ที่เหมาะสมและยังไม่มีช้างอยู่

ข้อดี แก้ปัญหาการปะทะได้ทันที NGO ไม่โวยมาก อาจจะยากตอนคล้องช้างป่า แต่น่าจะพอทำได้
ข้อเสีย จะไปหาป่าจากไหน แล้วจะไปสร้างปัญหาในชุมชนรอบป่าที่จะขนช้างไปอยู่หรือไม่ ก็ต้องคิดให้รอบคอบ

วิธีที่เจ็ด คล้องช้างป่า มาขังไว้ในคอกเฉย ๆ ตามแนวคิดแบบปางช้างโลกสวย โดยลงทุนทำคอกคอนกรีตตอกเสาเข็ม แล้วขังไว้รอบ ๆ ป่ารอยต่อ เลี้ยงไปแบบ no hook-no chain-no riding ไปจนกว่าช้างป่าจะสิ้นอายุขัย

ข้อดี ถูกจริต NGO โลกสวย ใช้พื้นที่ไม่มาก หาพื้นที่ไม่ยาก แก้ปัญหาการปะทะของคนกับช้างได้ทันที
ข้อเสีย ประชาชนคนรักช้างอาจจะไม่ชอบ เพราะทรมานสัตว์ป่ามาก ถูกขังเดี่ยวไปจนตาย เปลืองเงินมาก และต้องเลี้ยงไปจนหมดอายุขัย 60-70 ปี ขังเดี่ยวช้างไปจนตายนี่ไร้มนุษยธรรมมาก เพราะช้างเป็นสัตว์สังคม ชอบเดินเที่ยวป่าหาของกิน ผิดธรรมชาติของช้าง บาปกรรมเป็นการทรมานสัตว์รูปแบบโลกสวยของพวกดัดจริตประดิษฐ์มนุษยธรรม

ป่ารอยต่อห้าจังหวัดหรือกลุ่มป่าภาคตะวันออก เป็นพื้นที่พิเศษ เพราะเป็นป่าราบต่ำ ที่ช้างป่าและสัตว์ป่าชอบอาศัยมาก เป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับทราบปัญหาเป็นอย่างดี อยู่ในพระเนตรพระกรรณมาโดยตลอด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้นรับรองพระราชเสาวนีย์มาแก้ปัญหาคนกับช้างกระทบกระทั่งกัน โดยมีการจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อห้าจังหวัด

แม้ในปัจจุบันจะทรงพระชราภาพและพระสุขภาพไม่เอื้ออำนวยแล้วในการทรงงาน ก็มีพระราชนัดดาคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ใส่พระทัยปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระราชอัยยิกาเป็นอย่างยิ่งโดยทรงตั้งมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

น่าใจหายยิ่งที่สมเด็จกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรฯ ก็ทรงพระประชวรด้วยอีกพระองค์หนึ่ง


ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคน รวมถึงข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักการเมืองเช่น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ โปรดใช้สติปัญญาใคร่ครวญให้รอบคอบในการแก้ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ป่าตะวันออกแห่งนี้ให้สำเร็จอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาที่สาเหตุ จะเป็นการทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลถวายแด่แม่ของแผ่นดินและสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวัชรราชธิดาผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน

ขอคนไทยทุกคนช่วยกันตั้งจิตอธิษฐานให้ทั้งสองพระองค์ทรงกลับมามีพระสุขภาพดีดังเดิมโดยรวดเร็วด้วยเทอญ




กำลังโหลดความคิดเห็น