xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นคดีตามข้อกฎหมาย คดีการเสียชีวิตของ “น้องแตงโม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 22 มกราคม 2568  นายยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตน้องแตงโมที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยและมีเงื่อนงำ โดยปรากฏข้อความข้อพิจารณา/สั่งการ ความว่า

 “กรณีผู้ร้องเรียน (นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์) ขอให้สืบสวนสอบสวนและขอให้รับเป็นคดีพิเศษ โดยผู้ร้องเห็นว่ากระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชระวีรพงษ์ มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัยมีเหตุให้เชื่อได้ว่า อาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลงหรือไม่

 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า กรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมอบหมายพันตำรวจตรีณฐพล ดิษธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการและแจ้งผู้ร้องทราบต่อไป”
ต่อมา นายสมเกียรติ เพชรประดับ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือถึงพันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ความว่า

“ด้วยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ท้ายหนังสือกองบริหารคดีพิเศษ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0816/0249 ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 โดยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมอบหมายพันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ (คำร้องที่ 359/2568)

กองบริหารคดีพิเศษ จึงขอแจ้งข้อสั่งการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้ท่านพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รายละเอียดตามเอกสารดังแนบมาพร้อมนี้ (เอกสารคำร้อง 55 แผ่น) พร้อมสำเนาบันทึกความเห็นและข้อสั่งการที่แนบมาพร้อมนี้

เป็นผลต่อมาทำให้วันที่ 23 มกราคม 2568 พันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ จึงได้ทำหนังสือแจ้ง ”รับเรื่อง“ ถึงนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ความตอนท้ายตอนหนึ่งว่า

  “โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอเรื่องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน ทั้งนี้หากผลดำเนินการเป็นประการใด จักได้แจ้งให้ท่านทราบต่อไป”

ซึ่งในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 13.30 น.กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการประชุมเปิดการสืบสวนคดีดังกล่าวโดยทันที

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตอบสนองรับการเป็นเจ้าภาพที่จะสืบสวนคดีนี้ และต้องแสดงความชื่นชมต่อพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษมา ณ โอกาสนี้
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการแสวงหาความจริงที่มีอำนาจในการสืบสวนในการเรียกพยานหลักฐานโดยภาครัฐแล้ว แสดงให้เห็นว่าหนังสือข้อร้องเรียนนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ รวมถึงการจำลองสถานการณ์การทดสอบการปัสสาวะและการตกเรือนั้น ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่เรื่องบันเทิงการละครดังที่มีคนบางกลุ่มพยายามด้อยค่า

ทั้งนี้ สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจในคดีหลักมี 2 ประเด็น

 ประเด็นแรกคือ เปลี่ยนข้อหาทันหรือไม่

 และประเด็นที่สอง ถ้าเปลี่ยนข้อหาไม่ได้จะสามารถรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่
สำหรับประเด็นคือการ “เปลี่ยนข้อหา” นั้น สามารถพิจารณากฎหมายที่อาจเกี่ยวข้องคดีนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163

 “มาตรา 163 เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้


เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก้โจทก์“

สาระสำคัญของการเปลี่ยนข้อหานั้นจึงมีเงื่อนไขสำคัญคือ
 เงื่อนไขแรก เปลี่ยนได้เฉพาะโจทก์เท่านั้น โดยโจทก์คดีหลักคือ “อัยการ” และโจทก์ร่วมคือ “นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน” (แม่ของแตงโม)

 เงื่อนไขที่สอง ต้องเป็นคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 เงื่อนไขที่สาม ศาลเห็นสมควรอนุญาต

สำหรับประเด็นที่หนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับ  “อัยการ” และ “แม่ของแตงโม”  เท่านั้น โดยในส่วนของอัยการนั้น นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรวมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอให้เปลี่ยนข้อหาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

สำหรับประเด็นที่สองนั้น ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวได้สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นไปหมดแล้ว ในขณะที่การสืบพยานฝ่ายจำเลยเหลืออีกแค่ 2 ปาก ซึ่งจะมีการสืบพยานนัดสุดท้ายวันที่ 29 มกราคม 2568

ดังนั้นสำหรับประเด็นที่สาม ที่ศาลจะเห็นสมควรอนุญาตด้วยนั้น  “อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย” ยกเว้นอัยการมีความเห็นเสนอต่อศาลให้จำหน่ายคดีออกไปก่อน เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลอาญาในอีกคดีที่ตำรวจ 21 คนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์แล้วเห็นว่าการสืบสวนสอบสวนมีพิรุธและเงื่อนงำ ศาลอาญาจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่านายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

ซึ่งแม้คดีหลักข้อหาการทำอันประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นคนละข้อหากับคดีหมิ่นประมาท แต่เนื้อหาสาระในข้อเท็จจริงเป็น  “ฐานเรื่องเดียวกัน” จึงย่อมเป็นสาระสำคัญว่าการสืบสวนสอบสวนมีพิรุธและเงื่อนงำจริงหรือไม่ โดยเฉพาะถ้ามีฐานของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน จะต้องมีมีข้อเท็จจริงใดข้อเท็จจริงหนึ่งเป็นเท็จ จริงหรือไม่?


นั่นจึงต้องมีการพิจารณาก่อนที่จะบอกได้ว่าจะสามารถรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ ก็ต้องอาศัยพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ความว่า
“มาตรา 5 คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า

 (1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นพยานเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

(2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ

(3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำผิด”

ดังนั้นเงื่อนไขที่จะต้องเข้าสู่การ “รื้อฟื้นคดีอาญา” ได้นั้นจะต้องมี 2 เงื่อนไขสำคัญ

เงื่อนไขที่ 1 จะต้องเป็นคดีอันที่สุดแล้วเท่านั้น

เงื่อนไขที่ 2 จะต้องมีพยานบุคคล หรือพยานหลักฐาน หรือพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง

ซึ่งคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว คือ คดีของนายปอ และโรเบิร์ต ซึ่งศาลได้ตัดสินพิพากษาให้รอลงอาญาในคดีประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนคดีของนายแซนและพวกนั้นยังไม่ถึงที่สุด หากไม่สามารถแก้ไขข้อหาได้ ก็ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน จึงจะรื้อฟื้นได้
และการจะพิสูจน์ในการรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่นั้น ลำพังภาคประชาชนไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกพยานและหลักฐานต่างๆได้ จึงเป็นที่มาของการที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ นางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชระวีรพงษ์ มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัยมีเหตุให้เชื่อได้ว่า อาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลงหรือไม่

โดยการตั้งคณะทำงานสืบสวนครั้งนี้ได้ระบุว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น บัญญัติเอาไว้ความว่า

“มาตรา 23/1 วรรคสอง ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควรเสนอให้ กคพ.(คณะกรรมการคดีพิเศษ) มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) อธิบดีจะสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้น เพื่อนำเสนอ กคพ. ก็ได้  ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนคดีนั้นตามระเบียบที่ กคพ.กำหนด”

ดังนั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงมีอำนาจสืบสวนคดีโดยมีกฎหมายรองรับ มีอำนาจเรียกพยานและหลักฐานได้เพื่อประโยชน์ในการสืบคดี

ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมจะทำให้ความจริงที่ถูกสงสัยอยู่ ได้รับคำชี้แจงและความกระจ่างชัด ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายแน่นอน

อย่างไรก็ตามเมื่อการใช้มาตรา 23/1 วรรคสองเพื่อให้เกิดกระบวนการสืบสวนตามกฎหมายมาตรานี้ จะต้องเป็นไปตามคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น บัญญัติว่า

“มาตรา 21 คดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่คดีความผิดทางอาญาดังต่อไปนี้

(2) คดีความผิดทางอาญาอื่นนอกจาก (1) ตามที่ กคพ.มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”

และ กคพ. 2 ใน 3 นั้น ก็คือจะต้องมีเสียงอย่างน้อย 14 เสียงขึ้นไปจากจำนวน 22 เสียงของ กคพ. ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น บัญญัติว่า

“มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคดีพิเศษ เรียกโดยย่อว่า ”กคพ.“ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 9 คน และในจำนวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละ 1 คนเป็นกรรมการ”

ถ้า กคพ. เสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ก็เป็นอันจบไป เจ้าหน้าที่รัฐและคนบนเรือหรือคนนอกเรือก็พ้นผิดตามกฎหมายฉบับนี้

แต่ถ้าสมมุติว่า กคพ.มีเสียงเกิน 2 ใน 3 แล้วปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐ คนบนเรือ หรือคนนอกเรือ ร่วมกันกระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในกระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ นางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชระวีรพงษ์บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลงแล้ว ในขั้นตอนต่อไปก็น่าจะนำไปสู่ 2 แนวทาง คือ

 แนวทางที่หนึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นำผู้กระทำความผิดและความเกี่ยวข้องทั้งหมดมาลงโทษ

 แนวทางที่สอง ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อรื้อฟื้นคดีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526


ส่วนผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรก็ถือว่าภาคประชาชนก็ได้ทำอย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้วตามขอบเขตของกฎหมายที่จะกระทำได้

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน เชื่อว่าคดีนี้นอกจากกฎหมายแล้ว ยังมีกฎของสังคม และกฎแห่งกรรม ที่จะต้องทำงานต่อไป ส่วนผลลัพธ์อย่างไรนั้น จะต้องติดตามกันต่อไป

เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น