xs
xsm
sm
md
lg

ที่ดินอัลไพน์ได้มาโดยสุจริตหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์มีประเด็นน่าสนใจภายหลังนายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไป

โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้องพร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาลหรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้

กรมที่ดินได้เคยประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูลณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณและทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาทแบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาทและทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาทปัจจุบันเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์มีจำนวน 533 รายและผู้รับจำนองอีก 30 ราย ขณะที่นางพจมานภรรยาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อที่ดินมาปี 2540 ในราคาประมาณ 500 ล้านบาทต่อจากนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทองขณะนั้นที่ซื้อมา 130 ล้านบาทจากวัดธรรมิการามวรวิหารอ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อ 20 พ.ย. 2512

ขณะที่ทักษิณเพิ่งจะให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ เอาอย่างไรก็เอาจะได้จบๆ เสียที คาราคาซังน่ารำคาญ และหากมีการถอนสิทธิจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะหลักการคือถ้าเป็นของกรมที่ดินก็ต้องชดเชยความเสียหายที่รับโอนอย่างไม่ถูกต้อง หรือหากเป็นของวัดต้องถามว่าวัดจะชดเชยค่าเสียหายหรือให้เช่าต่อ

แน่นอนว่า ผู้ซื้อที่ดินในโครงการอัลไพน์ของทักษิณ ที่กรมที่ดินออกโฉนดให้ย่อมเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินที่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ แต่ต่อมาถูกเพิกถอนสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองความเสียหายส่วนนี้ย่อมจะต้องคิดจากฐานของราคาที่ดินปัจจุบัน

คำถามว่าแล้วที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ของทักษิณเข้าข่ายได้มาโดยสุจริตไหม

ต้องลำดับความก่อนว่า ที่ธรณีสงฆ์ไม่อาจนำมาซื้อขายกันได้ถ้าไปทำนิติกรรมซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะเหมือนไม่เคยมีการซื้อขายกันมาเลยแต่ต้น กรณีนี้ก็ต้องโอนที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้ามรดกมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนมรดกตามพินัยกรรมให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร

ส่วนเมื่อที่ดินกลับไปเป็นของวัดแล้วจะนำไปให้ผู้ครอบครองสิทธิ์ในปัจจุบันเช่าก็เป็นเรื่องของวัดที่จะว่ากันต่อไป โดยวัดต้องคืนเงินจำนวน 130 ล้านที่รับมาให้ผู้ซื้อคือนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง จากนั้นนายชูชีพและนางอุไรวรรณ ต้องคืนเงิน 500 ล้านให้พจมานที่ซื้อต่อมาในราคา 500 ล้านบาท ก็คืนกันเป็นทอดตามจำนวนเงินที่รับมาไม่ใช่ราคาที่ดินในปัจจุบัน

จากนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินสามารถใช้สิทธิ์ยื่นคำฟ้องพร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาลหรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

โดยผู้ที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ก็คือบรรดาลูกบ้านที่เข้าซื้อที่ดินในสนามกอล์ฟอัลไพน์ต่อจากบริษัทอัลไพน์คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 533 รายและผู้รับจำนองอีก 30 รายที่เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินที่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้น กรมที่ดินที่ออกโฉนดให้โดยไม่ชอบจะต้องรับผิดชอบชดใช้ให้เจ้าของที่ดินที่ซื้อบ้านในโครงการดังกล่าวในราคาปัจจุบัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า“ในการใช้สิทธิ์แห่งตนก็ดีในการชำระหนี้ก็ดีบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต”

ที่นี้มาดูว่าบริษัทอัลไพน์ของทักษิณนั้น ได้ที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่?

ซึ่งต้องย้อนไปดูคำพิพากษาคดีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ว่า ทักษิณรู้เห็นเป็นใจกับนายยงยุทธตั้งแต่ต้นจนได้สิทธิ์ถือครองที่ดินผืนดังกล่าวหรือไม่ ก่อนอื่นต้องบอกนะครับว่า ในปัจจุบันที่ดินผืนดังกล่าวและบริษัทอัลไพน์ในปัจจุบันนั้น ไม่มีชื่อของทักษิณ แต่ถือโดยครอบครัวของเขา แต่ถือว่า ทักษิณเป็นเจ้าของโดยพฤตินัยตามที่เขาเป็นผู้อ้างเอง

คดีที่นายยงยุทธเป็นจำเลยนั้นศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ว่าช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทอัลไพน์ต่อจากนายเสนาะพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยและไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ แล้วจึงน่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทนหวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ต่อไปว่า ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่าภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยและหลังเกษียณราชการได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ด้วย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์และพ.ต.ท.ทักษิณอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นชัดเจนว่า ทักษิณและนายยงยุทธนั้นมีส่วนรับรู้ได้เสียและเอื้อประโยชน์ต่อกันเพื่อให้ได้ถือครองที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนั้น ไม่อาจจะนับได้ว่า การเข้าถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวของบริษัทอัลไพน์นั้นเป็นการถือครองโดยสุจริต ดังนั้น หากกรมที่ดินจะจ่ายชดเชยกรณีสนามกอล์ฟให้ทักษิณก็ต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่าจะชอบไหม

และหากมีการฟ้องร้องต่อกรมที่ดินต่อศาลเพื่อให้ชดเชยตามมูลค่าที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งรวมทั้งโครงการบ้านและสนามกอล์ฟด้วย 7.7 พันล้านบาทนั้น เชื่อว่า ศาลจะต้องหยิบคดีของนายยงยุทธมาพิจารณาว่า การได้มาถึงที่ดินที่เป็นที่ธรณีสงฆ์แล้วนายยงยุทธใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้มีการไม่เพิกถอนโฉนดนั้น ทักษิณมีส่วนรับรู้ต่อการกระทำของนายยงยุทธหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วว่า นายยงยุทธได้รับการปูนบำเหน็จจากทักษิณให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จนเป็นที่มาที่ศาลชี้ว่า นายยงยุทธปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์

จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ทักษิณหรือบริษัทอัลไพน์ไม่ได้ที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต และรับรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่อาจนำมาซื้อขายกันได้ และรู้ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นแม้ว่าการที่อธิบดีกรมที่ดินให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินข้างต้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเกิดขึ้นภายหลังที่นางพจมานซื้อต่อจากนายชูชีพและนางอุไรวรรณก็ตาม

ดังนั้น กรณีอัลไพน์มีแต่ชาวบ้านที่เข้าไปซื้อที่ดินในโครงการโดยสุจริตเท่านั้นที่ควรจะได้รับค่าชดเชยไป แต่กรณีบริษัทอัลไพน์ของทักษิณนั้นศาลอุทธรณ์ชี้ชัดว่านายยงยุทธปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์ ดังนั้น จึงอาจจะไม่ใช่การได้มาโดยสุจริต
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น