xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน ปาหัง กวนตัน และเอนเดาในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

บทนำ
รัฐปาหังปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย คำว่าปาหัง (ប៉ាហាំង) ในภาษาเขมรแปลว่าดีบุก [Guy 2014: 29] และใกล้เคียงกับยะวี ( ڤهڠ‎ ) [Rajani 1987: 87] เพราะมีเหมืองดีบุกโบราณอยู่ที่สุไหง เล็มบิงที่อาจจะอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมรหรือขายดีบุกให้เจินละอารยธรรมเขมร วิลเลี่ยมส์ ลินเนฮันสันนิษฐานว่าปาหังมาจากภาษาเขมรเช่นเดียวกับเปรักที่มีดีบุกมาก [Linehan 1973] แต่มีหลายคนสันนิษฐานว่าคำว่าปาหังอาจมาจากแม่น้ำมาหังที่ชาวจาคุนสเรียกมาหังคือต้นกะลอหรือพลับพลาซึ่งเป็นไม้พุ่มที่มีอยู่มากบริเวณแม่น้ำ [Jacq-Hergoualc'h 2002: 101-102] ชาวมลายูยุคแรกอาศัยอยู่ที่สุไหงเบบาร์ที่ติดต่อกับทริโตมลายูอาจได้ชื่อนี้มาอยู่ในความทรงจำ แต่ทฤษฎีเหล่านี้ก็อธิบายที่มาไม่ได้ชัดเจน เปกันซึ่งเป็นที่ประทับของสุลต่านเป็นเมืองอยู่ปากแม่น้ำปาหัง ส่วนกวนตันซึ่งในอดีตเป็นเมืองเล็กๆอยู่ทางเหนือของปากแม่น้ำปาหังปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของรัฐปาหัง ส่วนเอนเดา (Endau) เป็นเมืองเล็กๆในเขตเมอร์ซิง ในรัฐยะโฮร์ มาเลเซียอยู่ด้านฝั่งทะเลตะวันออกของรัฐยะโฮร์อยู่ติดกับรัฐปาหังถูกบันทึกเป็นเอี้ยน-โถ่ว (晏頭) เป็นครั้งแรกในต้าเต๋อหนานไห่จื้อและอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเอนเดาทางรัฐยะโฮร์ตะวันออกโดยขับรถจากยะโฮร์ บารูไป 3 ชั่วโมง ซึ่งเมืองนี้ต่อมากลายเป็นเมืองบริวารของปาหัง ปาหังเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในบางรัชสมัยช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้นแต่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์

หลักฐานทางโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำปาหัง
ประชาชนของปาหังมีอาชีพทำเหมืองทอง ดีบุกและเหล็ก และรับเอาการปลูกข้าวจากเกาะชวา มีร่องรอยของการทำชลประทาน การทำเหมือง ซากอิฐของโบราณสถาน เครื่องถ้วยชามสังคโลก และอาจมีเตาเครื่องปั้นดินเผาที่กัวลา เทมเบอลิง สุไหงเมอร์ชอง สุไหงปาหัง และสุไหงเจอไลซึ่งมีร่องรอยรอบทะเลสาบจีนิจนถึงต้นน้ำของสุไหงปอมปิน เหมืองเก่าที่เซลินซิง เหมืองทองที่เทรซางและซองโปเรทางที่ไปสุไหงเบบาร์ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานที่เจอราม กวย (กอร์) และจอง เบอร์ลาโบห์ บนสุไหงเทมเบอลิงทีลูบอค เปลัง ลูบอก ปากู ที่ทะเลสาบจีนี่ ที่ลังการ์ ที่เป็งกาลัน ดูเรียนในอุลุเบฮาร์ ที่ปูราและที่อื่นๆ ที่อื่นๆก็มีจีนี่ ปาริต เซียม ตัมบิซา ฌซียม ลุบัง เซียม (ลุมบอง เซียม) ปาริต เซียมและสุไหง เลกอร์ (ลิกอร์) ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำเตคัม ในบริเวณโกตา เกลังงี [Linehan 1973]

หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่ยุคหินเก่าที่กูนุง เซนยุม มีการพบซากของอารยธรรมยุคหินกลางที่ใช้เครื่องมือยุคหินเก่า ที่สุไหงเล็มบัง กวนตันมีการค้นพบวัตถุโบราณยุคหินเก่าที่บิ่นและไม่ได้ขัดอายุประมาณ 6 พันปี [Noor 2011: 17] ร่องรอยย้อนไปถึงวัฒนธรรมฮัวบินเนียนแถบฮัวบินห์ในเวียดนามในถ้ำหินหลายแห่ง [Noor 2011: 36] วัตถุโบราณสมัยหินใหม่ตอนปลายก็มีเป็นจำนวนมากเช่น เครื่องมือขัด ห่วงผูกจาน ตุ้มหูหิน สร้อยข้อมือหิน ถุงถักใส่แบบเครื่องทุบเปลือกไม้แบบลายไขว้ [Noor 2011: 17] ประมาณพุทธศตวรรษที่ 2 มีการพัฒนาการทำเครื่องสำริดจนทำให้เกิดการแพร่หลายของวัฒนธรรมดองซอนโดยเฉพาะกลองสำริด [Rajani 1987: 65] อารยธรรมเหล็กยุคต้นที่ปาหังเริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งคาบเกี่ยวกับอารยธรรมหินใหม่ตอนปลายในยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัตถุโบราณในบริเวณนี้จะพบตามริมแม่น้ำและพบมากในหุบเขาเท็มเบลิงซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญไปทางเหนือ การทำเหมืองทองคำยุคโบราณที่ปาหังก็น่าจะย้อนไปถึงยุคเหล็กตอนต้นเลยทีเดียว [Noor 2011: 36] ปาหังเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในแหลมมลายูมีแร่ดีบุกและทองคำที่อุลุ ปาหังอยู่ต้นน้ำปาหัง [Linehan 1973] แหล่งทองคำแม้ว่าจะเล็กแต่ก็เป็นขุมทรัพย์ชั้นดีสำหรับนักผจญภัยทั้งหลาย มีบ่อเหมืองโบราณเป็นหล่มขึ้นมาในปาหังมีความหนาแน่นเป็นบริเวณกลายกิโลเมตร แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่กล่าวว่าขุนนางทั้งหลายจะผลิตเงนตราได้อย่างไร คนที่ใช้ทองคำเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนอาจจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจากนี้การเปรียบเทียบกับบริษัทอินเดียตะวันออกของชาวยุโรปทำให้เห็นภาพว่าพ่อค้ากลายเป็นนักผจญภัยได้อย่างไร [Mabbet 1977] กลุ่มที่ 3 อยู่บริเวณต้นน้ำปาหังที่หุบเขาเทมเบลิงที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาเป็นแหล่งผลิตทองคำที่ในอดีตผลิตทองคำมากที่สุดในแหลมมลายูซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่ายุคโลหะในแหลมมลายูมีเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการทำเหมืองแร่ในภูมิภาคและค้าขายทางทะเลกับศูนย์กลางการค้าอื่นๆในแผ่นดินใหญ่ [Ray 1989]

การวิเคราะห์ข้อมูลทางโบราณคดีที่มีอยู๋ล่าสุดชี้ให้เห็นพัฒนาการของเครือข่ายการค้าทางทะเลระหว่างเมืองในแหลมมลายูกับอนุทวีปอินเดียตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 เครือข่ายการค้านี้ได้ขยายตัวไปทั่วทุกเส้นทางเดินเรือในอ่าวเบงกอล มีตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ได้แก่ ลูกปัดคาเนเลี่ยน ลูกปัดแก้ว ชามสำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกมาก การตีเส้นเครือข่ายการค้านี้สำคัญก่อนที่จะถามถึงการจัดช่องทางการค้าขายซึ่งเป็นที่ๆมีการเผยแผ่ศาสนา [Ray 1989] โบราณวัตถุจากอารยธรรมยุคหินกลางที่ใช้เครื่องมือในยุคหินเก่าพบได้ที่กุนุง เซนยุม วัตถุโบราณยุคหินเก่าที่ถูกตัดและไม่มีการขัดถูกค้นพบที่สุไหงเทมเบลิง การอพยพครั้งแรกสุดเห็นได้จากซากโบราณสถานของอารยธรรมปาปัวเมลาเนซอยด์ (เมลาเนเซียน?) ประมาณ 6000 ปีมาแล้ว มีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยหินใหม่เป็นจำนวนมาก เช่นเครื่องมือขัดในเกาะสุมาตรา ชวาและบาหลี ห่วงผูกจาน ตุ้มหูหิน สร้อยข้อมือหิน ถุงถักใส่แบบเครื่องทุบเปลือกไม้แบบลายไขว้อายุประมาณ 1000 ปี ขวานรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบจะงอยปากแหลมจากจีนผ่านมาทางเวียดนามจนมาถึงปาหัง อย่างไรก้ตามมีโบราณวัตถุสำริดน้อย และชิ้นส่วนของถ้วยชามที่สุไหง เทมเบลิงและที่เทรซาง เทมเบลิงไม่ใช่เมืองดินแดงตามที่ลินเนฮานสันนิษฐาน กลองสำริดในพุทธศตวรรษที่ 7 โบราณวัตถุยุคเหล็กตอนต้น ได้แก่หัวหอก เครื่องมือเหมืองและอื่นๆ ถูกพบมากที่เทมเบลิงที่ว่ากันว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรหลัก มีการพบเหมืองทองคำโบราณที่เทรซางตรงแม่น้ำเทมเบลิง และเซลินซิงที่แม่น้ำเจไล ชาวบ้านคุ้นเคยกับการทำเหมืองทองคำ ดีบุกและเหล็ก [Linehan 1973]

เอกสารอ้างอิง
Guy, J., & et al. (2014). Lost Kingdoms: Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia. Metropolitan Museum of Art.

Jacq-Hergoualc'h, M. (2002). The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. (V. Hobson, Trans.) Leiden: E.J.Brill.

Linehan, W. (1973). History of Pahang. MBRAS.

Mabbett, I. W. (1977). The ‘Indianization’ of Southeast Asia: Reflections on the Prehistoric Sources. Journal of Southeast Asian Studies, 8(1), 1–14.

Mom Chao Chand Chirayu Rajani. (1987). Towards a history of Laem Thong and Sri Vijaya. Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.

Noor, F. A. (2011). From Inderapura to Darul Makmur, A Deconstructive History of Pahang. Silverfish Books.

Ray, H. P. (1989). Early Maritime Contacts between South and Southeast Asia. Journal of Southeast Asian Studies, 20(1), 42–54.



กำลังโหลดความคิดเห็น