xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน พัทลุงและสงขลาในสมาพันธรัฐตามพรลิงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

พัทลุงถูกบันทึกเป็นพุท-ลา-อัน (佛囉安โฝ-หลัว-อัน) ในเต้าอี้จาจื้อ พ.ศ.1813 อี้หยู่จื้อและต้าเต๋อหนานไห่จื้อ และบันทึกเป็นโฝ-หลาย-อัน 佛来安 ในเต้าอี้จื้อเลื่อย ส่งบรรณาการไปราชสำนักหยวน พ.ศ.1863 ในเต้าอี้จาจื้อ พ.ศ.1813 ระบุว่าศรีวิชัยที่จัมบิในสุมาตราส่งคนมาปกครองพัทลุงหลังจากที่พระเจ้าจันทรภาณุและพระเจ้าชวกะมหินทรไม่เสด็จกลับจากศรีลังกา เต้าอี้จาจื้อกล่าวถึงพัทลุงดังนี้

佛囉安,自凌牙蘇家,風帆四晝夜可到。亦可遵陸。有地主,亦係三佛齊差來。其國有飛來銅佛二尊,名毗沙門王。佛内一尊有六臂,一尊有四臂。每年六月十五日,係佛生日,地人幷唐人迎引佛六尊出殿,至三日復回。其佛甚靈。如有外國賊舡,欲來劫奪佛殿珠寶,至港口即風發,舡不得前。多是就港口搶劫地人,往別國賣,每一人鬻金四兩或五兩。如國内民妻,與人有奸,即罰所奸人金四五兩,還本人。夫即以妻嫁與之。
[มหาวิทยาลัยนาโงย่า https://toyoshi.lit.nagoya-u.ac.jp/maruha/siryo/daoyizazhi.html]

พัทลุงใช้การเดินเรือสี่วันสี่คืนจากลังกาสุกะ หรือเดินทางบกไปก็ได้เช่นกัน ศรีวิชัยได้ส่งคนมาปกครองพัทลุงซึ่งมีพระพุทธสำริด 2 องค์ประดิษฐานอยู่มีนามว่า 毗沙門 (พิชมน = งดงามด้วยความรู้) โดยองค์หนึ่งมี 6 พระกร และอีกองค์หนึ่งมี 4 พระกร วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกปีซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา คนในท้องถิ่นและชาวจีน (ชาวถัง) จะอาราธนาพระพุทธรูป 6 องค์ซึ่งศักดิ์สิทธิ์มาก ออกจากวัดไปแห่ในขบวนแห่เป็นเวลา 3 วัน หากโจรต่างชาติต้องการขโมยอัญมณีจากวัด ลมจะพัดไม่ให้ไปที่ท่าเรือ และเรือจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนใหญ่ขโมยของจากคนในท้องถิ่นที่ท่าเรือแล้วขายให้ชาวต่างชาติ แต่ละคนจะได้ทองคำสี่หรือห้าตำลึง หากมีผู้อื่นล่วงประเวณีภรรยาของชาวพัทลุง ผู้ล่วงประเวณีนั้นจะถูกปรับด้วยทองคำสี่หรือห้าตำลึงเป็นค่าสินสอดแล้วสามีจึงยกภรรยาให้แต่งงานกับผู้ถูกปรับ (แปลโดยผู้เขียน) ข้อความช่วงต้นจะคล้ายคลึงกับจูฟ่านจื้อ ยกเว้นที่ระบุว่าศรีวิชัยส่งคนมาปกครอง ที่เหลือจะต่างกันบ้าง ส่วนอี้หยู่จื้อกล่าวถึงพัทลุงดังนี้

自三佛齐国风帆四昼夜,可到其国,亦可遵陆。有地主。国有飞来铜神二个,一个六臂,一个四臂。六月十五日系佛生日,如有他国人来劫掠,大风骤作,船不可进
[Chinese Text Project: ctext.org]

พัทลุงใช้การเดินเรือสี่วันสี่คืนจากสัม-พุท-ชัย (ศรีวิชัย) หรือขึ้นบกบนผ่านดินใหญ่แล้วเดินทางไป มีผู้ปกครอง ประเทศนี้มีเทวรูปสำริดอยู่ 2 องค์ โดยองค์หนึ่งมี 6 กร และอีกองค์หนึ่งมี 4 กร และมีการฉลองวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกปีซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา หากมีคนจากประเทศอื่นจะเข้ามาปล้นจะถูกลมตีกลับออกมาจนเดินเรือเข้าไปไม่ได้ (แปลโดยผู้เขียน) ซึ่งข้อความนี้ย่อลงมาจากสือหลินกว๊างจี๊ เปลี่ยนจากลังกาสุกะเป็นศรีวิชัยและเปลี่ยนจากพระพุทธรูปเป็นเทวรูป พัทลุงผูกกับตำนานนางเลือดขาวโดยเฉพาะเพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว หนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศกเล่ม 6 กล่าวว่าสมเด็จพระราเมศวรกวาดต้อนเชลยชาวเชียงใหม่มาไว้ที่พัทลุงทำให้มีการใช้อักษรล้านนา และมีคำจากล้านนาหลายคำในภาษาถื่นของพัทลุง [กรมศิลปากร พ.ศ.2545: 222] พงศาวดารพัทลุง (พ.ศ.2462) ของหลวงศรีชรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) รวมเพลานางเลือดขาว วัดเขียน วัดสทังและวัดสทิงพระ ต้นฉบับ พ.ศ.2272 กล่าวถึงการกัลปนาที่วัด พ.ศ.2241 สมัยสมเด็จพระเพทราชา [ทวีศักดิ์ เผือกสม พ.ศ.2560]

ชาวมลายูเชื่อว่าพัทลุงเดิมชื่อ มารเดลง (ยะวี: مردلوڠ) โดยเฉพาะในสมัยที่มุสลิมมาเลย์เข้ามาปกครองในสมัยพระเจ้าปราสาททอง [Skinner 1985] แต่ชื่อพัทลุงบันทึกเป็นพุท-ลา-อันในจูฟ่านจื้อ เต้าอี้จาจื้อ ต้าเต๋อหนานไห่จื้อและเต้าอี้จื้อเลื่อยจึงไม่น่าจะใช่มารเดลงและเป็นหนึ่งในเมืองพระยามหานครของกรุงศรีอยุธยา พัทลุงเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในจูฟ่านจื้อ เต้าอี้จาจื้อและอี้หยู่จื้อ

สงขลาเพี้ยนมาจากซิงกอร่า (Singgora) ในภาษามลายู (ยะวี: سيڠڬورا) แปลว่าเมืองสิงห์มักจะสับสนกับสิงคปุระ ซึ่งหมายถึงภูเขารูปสิงโตใกล้เมืองสงขลา สงขลา (崧古囉 ซ่ง-กู่-หลัว) ภายใต้สมาพันธรัฐตามพรลิงค์ในยุคนครศรีธรรมราชปรากฏในเอกสารจีนครั้งแรกในต้าเต๋อหนานไห่ซื่อ พ.ศ.1847 ในเต้าอี้จื้อเลื่อยของวังต้าหยวน พ.ศ.1892 และสงขลาปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง ในสมัยราชวงศ์หมิงแผนที่เม่าคุ้นของอู๋เป่ยจื้อเจิ้งเหอเรียกพัทลุงว่า ฉู่-เถา-หลง (Qu-Tao-Long) และสงขลาเป็นซุ่น-กู่-นา (Sun-Gu-Na) นักเดินเรือชาวอาหรับและเปอร์เซียในยุคนั้นเรียกเมืองนี้ว่า ซิงกูร์หรือซิงกอร่า เอกสารชุนฟงเซี่ยงสงเรียกสงขลาว่า ซ่ง-กู-นา (Sung-Gu-Na) และพัทลุงว่ากง-จู-เล่า (Gong-Ju-Lao) มีการขุดค้นที่อ.สิงหนครและอ.เมืองที่อยู่ปากทะเลสาบสงขลาพบว่าในสมัยสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-18 เป็นบริเวณเมือง เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล ค้าขายกับเมืองฉวนโจวในมณฑลฝูเจี้ยนประเทศจีนโดยมีสทิงพระเป็นเมืองท่าสำคัญ [Stargardt 2001]

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร (พ.ศ.2545). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศก (เล่มที่ 6). กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

ทวีศักดิ์ เผือกสม (พ.ศ. 2560). “ณ ที่ซึ่งแสงเทียนสลัวเลือน: ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปัตตานีในสถานการณ์สู้รบ.” ในไมเคิล เจ มอนเตซาโน และ แพทริค โจรี ไทยใต้ มลายูเหนือ ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, 82–105.นครศรีธรรมราช: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Skinner, C. (1985). The Battle for Junk Ceylon: The Syair Sultan Maulana. Foris Publication.

Stargardt, J. (2001). Behind the Shadows: Archeological Data on Two-Way Sea Trade between Quanzhou and Satingpra, South Thailand, 10th-14th Century. In A. Schottenhammer, The Emporium of the World: Maritime Quanzhou, 1000-1400 (Vol. 49, pp. 309-393). Leiden: E J Brill.



กำลังโหลดความคิดเห็น