คมสัน โพธิ์คง
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๑๐ ศาลปกครองกลาง ได้มีการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส. ๕๑/๒๕๕๔ คดีหมายเลขแดงที่ อส. ๑๑๕/๒๕๖๗ ระหว่างนางทัศนา นาเวศน์ กับพวก รวม ๓๖ คน ซึ่งอ้างตนเป็นผู้แทนชุมชนบ้านทับยาง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กับนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ที่ ๔ อธิบดีกรมการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ ๕ นายกเทศมนตรีตำบลท้ายเหมือง ที่ ๖ และนายงิ้มต่าม ลิ่มดุล ที่ ๗ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งคำพิพากษาในคดีนี้มีจำนวน ๑๐๓ หน้า และคดีนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นคดีประหลาดที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ประชาชนเป็นผู้ฟ้องคดีแทนรัฐ เพื่อเรียกคืนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน คืนให้แก่รัฐ และคดีนี้จบลงแล้วด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หลังจากทำการฟ้องคดีปกครองมานานกว่า ๑๔ ปี และหากรวมเวลาการต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนบ้านทับยางที่ต่อสู้มาก่อนหน้านั้นที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ก็จะพบการต่อสู้ของชาวบ้านกับนายทุนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลามากกว่า ๓๐ ปี และด้วยการต่อสู้ที่ไม่ยอมแพ้ของชาวบ้านชุมชนบ้านทับยางที่พยายามต่อสู้ทุกวิถีทาง จนเรื่องได้ไปสู่คณะรัฐมนตรีแต่ไม่สามารถจัดการใดๆกับกรมที่ดินได้ จนนำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกที่รัฐไม่มีปัญญาจัดการปัญหา แต่ให้ชาวบ้านไปฟ้องศาลปกครองเพื่อนำที่ดินของรัฐที่ถูกเอกชนนำไปออกโฉนดที่ดินคืนให้กลับเป็นที่ดินของรัฐ สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทยและระบบกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งถึงเวลาต้องสังคายนากันแล้ว
สำหรับความเป็นมาของข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในคดีนี้ เป็นคดีที่ชาวบ้านชุมชนบ้านทับยาง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จำนวนกว่าร้อยครัวเรือน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยต่อสู้เป็นคดีเกี่ยวกับ “สิทธิชุมชน” ในการฟ้องคดีเรียกคือที่ดินของรัฐคืนจากเอกชน และมีข้อเท็จจริงในคดีที่สรุปได้ว่า ในคดีดังกล่าว ปรากฏประเด็นข้อพิพาทของชาวบ้านชุมชนบ้านทับยางอยู่บนที่ดินที่พิพาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๗๒ เนื้อที่ประมาณ ๗๘ ไร่ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๗๓ เนื้อที่ดินประมาณ ๑๑๑ ไร่ เศษ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๙ หมู่บ้านทับยาง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้านเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของรัฐ แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้ถือครองประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทั้งหมดคนสุดท้าย ทำการรวบรวมประทานบัตรจนมีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ และอีกหลายแปลงโ ดยในที่ดินดังกล่าวทั้งสองแปลงได้มีการให้ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ดีบุก รวม ๔ ประทานบัตร ประทานบัตร หมายเลขท่อที่ ๒๖๑๑ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ๙๒๙๒) ,ประทานบัตร หมายเลขท่อเหล็กที่ ๒๖๑๑ ,ประทานบัตร หมายเลขท่อเหล็กที่ ๖๐๘๗ และประทานบัตร หมายเลขท่อเหล็กที่ ๖๒๒๕ (รายละเอียดของเหตุการณ์อยู่ในเอกสารท้ายบทความ)
ชุมชนบ้านทับยาง หมู่ ๙ (เดิมหมู่ ๓ ) ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แรกเริ่มตั้งอยู่ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุก รวม ๔ แปลง ในอำเภอทุ่งมะพร้าว คือ ประทานบัตรเลขที่ ๒๖๑๑ , ๖๐๘๗ , ๖๒๒๕ และ๔๗๒๕ เมื่อกิจการเหมืองแร่ตกต่ำลง และเหมืองแร่บางแปลงหมดอายุประทานบัตร ชาวบ้านเริ่มอพยพมาใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยปลูกเป็นกระต๊อบเล็กๆ อาศัยหลับนอน ทำงานเป็นกรรมกรเหมือง และอาชีพร่อนแร่ท้ายเหมืองสูบ เมื่อประทานบัตรหมดอายุลง ผู้ถือประทานบัตรคนสุดท้าย คือนายงิ้มต่าม ลิ่มดุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้เกลี่ยดินขุมเหมืองและให้ประกาศให้จับจองที่ดินมีคนเข้าจับจองอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ(ให้ชาวบ้านมาตั้งรกรากเพื่อใช้อ้างการเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ขุมเหมืองแล้วนำไปของออกโฉนดที่ดินในปี พ.ศ.๒๕๑๕) จนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงได้มีการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอท้ายเหมือง โดยลดอำเภอทุ่งมะพร้าวเหลือเพียงกิ่งอำเภอของอำเภอท้ายเหมือง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรทั้ง ๔ แปลงดังกล่าวเป็นคนสุดท้าย ได้นำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน รวม ๑๐ แปลง โดยมีการขายที่ดินบางแปลงให้แก่บริษัทเอกชนไปทำสนามกอล์ฟ ต่อมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ชาวบ้านประสงค์จะใช้น้ำใช้ไฟจึงไปขอเลขทะเบียนบ้าน แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะอำเภอแจ้งว่าอาศัยอยู่ในที่ดินมีโฉนดของผู้อื่น จึงมีการประสานงานกับเจ้าของโฉนดที่ดินคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ และได้ให้มีการเช่าเดือนละ ๒๐ บาท (เพื่อรับรองการใช้ประโยชน์ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗) ซึ่งชาวบ้านยินยอมเพราะค่าเช่าไม่สูง เมื่อมีการติดตั้งไฟฟ้าและประปาแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ฟ้องร้องคดีต่อศาลจังหวัดพังงาขับไล่ทั้งชุมชน ชาวบ้านจึงไปจ้างทนายความช่วยดำเนินคดี แต่ถูกทนายความหลอกชาวบ้านให้ไปเซ็นสัญญาเช่ากับผู้ฟ้องคดีที่ ๗ จนแพ้คดีในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และไม่ได้อุทธรณ์เพราะทนายความไม่แนะนำและชาวบ้านไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งในระหว่างนี้มีการรื้อบ้านของชาวบ้านรายหนึ่งจนชาวบ้านทั้งสามีและภรรยาตรอมใจตาย ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการฟ้องร้องชาวบ้านอีกรอบอ้างว่าไม่จ่ายค่าเช่าเพื่อยึดบ้าน และศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่พิพาท โดยคนที่ไม่มาประนีประนอมยอมความจะถูกรื้อบ้าน ชาวบ้านส่วนมากยอมทำสัญญาบ้านจึงตกเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ไปโดยปริยาย แต่บางส่วนไม่ยอมจึงมีคำสั่งบังคับคดีจากศาลมาเรื่อย ๆ และ ถูกตัดน้ำตัดไฟฟ้า และต้องรื้อทิ้งในที่สุด บางคนถูกแจ้งความจับข้อหาบุกรุก ชาวบ้านได้ไปร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จนมีรายงานว่าเป็นครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบและโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ เป็นที่ดินของรัฐ โดยในระหว่างนั้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ทีมงานของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ได้ลงไปร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาล จนมีการเจรจาผ่อนผันการบังคับคดีให้ชาวบ้านอยู่ได้อีก ๔ ปี ในระหว่างนี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.)แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการตรวจสอบการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา” ขึ้น ตามคำสั่งที่ ๒/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานอนุกรรมการ ทำการตรวจสอบการร้องเรียนปัญหาของชุมชนทับยางซึ่งอยู่ในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และในระหว่างการตรวจสอบ ปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีการบังคับคดีรื้อบ้านชาวบ้านจำนวน ๕ ราย ออกจากที่ดิน และในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.) ในการประชุมเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการฯ ว่า
๑.ที่ดินประทานบัตรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ มีสถานะเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า โดยไม่เคยมีบุคคลใดครอบครองมาก่อนการอนุญาตประทานบัตรครั้วแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เนื่องจากในคำขอประทานบัตรทั้งสองครั้ง ไม่ปรากฎหลักฐานการให้ความยินยอมของเจ้าของที่ดิน
๒. การแจ้ง ส.ค.๑ เลขที่ ๔๒๐ และเลขที่ ๕๒๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ไม่ทำให้ได้สิทธิในที่ดินที่แจ้งตามกฎหมาย เนื่องจากผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายภาพไว้เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินที่แจ้ง ส.ค. ๑ แต่อย่างใด เนื่องจากผู้แจ้งได้นำที่ดินของรัฐที่ได้รับประทานบัตรในฐานะคู่สัญญาของรัฐไปแจ้ง ส.ค.๑ ในระหว่างที่ประทานบัตรยังไม่สิ้นสุด เมื่อมีการนำที่ดินที่ตนเองไม่มีสิทธิไปออกโฉนดที่ดิน เป็นเหตุให้โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เห็นควรแจ้งให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามนัยมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
๓. ประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนเพิ่มเติมว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ ออกทับที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่ นั้น มีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ที่พิพาทตามการร้องเรียนเป็นที่สาธารณธ โดยมีหลักฐานทะเบียนของนายอำเภอท้ายเหมืองระบุว่า ทางราชการได้ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อที่ ๑,๕๐๐ ไร่ ปัจจุบันได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) แล้วเนื้อที่ ๑,๑๗๕ ไร่ ที่เหลือยังมิได้ออกเนื่องจากมีผู้คัดค้าน เห็นควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมืองดำเนินการออก น.ส.ล. ในที่ดินส่วนที่เหลือตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ต่อไป
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.)เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะ อนุกรรมการฯ และมีการแจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามมติ กบร. ดังกล่าว โดยในช่วงเวลานี้ ชาวบ้านได้ประโยชน์จากมติ กบร.ดังกล่าว จนทำให้การบังคับคดีต้องหยุดลง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมือง ดำเนินการสอบสวนแล้วกลับสรุปในทางตรงกันข้ามกับมติของ กบร.และรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ที่ดินบริเวณประทานบัตรไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า และมีความเห็นว่า กระบวนการในการออกโฉนดที่ดินไม่ปรากฎว่ามีขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดที่ผิดพลาดข้ามขั้นตอนหรือฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง จนอาจทำให้การพิจารณาได้ว่าโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีข้อพิพาทและร้องเรียนขึ้น แต่หลักฐานที่ปรากฏเพิ่มเติมในภายหลังก็ยืนยันชัดเจนถึงที่มาที่ไปของที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองมาก่อนการขอประทานบัตร การนำสิทธิครอบครองในที่ดินมาขอผ่อนผันแจ้งการครอบครองระหว่างประทานบัตรยังไม่หมดอายุ ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนและต้องห้ามแต่ประการใด การที่จะเพิกถอนโฉนดที่ดินตามความเห็นของ กบร. เท่ากับเป็นการไม่ยอมรับในกระบวนการที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้รายงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้กำกับดูแลกรมที่ดินแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังกล่าว จนในที่สุดได้มีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณามีมติแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สามารถสั่งการให้กรมที่ดินดำเนินการตามผลการตรวจสอบดังกล่าวได้
สุดท้ายคณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ให้ชาวบ้านไปฟ้องศาลปกครองเพื่อนำที่ดินของรัฐที่ถูกเอกชนนำไปออกโฉนดที่ดินคืนให้กลับเป็นที่ดินของรัฐ โดยให้กองทุนยุติธรรมดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของคดีประหลาดที่รัฐขอให้ประชาชนฟ้องศาลเพื่อทวงคืนที่ดินของรัฐกลับคืนสู่รัฐ
เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่ชาวบ้านชุมชนทับยางมีผู้นำเป็นผู้หญิงแกร่งนามว่า นางทัศนา นาเวศน์ ได้นำการต่อสู้ของชาวบ้านแบบถึงลูกถึงคน(ได้รับรางวัลคนค้นคนอวอร์ต รางวัลนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้) โดยเข้าขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งในขณะนั้น มี รองศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก ดร. มรว. อคิน รพีพัฒน์ เป็นประธานมูลนิธิ และคุณปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิในขณะนั้น(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)เพื่อขอความช่วยเหลือ ผมจึงมาเกี่ยวข้องกับคดีเพราะได้รับการติดต่อจากคุณปรีดา คงแป้น ขอร้องให้ช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวบ้านชุมชนบ้านทับยาง ซึ่งผมก็ได้ตอบรับและให้นางทัศนาฯ กับพวกก็ได้เดินทางมาพบที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่น่าอัศจรรย์ในการต่อสู้ของชาวชุมชนทับยาง นางทัศนาฯกับพวกได้นำกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ ๑ ใบ ที่บรรจุสำเนาเอกสารมากกว่าพันแผ่น ที่ชาวบ้านชุมชนทับยางอาศัยมติ กบร. เข้าไปค้นจากคลังเอกสาร สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซี่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ย้อนหลังไปจนถึงรัชกาลที่ ๖ มาแสดงพยานหลักฐาน หลังจากนั้นผมจึงได้ระดมทีมนักวิชาการด้านกฎหมาย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล และอาจารย์ธนาชัย สุนทรอนันตชัย จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และมีทีมทนายความของมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาช่วยกันศึกษาและจัดทำร่างคำฟ้อง ในรูปแบบของ “การทำคดีแบบวิจัย” ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของทนายความโดยทั่วไป เราใช้เวลาศึกษาคดีนี้หลายเดือน เนื่องจากเอกสารที่ชาวบ้านนำมามีความเก่าออกตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายยุคสมัยต้องค้นคว้าหากฎหมายเก่าๆ และกฎหมายปัจจุบันหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓ และอนุบัญญัติเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ พระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณ ประโยชน์ พ.ศ.๒๕๓๙ นอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่เคยใช้ต่อสู้กันมา ทีมงานเราได้มอบหมายให้อาจารย์ธนาชัยฯ เป็นผู้เรียงลำดับเหตุการณ์จากเอกสารต่าง ๆ ที่ได้จากนางทัศนาฯ และชาวบ้าน เราทำการค้นคว้าหาข้อมูลกฎหมายเก่าๆ เหล่านั้น ที่ค้นหาค่อนข้างยาก มาใช้ศึกษาการทำร่างคำฟ้อง เราใช้เวลาศึกษาคดีนี้หลายเดือนเนื่องจากข้อมูลค่อนข้างเก่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวมีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนมือการมีสิทธิในประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุกกันหลายครั้ง ประกอบกับมีผู้เกี่ยวข้องในอดีตมีจำนวนมาก และเราต้องเรียงคำฟ้องให้สอดคล้องกับบริบทของข้อเท็จจริงในแต่ละช่วงเวลาและใช้กฎหมายของแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเหล่านั้น นางทัศนาฯกับพวกต้องเดินทางขึ้นลงจากจังหวัดพังงามากรุงเทพมหานครหลายครั้ง จนในที่สุดคำฟ้องก็สำเร็จเสร็จสิ้นและฟ้องศาลปกครองกลางได้ ในราวเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ในการรับคดีของศาลปกครองกลาง ได้สั่งให้เรียกนายงิ้มต่าม ลิ่มดุลย์ เจ้าของโฉนดที่ดิน ๙๗๒ และ ๙๗๓ เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ โดยการร้องสอด และหลังจากดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีปกครองมาจนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาและวินิจฉัยโดยสรุปให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑,๒,๔,๕ และ ๖ โดยให้เหตุผลสำคัญว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑,๒,๔,๕ และ ๖ ไม่มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนด แต่ได้พิพากษาให้กรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าไสอ่อนและป่าไสแก่ ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และ๙๗๓ ซึ่งมีการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบบางส่วนออก และกรณีคลองพุกง ได้มีการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนทับคลองพุกงบางส่วน ซึ่งต้องมีการแก้ไข ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่กล่าวอ้างว่ามีการออกโฉนดที่ดินทับป่าไสอ่อนและป่าไสแก่ แต่คำพิพากษาก็ไม่ได้ระบุว่าป่าไสอ่อน-ป่าไสแก่อยู่บริเวณใด และศาลปกครองกลางอ้างว่าไม่สามารถออกคำบังคับให้ได้โดยทันทีต้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๕๑ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖
ด้วยคำพิพากษาดังกล่าว ทีมงานทำคดีเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไม่เป็นไปตามคำขอของชาวบ้านชุมชนทับยางและไม่มีความชัดเจนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จนมีคำถามกันในทีมงานว่า
(๑)คำพิพากษานี้ใครชนะคดี ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ชนะคดี เพราะผลของคำพิพากษาแทบไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่เป็นปัญหามาในอดีต
(๒)ศาลปกครองกลางวินิจฉัยโดยตีความขยายความจากข้อความของพระราชบัญญัติ การทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง โดยวินิจฉัยว่า
“...การที่เจ้าของที่ดินยอมให้ออกประทานบัตรทั้งสองฉบับได้ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าของยอมให้ขุนประเทศจีนนิกรครอบครองที่ดินไว้แทนตนโดยยอมให้ทำเหมืองแร่ได้ สิทธิครอบครองดังกล่าวจึงยังเป็นของเจ้าของที่ดินเดิม และต่อมามีการดอนประทานบัตรมายังนายอุทัย ณ ระนอง หรือต่อมาบริษัท อุทัย ณ ระนอง จำกัด ครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนเจ้าของเดิมต่อเนื่องมามาด้วย การออกประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ไม่ทำให้สิทธิครอบครองในที่ดินที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไป สำหรับกรณีประทานบัตรสิ้งสุดลงนั้น มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่งห่งพพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖ ) พุทธศักราช ๒๔๘๓ บัญญัติว่าเมื่อประทานบัตรสิ้นสุดลงด้วยการเวนคืน หมดอายุ หรือด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม (๑) ถ้าภายในเขตเหมืองแร่ตามประทานบัตรนั้น มีที่ดินซึ่งผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินนั้น ตกเป็นของแผ่นดินปลอดจากภาระติดพันหรือภาระจำยอมใดๆ ทั้งสิ้น... สำหรับกรณีของคดีนี้ปรากฏว่าประทานบัตรบางส่วนเป็นที่ดินที่ผู้อื่นครอบครอง ดังนั้น เมื่อต่อมาประทานบัตรสิ้นอายุลงที่ดินย่อมไม่ตกเป็นของแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ครอบครองที่ดินไว้แทนผู้อื่นอาจเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินนั้นเป็นการครอบครองที่ดินเพื่อตนเองก็ได้ สิทธิในการครอบครองย่อมโอนมายังผู้ที่ครอบครองที่ดินไว้แทน ทั้งนี้ ตรามที่ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๙ บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนยึดถือทรัพย์สินอยุ่แล้ว ท่านว่าการโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำเพียงแสดงเจตนาก็ได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ดังกล่าว และต่อมาได้นำที่ดินดังกล่าวไปแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค. ๑) ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินมาจากผู้มีสิทธิครอบครองเดิม และเมื่อที่ดินที่แจ้งการครอบครองบางส่วนนั้นเป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองและทำประดยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมาย ที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน การแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค. ๑) ดังกล่าวบางส่วนจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้จะปรากฎว่าในขณะที่แจ้งการครอบครองประทานบัตรยังไม่สิ้นอายุก็ตาม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕..."
(๓) การตีความขยายความจากที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วตาม(๒) ศาลปกครองกลางนำไปใช้กับที่ดินที่พิพาททุกแปลง ซึ่งมีระยะเวลาในการครอบครองที่ต่างกัน โดยไม่มีรายละเอียดการวินิจฉัยที่สอดคล้องกับการจำแนกการครอบครองเป็นแปลงๆที่มีการครอบครองในแต่ละช่วงต่างกัน ซึ่งทีมงานคดีเห็นว่าไม่น่าจะนำมาใช้ได้กับทุกแปลง
(๔) ศาลปกครองกลางตีความขยายความ โดยน่าจะขัดกับหลักการของพระราช บัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งในชณะนั้นในสภาพการณ์ที่มีการออกกฎหมายเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐเริ่มมีความระแวงว่าที่ดินที่ทำเหมืองแร่ส่วนใหญ่กระทำโดยบริษัทเอกชนต่างชาติจะนำที่ดินไปครองครองเป็นกรรมสิทธิ์ และในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่เมื่อประทานบัตรสิ้นอายุก็ยังอาจหาประโยชน์จากแร่ที่เหลืออยู่หรือสินแร่อื่นซึ่งรัฐจะอาศัยหาประโยชน์ต่อไปได้ จึงต้องให้ที่ดินที่มีแร่อยู่ทุกแปลงต้องตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงที่มีการครอบครองและถือกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ไม่ได้หมายความว่ายกเว้นให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เจ้าของประทานบัตรไม่มีกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครอง แล้วนำมาขออกโฉนดที่ดินได้ ตามที่ศาลปกครองกลางได้ตีความขยายความจากพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓
(๕) ศาลปกครองกลางไม่ได้วินิจฉัยว่า ที่ดินป่าไสอ่อน-ป่าไสแก่ จำนวน ๗ ไร่ ที่ให้มีการเพิกถอนออกจากโฉนดที่ดิน อยู่ในโฉนดที่ดินแปลงใดระหว่างเลขที่ ๙๗๒ หรือเลขที่ ๙๗๓ และไม่ได้วินิจฉัยว่าอยู่บริเวณใด ทำให้ชาวบ้านชุมชนทับยางและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ เอง ก็ไม่รู้ว่าอยู่บริเวณใด ที่จะไปขอคำบังคับคดีปกครองได้อย่างไร
(๖) ศาลปกครองกลางให้กรมที่ดินไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ คือไปตั้งคณะกรรมการมาสอบสวน เท่ากับให้การชี้ขาดย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ซึ่งกรมที่ดินได้ยืนยันว่าการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง และทำให้ปัญหาวนเวียนไปไม่จบสิ้น
(๗) ทีมงานทำคดีมีความสงสัยว่าตุลาการศาลปกครองกลางผู้ทำคดีได้พิจารณาเอกสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ อย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะเหตุผลของคำวินิจฉัยมีความแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทีมงานทำคดีจึงปรึกษากับชาวบ้านชุมชนทับยางว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเรารีบดำเนินการทำคำอุทธรณ์จนแล้วเสร็จภายในระยะเวลาการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ราวเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ คดีอยู่ในศาลปกครองสูงสุดเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาและอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อส ๑๑๕/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๑ ศาลปกครอง โดยมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า
“..รวมทั้ง ปรากฏตาม รายงานการไต่สวนเรื่องราวขอประทานบัตรที่ ๔๗๓๕/๒๗๖๔/๓๘๙๔ ซึ่งออกให้แก่ขุนอุดมพัสดุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่ระบุว่า ในอาณาเขตที่ดินแปลงนี้เป็นที่สวนของผู้ขอเอง ทับเรือนชั่วคราวของผู้ขอเอง ก็ตาม แต่การระบุข้อความดังกล่าวว่า มีบ้านราษฎร ๒๗ ราย ทับที่ดินราษฎร ทับสวนมะพร้าว ทับที่สวนของผู้ขอเอง หรือทับเรือนชั่วคราวของผู้ขอเอง โดยมิได้ระบุรายละเอียดว่ามีเนื้อที่จำนวนเท่าใด อีกทั้ง ยังปรากฏข้อความระบุว่า ทับป่าใสอ่อนป่าใสแก่ และเหมือง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่ดินที่นำมาขอประทานบัตรดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีทั้งส่วนที่เป็นบ้าน สวน เรือนชั่วคราว รวมทั้งป่าใสอ่อนป่าใสแก่ และเหมือง รวมอยู่ด้วย และในการยื่นเรื่องราว ขอประทานบัตรในเวลานั้นเป็นการยื่นขอประทานบัตรตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ โดยที่มาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ประทานบัตร์ ทำเหมืองแร่ไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ถือประทานบัตร์หวงห้าม หรือถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่แผ่นดินในเหมืองแร่นั้นเลย เพราะเหตุฉะนั้นให้ผู้ถือประทานบัตร์มีอำนาจเพียงนี้ คือ ข้อ ๑ ผู้ถือประทานบัตร์ มีอำนาจทำเหมืองแร่ คือ ขุดและล้าง และจำหน่ายแร่ได้แต่เฉพาะแร่ที่ได้บ่งอนุญาตไว้ในประทานบัตร์ ถ้าจะทำเหมืองแร่ชนิดอื่นนอกจากนั้นแล้ว ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากเสนาบดีก่อน กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ยื่นขอประทานบัตรดังกล่าวมีความประสงค์เพียงทำเหมืองแร่ในบริเวณที่ได้รับประทานบัตร เท่านั้น เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ถือประทานบัตรหวงห้าม หรือถือกรรมสิทธิ์ เป็นเจ้าของที่แผ่นดินในเหมืองแร่นั้นเลย ประกอบกับ มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓ บัญญัติว่า เมื่อประทานบัตรสิ้นสุดลงด้วยการยกเลิก เวนคืน หมดอายุ หรือด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม (๑) ถ้าภายในเขตต์ เหมืองแร่ตามประทานบัตรนั้น มีที่ดินซึ่งผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์อยู่ ให้ที่ดินนั้นตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินปลอดจากภาระติดพันหรือภาระจำยอมใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการครอบครองที่ดินในส่วนที่เป็นบ้าน สวน หรือเรือนชั่วคราว ต่อเนื่องกันมาแต่อย่างใด รวมทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ก็ได้เคยมีหนังสือถึงโลหกิจจังหวัดพังงายอมรับว่า ที่ดินที่ขอต่ออายุประทานบัตรแปลงพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ กรณีจึงต้องฟังว่าที่นำมาขอประทานบัตรดังกล่าวมีสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติ ลงแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่บุคคลได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ในที่รกร้างว่างเปล่า จึงไม่เป็นเหตุทำให้ที่ดินนั้นเปลี่ยนสภาพไป คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ตามเดิม ทั้งนี้ การได้รับประทานบัตรเป็นการให้อำนาจผู้นั้นในการทำเหมืองแร่ได้ในที่เฉพาะซึ่งกำหนดไว้ในประทานบัตรเท่านั้น ผู้ได้รับประทานบัตรจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในบริเวณที่ดินที่ได้รับประทานบัตร แต่อย่างใด เมื่อนายอุทัย ณ ระนอง เป็นเพียงผู้รับโอนประทานบัตรมีสิทธิเฉพาะแต่ทำเหมืองแร่และขายแร่ตามที่ระบุไว้ในประทานบัตรเติม และมีสิทธิเพียงการครอบครองที่ดินเนื่องแต่การทำเหมืองแร่ หาอาจถือว่าเป็นผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยชอบด้วย กฎหมายในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่แต่อย่างใดไม่ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยซื้อที่ดินพิพาทจากนายอุทัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นการสืบสิทธิของ นายอุทัย ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองในที่ดินพิพาทได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ จึงมิใช่ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗) และแม้ต่อมาเมื่อประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลงภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ยังคงครอบครองต่อเนื่องมาและยื่นคำขอผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน ก็เป็นการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทดังกล่าวไปแจ้ง ส.ค. ๑ ได้ การแจ้ง ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒๐ และเลขที่ ๔๒๑ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ ขึ้นในที่ดินพิพาทแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่ว่า ๑. ที่ดินประทานบัตรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ มีสถานะเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า โดยไม่เคยมีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองมาก่อนการอนุญาตประทานบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖ เนื่องจากในคำขอประทานบัตรทั้งสองครั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานการให้ความยินยอมของเจ้าของ ที่ดิน ๒. การแจ้ง ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒๐ และเลขที่ ๔๒๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ไม่ทำให้ได้สิทธิในที่ดินที่แจ้งตามกฎหมาย เนื่องจากผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายภาพไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินที่แจ้ง ส.ค. ๑ แต่อย่างใด เนื่องจาก ผู้แจ้งได้นำที่ดินของรัฐที่ได้รับประทานบัตรในฐานะคู่สัญญากับรัฐไปแจ้ง ส.ค. ๑ ในระหว่างที่อายุ ประทานบัตรยังไม่สิ้นสุด เมื่อมีการนำที่ดินที่ตนเองไม่มีสิทธิไปออกโฉนดที่ดิน เป็นเหตุให้โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานผลการตรวจสอบที่ ๑๑/๒๕๔๙ ที่ว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ ออกโดยอาศัยหลักฐาน ส.ค.๑ เลขที่ ๔๒๐ ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดินระบุว่า ชื้อมาจากนายอุทัย ณ ระนอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยซื้อขายกันเอง สภาพที่ดินเป็นที่สวน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งการครอบครองเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ส่วนประทานบัตรที่ ๑๑๖๕๐/๕๑๙๗ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ นำมาออกเป็นโฉนดที่ดิน เลขที่ ๙๗๒ แทน ซึ่งเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒๗ ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ มาแสดงว่าตนเองมีสิทธิก่อนที่จะขอประทานบัตรเหมืองแร่ ย่อมถือได้ว่าเป็นที่ดินของรัฐ ๒. ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๓ ออกโดย อาศัยหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒๑ ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดินระบุว่า ซื้อมาจากนายอุทัย ณ ระนอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยซื้อขายกันเอง สภาพที่ดินเป็นที่สวน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งการครอบครองเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ เมื่อพิจารณาจากคำชี้แจงของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ยืนยันว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๓ (๓) นั้น หากพื้นที่ที่เป็นที่ดินของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบนั้นยังคงมีสิทธิและหน้าที่เหนือที่ดินดังกล่าวด้วย แม้ว่าที่ดินเหล่านั้นจะได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้วก็ตาม ดังนั้น เมื่อประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว ผู้ถือประทานบัตรจึงไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดิน ในประทานบัตรที่เคยได้รับครั้งประทานบัตรยังมีอายุอยู่ ประกอบกับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิใดๆ ในที่ดินดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๓ เป็นที่ดินของรัฐอย่างชัดแจ้ง สมควรที่รัฐจะเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) และได้รับการผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แล้วได้นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดิน จนได้มีการออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๓๒ และเลขที่ ๙๗๓ ในนามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ถือได้ว่า การออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ นำที่ดินรกร้างว่างเปล่าไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) โดยที่ตนมิได้มีสิทธิครอบครอง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้พิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตามนัยมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามมติ กบร. แล้วมีความเห็นว่า ผู้ครอบครองทำโยชน์ตามหลักฐาน ส.ค. ๑ นำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน เมื่อกระบวนการในการออกโฉนดที่ดินเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายแล้ว โดยไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร....”
นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีนี้หลังจากวินิจฉัยดังกล่าวแล้วดังนี้
“...พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๗๒ และเลขที่ ๙๗๓ ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ โยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดิน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการใหห้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ...”
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ อส ๑๑๕/๒๕๖๗ ดังกล่าว ทำให้มีประเด็นที่ควรต้องกลับมาพิจารณาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งมีประเด็นเกิดขึ้นเกี่ยวกับใช้อำนาจตามหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินและกรมที่ดินที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก และต้องพึ่งพาศาลอย่างซ้ำซาก ใช้เวลานานเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ค่าใช้จ่ายสูง กระบวนการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายแพงและสูงมาก ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียที่ดินของรัฐไปเป็นจำนวนมาก จากการบุกรุกของเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้การให้อำนาจแก่องค์กรเดี่ยวทำหน้าที่ดูแลที่ดินแบบรวมศูนย์แต่องค์กรเดียว โดยมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
๑.ควรแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดิน เนื่องจากกรมที่ดินเป็นหน่วยงานเดียวในกฎหมายที่ทำหน้าที่ในการดูแลที่ดินของรัฐและของเอกชน มีอำนาจในการตรวจสอบการขอออกโฉนดที่ดิน เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบสิทธิของผู้ขอออกโฉนดที่ดิน การรังวัดตรวจสอบแนวเขต ออกใบโฉนดที่ดินและใบแทน การตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการพิจารณากระบบวนการที่เกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินอย่างครบวงจร และเป็นการรวมศูนย์อำนาจเกี่ยวกับจัดการเกี่ยวกับที่ดินไว้ในองค์กรเดียวและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นการง่ายที่จะเกิดการคอรัปชั่นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยอำนาจรัฐที่ได้รับไปตามกฎหมาย สมควรแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ซึ่งมีลักษณะของการใช้ “อำนาจตุลาการของฝ่ายบริหาร” ให้เป็นอำนาจขององค์กรอื่น ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ และ
๒.ควรแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินโดยนำ “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.)”ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ให้เป็นองค์กรตามกฎหมายในประมวลกฎหมายที่ดิน โดยให้ทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินของรัฐที่มีข้อโต้แย้ง แทนอธิบดีกรมที่ดิน โดยให้อยู่ในความดูแลของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการตรวจสอบที่ดินของรัฐทุกประเภท รวมถึงพื้นที่ป่าและพื้นที่การทำเหมืองแร่ด้วย โดยให้ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ที่ดิน สังคมศาสตร์ แผนที่ การรังวัดและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นเจ้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินทุกประเภท เป็นกรรมการ เพื่อป้องกันการมีส่วนได้เสียในการกระทำที่เกี่ยวกับที่ดิน โดยอาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินประเภทต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งได้ แต่ต้องมีอัตราส่วนเพียง ๑ ใน ๓ ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะรัฐมนตรีมีมติในการสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามมติของ กบร.ได้
ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐ สมควรที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินให้มีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ โดยไม่ให้อำนาจทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ ปัญหาที่ดินของรัฐเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหารจัดการเสียใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่น กรณีชุมชนทับยาง หรือที่ดินบริเวณเขากระโดง กรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้วจำนวนมาก หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก