เราต้องยอมรับความจริงว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นความเหลื่อมล้ำของสังคมบ้านเรา “คุกมีไว้ขังคนจน” เป็นคำนิยามที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ แม้จะเป็นเพราะคนยากจนส่วนใหญ่มักจะลำบากข้นแค้นจนต้องกระทำความผิดจึงถูกจับกุมมาก แต่ขณะเดียวกันอาชญากรรมที่ทำโดยคนรวยนั้นแม้จะมีไม่มาก แต่จำนวนไม่น้อยที่ลอยนวลรอดจากความผิดต่อแผ่นดินไปได้
ต้องไม่ลืมว่าบาดแผลใหญ่ของสังคมที่คนกระทำผิดแล้วกลับไม่ได้รับโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียวนั้นคือ การที่ทักษิณได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือ 1 ปีหลังจากหนีไปจนหมดอายุความคดีหนึ่งแล้ว มันสะท้อนความเป็นอภิสิทธิชนและความไม่เท่าเทียมของสังคมไทย แม้จะมีความพยายามเรียกร้องให้ตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็น่าจะมีความหวังน้อยมากที่จะเอาทักษิณซึ่งถูกข้อหาคดโกงแผ่นดินในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีมารับโทษได้
เรากำลังพูดว่าตอนนี้นักโทษกำลังล้นคุก จนต้องออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า การคุมขังนอกคุก นั่นหมายความว่า คนเหล่านั้นอาจจะถูกคุมขังอยู่ที่บ้าน แทนที่จะเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
โดยต้องมีคุณสมบัติเช่น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องโทษจําคุกครั้งแรกเพราะถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกไม่ว่าในกรณีความผิดเดียวหรือหลายคดี
คําพิพากษาของศาลต้องเป็นการลงโทษจําคุกไม่เกิน 4 ปีหากมีการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษให้ถือเอากําหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดหรือคําสั่งให้ลดโทษฉบับหลังสุดและเหลือโทษจําคุกต่อไปไม่เกิน 4 ปีกรณีต้องโทษจําคุกหลายคดีให้ใช้กําหนดโทษจําคุกรวมทุกคดี
ผ่านการจําแนกลักษณะผู้ต้องขังจากคณะทํางานจําแนกลักษณะผู้ต้องขังประจําเรือนจําเพื่อกําหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (sentence plan) หรือทบทวนแผนการปฏิบัติโดยนักโทษเด็ดขาดสมัครใจในการออกไปคุมขังในสถานที่อื่นแทนเรือนจํา
มีผลการประเมินความเสี่ยงตามแบบประเมินความเสี่ยงในการกระทําผิดซ้ำของผู้ต้องขังก่อนได้รับการปล่อยตัว (Offender Risk Assessment : OA) อยู่ในระดับความเสี่ยงค่อนข้างน้อยหรือความเสี่ยงน้อย
แต่สังคมกำลังจับตาว่า ระเบียบถูกเตรียมการไว้เพื่อใครบางคน แม้ว่า คนตัวเล็กตัวน้อยอาจจะได้รับอานิสงส์จากระเบียบนี้ไปด้วยก็ตาม คนที่ถูกพูดถึงก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี และหลบหนีออกไปนั่นเอง โดยศาลระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ลงโทษจำคุก 5 ปี
ซึ่งสอดรับการที่ทักษิณ ประกาศว่าสงกรานต์ปีนี้ยิ่งลักษณ์จะกลับมาเมืองไทย โดยอ้างว่า ความผิดของยิ่งลักษณ์นั้นเป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งไม่ได้ถูกระบุไว้เป็นลักษณะต้องห้ามของการบังคับใช้ระเบียบนี้ส่วนการที่มีโทษจำคุกเกิน 4 ปีนั้นมีความเชื่อกันว่า หากยิ่งลักษณ์กลับมาแล้วขอพระราชทานอภัยโทษก็อาจจะได้รับการพิจารณาพระราชทานอภัยลดโทษแบบทักษิณก็ได้
แต่อย่าลืมว่ายิ่งลักษณ์ไม่ได้มีความผิดเพียงมาตรา 157 แต่ยิ่งลักษณ์มีความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย ผมคิดว่า โดยหลักการแล้วการทุจริตคดโกงแผ่นดินควรจะเป็นลักษณะต้องห้ามที่จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ระเบียบการคุมขังนอกคุก แต่เชื่อไหมว่า การทุจริตไม่ได้เป็นลักษณะต้องห้าม นั่นคือว่า ถ้าศาลตัดสินทุจริตก็อาจจะได้รับการคุมขังที่บ้านได้
ถามว่าแล้วอย่างนี้คนโกงชาติแผ่นดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอำนาจเส้นสายคอนเนกชันอยู่แล้วจะไปกลัวการทุจริตแล้วจะถูกจับกุมขังไหม เพราะขนาดมีการขังในคุกหรือเรือนจำจริงๆคนทุจริตคดโกงชาติก็ยังไม่กลัวเลย
ส่วนตัวผมคิดว่า ระเบียบการคุกขังนอกคุกนั้น ควรจะถูกใช้กับคนที่ยังไม่มีการพิพากษาด้วยโดยควรจะต้องยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่ว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี
นั่นคือคนที่ยังไม่มีคำพิพากษาไม่ควรจะถูกนำตัวไปขังในเรือนจำร่วมกับผู้ที่มีคำพิพากษาแล้ว เราคงได้เห็นตัวอย่างมาหลายคดีแล้วว่า คดีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนั้น สุดท้ายแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง คนเหล่านั้นก็ถูกรอนสิทธิไป โดยไม่อาจจะเรียกคืนได้ แม้รัฐจะชดใช้เยียวยาให้บางส่วนก็ตาม แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปนั้นมหาศาล
คนเหล่านี้แหละที่ควรใช้มาตรการการคุมขังนอกคุกหรือกักตัวที่บ้าน แต่เชื่อไหมว่า ระเบียบที่กำลังจะออกนี้ คนที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่รัฐธรรมนูญบอกว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นนั้น กลับเป็นลักษณะต้องห้ามของระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนี้ โดยระบุลักษณะต้องห้ามคือ ถูกขังระหว่างพิจารณาอยู่ระหว่างถูกดําเนินคดีหรือเจ้าพนักงานตํารวจมีหนังสือขออายัดตัว
ตลกไหมครับศาลยังไม่ตัดสินว่ากระทำผิดเลย กลับไม่สามารถใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำได้ทั้งที่สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่คนที่ศาลตัดสินให้จำคุกแล้วและเข้าหลักเกณฑ์เท่านั้นที่ใช้ระเบียบกักขังนอกคุกที่กำลังจะออกมาได้
ผมไม่ได้คัดค้านระเบียบนี้นะครับ แต่ถ้าระเบียบนี้ถูกบังคับใช้อย่างเที่ยงธรรมและกำหนดสิทธิ์คนที่ควรได้รับอย่างเป็นธรรม มีความเท่าเทียม มีความยุติธรรม ไม่เลือกชั้นวรรณะผมก็ยินดีจะสนับสนุน แต่ระเบียบนี้กลับระบุด้วยว่า ผู้ดูแลสถานที่คุมขังต้องมีความพร้อมทั้งในด้านการจัดการสถานที่คุมขังการเงินและเวลาส่วนตัวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมราชทัณฑ์กําหนด สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรหรือครับ ก็คนรวยเท่านั้นที่มีความพร้อมที่จะเข้าเงื่อนไขนี้ คนจนไม่มีทางที่จะเข้าระเบียบนี้ได้เลย
ก็รอดูว่าระเบียบนี้จะผ่านออกมาใช้ได้จริงไหม แล้วสุดท้ายใครจะได้ประโยชน์มันจะช่วยลดการแออัดในเรือนจำได้จริงๆหรือ และประเด็นสำคัญที่หลายคนตั้งคำถามทุกวันนี้คือ มาตรการของราชทัณฑ์ในการลดโทษนั้น กำลังจะอยู่เหนืออำนาจของศาลไปแล้ว เพราะศาลตัดสินจำคุกไปไม่กี่ปีก็จะได้รับการพักโทษออกมา
ส่วนถ้าระเบียบนี้ถูกใช้กับยิ่งลักษณ์ตามที่ทักษิณซึ่งกำลังยิ่งใหญ่คับประเทศประกาศเอาไว้แล้วว่าจะกลับมาเล่นสงกรานต์ในเมืองไทยปีนี้ มันก็จะเป็นบทพิสูจน์สังคมไทยว่าจะอดทนกับความไม่เท่าเทียมกันของกระบวนการยุติธรรมเหมือนที่เกิดขึ้นกับทักษิณที่ไม่ได้รับโทษแม้แต่วันเดียวไหม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan