xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน หลักฐานทางโบราณคดีรอบทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ทะเลสาบสงขลาแบ่งเป็น 3 ตอนคือทะเลสาบ ทะเลหลวงและทะเลน้อย เหมาะแก่การกำบังเรือ การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะลแสดงให้เห็นว่าระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 จนถึง 20 บริเวณนี้มีชุมชนอยู่หนาแน่นและเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลกับฉวนโจวในประเทศจีน ชื่อยาวสันสกฤตของเมืองนี้ที่หายไปเหลือแต่ชื่อสั้นๆว่าสิงหปุระ (เมืองสิงห์) ไม่ใช่สิงคโปร์ และกลายเป็นสทิงพระที่คำว่าสทิง สเต็งหรือ สตัง ในภาษามอญ-เขมรที่แปลว่าแม่น้ำลึก และคำว่า ปุระ ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า เมือง [Stargardt 2001: 320-321] ซากเมืองโบราณที่สทิงพระอยู่ทางเหนือจากอ.เมืองสงขลาประมาณ 2-3 กิโลเมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีถึงปีพ.ศ.2543 ทำให้ทราบว่าชุมชนโบราณสทิงพระเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ มีป้อมปราการที่มีคูเมืองล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมรอบกำแพงอิฐที่ใช้หินเป็นฐานรากแล้วก่ออิฐขึ้นไป เป็นการผสมผสานระหว่างชุมชนเกษตรกรรมและชาวน้ำ มีเครื่องมือโลหะและมีระดับเทคโนโลยีค่อนข้างสูงจนเป็นสังคมเมืองรับอารยธรรมจีน อินเดีย ชวา มลายู มีระบบคูคลองที่ซับซ้อนเชื่อมทะเลสาบสงขลากับทะเลเพื่อให้เดินเรือรอบได้ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542; Jacq-Hergoual’ch 2002: 411-416] จะเห็นได้ว่าราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 มีเมืองเกิดขึ้นที่สทิงพระและเขาหัวแดงในยุคศรีวิชัย ในพุทธศตวรรษที่ 18-19 มีชุมชนกระจายไปทั่วทะเลสาบสงขลาตรงกับที่จูฟ่านจิ้อ เต้าอี้จาจื้อ และอี้หยู่จื้อบันทึกไว้ว่ามีเมืองพัทลุง ซึ่งมีสทิงพระเป็นศูนย์กลางต่อเนื่องไปจนถึงยุคตามพรลิงค์ที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท

ภาพแผนที่ทะเลสาบสงขลา จากเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
โบราณสถานใน อ.สทิงพระและเขาหัวแดง อ.เมือง โดยที่สทิงพระอาจจะเคยเป็นเมืองในสมาพันธรัฐศรีวิชัยก็เป็นได้ เพราะขุดค้นพบศิลปะศรีวิชัยได้เป็นจำนวนมาก มีโบราณวัตถุฮินดูที่บ้านโคกทอง โบราณวัตถุคล้ายควนลูกปัดที่กระบี่ อ.สทิงพระ น่าจะมีชุมชนโบราณประมาณ 1700 ปีแล้ว มีภาษาสันสกฤตตัวอักษรปัลวะ ฮินดู-มหายาน เครื่องถ้วยแบบราชวงศ์ถัง มีพระพุทธรูปศิลาร่วมสมัยกับพนมที่ปากแม่น้ำโขงและพระโพธิสัตว์ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งน่าจะมีคนอพยพมาจากปากแม่น้ำโขง ทวารวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและเกาะชวาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวเมืองนับถือพุทธเถรวาท มหายานและฮินดู เพราะในเขตคลองสทิงหม้อมีการค้นพบโบราณวัตถุ พระพิมพ์แบบทวารวดีและชวา (ราชวงศ์ไศเลนทร์) ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชาวเมืองนับถือฮินดู มีโบราณวัตถุสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ที่วัดพะโคะ ถ้ำคูหา เช่นแท่นศิวลึงค์ ฐานโยนี ในแนวสันทรายประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงรับเอาพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากตามพรลิงค์ในสมัยศรีวิชัยตอนปลายราชวงศ์เมาลิร่วมสมัยกับจูฟ่านจิ้อ เต้าอี้จาจื้อ และอี้หยู่จื้อ มีเครื่องกระเบื้องสมัยราชวงศ์ถัง-หมิง ปฏิมากรรมพุทธและฮินดู มีการพบรูปเทวีตาราที่ ต.กระดังงา บ่อคานสทิงพระ มีการค้นพบวัตถุชวาตะวันออกในทะเล อ.สิงหนคร-สทิงพระ พุทธศตวรรษที่ 15-16-17 โบราณวัตถุสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ที่ป่าเว โบราณวัตถุสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-16 ที่พังพระบนคาบสมุทรสทิงพระ และมีเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมคลองโอ (ปะโอ) ผลิตกุณโฑและกุณฑี (Kendi) ไปขายที่เมืองอื่นในแหลมมลายู สุมาตรา ชวา ลังกาและฟิลิปปินส์ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]

โบราณสถานในอ.ระโนด จ.สงขลา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีคนนับถือพุทธมหายานและฮินดูอพยพเข้ามา มีเทวรูปพระวิษณุสวมหมวกแขกที่วัดเฉียง และยังมีโบราณวัตถุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 เช่นพระโพธิสัตว์ (ระยะเดียวกับตามพรลิงค์) ที่วัดสีหยัง วัดเจดีย์งาม วัดเฉียงพง บ้านเฉียง พังยาง อ.ระโนด อู่ตะเภา อ.ระโนด เป็นต้น และโบราณวัตถุก่อนศรีวิชัยสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]

โบราณสถานในอ.สิงหนคร มีการค้นพบโบราณวัตถุของฟูนันและจามปาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 พบเทวรูปโลกนารถสมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 15-16 ที่อ.เมืองสงขลาพบโบราณวัตถุที่คาบสมุทรบริเวณวัดขนุน พุทธศตวรรษที่ 15-16 ในคลองสทิงหม้อ เตาผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมคลองปะโอ พุทธศตวรรษที่ 16-17 ยุคตามพรลิงค์ [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]

ใน อ.เมือง จ.พัทลุงมี เขาอกทะลุ วัดคูหาสวรรค์ ต.คูหาสวรรค์ ในอ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มีการค้นพบพระพิมพ์ดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ที่ ต.ควนมะพร้าว มีการค้นพบพระพิมพ์พุทธศาสนามหายานในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นเขตพุทธศาสนาแบบเถรวาทแห่งแรก (พระพุทธรูปพิชมนที่บันทึกในเต้าอี้จาจื้ออาจจะอยู่ที่นี่) และเป็นสถานที่สำคัญที่สุดมีการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากเช่นถ้วยชามในสมัยถังและซ่ง โบสถ์พราหมณ์ ซากศิวลึงค์ โยนี ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 13-18 ตามเพลานางเลือดขาว ซึ่งเป็นยุคที่ศรีวิชัยปกครองเมืองดินแดงต่อเนื่องมาจนเปลี่ยนเป็น มาถึงในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 เมืองสทิงพระมีความสัมพันธ์กับตามพรลิงค์อีกตามบันทึกจูฟ่านจื้อ เต้าอี้จาจื้อ ต้าเต๋อหนานไห่จื้อ ต่อมาแตกเป็นพัทลุงและสงขลา และได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาจากนครศรีธรรมราชจึงปรับวิหารฮินดูและมหายานเป็นวัดเถรวาทโดยที่ทางชายฝั่งทะเลสาบฟากพัทลุงเกิดชุมชนเมืองใหญ่น้อยนับถือพุทธเถรวาทมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเขียนบางแก้ว [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]แต่ยังอยู่ใต้อาณัติศรีวิชัยของราชวงศ์เมาลิที่จัมบิบนเกาะสุมาตราอยู่จากจูฟ่านจื้อ ในนามพุท-ลา-อันหรือพัทลุงนั่นเองและกลายเป็นคู่แข่งของสทิงพระ แต่จริงๆแล้วสทิงพระน่าจะย้ายไปอยู่พัทลุงเพราะจูฟ่านจื้อไม่ระบุชื่อสทิงพระหรือสงขลา

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการฝ่ายประมวลผลเอกสารและจดหมายเหตุในคระกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. 2542. “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น:ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ภาคใต้.” รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย.

Jacq-Hergoual’ch, Michel 2002. The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. Leiden: EJ Brill.

Stargardt, Janice. 2001. Behind the Shadows: Archeological Data on Two-Way Sea Trade between Quanzhou and Satingpra, South Thailand, 10th-14th Century. Vol. 49, In Angela Schottenhammer. The Emporium of the World: Maritime Quanzhou, 1000-1400, 309-393. Leiden: EJ Brill.



กำลังโหลดความคิดเห็น