“โผนายพลเล็ก” ป่วน! “ตั๋วการเมือง” ว่อน ทำบัญชีแต่งตั้งไม่เป็นไปตาม กม.ตำรวจฯ มีแค่ “ภาค 7” ที่ออกหลักเกณฑ์ถูกต้อง หวั่นโดนร้อง ม.157 หาก ก.ตร.หลับหูหลับตาเคาะ “นายกฯอิ๊งค์” ที่นั่งหัวโต๊ะเสี่ยงผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย
รายงานข่าวจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ตร.ในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) - ผู้บังคับการ (ผบก.) ยศ พล.ต.ต. วาระประจำปี 2567 หรือ “โผนายพลเล็ก” ที่ถูกขยายเวลาแต่งตั้งข้ามมาถึงปี 2568 โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม
โดยการพิจารณาโผนายพลเล็กในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 81 (1) (ก) ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ตร. เพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมในการคัดเลือก หรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบช.-ผบก. ก่อน และมาตรา 78 (4) ให้ ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) เสนอแนะ โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับกองบัญชาการ (บช.) ที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามที่กำหนดในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในครั้งนี้กำหนดจะมีการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 9 ม.ค.68 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้พบว่า ไม่มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้กับคณะกรรมการระดับ บช.เป็นหลักปฏิบัติให้ชัดแจ้งว่า จะพิจารณาในเรื่องความรู้ความสามารถอย่างไร แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เคยปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนาย หรือเด็กฝากซึ่งไม่มีผลงานได้รับเลือกให้เลื่อนตำแหน่ง ในทางปฏิบัติจึงใช้วิธีส่งตั๋วฝากมาให้คณะกรรมการระดับ บช.ต้นสังกัดจัดเรียงตามที่ตั๋วระบุ ที่เหลือเนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติให้ชัดแจ้งเป็นแนวทางเดียวกันจึงเป็นเรื่องของแต่ละ บช.ที่จะดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการจัดเรียงตามอาวุโสเป็นหลักทั้งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติเช่นนั้น หากมีผลงานดีเด่นก็อาจมีการขยับลำดับเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้มีผลให้อยู่ในลำดับก่อนตั๋วฝากที่จะจัดอยู่ในลำดับแรกๆ ซึ่งการที่ไม่กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางดังกล่าวจึงเป็นการเปิดช่องว่างของการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอำเภอใจ ทั้งที่มาตรา 88 บัญญัติให้ ก.ตร. ออกกฎ ก.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจไว้ให้ชัดเจนแน่นอน แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการพิจารณากลั่นกรองเมื่อวันที่ 3 ม.ค.68 ปรากฎว่ามีเพียงบัญชีเสนอแต่งตั้งในส่วนของ กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 (บช.ภ.7) ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนนการพิจารณาตามหลักอาวุโส ประสบการณ์ ผลการปฏิบัติงาน และความเหมาะสม ตลอดจนเชิญผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการแต่งตั้งนำเสนอผลงาน และแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อให้เกิดมาตรฐานไม่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เพราะมีการกำหนดค่าคะแนนของแต่ละด้านอย่างชัดเจนเป็นไปตามหลักคุณธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 และ พ.ร.บ.ตำรวจฯ มาตรา 82 ที่บัญญัติให้การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ผบก.-รอง ผบช. ให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่งตามลำดับอาวุโสก่อนร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือจากนั้นจึงแต่งตั้งโดยคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยในการพิจารณาความรู้ความสามารถ ให้คำนึงถึงประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับจากการให้บริการของข้าราชการตำรวจประกอบด้วย
ซึ่งในส่วนอาวุโสร้อยละ 50 นั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนตามจำนวนปีที่ครองตำแหน่ง แต่ในส่วนการพิจารณาบัญชีแต่งตั้งในส่วนความรู้ความสามารถ ปรากฏว่า บช.อื่นๆ ส่วนใหญ่ ต่างใช้หลักดุลพินิจตามอำเภอใจ ไม่มีหลักเกณฑ์อันเป็นธรรมหรือตรวจสอบได้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เป็นการจัดทำบัญชีตามที่ฝ่ายการเมือง หรือตั๋วการเมือง ฝากเข้ามา ทำให้เกิดช่องว่างให้มีการเสนอชื่อนายตำรวจที่ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่เป็นเด็กฝากกลับได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในลำดับต้นจนได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อผู้ได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดจากการที่ ก.ตร.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางให้คณะกรรมการระดับ บช.ได้ดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส เพราะเมื่อเป็นข้าราชการตำรวจเหมือนกันก็ควรได้รับการคัดเลือกที่มีมาตรฐานและเป็นธรรมในระดับเดียวกัน ดังนั้น ในการประชุมเพื่อพิจารณาของ กต.ร.จึงมิได้ต่างกับการรับรองผลไม้จากต้นไม้มีพิษ ที่นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องมิอาจปฏิเสธความรับผิดได้
โดยต้องจับตาดูว่า ก่อนถึงการประชุม ก.ตร. ในวันที่ 9 ม.ค.68 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ตร.จะแก้ไขปัญหา โดยสั่งการให้ ตร.ดำเนินการออกหลักเกณฑ์และแนวทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อนแล้ว จึงดำเนินการคัดเลือกใหม่หรือไม่
แหล่งข่าวระดับสูงใน ตร.ระบุว่า ในช่วงที่เกิดนิติสงครามเช่นปัจจุบัน เชื่อว่าหากมีการเสนอบัญชีแต่งตั้งชุดนี้ให้ที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบ ก็อาจถูกร้องเรียนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานการประชุม ก.ตร. ก็อาจถูกร้องเรียนว่าเข้าข่ายความผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย
ทั้งนี้ การแต่งตั้งนายตำรวจระดับรอง ผบช.-ผบก. วาระประจำปี 2567 ครั้งนี้มีตำแหน่งรอง ผบช.ว่าง 41 ตำแหน่ง และ ผบก.ว่าง 75 ตำแหน่ง รวม 116 ตำแหน่ง และคาดว่าจะมีโยกย้ายในระนาบเดียวกันอีกราว 20-30 ตำแหน่ง ทำให้บัญชีแต่งตั้งทั้งหมดจะอยู่ที่ราว 130-140 ตำแหน่ง.