สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 3ปีแล้ว ส่อเค้าให้เห็นว่ารัสเซียกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบและจะได้ชัยชนะในที่สุด อันเห็นได้จากท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้นจากฝ่ายยูเครนและสหรัฐฯ+นาโต ถึงขนาดส่งสัญญาณให้รัสเซียว่าขอยอมยกดินแดนให้รัสเซีย 20% ของพื้นที่ทั้งหมดแลกกับข้อตกลงหยุดยิง
คงจะไม่มีใครอธิบายสาเหตุของชัยชนะที่รออยู่ข้างหน้าของรัสเซียได้ดีไปกว่า พ.ท. (เกษียณแล้ว) Alex Vershinin แห่งกองทัพสหรัฐฯ ผู้มีประสบการณ์การทำงานแนวหน้า 10 ปีในเกาหลี อิรัก และอัฟกานิสถาน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก่อนเกษียณ เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การสร้างแบบจำลองกลยุทธ์การศึกสงครามให้กับนาโตและกองทัพสหรัฐฯ
ในบทความ The Attritional Art of War : Lessons from the Russian War on Ukraine พันโทเวอร์ชินนิน อธิบายว่ารัสเซียประสบความสำเร็จในปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน เพราะว่ารัสเซียใช้วิธีการสงครามที่ยืดเยื้อ ที่เน้นการใช้กองกำลังเป็นหลัก และทำการโจมตีกองทัพยูเครน และสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องโดยไม่รีบเร่ง หรือคำนึงถึงกาลเวลาจนกว่าศัตรูจะถูกทำลายหมดจากการสูญเสียบุคลากร ยุทโธกรณ์และขวัญกำลังใจที่ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้
ในศิลปะสงครามที่ยืดเยื้อนี้ พันโทเวอร์ชินนิน ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสงครามเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการยึดครองพื้นที่ จะเห็นได้ว่ารัสเซียไม่วอกแวก แต่มีสมาธิตั้งมั่นในการมุ่งทำลายกองทัพยูเครนให้สิ้นซาก เพราะว่าการยึดครองพื้นที่ต้องใช้กำลังพลมาก และไม่มีประโยชน์ถ้าหากกองทัพยูเครนยังไม่ได้ถูกทำลาย เนื่องจากยูเครนรวบรวมกำลัง หรือสะสมอาวุธใหม่เพื่อย้อนกลับมาตีโต้ได้ตลอดเวลา
รัสเซียมีความพร้อมในสงครามที่ยืดเยื้อมากกว่ายูเครนเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมทางทหาร ที่สามารถทดแทนการสูญเสียในสนามรบได้ ทั้งกำลังคนและอาวุธ มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความลึกมากเพียงพอที่จะแบกรับความพ่ายแพ้ที่มาเป็นระลอกๆ และมีเงื่อนไขทางเทคโนโลยีที่สามารถสกัดการเคลื่อนกำลังพลที่รวดเร็วของฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายที่ยอมรับธรรมชาติของการสงครามที่ยืดเยื้อ และมุ่งเน้นไปที่ทำลายกองกำลังของข้าศึกมากกว่าการยึดครองพื้นที่จะมีโอกาสที่จะได้ชัยชนะมากกว่า
ในขณะเดียวกัน ยูเครนใช้กลยุทธ์ของสงครามที่เน้นการช่วงชิงดินแดน และต้องการเผด็จศึกให้เร็วที่สุด พร้อมกับการใช้สื่อประโคมข่าวว่ารัสเซียกำลังย่ำแย่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงยูเครนมีสายป่านไม่ยาวเท่ากับรัสเซีย ทั้งกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมทางทหาร ฐานะทางเศรษฐกิจก็เทียบกับรัสเซียไม่ได้ ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ยูเครนไม่สามารถยืนบนขาตัวเองได้ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ และนาโตเกือบจะทั้งหมด
ความจริงสหรัฐฯ และนาโตรู้ดีว่ายูเครนไม่มีทางเอาชนะรัสเซียได้ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายที่แท้จริงของสงครามตัวแทนยูเครนคือทำให้รัสเซียอ่อนแอลง โดยคาดหวังว่าในที่สุดรัสเซียจะล่มสลายจากภายใน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของยูเครน ทั้งโลกได้รับรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตะวันตกต้องการให้ยูเครนรบกับรัสเซียจนถึงทหารคนสุดท้าย และขณะนี้สหรัฐฯ และอังกฤษกำลังพยายามกดดันให้ยูเครนลดอายุการเกณฑ์ทหารลงจาก 25 ปีเป็น 18 ปี เพราะว่ายูเครนสูญเสียทหารกว่าล้านคนแล้ว ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บพิกลพิการ ส่วนรัสเซียสูญเสียทหารไป 80,000 กว่าคน แต่ในปีที่แล้วสามารถระดมพลผ่านแคมเปญอาสาสมัครที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่สูง ทั้งเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ ทำให้ชาวรัสเซียลงทะเบียนอาสาไปรบที่ยูเครนมากถึง 430,000 คน
รัสเซียให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการสงครามมากกว่ากลยุทธ์การสงคราม จึงมีการแต่งตั้งให้ นายAndrey Belousov เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่นักการทหารโดยอาชีพ แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ตัวยง ที่สามารถวางแผนสงครามในเชิงยุทธศาสตร์ได้ในระยะยาว โดยมีเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน อุตสาหกรรมการทหาร ระบบดูแลสวัสดิการทหาร การรักษาพยาบาลทหารที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายทางทหารที่ต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด บนพื้นฐานเศรษฐกิจของรัสเซียที่พึ่งพาการส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก
พันโทเวอร์ชินนิน แนะนำตะวันตกว่า ถ้าหากต่อไปต้องทำสงคราม ควรคำนึงถึงศิลปะการทำสงครามที่ยืดเยื้อ มากกว่าสงครามเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการยึดครองดินแดน ตามประวัติศาสตร์แล้ว ตะวันตกมักที่เลือกใช้วิธีการสู้รบที่แตกหักในระยะสั้น โดยผู้ใดที่แข็งกว่าก็มีชัยไปเลย ยกตัวอย่างเช่นการสร้างแบบจำลองสงครามไต้หวันของ CSIS ที่ให้กรอบเวลาของการสู้รบเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ความเป็นไปได้ที่สงครามจะยืดเยื้อยาวนานกว่านั้นไม่ได้อยู่ในการพิจารณา ในขณะเดียวกันสงครามที่ยืดเยื้อจะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด ทั้ๆ ที่ในความเป็นจริงในสงครามที่รบพุ่งกันระหว่างมหาอำนาจที่ใกล้เคียงกันจะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ เนื่องจากมีทรัพยากรด้านบุคลากรทางทหาร และยุทโธปกรณ์มากมายที่สามารถทดแทนส่วนที่สูญเสียได้ไปในระยะแรกของสงคราม แต่เมื่อความขัดแย้งลากยาวสงครามจะตัดสินด้วยเศรษฐกิจ ไม่ใช่ด้วยกองทัพ
พันโทเวอร์ชินนิน อธิบายว่า ฝ่ายที่จะมีชัยในสงครามต้องตระหนักถึงยุทธศาสตร์ของสงครามที่ยืดเยื้อ เพื่อที่จะทำให้ทรัพยากรของศัตรูร่อยหรอลงไปจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด ในขณะที่สามารถรักษาทรัพยากรของตนเองได้ วิธีการที่จะแพ้สงครามยืดเยื้อที่เร็วที่สุดคือการใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีค่าในการครอบครองพื้นที่ เพื่อเป้าหมายระยะสั้น การทำสงครามที่ยืดเยื้อเป็นศิลปะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการได้ชัยชนะ โดยที่ไม่ประสบกับความสูญเสียจนกู่ไม่กลับ
เมื่อรัสเซียอยู่ในฐานะได้เปรียบในสมรภูมิ อำนาจการต่อรองของการหยุดยิง หรือแผนสันติภาพจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของรัสเซียที่กำหนดขึ้นมา ไม่ใช่ฝ่ายยูเครน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นผู้กำหนด เพราะว่าถ้าหากเจรจากันไม่รู้เรื่อง รัสเซียก็จะเดินหน้าทำสงครามต่อไป จนยูเครนไม่เหลือทหารในสนามรบแม้แต่คนเดียว ถึงตอนนั้นยูเครนจะล่มสลายโดยสมบูรณ์
จะเห็นได้ว่าแม้รัสเซียจะถูกยั่วยุหรือถูกล้ำเส้นแดงไม่รู้กี่เส้น ไม่ว่าจากการที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ อังกฤษยิงลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย การส่งกองกำลังเข้าไปในแคว้นเคิร์สค์ของรัสเซีย การใช้โดรนโจมตีในดินแดนรัสเซีย การลอบสังหารนายพลรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนการวิจัยอาวุธชีวภาคในยูเครน การเข้าไปร่วมสงครามโดยตรงของทหารนาโตหรือทหารต่างชาติเพื่อช่วยยูเครนรบ แต่รัสเซียก็ไม่แสดงอาการสะทกสะท้านแต่อย่างใด เพียงแค่ใช้คำพูดแรงในการขู่กลับเท่านั้น แทนที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรงแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้ที่มีความคิดความอ่านที่สุขุม รอบคอบ และลึกซึ้งมุ่งหน้าทำสงครามที่ยืดเยื้อเพื่อที่จะทำลายกองทัพยูเครนอย่างเดียวโดยไม่วอกแวก เมื่อกองทัพยูเครนถูกทำลายจนหมดสิ้น ยูเครน สหรัฐฯ และนาโตจะสิ้นท่าไปเอง ถึงตอนนั้นรัสเซียจะเรียกร้องหรือตั้งเงื่อนไขอะไรก็ได้