หลายคนบอกว่าปีใหม่นี้การเมืองจะร้อนแรงเศรษฐกิจจะย่ำแย่กว่าเก่า ทั้งคนที่ดูจากดวงดาวและคนที่วิเคราะห์จากข้อมูล ผมจำได้ตั้งแต่เด็กว่า พอสิ้นปีมักจะมีคำพูดว่า ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง พูดกันอย่างนี้มาตั้งแต่เข้าทำงานหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2526 แต่เราก็ผ่านมาได้จนถึงปีนี้ 2568 แล้วผมก็ยังทำงานหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม คำพูดนี้ก็ยังคงอยู่ สุดท้ายแล้วมันก็คงจะผ่านไปแล้วพบกับปีใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่โลกยังไม่หยุดหมุน หรือโลกยังหมุนอยู่แต่วันเวลาของเราสิ้นสุดลง
อาชีพอื่นก็ว่ากันไป แต่ปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสำหรับสื่อแน่ๆ สื่อสิ่งพิมพ์นั้นก็น่าจะรอดยากแล้ว เดี๋ยวนี้แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐก็ยังไม่มีเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาเลย คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แขกส่งหนังสือพิมพ์กำลังจะตกงาน แผงหนังสือที่ขายหนังสือพิมพ์ก็หายากเต็มทน ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็พิมพ์กันจำกัดยอดไม่ให้มากจนเกินไป เพราะเป็นที่รู้กันว่า ราคาขายนั้นถูกกว่าต้นทุน ยิ่งพิมพ์มากยิ่งขาดทุนมาก เพียงแต่เมื่อก่อนมียอดโฆษณามาค้ำจุนเท่านั้นเอง
ผมคลุกคลีกับโรงพิมพ์มาตั้งแต่เด็ก เคยฝึกเรียงตัวตะกั่ว และตอนเลิกเรียนก็ต้องช่วยอาที่ทำกิจการโรงพิมพ์ช่วยแจกตัวตะกั่วกลับเข้าช่องของมันซึ่งต้องใช้ฝีมือและความจำ โตผ่านระบบแท่นพิมพ์ที่ใช้บล็อก มาเป็นการใช้กระดาษปรู๊ฟแก้วซีร็อกซ์แบบกลับด้าน ผ่านการทำงานแบบปะอาร์ตเวิร์ก มาถึงการใช้คอมพิวเตอร์ที่สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นคนริเริ่มในเมืองไทย จนมาถึงยุคที่โซเชียลมีเดียครองเมือง และสื่อกลายเป็นอาชีพที่ใครก็เป็นได้
ตอนนี้สื่อทุกค่ายวิ่งหาโซเชียลมีเดียกันหมด แต่ผมคิดว่าสื่อออนไลน์หรือคนที่วิ่งเข้าไปหาโซเชียลมีเดียก็ใช่ว่าจะรอดทุกคน หากยังเป็นรูปแบบของกองบรรณาธิการขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม สงครามกองโจรเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะ และเมื่อใครก็เป็นสื่อได้ ก็จะเกิดผู้ตั้งตนเป็นผู้ครองแคว้นต่างๆ มากมายแข่งกันผลิตสื่อทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ มีทั้งความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่รับผิดชอบต่อสังคม คอนเทนต์ขยะจึงมีอยู่เต็มเมือง ก็เป็นเรื่องที่คนรับข่าวสารจะใช้วิจารณญาณกันเองว่าจะเลือกเสพสื่อแบบไหน
สื่อแบบเก่าที่มีกรอบของจรรยาบรรณ มีกองบรรณาธิการและบรรณาธิการในการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์ในอดีต ปัจจุบันก็ใช่ว่า จะได้รับความเชื่อถือ เพราะสื่อต้องแข่งกันด้วยความเร็วเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด สุดท้ายก็ต้องผลิตสื่อที่สังคมชอบเสพ เพื่อให้ขายได้มียอดไลค์ยอดคนดูในโซเชียลมีเดีย สุดท้ายสื่อมวลชนอาชีพก็ต้องไปแข่งกับบรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ที่ยกระดับเป็นผู้นำทางสังคมหรืออินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า “สื่อเอกชน” ที่มีบทบาทและอิทธิพลมากกว่า “สื่อมวลชน” เข้าไปทุกวัน
ในอดีตมีความพยายามจะให้สื่อตรวจสอบควบคุมจรรยาบรรณกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในอดีตเคยตรวจสอบสื่อค่ายมติชน เขาก็ประกาศลาออกเสีย เมื่อยุคนี้ต่างคนต่างเป็นสื่อ ใครก็เป็นสื่อได้ จึงไม่ต้องคิดเลยว่าจะตรวจสอบกันอย่างไร ทำไม่ได้แน่นอน ความรู้สติปัญญา การไตร่ตรองและการคิดวิเคราะห์แยกแยะการรับข่าวสารของคนเสพสื่อเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือป้องกันตัวเอง
สื่อทุกค่ายจึงต้องทำเหมือนกันหมดคือการจัดอีเวนต์เพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัว ก็เป็นการหาเงินที่สุจริตนะครับ ค่ายผู้จัดการก็ทำ ในการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการจัดงานแล้วเชิญผู้มีองค์ความรู้ในแขนงต่างๆมาเป็นวิทยากรซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าทำจนมากไปก็ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องพึ่งพาอำนาจทางการเมือง เพราะเม็ดเงินเหล่านี้อยู่ในหน่วยราชการ องค์กรรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้นักการเมือง แต่บางสื่อบางค่ายก็จัดอีเวนต์กันถี่ยิบแทบจะเดือนต่อเดือน
ในวงการสื่อปัจจุบันมีคำหนึ่งเกิดขึ้นมาไม่นานคือคำว่า Advertorial ถามว่า Advertorial คืออะไร เป็นคำผสมระหว่าง “Advertisement” (โฆษณา) และ “Editorial” (บทความบรรณาธิการ) ดังนั้น Advertorial จึงเป็นรูปแบบของการโฆษณาที่ซ่อนเนื้อหาไว้ในบทความที่ผู้อ่านไม่รู้ว่ามีเนื้อหาโฆษณาอยู่ด้วยจนกว่าจะอ่านบทความจบ ถามว่า ผิดไหมก็ไม่ผิดนะครับ เพียงแต่มันต้องมีที่อยู่ของมันให้ชัดเจนว่านี่คือ พื้นที่ข่าว นี่คือพื้นที่ Advertorial และส่วนใหญ่ในอดีตจะมีการแยกกองกันทำระหว่างคนทำข่าวที่เรียกว่ากองบรรณาธิการ และกอง Advertorial สมัยก่อนเรียกว่า Supplement แต่ปัจจุบันก็เข้าใจว่าส่วนใหญ่ก็จะปนเปกันไป เพียงแต่ตอนเราทำงานต้องแยกร่างตัวเองให้ได้ว่ากำลังทำหน้าที่อะไร
แต่ที่แปลกมากวันนี้ก็คือ หนังสือพิมพ์บางฉบับเอา Advertorial มาขึ้นเป็นข่าวหน้า 1 บางฉบับเป็นข่าวนำเลย และทำบ่อยมาก บางฉบับเรานึกว่าเป็นข่าวการเมือง แท้จริงแล้วเป็นข่าว Advertorial ที่โปรโมตนักการเมืองนั่นเอง ลองไปสังเกตหนังสือพิมพ์ค่ายนั้นดูอย่าให้ผมเอ่ยชื่อเลย ที่จัดงานอีเวนต์เกือบทุกเดือนนั่นแหละ
ผมคิดว่าต่อไปเรื่องแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องปกติ สื่อของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีสิ่งพิมพ์แต่เป็นเพจรุ่นใหม่ค่ายใหม่ก็เหมือนกัน บรรณาธิการคนรุ่นใหม่บางคนที่ยกย่องเชิดชูว่าเก่งกาจจะให้เขามาสัมภาษณ์เราก็ต้องจ่ายเงินหลายแสนบาทเป็นค่าตัว คนที่อยู่ในวงการธุรกิจรู้ดีว่า ต้องมีสแตนดาร์ดขนาดไหนจึงจะออกสื่อค่ายนี้ได้ และพวกเขาทำ Advertorial ได้เนียนกว่าคนที่เป็นสื่อรุ่นเก่ามาก คืออ่านจบแล้วยังไม่รู้เลยว่า นี่มันเป็นเนื้อหาโฆษณาที่เขาหลอกให้เราอ่าน
ถ้าติดตามข่าวคราวปีที่ผ่านมาสื่อทุกค่ายต่างประสบภาวะวิกฤตที่ต้องประคับประคองตัวให้อยู่รอดเพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคนต้องตกงาน เพราะหลายค่ายต้องลดเงินเดือนลดคนลง ทุกค่ายต้องรัดเข็มขัดเพื่อให้อยู่รอด แม้จะได้เงินชดเชยคนละจำนวนหนึ่งที่พอจะยังชีพอยู่ได้สักพัก แต่ก็ไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป หลายคนอายุมากแล้วก็ยากจะหางานทำได้ ไปอยู่ค่ายอื่นก็ไม่มีใครรับ แม้จะมีคนพยายามออกไปสร้างเพจข่าวขึ้นมาถ้าไม่มีนายทุนหนุนหลังก็อยู่ยาก และถ้านายทุนไม่แข็งพอก็อยู่ไม่นาน นอกจากนายทุนที่มีเงินมากและเงินที่ใช้เป็นเพียงเศษเงิน
บางคนใช้ทักษะการเป็นสื่อเก่ามาสร้างรัฐอิสระเป็นเจ้าครองนครที่ผมเรียกว่า สื่อเอกชน สร้างเพจเพื่อหวังรายได้จากช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จทุกคน เพราะแก่เกินไปไม่เท่าทันตลาด ไม่เท่าทันคนรุ่นใหม่ที่ความเชี่ยวชาญจัดเจนกว่า เอาว่าคนที่ทำสำเร็จมีน้อยมาก ยิ่งคนที่ยึดติดกับวิชาชีพจรรยาบรรณแบบสื่อรุ่นเก่าแล้วก็ยิ่งอยู่ยาก
ปีใหม่ 2568 ก็เริ่มต้นรำพันถึงวิชาชีพพร้อมกับปลอบใจตัวเองไปด้วย ในฐานะคนหนึ่งที่ทำงานสื่อมาทั้งชีวิตตั้งแต่เป็นนักเรียนช่วยเขาทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วยซ้ำไป ก็หวังว่าพวกเราจะยังอยู่รอดปลอดภัยไปอีกปี
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan