xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลไทย เชื่อมั่นใน “เส้นมัธยะ” ตามแผนที่ของพระบรมราชโองการฯ สมัยรัชกาลที่ 9 จริงหรือ? / ณ บ้านพระอาทิตย์ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2567 นายนพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวตั้งคำถามว่า กรณี MOU 2544 ประชาชนจะเชื่อใครระหว่างนายสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะ กับ กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ

ความจริงแล้วประชาชนชาวไทย โดยทั่วไปก็ควรจะเชื่อข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมากกว่า เพราะน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้สูงด้านการต่างประเทศมากที่สุด แต่ก็ต้องรำลึกและตระหนักเอาไว้เสมอว่า ความบกพร่องหรือผิดพลาดของกระทรวงการต่างประเทศที่ผ่านมาได้ทำให้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศควรจะฟังเสียงประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างให้มากขึ้นหรือไม่?

  อย่าลืมว่าเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ประเทศไทยแพ้ต่อคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่จำใจต้องยก “ปราสาทพระวิหาร” ให้กัมพูชา โดยอาศัยกฎหมายปิดปากที่ประเทศไทย “ไม่ได้ปฏิเสธ” แผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1904 ทั้งๆ ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนหน้าผาสันปันน้ำของฝ่ายไทยตามธรรมชาติ รวมถนนทางขึ้นตัวปราสาทก็อยู่ที่ฝั่งไทย

 อย่าลืมว่าเมื่อปี พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาที่ยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่บนแผ่นดินให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จนศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินเหมือนกันว่า เป็นแถลงการณ์ร่วมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

คำถามมีอยู่ว่านายนพดล ปัทมะ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกในประเทศไทยที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วยังจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในความเห็นทุกวันนี้ได้ถูกต้อง จริงหรือไม่?

 และอย่าลืมอีกด้วยว่าเมื่อปี พ.ศ.2556 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทรวงการต่างประเทศ แทนที่จะปฏิเสธการตีความใหม่ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่กลับตัดสินใจยอมรับอำนาจการตีความของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงเลือกเข้าไปชี้แจงในเวทีดังกล่าวนี้ และส่งผลทำให้ไทยเสียดินแดนเพิ่มเติมให้กับกัมพูชา

โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้พิพากษาตีความเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ให้กัมพูชาเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย  “เหนือพื้นที่รอบๆ” ตัวปราสาทพระวิหาร อันตั้งอยู่ตรงชายแดนติดต่อกับประเทศไทยด้วย
จึงมีคำถามที่ตามมาว่าระหว่างภาคประชาชน กับรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยที่ได้เพลี่ยงพล้ำและเสียท่าให้เขมรมาโดยตลอด เราควรจะเชื่อการตัดสินใจและเชื่อมั่นแบบเดิมๆ อยู่หรือไม่?


ความเชื่อมั่นแบบเดิมๆ ที่ว่า เราเป็นประเทศที่มีอารยธรรม เคารพองค์กรระหว่างประเทศ ต่อสู้แบบนักตำราสุภาพบุรุษ และกลับสู้ประเทศกัมพูชาไม่ได้ อีกทั้งยังชนะสติปัญญาข้าราชการและนักการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะที่นายนพดล ปัทมะ กำลังพยายามอธิบายถึงข้อดีของ MOU 2544 ให้คนไทยเชื่อว่า

  1.MOU 2544 เป็นเพียงแค่กรอบการเจรจา
2.MOU 2544 ฝ่ายกัมพูชาขีดเส้นไหล่ทวีปผิดกฎหมายทะเลสากล
3.MOU 2544 ฝ่ายไทยยึดมั่นเส้นไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 


คำถามคือถ้าเป็นไปดังที่พยายามอธิบายให้คนไทยเข้าใจตามนี้จริง แล้วจะมีคำอธิบายอย่างไรในคำปาฐกถาของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ในฐานะผู้ลงนามใน JC 2544 ที่รับรอง MOU 2544 และเป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ตรงกันว่า

 “ฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างคนต่างขีดเส้นไหล่ทวีป หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้แบ่งผลประโยชน์กัน”

โดยนายทักษิณ ชินวัตร ถึงกับระบุลึกไปกว่านั้นว่า ตัวเลขผลประโยชน์คือ “แบ่งกัน 50:50”

ไหนที่ว่าเป็นแค่กรอบการเจรจาที่ฝ่ายกัมพูชาขีดเส้นไหล่ทวีปผิดกฎหมายทะเลสากล?

ไหนว่าฝ่ายไทยยึดมั่นเส้นไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9?

เพราะถ้าฝ่ายไทยยึดถือตามพระบรมราชโองการจริงแล้ว จะมีการแบ่งผลประโยชน์ได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อนกันเป็นพื้นที่ของฝ่ายไทยฝ่ายเดียวตามพระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9

ทั้งนี้ อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เป็นกฎหมายทะเลสากลที่ทั้งราชอาณาจักรไทยและประเทศกัมพูชา ต่างได้ยึดถือในการอ้างการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปของตัวเอง

  โดยฝ่ายกัมพูชาได้ประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2515 โดยอ้าง “เส้นเล็ง”จากยอดเขาของเกาะกูดเพื่อหาหลักเขตแดนบนชายฝั่งระหว่างไทยกัมพูชาที่ปรากฏใน “แผนที่แนบท้าย” ในสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1907 เป็นสิทธิทางประวัติศาสตร์ ยกระดับกลายเป็นเป็นเส้นไหล่ทวีป เมื่อปี พ.ศ.2515

ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2544 ฝ่ายไทยได้ “รับรู้” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาฉบับปี พ.ศ.2515 อย่างเป็นทางการ และ “ไม่ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเส้นนี้ ปรากฏตาม “แผนที่” ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544)

ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยซึ่งได้รับบทเรียนราคาแพงจากการสูญเสียปราสาทพระวิหารในเวทีศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 จึงได้ “ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ด้วยการประกาศเส้นไหล่ทวีปของไทยโดยอาศัยพระบรมราชโองการเมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่ใช้หลัก “เส้นมัธยะ” ซึ่งทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของทั้งสองแต่ละรัฐ หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นคือเส้นที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดของฝ่ายไทย และเกาะกงของกัมพูชา


ดังนั้น การแสดงออกของกัมพูชาจะไม่มีทางสำเร็จได้ ด้วยเพราะแม้จะเป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 แต่ก็ได้ปรากฏข้อความในแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส บ่งบอกถึงสถานภาพว่าเส้นดังกล่าวเป็นเพียง “เส้นเล็ง” จากยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด เพื่อหาหลักเขตแดนทางบก เพื่อจะนำไปสู่การแสวงหาและกำหนดเส้นเขตแดนทางบกต่อไปเท่านั้น

ดังนั้น “เส้นเล็ง” จะไม่มีทางเป็น “เส้นเขตไหล่ทวีป” ได้เลย ตราบใดที่ฝ่ายราชอาณาจักรไทย “ไม่ตกลงกันเป็นอย่างอื่น” ก็จะต้องยึดถือ “เส้นมัธยะ”เพียงหลักการเดียว ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชายึดถือ

โดยข้อ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 บัญญัติเอาไว้ว่า

 “...1.ในกรณีที่ฝั่งทะเลของรัฐทั้งสองอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกัน ถ้าไม่มีความตกลงระหว่างกันเป็นอย่างอื่น รัฐใดรัฐหนึ่งของทั้งสองรัฐไม่มีสิทธิที่จะขยายทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะ ซึ่งทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของทั้งสองแต่ละรัฐ 

  อย่างไรก็ดี มิให้ใช้บทแห่งวรรคนี้ในกรณีที่เป็นการจำเป็นโดยเหตุสิทธิแห่งประวัติศาสตร์ หรือพฤติการณ์พิเศษอย่างอื่นในอันที่จะกำหนดทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองในทางที่แตกต่างไปจากบทนี้...”

ในขณะเดียวกัน ข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 บัญญัติเอาไว้ว่า

 1.ในกรณีที่ไหล่ทวีปเดียวกันตั้งอยู่ประชิดกับอาณาเขตของรัฐทั้งสองหรือมากกว่า ซึ่งมีฝั่งทะเลอยู่ตรงกันข้าม เขตแดนของไหล่ทวีปที่เป็นของรัฐเช่นว่านั้นจะกำหนดโดยความตกลงระหว่างกัน หากไม่มีการตกลงกัน และนอกจากว่าพฤติการณ์พิเศษจะทำให้เป็นการสมควรที่จะใช้เส้นเขตแดนอื่น เขตแดนนั้นได้แก่เส้นมัธยะ  ซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ 

2.ในกรณีที่ไหล่ทวีปเดียวกันตั้งอยู่ประชิดกับอาณาเขตของรัฐสองรัฐซึ่งประชิดกัน เขตแดนของไหล่ทวีปจะกำหนดโดยความตกลงระหว่างกัน หากไม่มีการตกลงกัน และนอกจากว่าพฤติการณ์พิเศษจะทำให้เป็นการสมควรที่จะใช้เส้นเขตแดนอื่น เขตแดนนั้นจะกำหนดขึ้นโดยการใช้หลักระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ“
ความหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่  ”หากไม่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น“ หรือ ”พฤติการณ์พิเศษที่จะทำให้ใช้เส้นเขตแดนอื่น“  จะต้องใช้หลักการของ ”เส้นมัธยะ“ เพียงหลักการเดียว

แม้ว่าในเวลาต่อมาราชอาณาจักรไทยได้มีการลงนามสัตยาบันและยึดถือมูลฐานตามที่กำหนดในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) เมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นกฎหมายทะเลที่พัฒนาไปมากขึ้น แต่ภายใต้หลักการที่ว่า “ถ้าไม่ตกลงกันเป็นอย่างอื่น” ก็ต้องยึดหลัก “เส้นมัธยะ” เหมือนเดิมอยู่ดี

ดังปรากฏหลักฐานในข้อ 15 อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) บัญญัติเอาไว้ว่า

“ข้อ 15 การกำหนดขอบเขตของทะเลอาณาเขตระหว่างรัฐซึ่งมีฝั่งทะเลอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกัน

ในกรณีฝั่งทะเลของรัฐสองรัฐอยู่ตรงกันข้ามหรือประชิดกัน ถ้าไม่มีความตกลงระหว่างกันเป็นอย่างอื่น รัฐใดรัฐหนึ่งของสองรัฐนั้นย่อมไม่มีสิทธิจะขยายทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะ ซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นมัธยะนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองแต่ละรัฐ

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติข้างต้นนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่มีความจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุผลแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์ หรือสภาวการณ์พิเศษอย่างอื่นในอันที่จะกำหนดขอบเขตของทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองในลักษณะที่แตกต่างไปจากบทบัญญัตินี้“

กล่าวโดยสรุปได้ว่าหากจะมี “ข้อยกเว้น” โดย ”ไม่ยึดหลักเส้นมัธยะ“ อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 จะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ประการแรก คือมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น หรือมีการตกลงกันด้วยเส้นเขตแดนอย่างอื่น

ประการที่สอง คือเรื่องสิทธิทางประวัติศาสตร์

ประการที่สาม คือมีสถานการณ์พิเศษอย่างอื่น

 MOU 2544 จึงทำให้ราชอาณาจักรไทยได้สูญเสียจุดแข็งที่สุดในประเด็นที่ว่า “ถ้าไม่ตกลงกันเป็นอย่างอื่นจะต้องยึดหลักเส้นมัธยะเท่านั้น” มากลายเป็นมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่อาจไม่ใช่เส้นมัธยะก็ได้

 MOU 2544 กำลังทำให้ราชอาณาจักรไทยเสียเปรียบ เพราะฝ่ายไทย “ไม่ได้ปฏิเสธ” การลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ส่งผลทำให้เป็นการไม่ปฏิเสธการยกฐานะเส้นเล็งในแผนที่แนบท้าย สนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ไปโดยปริยาย


จะมาอ้างไม่ได้ตามที่นายนพดล ปัทมะ แถลงข่าวว่า ฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เพราะประเด็นมันไม่ใช่คำว่า ”ยอมรับ“ แต่ฝ่ายไทย ”รับรู้โดยไม่ปฏิเสธ“ ทำให้ยกฐานะเส้นเล็งกลายเป็น ”เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา” ขึ้นมาท้าชิงกับ “เส้นมัธยะ”ของฝ่ายไทย

โดยเฉพาะหากมีการพิพาทกันขึ้น !!!

เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่ได้ปฏิเสธเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา อาจเข้าข่ายการถูกตัดสินโดยชาติอื่นโดยกฎหมายปิดปากหากมีข้อพิพาท ว่าภายใต้ MOU 2544 ราชอาณาจักรไทย “ไม่เคยปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่อ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ ถึงปี 2567 คิดเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 23 ปี

เมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการตัดสินโดยองค์อื่นๆ ภายใต้กรอบการเจรจาตาม MOU 2544 เช่นการยั่วยุ ด้วยสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชาจากเกาะกงยื่นเข้ามาในอ่าวไทย หรือการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐแล้วสร้างหมู่บ้านเขมรหรืออ้างว่าเป็นแคมป์คนงานเขมรด้านทิศใต้บนแผนดินของเกาะกูดซ้ำรอยการสร้างตลาดเข้ามาในดินแดนฝ่ายไทยรอบปราสาทพระวิหาร

หากเมื่อไหร่มีการปะทะกันก็จะต้องนำขึ้นสู่เวทีศาลระหว่างประเทศศาลใดศาลหนึ่ง เราก็ต้องยกการพิพาทตาม MOU 2544 ให้ชาติอื่นตัดสินจริงหรือไม่?

ถึงเวลานั้น ก็มี 2 เส้นที่ให้ชาติอื่นตัดสินใจว่า จะเลือก “เส้นมัธยะ” ตามที่ฝ่ายไทยยึดถือ หรือ “เส้นเขตแดนอื่น”ที่กัมพูชาอาศัยสิทธิตาม MOU 2544 ซึ่งอาจทำให้มีการตีความได้ว่าฝ่ายไทย “ไม่ปฏิเสธ” สิทธิทางประวัติศาสตร์ที่กัมพูชายกฐานะจากเส้นเล็งจากแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1907 ขึ้นมาเป็นเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ฝ่ายไทยรับรู้และไม่ปฏิเสธตาม MOU 2544

ถึงตอนนั้นยังจะมั่นใจอยู่ต่อไปได้อีกหรือไม่ว่าฝ่ายไทยสามารถะเอาชนะในเวทีของศาลระหว่างประเทศศาลใดศาลหนึ่ง และถ้าแพ้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

เพราะฝ่ายไทยที่เคยอ้างว่ามีคนเก่งมีความรู้มากความสามารถในกระทรวงการต่างประเทศได้เคยแพ้มาแล้ว 2 ครั้งกับเขมร โดยได้สูญเสียปราสาทพระวิหารครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2505 และสูญเสียพื้นที่เพิ่มเติมรอบปราสาทพระวิหารจากการตีความของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2556 ก็จากกฎหมายปิดปากนี่แหละที่ฝ่ายไทย “ไม่ได้ปฏิเสธแผนที่” ของกัมพูชา

ยังไม่นับว่าในสมัยที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจต่างประเทศ ก็มีประวัติไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทยมาแล้วด้วย

อย่าคิดว่าไทยและกัมพูชามีสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพราะกัมพูชากำลังสร้างสิ่งปลูกสร้างจากเกาะกงยื่นเข้ามาในอ่าวไทยเพื่อหวังจะเปลี่ยน “เส้นมัธยะ” ให้ใกล้เคียงกับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชามากที่สุด จริงหรือเปล่า?

หากเกิดข้อพิพาทกันรุนแรงเมื่อไหร่ก็จะมีชนชาติอื่นมาตัดสินว่าจะยึดถือเส้นใด ระหว่างเส้นมัธยะของไทย กับ เส้นที่อ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ภายใต้การไม่ปฏิเสธตาม MOU 2544 ถึงตอนนั้นใครจะกล้ารับผิดชอบ?

โดยเฉพาะภายใต้ MOU 2544 นั้น ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างได้ยึดถือการเจรจาแบ่งเป็น 2 พื้นที่ กล่าวคือ

ส่วนพื้นที่ส่วนบน คือ พื้นที่สำหรับการเจรจา “เส้นเขตแดน” ทางทะเลเฉพาะเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยระบุว่า การเจรจาเส้นเขตแดนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไปนั้น จะต้องเป็นไปตาม อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 กินพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร

ประเด็นนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจากเดิมถ้าไม่มี MOU 2544 ไทยและกัมพูชาก็ต้องปฏิบัติตาม อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958  ข้อ 12 คือยึดหลักเส้นมัธยะเพียงอย่างเดียว มากลายเป็นเส้นเขตแดนอื่นได้ด้วยตาม MOU 2544

เพราะถ้าไม่มี MOU 2544 ทั้งไทยและกัมพูชาก็ต้องมาเจรจากันภายใต้เส้นมัธยะเท่านั้น ส่วนเส้นมัธยะระหว่างไทยกัมพูชาจะแตกต่างกันแค่ไหน ฝ่ายไทยก็ไม่มีพื้นที่ซึ่งเสียเปรียบมากเท่ากับ MOU 2544

ส่วนพื้นที่ส่วนล่าง คือ พื้นที่สำหรับการเจรจา “พื้นที่พัฒนาร่วม” ทางทะเลเฉพาะเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยระบุว่า การเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ซึ่งมีพื้นที่มากถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร ไม่ต้องเจรจาเขตแดนกันแล้ว

คำถามมีอยู่ว่า ใครเป็นคนอนุญาตให้เกิดการยอมรับพื้นที่พัฒนาร่วมที่อ้างว่าเกิดการทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชาใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตาม MOU 2544 ถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร โดยแตกต่างอย่าสิ้นเชิงจากพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย พ.ศ. 2516 ที่ได้อาศัย “เส้นมัธยะ”

ดังนั้นกับคำถามที่ว่าควรจะเชื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะ หรือจะเชื่อกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศนั้น ควรต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ไม่เชื่อตามพระบรมราชโองการประกาศเส้นไหล่ทวีป สมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2516

ดังนั้นใครก็ตามกล้าหาญตอบอย่างไม่ถูกต้องตามที่ภาคประชาชนสอบถาม แล้วเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ทะเลของราชอาณาจักรไทย ขอให้ตระหนักรับรู้ในใจเสมอว่านอกจากจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังจะต้องให้ประวัติศาสตร์ชาติไทยบันทึกชื่อและตระกูลคนเหล่านั้นไปชั่วลูกชั่วหลานให้ได้จดจำสืบไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น