xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงชั้น 14 ใต้อำนาจ ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



กรณี ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการสอบข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 12 ราย เอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณไม่ต้องถูกขังในเรือนจำโดยมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 6 เดือนที่ต้องโทษก่อนจะได้รับการพักโทษนั้น กำลังเป็นที่จับตาของประชาชนว่า จะจบลงอย่างไร

ตอนนี้ทั้ง 12 คนถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และในจำนวน 12 คน ผมไม่คิดว่าจะมีความผิดทุกคนนะครับ ผมคิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการบางคนอาจจะทำไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ณ เวลานั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

และสงสัยว่าทำไมหนึ่งในจำนวนผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ปรากฏชื่อของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งตามกฎหมายอยู่ในกระบวนการที่ต้องรับรู้การส่งตัวนักโทษไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำเป็นเวลานานด้วย

ที่น่าสนใจก็คือว่า หากข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจะส่งผลอย่างไรต่อทักษิณ เขาจะต้องกลับเข้าไปติดคุกใหม่หรือไม่ แม้ว่าการนำตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำจะมีระเบียบที่สามารถทำได้ ความผิดของเจ้าหน้าที่ก็ผิดไปแต่ไม่เกี่ยวกับตัวทักษิณก็จริง แต่กำลังมีผู้ไปร้องว่า การใช้ระเบียบเพื่อส่งตัวทักษิณไปนอนที่เรือนจำนั้นชอบหรือไม่ด้วย

เพราะกฎหมายวิอาญามาตรา 246 นั้นระบุว่า “เมื่อจำเลยสามีภริยาญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควรศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไปในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์และ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปีและจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น”

ถ้าดูตามมาตรา 246 ที่ยกมาก็ชัดเจนว่าการนำตัวทักษิณซึ่งอ้างได้ตาม (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุกนั้นชัดเจนว่าต้องให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อน แต่สิ่งที่กรมราชทัณฑ์ใช้ก็คือกฎกระทรวงการส่งผู้ต้องหาไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งออกในสมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

กฎกระทรวงนี้ออกมาตามวรรคสองของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์มาตรา 55 ระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว

แต่เมื่อทักษิณไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือโรคติดต่อ จึงไม่สามารถใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ส่งตัวทักษิณไปรักษานอกเรือนจำได้ ต้องขออนุญาตจากศาลตามกฎหมายวิอาญา มาตรา 246 เท่านั้น ก็รอดูว่าเมื่อมีผู้ไปร้องต่อศาลแล้วศาลจะพิจารณาว่าอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในคืนที่ทักษิณเข้าเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่าเมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่านายทักษิณซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรคมีอาการนอนไม่หลับแน่นหน้าอกวัดความดันโลหิตสูงระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำแล้วอ้างว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพแพทย์ จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม

ตอนที่เข้าไปนอนในโรงพยาบาลตำรวจแล้วอ้างว่ามีการผ่าตัดทักษิณ 2 ครั้ง การผ่าตัดครั้งแรกนั้นเราไม่รู้หรอกว่าผ่าตัดอะไรจึงต้องนอนพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลนานเป็นเดือน จนกระทั่งครบ 2 เดือนก็อ้างผ่าตัดใหม่อีกครั้งโดยแพทองธารลูกสาวบอกว่าผ่าตัดรูที่หัวไหล่ 4 จุดเพราะตอนนั้นถ้าอยู่เลย 2 เดือนจะต้องขอความเห็นจากอธิบดีและจากแพทย์ผู้รักษาการอ้างว่าผ่าตัดดังกล่าว จึงทำให้ทักษิณสามารถนอนอยู่ในโรงพยาบาลได้ต่อและสุดท้ายทักษิณก็พักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 6 เดือน ซึ่งผิดกับวิสัยของคนที่เข้ารักษาตัวกับโรงพยาบาลทั่วไป

หลังทักษิณออกจากคุกแล้ว ทักษิณสามารถไปไหนมาไหนได้ปกติ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือล่องใต้ เล่นกีฬาที่หักโหมอย่างกอล์ฟ แม้มีความพยายามจะขออนุญาตศาลว่าจะเดินทางไปหาหมอที่ต่างประเทศ แต่ศาลไม่อนุญาต ก็ไม่ปรากฏเลยว่า เมื่อไม่ได้รับอนุญาต ทักษิณไปหาหมอคนอื่นที่เมืองไทยไหม

มันเป็นเหตุที่ทำให้ตั้งข้อสงสัยได้เลยว่า ทักษิณมีอาการป่วยถึงขนาดที่ว่าจริงหรือ หรือถ้าแค่มีอาการอย่างที่ว่าในตอนต้น ทำไมโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ถึงไม่สามารถจะรักษาได้เอง แล้วจริงๆ ศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้นมีแค่ไหน

เวลานี้ก็อยู่ในมือของ ป.ป.ช.แหละครับว่า สามารถสอบสวนแล้วสร้างความกระจ่างให้กับสังคมไหม เพราะหลังจากทักษิณได้รับการพักโทษออกมาจากคุกจนถึงวันนี้ ทักษิณไม่แสดงให้เห็นถึงอาการป่วยจวนตายจนต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 6 เดือนเลย คนที่มีอาการป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขนาดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้นเอง

และแม้ว่าทางกรมราชทัณฑ์จะอ้างว่า มีนักโทษหลายรายที่ถูกส่งตัวมานอกเรือนจำไม่ใช่มีเพียงทักษิณคนเดียว ป.ป.ช.ก็ต้องสอบสวนให้ได้ว่า คนที่กรมราชทัณฑ์อ้างว่า ถูกส่งตัวมานอกเรือนจำเช่นเดียวกับทักษิณนั้นพวกเขาป่วยด้วยโรคอะไรมีอาการแบบเดียวกับทักษิณหรือคนเหล่านั้นอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ซึ่งถ้าดูกรณีของทักษิณไม่น่าจะถึงขนาดนั้น

ไม่รู้หรอกว่า การสอบสวนของ ป.ป.ช.ผลจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคมอย่างมีเหตุมีผลและมีคำอธิบายที่ยอมรับได้ว่า เจ้าหน้าที่และข้าราชการทั้ง 12 รายที่ถูกสอบสวนนั้นผิดหรือไม่ผิดอย่างไร เพราะจะเป็นความเชื่อมั่นขององค์กรที่มีหน้าที่สอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบของสังคมไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยทุกขั้นตอนนั้นอยู่ในภาวะวิกฤตศรัทธามาก

ผมได้สัมผัสกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของ ป.ป.ช.มาไม่น้อยในการเข้าเรียนหลักสูตร นยปส.ของสำนัก ป.ป.ช. ผมยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานส่วนใหญ่ที่ผมได้สัมผัสนั้นล้วนแล้วแต่มีความมุ่งมั่นและมีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่ยากที่จะทรยศต่อภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง แต่ก็เป็นที่รู้กันและว่า ทุกองค์กรย่อมจะมีคนดีและไม่ดี ผมก็ได้แต่หวังว่า คณะกรรมการไต่สวนชุดนี้ที่ถูกตั้งขึ้นจะสามารถสร้างความกระจ่างให้สังคมไม่ว่าจะพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวทั้ง 12 คนผิดหรือถูกก็ตาม

แม้ว่าวันนี้ทักษิณจะแสดงออกให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่โอหังมมังการยิ่งกว่าสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง หรือใครจะพูดว่า วันนี้ทักษิณเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงหรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่เบื้องหลังลูกสาวของเขา และวันนี้ทักษิณสามารถดีลกับชนชั้นนำของสังคมไทยก็ไม่อาจจะทำให้การสอบสวนเพื่อหาความจริงถูกบิดพลิ้วไปได้

ป.ป.ช.จะต้องตอบสังคมให้กระจ่างและเกิดความเชื่อถือไม่สร้างวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไรก็ตาม
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น