xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน จากรักตมฤติกาสู่ พัทลุงและสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

รักตมฤติกาหรือเมืองดินแดงที่เรียกในภาษาจีนยุคนั้นว่าเซียก-ทั่ว (赤土จื้อ-ถู) หรือในภาษามลายูว่า ทนาห์ เมราห์ เป็นอาณาจักรโบราณที่บันทึกในประวัติศาสตร์จีน พงศาวดารสุยชู้เรียกนครที่ล้ำหน้าแห่งนี้ว่าเซียก-ทั่วในปีพ.ศ.1150 เมื่อส่งฉางจุ้นเป็นทูตไปเมืองนี้ ที่ตั้งของเมืองนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อาจอยู่ที่รัฐกลันตันหรือปาหังในมาเลเซียซึ่งดูจากการเดินเรือ 10 วันไปจามปา แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีรอบทะเลสาบสงขลา และบริเวณเขาหัวแดงที่มีดินสีแดงสนับสนุนที่ตั้งของเมืองนี้มากกว่าบริเวณแม่น้ำกลันตัน ศิลาจารึกพุทธคุปตะที่เคดาห์กล่าวถึงรักตมฤติกาที่แปลว่าเมืองดินแดง เมืองนี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการเป็นครั้งแรกเมื่อฆรุนเฟลด์ (Groeneveldt) นักจีนวิทยาชาวดัตช์ได้ระบุชื่อเมืองนี้เป็นภาษาอังกฤษจากการแปลเอกสารจีนในปีพ.ศ.2419 และเอเวย์ เดอ แซงต์-เดอนีส์ (Hervey de Saint-Denys) ได้ระบุชื่อเมืองนี้จากการแปลเหวินเซี่ยนถงเข่าของหม่าต้วนหลินเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2426

ในอาณาบริเวณรอบทะเลสาบสงขลาน่าจะมีกลุ่มชุมชนโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบเช่น อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.เมือง จ.สงขลา รอบเขตทะเลสาบร่วมสมัยกับตามพรลิงค์และลังกาสุกะ และเขาหัวแดงน่าจะเป็น หรือรักตมฤติกาที่แปลว่าดินแดง โบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องกระเบื้องถูกค้นพบมากในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระที่อยู่ระหว่างจ.นครศรีธรรมราชกับจ.สงขลา สทิงพระ ในระยะแรกนับจากพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่เริ่มติดต่อกับโลกภายนอกผู้คนอาจจะเริ่มอพยพมาจากพนมตรงปากแม่น้ำโขงได้นำอิทธิพลศาสนาฮินดูมาจากพนมเข้ามาด้วยตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารสุยชู้มีการค้นพบพระพุทธรูป เทวรูป พระโพธิสัตว์ที่คล้ายกับของพนมในพุทธศตวรรษที่ 12 ที่พังแฟม บ้านจะทิ้งพระ เขตวัดธรรมโคตร ทางน้ำแถวคลองสทิงหม้อ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์โคตมะจากคันธารีแถวปาเล็มบังในเกาะสุมาตราตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารเหลียงชู้ อาจนำชาวเลอพยพมาที่เมืองดินแดงมาปกครองและขยายอิทธิพลตามที่บันทึกเอาไว้ในพงศาวดารสุยชู้ ในระยะที่ 2 ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-17 มีร่องรอยของมหายานและฮินดูและศิลปะแบบศรีวิชัย ไม่พบร่องรอยชุมชนโบราณเพราะชาวบ้านอาจอาศัยอยู่ในบ้านไม้บนแพแบบที่ปาเล็มบัง มีพังพระหน้าถ้ำคูหา ติดเขาพะโคะและวัดพะโคะ ในระยะที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา มีชุมชนโบราณตั้งขึ้นตามสันทรายรอบทะเลสาบ มีซากวัดวาอารามในยุคสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ตามแบบพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ชุมชนตั้งขึ้นบนเกาะที่กลายมาเป็นคาบสมุทรสทิงพระมาก่อนมีลักษณะที่สอดคล้องกับที่พงศาศาวดารสุยชู้บรรยายเอาไว้ พงศาวดารสงขลาและพัทลุงเป็นเอกสารในยุคหลังที่กล่าวถึงเมืองในบริเวณนี้

หลักฐานที่บ่งชี้ถึงเมืองดินแดงก่อนยุคศรีวิชัย
ผู้บังคับเรือชื่อพุทธคุปตะสลักจารึกตามแบบพุทธศาสนามหายานในพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นภาษาสันสกฤตพบที่เซอเบรัง เปไรที่ฝั่งตรงข้ามเกาะปีนัง [Suzuki 2012: 93] ซึ่งอธิบายถึงสถูปทรงกลมสวมด้วยฉัตร 7 ชั้นกล่าวว่าได้เดินเรือจากรักตมฤติกา (ดินแดงหรือเซียก-ทั่ว)โดยขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองในการเดินทาง โดยเขาเดินเรือมาจากรักตมฤติกาทางชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูมุ่งหน้าไปสิงคโปร์แล้วเลี้ยวขวาขึ้นไปทางเหนือในช่องแคบมะละกาแล้วอาจจะพบสภาพอากาศที่เลวร้ายเลยจอดที่เคดาห์แล้วสลักจารึกก่อนที่จะเดินเรือไปต่อ ดังนั้นเมืองดินแดงนี้จึงควรมีชื่อว่ารักตมฤติกาตามที่เคอร์นได้สันนิษฐานเอาไว้

วาดะ ฮิซะโนริได้ศึกษาบรรณานุกรมของ ชินถังซู้ ซ่งสือ ถงจื้อและฉงเหวินจงมู่ และพบข้อความข้างต้นเรื่องการเดินทางสู่ดินแดนป่าเถื่อนในทะเลใต้ของต้าซี่ (達奚) เขียนเป็นบันทึก 1 ม้วนและอธิบายย่อๆเกี่ยวกับทะเลใต้และวาดะพบรายละเอียดในหนังสือหยูไห่ว่าหนังสือเล่มนี้ได้เขียนในศักราชซ่างหยวน พ.ศ.1217-1218 เขียนไว้ดังนี้

達奚通《海南諸蕃行記》一卷書目云:西南海諸蕃行記一卷,唐上元中,唐州刺史達奚●通撰。●通以大理司直使海外,自赤土至䖍郍,凡經三十六國,略載其事
แหล่งที่มา Wada 1950


ต้าซี่เป็นผู้ว่าของถังโจวได้เดินทางไปต่างประเทศในสมัยที่ดำรงตำแห่งในศาลต้าหลี่ โดยไป 36 เมืองตั้งแต่เซียกทั่วถึงเกียนนาและอธิบายเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ว่ามีอยู่ก่อนการก่อตั้งศรีวิชัย จากเอกสารหยูไห่ (玉海หรือทะเลหยก) ต้าซี่ทูตจีนเดินทางมาแวะที่รักตมฤติการะหว่างปีพ.ศ.1217-1218 [Wada 1950] ซึ่งหมายความว่าจีนยังติดต่อกับเมืองนี้ในสมัยราชวงศ์ถังหลังจากที่ฉางจุ้นมาเมืองนี้ในสมัยราชวงศ์สุยในปีพ.ศ.1150-1153 (จะกล่าวถึงในสัปดาห์ต่อไป) ดังนั้นเมืองนี้ไม่ได้หายไปจากเอกสารจีนตามที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เข้าใจ เซเดส์กล่าวว่าธรรมเนียมในราชสำนักเป็นแบบศาสนาพราหมณ์ซึ่งไม่ต่างจากยุคหลังในภูมิภาคนี้แต่เป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการดี ร่ำรวยด้วยทองและกษัตริย์มักจะสละราชสมบัติเพื่อบวชพระในบั้นปลายชีวิต การแต่งงานทางการเมืองกับเมืองข้างเคียงเป็นเรื่องปกติ ประชาชนของรักตมฤติกาสร้างกำแพงป้องกันตัวเองไม่เหมือนกับปัน-ปัน พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์อยู่ร่วมกันและมีการวาดรูปพระโพธิสัตว์บนกำแพง [Munro-Hay 2001]

เอกสารอ้างอิง

Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Bangkok: White Lotus.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Wada Hisanori 和田久徳. 1950. “唐代の南海遣使 [A Chinese Embassy to the Southern Seas Countries in the Middle of Seventh Century].” Toyo Gakuho 东洋学报 (The Journal of the Research Department of the Toyo Bunko) 33 (1): 64–74.



กำลังโหลดความคิดเห็น