xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน สายบุรีเมืองบริวารของลังกาสุกะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

เมืองสายบุรีตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายบุรีเป็นเมืองบริวารของลังกาสุกะ เมืองสายบุรี น่าจะก่อตั้งในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อปรากฏในเอกสารจีนในชื่อชา-ลี่ (沙里) ในต้าเต๋อหนานไห่จื้อและเต้าอี้จื้อเลื่อย ฮิคายัต ในแผนที่เม่าคุ้นของเจิ้งเหอเรียกว่า ซีกัง (西港) หรือท่าเรือตะวันตก ชาวปัตตานีเรียกเมืองนี้ว่าเมืองสาย (Negeri Sa) มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า ตะลูบัน (Taluban) หรือ ตะลูแบ (Telubae) หรือ (Selindung Bayu) มีพรมแดนติดกับพัทลุงและนครศรีธรรมราช บทกวีนครเขตร์คามกล่าวว่าสายบุรีก่อตั้งประมาณปีพ.ศ.1908 ที่น่าจะเก่ากว่าปัตตานี แผนที่เม่าคุ๊นในอู๋เป่ยจื้อ กล่าวถึงปากแม่น้ำสายบุรี อ่าวปัตตานีและลังกาสุกะว่าตั้งอยู่ระหว่างกลันตันกับลังกาสุกะและเป็นแหล่งไม้จันทน์แดง [Bougas 2004] ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช บทกวีนครเขตร์คามและฮิกายัต ปัตตานี กล่าวว่าสายบุรีเป็นเมืองท่าสำคัญอันดับ 2 รองจากปัตตานีในพุทธศตวรรษที่ 22-23 ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชน่าจะเขียนขึ้นในราวปีพ.ศ.2193 [Bougas 2004] ในเอกสารจูฟ่านจื้อ สือหลินกว๊างจี๊ ต้าเต๋อหนานไห่จื้อ เต้าอี้จื้อเลื่อย นครเขตร์คามที่ร่วมสมัยมากกว่ายังไม่มีคำว่าปัตตานี การที่ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงปัตตานีทำให้น่าสงสัยในความถูกต้องแม่นยำ

ตำนานเจ้าเมืองกอตอ (Tawarikh Raja Kota) กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของกอตอว่าอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสายบุรี ห่างจากชายฝั่งทะเล 40 กิโลเมตร ที่อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ต้นฉบับมาจากคุณเสนีย์ มะดากะกุล อดีตสส.นราธิวาสผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นหลานปู่ของฮายี อับดุล รออุฟ บิน มูฮัมมัด ดาฆัง อาฆง (Haji Abdul Rauf Bin Muhammad Dagang Agung) ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงต้นฉบับซึ่งถูกทำลายไปในปีพ.ศ.2506 กล่าวว่าปัตตานีช่วยกรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราชต่อสู้กับมะละกา มีแม่ทัพชาวปัตตานีชื่อโต๊ะ อาฆง (Tok Agung) นำทหารปัตตานีมาฝึกที่แม่น้ำตันหยง (Tanjong River) ในอ.มายอ จ.ปัตตานี ตำนานนี้กล่าวว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยาและปัตตานีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้เจ้าเมืองปัตตานีและรามันเดินทางไปพบสุลต่านมะละกา หลักฐานทางฝั่งไทยและมาเลเซียบอกว่ากรุงศรีอยุธยาโจมตีมะละกาในปีพ.ศ.1988 และ พ.ศ.1999 ส่วนหลักฐานโปรตุเกสกล่าวว่ามีการโจมตีครั้งที่ 3 ระหว่างปีพ.ศ.2040-2044 แต่หลักฐานทั้ง 3 ฝ่ายไม่มีใครกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของปัตตานีในสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับมะละกา แต่เซอจาราห์มลายูกล่าวว่าโกตามะลิฆึย์ส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าสุลต่านมาห์มูด ซยาห์ ที่มะละกา ตำนานนี้กล่าวว่าประมาณปีค.ศ.1456 ปัตตานีปกครองรามัน กอตอและสายบุรีด้วยและช่วยกรุงศรีอยุธยารบกับมะละกา ฮิกายัต ปัตตานีกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีและสายบุรีสำคัญมากและประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัตตานีจึงผนวกสายบุรีและส่งบันดาหราของปัตตานีเข้ามาปกครองเมืองสายบุรี เช่นบันดาหราคายู เคลัต (Kayu Kelat) ในสมัยรายฮิเยาและยุคต่อม่ามีการตัดถนนเชื่อมจากบ้านกรือเซะไปถึงสายบุรี ใช้เวลาเดินทางโดยช้าง 1-2 วันตามแต่สภาพอากาศและอาจต้องแวะค้างแรม 1 คืนระหว่างทาง อย่างไรก็ตามตำนานเจ้าเมืองกอตอฉบับภาษาไทยแตกต่างจากภาษาอังกฤษที่อ่านในบทความที่บูกาสสรุป [Bougas 2004]

แม่น้ำสายบุรีมีความยาว 168 กิโลเมตรและแบ่งเป็น 3 ตอนตามสภาพภูมิประเทศ คือ 1) ป่าชายเลน 2) ทะเลสาบและหนองน้ำบนพื้นที่ราบตอนกลาง 3) บนทิวเขา วังเมืองสายบุรีน่าจะอยู่บริเวณป่าชายเลน ป่าชายเลนประกอบไปด้วย อ.สายบุรีและอ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และอ.บาเจาะและอ.ปานาเระ จ.นราธิวาส ปากแม่น้ำย้ายจากสุไหงเมราบัง ทะเลสาบและหนองน้ำครอบคลุม อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.รามัน จ.ยะลา และอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นบริเวณรวบรวมนอแรดมาเพื่อส่งออกไปจีนในสมัยปลายราชวงศ์ซ่งของลังกาสุกะ มีการขายช้างให้กลันตันและช้างจากอ.รามันเป็นที่ชื่นชอบของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เมืองสายบุรีไม่ใช่เมืองเกษตรกรรมแต่ดั้งเดิม เขตตอนในบริเวณทิวเขาได้แก่ อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ และอ.สุคิริน จ.นราธิวาสมักจะมีพวกเงาะป่า (Orang Asli) อาศัยอยู่ซึ่งชาวปัตตานีและสายบุรีในสมัยนั้นมักจะดูถูกคนพวกนี้ [Bougas 2004] อึแรเดีย นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสกล่าวว่ามีการทำเหมืองทองที่บริเวณภูเขาของเมืองสายบุรีและเม็ดทองคำจากสายบุรีที่มะละกา [Erédia 1613; 1881; 1882]

5.9 หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับสายบุรี
แหล่งโบราณคดี อ.สายบุรี เขตป่าชายเลนของสายบุรีมีหลักฐานทางโบราณคดีหนาแน่นกว่าที่อื่นทำให้เชื่อว่าใจกลางเมืองอยู่บริเวณที่แม่น้ำสายบุรีเส้นเก่าไหลผ่าน เช่น บ้านกอตอ (Kampung Kota) บ้านทาและ (Kampung Laut) บ้านกะแล ราเยาะ (Kampung Pengkalan Roja) วัดสักขี เขาบูโด (Bukit Budo) เขาตาบิห์ (Bukit Tabih) บ้านฮูแต กอและ (Kampung Hutan Kolan) บ้านกอตอ บ้านทาและ และบ้านกะแล ราเยาะอยู่บริเวณแม่น้ำสายบุรีเก่าที่เรียกว่าคลองกอตอ คลองไม้แก่นและคลองสายบุรี มีวัดพุทธคือวัดสักขีอยู่ทางเหนือของคลองกอตอที่บ้านกายี ส่วนภูเขาบูโด อยู่ห่างจากคลองกอตอไปทางใต้ 4 กิโลเมตร เขาตาบิห์และบ้านฮูแตกอและเป็นจุดพักระหว่างทางจากสายบุรีไปปัตตานีตามช่องเขา Kalopho บ้านฮูแต กอและอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตรจากปากช่องเขานี้ บ้านกอตออยู่ห่างจากคุ้งน้ำคลองกอตอ 200 เมตรมีซากกำแพงและคันดินคูน้ำ ซากกำแพงและคูน้ำคันดินถูกทำลาย มีซากสถูปเจดีย์อยู่ สถูปใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เมตร น่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือสิ้นสุดสมาพันธรัฐตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และอาจมีชิ้นส่วนของศิวลึงค์และโยนีแต่ไม่พบเศษกระเบื้องจีน ที่บ้านทาและบริเวณคลองไม้แก่นหมู่บ้านอยู่ใจกลางโบราณสถาน ชาวบ้านเล่าจากที่บรรพบุรุษเล่าว่ามีกษัตริย์มลายูปกครองก่อนที่ชาวไทยจะอพยพเข้ามาและชาวบ้านเปลี่ยนไปนับถือสาสนาอิสลาม บริเวณนี้น่าจะเป็นวังก่อนยุคศาสนาอิสลาม มีซากสถูปและมีการค้นพบที่เผาศพแบบชาวพุทธในบริเวณนี้ วัดสักขีในปัจจุบันสร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ แต่มีซากเจดีย์เก่าสมัยก่อนหน้าที่จะสร้างวัดอยู่ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบพุทธศาสนามหายาน [Bougas 2004] ซึ่งอาจจะย้อนไปถึงสมัยนครศรีธรรมราช ตามพรลิงค์หรือศรีวิชัย ส่วนที่รือเสาะและยาปัตอาจจะต้องขุดค้นต่อไป

กษัตริย์สายบุรีในยุคที่นับถือพุทธศาสนาอาจจะถือว่าเขาบูโดเป็นเขาพระสุเมรุ เป็นจุดที่พบหลุมฝังศพมุสลิมเป็นจุดแรกในแหล่งโบราณคดี อ.สายบุรีมีลักษณะคล้ายกับหลุมศพในเกาะชวาซึ่งพบได้ที่สุสานบ้านดาโต๊ะ (Kampung Cerok) ที่อ.ยะหริ่งและสุสานบาราโหมที่บ้านกรือเซะ บ้านฮูแต กอและ มีซากกำแพงและวัดพุทธโบราณและอาจเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายบุรีด้วยคลองเล็กๆ Kedi ที่อ.รามันไม่พบโบราณวัตถุทางพุทธศาสนา มาห์ลิฆึย์แปลว่าวัง อ.รือเสาะน่าจะมีในสมัยสุลต่านมะละกา มีการค้นพบพระพุทธรูปสำริดที่บ้านดูเรียน ฮะยี (Durian Haji) ดังนั้นบ้านเมืองกระจุกตัวอยู่บริเวณชายฝั่งป่าชายเลน [Bougas 2004] สายบุรีน่าจะเป็นนครรัฐเล็กซึ่งในสายตาชาวจีนหรือชาวอาหรับมองว่าเป็นแค่หมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสายบุรี (Telubin) ทางตะวันตกเฉียงเหนือและตันหยงมาส (Tanjong Mas) หรือแม่น้ำบางนรา ตั้งอยู่ระหว่างลังกาสุกะทางเหนือและกลันตันทางใต้ในบันทึกต้าเต๋อหนานไห่จื้อและเต้าอี้จื้อเลื่อยตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสายบุรีที่ตื้นเขินกลายเป็นคลองกอตอ

แต่มีการค้นพบซากสถูปที่บ้านกอตอ บ้านทาและและวัดสักขีที่เป็นศูนย์กลางเริ่มต้นของเมืองสายบุรีในยุคก่อนอิสลามอยู่ที่บ้านทาและ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่าเมืองสายบุรีเป็นเมืองมลายูพุทธมหายาน และเคยส่งคนไปช่วยบูรณะสถูปใหญ่ที่นครศรีธรรมราช จากหลักฐานทางโบราณคดีชาวเมืองสายบุรีนับถือพุทธศาสนาไปจนถึงคริสตวรรษที่ 15 ชาวสายบุรีมีพิธีบูชาปันไต (Puja Pantai) ที่บูชายัญควายให้กลับพระศิวะเพื่อให้คุ้มครองชาวประมงชาวสายบุรี ปัตตานีและกลันตันอาจจะเคยบูชาพระศิวะ ดูจากการค้นพบฐานศิวลึงค์ที่บ้านกอติอ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่าเมืองสายบุรีส่งบุหงา มาศมาให้นครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยสมาพันธรัฐตามพรลิงค์ที่ยังเป็นอิสระจนกระทั่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา [Bougas 2004]

สายบุรีเป็นนครรัฐที่ขึ้นกับการค้าในสมัยปลายราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนพ่อค้าชาวจีนสามารถออกเดินทางมาหาสินค้าในแหลมมลายู โดยมีการค้นพบซากเรือจีนแถวอ.ปาเระ จ.ปัตตานี แผนที่เม่าคุ้นกล่าวถึงสายบุรีและปัตตานีว่ามีไม้จันทน์แดงระหว่างแม่น้ำปัตตานีและสายบุรีและค้าขายจนถึงราชวงศ์หมิง คนเขียนตำนานเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จึงต้องอาศัยบันทึกเต้าอี้จื้อเลื่อยของวังต้าหยวนและบทกวีนครเขตร์คามที่กล่าวว่าลังกาสุกะอยู่ทางเหนือของสายบุรี โกตามะลิฆึย์เป็นตำนานเล่าขาน ปัตตานีจากหลักฐานทางโบราณคดีน่าจะก่อตั้งในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 15 จากเศษกระเบื้องจีน ปัตตานีทำให้ชาวสายบุรีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามโดยส่งโต๊ะอิหม่ามและโต๊ะครูไปสอนศาสนา สายบุรีถูกผนวกเข้ากับปัตตานีเมื่อโปรตุเกสยึดมะละกาและปัตตานีขยายตัวตามที่กล่าวเอาไว้ในตำนานเจ้าเมืองกอตอ [Bougas 2004] มีวังยุคแรกในสมัยที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งอยู่ที่ซูงาโกตา ต.ตะโลไกรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งเหลือแต่บ้านเครือญาติเจ้าเมืองและแท่นหินที่ใช้ปักธงในสมัยก่อน ดังนั้นเมืองสายบุรีในเอกสารจีนอาจเป็นแค่หมู่บ้านหรือชุมชนริมแม่น้ำนั่นเอง [ตะลูแบ พ.ศ.2559]

เอกสารอ้างอิง

ตะลูแบ วาโซ. พ.ศ.2559. สัมผัสเมืองสายบุรี. ใน ยุวดี คาดการณ์ไกล. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

Bougas, Wayne A. 2004.The Early History of Sai. In Daniel Perret, Ammarâ Sîsuchât, Thanasuk (Sombûn) eds. Études sur l'histoire du sultanat de Patani. 259-281. Paris: EFEO

Erédia, M. Godinho de. 1881. Declaração de Malaca e Índia Meridional Com o Catay. In III Tratados, de Emanuel [Sic] Godinho de Erédia. Bruxelas (Brussels).

Erédia, M. Godinho de. 1881. Malaca, l’Inde Méridionale e Le Cathay: Manuscrit Original Autographe de Godinho de Eredia Appartenant à La Bibliothèque Royale de Bruxelles. Bruxelles (Brussels): Librairie Européenne C. Muquardt.



กำลังโหลดความคิดเห็น