xs
xsm
sm
md
lg

MOU44 และ JC44 เป็นโมฆะ ขัดพระบรมราชโองการ ก้าวล่วงพระราชอำนาจ ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ล้มล้างการปกครอง ควรมีโทษประหารชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นพระราชอำนาจ และถ้ากระทบต่อพระราชอาณาเขตคือดินแดน ต้องผ่านการลงมติของรัฐสภา เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา178 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

ข้อความเดียวกันนี้ปรากฎในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เช่น
รัฐธรรมนูญ 2521 มาตรา 162
รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 178
รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 และ
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นต้น

MOU หรือ memorandum of understanding ที่เป็นเรื่องของ Overlapping claim area หรือพื้นที่ทับซ้อนจากปัญหาเกาะโลซินระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้นทั้งสองฉบับ (2523 และ 2526) เป็นตัวอย่างอันดี ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อพระราชอาณาเขตและดินแดน ที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะว่า

1. มีพระบรมราชโองการ
2. พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย (ในหลวงรัชกาลที่ 9)
3. มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) นายกรัฐมนตรี
4. มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ส่วน Memorandum of understanding 2544 ที่ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ นายซกอาน และ joint communique 2544 ที่ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และนายฮุนเซน นั้น ทั้งสองฉบับเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่กระทบต่อพระราชอาณาเขต อันขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 จึงเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่

1. เป็นโมฆะ
2. ขัดรัฐธรรมนูญ ดังเช่น Joint communique 2551 ที่นายนพดล ปัทมะ ลงนาม กับกัมพูชา และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กค. 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วยซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง
3. ก้าวล่วงพระบรมราชโองการในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2516 ที่ประกาศหลักเขตทางทะเลในอ่าวไทย 18 จุด มีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
4. ก้าวล่วงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ได้มีพระบรมราชโองการ ไม่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

โดยเฉพาะข้อ 3 และ ข้อ 4 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49

และหากยังดำเนินการต่อไปจะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน อันจะเป็นเหตุให้นายทักษิณ ชินวัตร นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นผู้ที่ทำให้ไทยเสียดินแดน มีโทษจำคุกสูงสุดคือประหารชีวิต ดังนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า

มาตรา 119 ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

บทความนี้คือคำเตือนด้วยความปรารถนาดี จงหยุดขายชาติเถิด ก่อนจะไม่มีแผ่นดินอยู่










กำลังโหลดความคิดเห็น