หาเสียง “นายก อบจ.เมืองดอกบัว” คึกคัก เผยสู้กันหนักร้องซื้อเสียงกระฉูด 2 พัน/หัว สมรภูมิโซเชี่ยลฯก็เดือด แชร์ข่าวเชียร์-โจมตีกันสนั่น “จิตรวรรณ” โดยถลกปมคนต่างถิ่น แถมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต ก่อนยกข่าว “อิศราฯ” แก้ ถ้าได้รับเลือก สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ไม่วายถูกโห่ “หาคนดีไม่มีคดีโกงลงยากจัง-หากคดีสิ้นสุดว่าผิด = ขาดคุณสมบัติ-คนมีประวัติไม่ควรให้มาบริหาร”
บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ที่กำหนดลงคะแนนใสในวันที่ 22 ธ.ค.67 เป็นไปอย่างคึกคึก ผู้สมัครเลือกตั้ง 3 ราย และผู้สนับสนุนต่างลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างดุเดือด
ทั้ง นายกานต์ กัลป์ตินันท์ หรือ “นายกฯกานต์” อดีตนายก อบจ. ผู้สมัครเบอร์ 1 จากพรรคเพื่อไทย, นายสิทธิพล เลาหะวนิช หรือ “รองฯน้อย” อดีตรองนายก อบจ. ผู้สมัครเบอร์ 2 จากพรรคประชาชน และ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล หรือ “มาดามกบ” ที่ปรึกษาพรรคไทรวมพลัง ที่ลงสมัครในนามอิสระ
โดยมีกระแสข่าวรวมไปถึงมีข้อเรียกร้องไปถึง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อุบลราชธานี แล้วว่า เริ่มมีการซื้อเสียงในพื้นที่ โดยมีอัตราซื้อเสียงสูงถึง 2,000 บาทต่อหัว รวมไปถึงกรณีการปราศรัยให้ร้าย หรือทำให้เข้าใจผิดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ก่อนและภายหลังการรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 ในสังคมออนไลน์ของ จ.อุบลราชธานี ก็ไดิมีการโพสต์ข่าวความเคลื่อนไหวของ 3 ผู้สมัครอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่สนับสนุน และโจมตีในเรื่องประวัติหรือคุณสมบัติ
โดยเฉพาะรายของ นางจิตรวรรณ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่คนท้องถิ่น เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา รวมทั้งยังเคยเป็น สส.นครราชสีมา สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดินในอดีตมาก่อน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข่าวที่ นางจิตรวรรณ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีที่ นายพจน์ งามจั่นศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองน้ำใส จ.สระแก้ว กับพวก ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีลงลายมือชื่อในใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ และมีการนำใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ซึ่งก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หาก นางจิตรวรรณ ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.อุบลราชธานี แล้วอาจปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เหมือนกรณีที่ นายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี ได้รับคะแนนสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ขณะถูกส่งฟ้องในคดีทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปทุมธานี ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ถกเถียงว่า นายชาญ จะไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากมีคดีความอยู่ แต่ที่สุด กกต.ก็สั่งให้จัดเลือกตั้งใหม่ และปรากฎว่า นายชาญ ไม่ได้คะแนนสูงสุด ก่อนที่จะถูกศาลตัดสินจำคุกในคดีดังกล่าวภายหลัง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่รายงาน (https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/133618-inveseew.html) กรณีที่ นางจิตรวรรณ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหาทุจริต โดยเปรียบเทียบกับ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ “กำนันตุ้ย” นายก อบจ.ราชบุรี ที่ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยคดีกล่าวหาทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 รับฟ้องคดีไปแล้ว แต่ปรากฎว่า นายวิวัฒน์ ยังสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ราชบุรี ได้ เนื่องจากเป็นกระทำความผิดในสถานะเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับ นางจิตรวรรณ
“มีความชัดเจนแล้วว่า นายวิวัฒน์ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ. ราชบุรี เนื่องจากขณะกระทำความผิดไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ได้” สำนักข่าวอิศรา อ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ตอบข้อหารือความเห็นทางกฎหมายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
โดยรายงานฉบับดังกล่าวของ สำนักข่าวอิศรา ก็ได้ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนับสนุน นางจิตรวรรณ เพื่อเป็นการยืนยันว่า หากเลือก นางจิตรวรรณ เป็นนายก อบจ.อุบลราชธานี จะไม่มีปัญหาขาดคุณสมบัติ และสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการแสดงความคิดเห็นถึงกรณีของ นางจิตรวรรณ ในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง อาทิ หาคนดีไม่มีคดีโกงลงยากจัง, ก็ถูกแล้ว กระทำผิดในขณะที่ไม่ใช่ฐานะ จนท.รัฐ แต่หากคดีสิ้นสุดว่าผิด = ขาดคุณสมบัติ และบ้านนี้เมืองนี้มีแต่คนแบบนี้ทั้งนั้นเหรอ, คนมีประวัติไม่ควรให้มาบริหาร เป็นต้น.