xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม จากลังกาสุกะสู่ปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) ลังกาสุกะถูกบันทึกเป็นหลัง-ซี่-เจี้ย (狼西加) อยู่ในแผนที่เม่าคุ้นของเจิ้งเหอ พ.ศ.2164 [Wade 2013: 62-63] แต่หลักฐานฝ่ายไทยไม่เคยกล่าวถึงลังกาสุกะนอกจากปัตตานีที่เป็นหนึ่งใน 12 เมืองนักษัตรที่ขึ้นกับนครศรีธรรมราชในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช [Bougas 2004; Rajani 1975] อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านจากลังกาสุกะไปสู่ปัตตานีนั้นมีหลายทฤษฎี ทฤษฎีวรวารีเชื่อว่าลังกาสุกะเปลี่ยนชื่อเป็นวรวารีและเป็นปัตตานี จากการค้นคว้าของอับดุลเลาะห์ โมฮาเหม็ด ผู้แต่งหนังสือเกตุรุนัน ราชราชา กลันตัน ดัน เปริสติวา-เปริสติวา เบอร์เซอจาราห์ (Keturunan Raja-Raja Kelantan dan Peristiwa-Peristiwa Bersejarah) พบว่าราชาภารุภาษา (Raja Bharubhasa) หรือ สุลต่านมะห์มูด ชาห์ (Sultan Mahmud Syah) ได้เปลี่ยนชื่อลังกาสุกะเป็นวรวารี (Wurawari) ประมาณปีพ.ศ.1900-1941 โดยเขาเชื่อว่าเป็นช่วงที่ลังกาสุกะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามก่อนที่จะย้ายไปปัตตานี [Abdullah Mohamed 1981] ดังนั้นในช่วงปีพ.ศ.1900-1941 ราชาภารุภาษาผู้ปกครองวรวารีน่าจะยังไม่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านมะห์มูด ชาห์แต่อย่างใด วรวารีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ

ส่วนทฤษฏีโกตามะห์ลิฆัยซึ่งมีหลายเอกสารกล่าวถึง เช่นฮิคายัตปัตตานีกล่าวว่าเจ้าศรีวังสาก่อตั้งปัตตานี พ.ศ.1956 โดยย้ายมาจากโกตามะห์ลิฆัย แต่พงศาวดารเซอจาราห์มลายู กล่าวว่ารัฐสุลต่านปัตตานีก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2000 โดยย้ายมาจากโกตามะห์ลิฆัยเช่นกันโดยที่เอกสารทั้ง 2 เล่มนี้และเอกสารมลายูโบราณอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับลังกาสุกะเลย [Perret & Santo Alves 2022] อิบราฮิม สุกรีเชื่อว่าราชาหรือพญาศรีวังสาเป็นกษัตริย์องค์แรกของปัตตานีที่ย้ายเมืองจากโกตามะห์ลิฆัยมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านกรือเซะปัจจุบันและราชาหรือพญาอินทิราได้เปลี่ยนมานับถืออิสลามในปีพ.ศ.1946 และเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านมะห์มูด ชาห์ [Syukri 1985] แต่บูกาสค้นพบบันทึกโบราณที่กล่าวว่ากษัตริย์ปัตตานีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในปีพ.ศ.2013 [Bougas 1998] ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เจ้าชายปรเมศวรได้สังหารข้าหลวงของกรุงศรีอยุธยาที่ทูมาสิกในปีพ.ศ.1944 แล้วหนีไปก่อตั้งเมืองมะละกาขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1945 [กรมศิลปากร พ.ศ.2564: 55] และโตเม่ ปิรึช [Pires 2017(1512-1515)] กล่าวว่าข้าหลวงคนนี้เป็นโอรสของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยากับธิดาเจ้าเมืองปัตตานีในขณะนั้นอาจจะยังเป็นโกตามะห์ลิฆัยหรือลังกาสุกะก็ได้แสดงว่าในช่วงนั้นปัตตานีมีความสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาและยังไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามในช่วงพ.ศ.2013 มีความเป็นไปได้มากกว่าเพราะเป็นช่วงที่มะละกาขยายอิทธิพลเข้ามายึดเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถติดพันศึกกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่

ส่วนทฤษฎีการย้ายเมืองจากลังกาสุกะไปปัตตานีนักวิชาการหลายท่านเช่นศรีศักร วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ฌัคส์-เอกวลช์ หรือโอ เรลลี่ เชื่อว่าแม่น้ำที่ไหลผ่านลังกาสุกะเปลี่ยนเส้นทางทำให้การคมนาคมและชลประทานไม่สะดวกจึงย้ายไปบริเวณบ้านกรือเซะ อย่างไรก็ตามบูกาสได้ทำการวิจัยทางโบราณคดีหลายแห่งในจ.ปัตตานี เขาพบว่าสุเหร่าที่เป็นบ้านไม้อาจจะสร้างตามแบบวัดพุทธก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและทำพิธีเผาศพเหมือนกับชาวพุทธโดยทั่วไป เขาและคณะได้ศึกษาป้ายจารึกหลุมศพจากสุสานที่สำคัญๆหลายแห่งโดยเฉพาะกุโบะห์ บาราโหม (Kubur Marhom) ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพของสุลต่านคนแรกของปัตตานี และเขาได้สำรวจที่บริเวณบ้านกรือเซะ (Kerisik) ทำให้เขาเชื่อว่ากษัตริย์ปัตตานีคนแรกน่าจะย้ายที่ประทับจากลังกาสุกะแถวโบราณสถานยะรังมาอยู่แถวบ้านกรือเซะที่ติดกับทะเล และพ่อค้าชาวอินเดียมุสลิมน่าจะนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ที่ปัตตานี เนื่องจากหลักหินหลุมฝังศพ (กุโบะห์) ที่เป็นแบบเดียวกับอาเจะห์การสันนิษฐานเรื่องพ่อค้าอินเดียก็ยังไม่มีความแน่นอน จากการสำรวจของเขาพบว่าบริเวณบ้านกรือเซะมีแต่วัตถุโบราณสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ไม่พบวัตถุโบราณสมัยราชวงศ์ถังและซ่งเหมือนที่โบราณสถานยะรัง และไม่พบว่าสุสานมุสลิมในปัตตานีอยู่ใกล้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามในปัตตานีเหมือนกับที่มากัสซาร์ในเกาะสุลาเวสีทำให้ไม่สามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมพุทธ-พราหมณ์ของลังกาสุกะกับอารยธรรมอิสลามของปัตตานี [Bougas 1998] ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าพญาศรีวังสาย้ายเมืองจากโกตามะห์ลิฆัยหรือลังกาสุกะมาก่อตั้งปัตตานีที่บ้านกรือเซะในระหว่างปีพ.ศ.1956-2000 เมื่อสิ้นพระชนม์ลงพญาอินทิราเทวาวังสากษัตริย์องค์ต่อมาจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามซึ่งน่าได้รับอิทธิพลจากอาเจะห์ในปีพ.ศ.2013 เนื่องจากระยะเวลาการก่อตั้งปัตตานีจนถึงการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามมีช่วงเวลา 13-57 ปีเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จึงมองไม่เห็นการเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมพุทธ-ฮินดูที่ลังกาสุกะกับอารยธรรมอิสลามที่ปัตตานีอย่างชัดเจน

เอกสารท้องถิ่นในภาษามลายูที่เกี่ยวกับก่อตั้งรัฐปัตตานีและความสัมพันธ์ของรัฐปัตตานีกับรัฐมลายูอื่นๆมีมาก เอกสารเหล่านี้มีการคัดลอกต่อๆกันมาบ้าง กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ [ทวีศักดิ์ เผือกสม พ.ศ.2560; Perret & Santos Alves 2022] ฮิกายัต ปาตานีไม่กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างลังกาสุกะกับปาตานี ไม่ระบุชื่อลังกาสุกะ แต่จะบอกว่าปัตตานีสืบทอดมาจาก โกตะมะลิฆัย โดยเฉพาะฉบับคัดลอกของอับดุลเลาะห์ บิน อับดุล กาดีร์ (พ.ศ.2382) ที่ไม่กล่าวถึง จีน ญี่ปุ่น ริวกิวและยุโรปซึ่งมีเอกสารกล่าวถึงการติดต่อกับปัตตานีและการเข้ามาค้าขายของชาวต่างชาติในปัตตานี ฮิกายัต ปาตานีกล่าวถึงโกตามะลิฆัย และรัฐปาตานีเปลี่ยนศาสนาในปีพ.ศ.2000 และนับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ต้นแต่ความจริงไม่ใช่เพราะในปีพ.ศ.1919 และ พ.ศ.1944 มีหลักฐานโปรตุเกสกล่าวว่าว่ากษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีสนมเป็นธิดาเจ้าเมืองปัตตานี [Pires 2017(1512-1515)] ฮิกายัต ปาตานีเขียนมาถึงแค่ พ.ศ.2273 และคัดลอกในปีพ.ศ.2382 และไม่ได้ระบุถึงลำดับเวลาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เริ่มจากเรื่องสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์แห่งมะละกา มีการโจมตีกรุงศรีอยุธยาตอนเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2106-2107 การเสียชีวิตของรายากุนิงในปีพ.ศ.2231 ก่อนราชวงศ์กลันตันเข้ามาแทนที่แต่เอกสารโตเซนของญี่ปุ่นกล่าวว่ามีผู้หญิงปกครองปัตตานีไปจนถึงปีพ.ศ.2235 [Ishii 2004] กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยากับยะโฮร์เป็นส่วนใหญ่ มีการโจมตีจากปาเล็มบัง ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับเมืองสาย (มีมานานตั้งแต่ต้าเต๋อหนานไห่จื้อ มีความสมจริงสูงไล่ตามลำดับรัชกาล) ฮิกายัต มะโรงมหาวงศ์มีลักษณะเป็นตำนานขัดแย้งกับหลักฐานโบราณคดีโดยเฉพาะโบราณสถานฮินดูที่เคดาห์ จารึกโจฬะและเอกสารจีนมาก แต่นักวิชาการมลายูสายจารีตให้น้ำหนักมาก คัดลอกในปีพ.ศ.2380 [ทวีศักดิ์ เผือกสม พ.ศ.2560] มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในปีพ.ศ.2012-2057 เมืองลังกาสุกะได้ย้ายไปอยู่ที่ปัตตานีโดยขึ้นไปทางเหนือ 12 กิโลเมตร [Munro-Hay 2001] อย่างไรก็ตามในปีพ.ศ.2054 สุไลมาน อัล-มาห์รี (Sulaiman al-Mahir) ยังคงบันทึกชื่อลังกาสุกะเอาไว้ในการเดินเรือของเขาซึ่งเป็นกล่าวถึงลังกาสุกะเป็นครั้งสุดท้าย [Wheatley 1961]

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร พ.ศ.2564. ความสัมพันธืไทย-จีนจากเอกสารสมัยหยวน หมิง ชิง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร.

ทวีศักดิ์ เผือกสม พ.ศ. 2560. “ณ ที่ซึ่งแสงเทียนสลัวเลือน: ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปัตตานีในสถานการณ์สู้รบ.” ใน ไทยใต้ มลายูเหนือ ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, 82–105.

Abdullah B Mohamed. 1981. Keturunan Raja-Raja Kelantan Dan Peristiwa-Peristiwa Bersejarah. Negeri Kelantan: Perbadanan Muzium.

Bougas, Wayne A. 1998. Islamic Cemetary in Patani. Kuala Lumpur: The Malaysian Historical Society.

Bougas, Waynes A. 2004. The Early History of Sai. In Daniel Perret, Ammarâ Sîsuchât, Thanasuk (Sombûn) eds. Études sur l'histoire du sultanat de Patani. Paris: EFEO

Ishii, Yoneo 石井 米雄. 2004. “Notes on Pattani Recorded in Late XVIIth and Early XVIIIth Century Japanese Documents.” In Études Sur l’histoire Du Sultanat de Patani. Paris: EFEO.

Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Bangkok: White Lotus.

Perret, Daniel and Jorge Santos Alves. 2022. Patani Through Foreign Eyes: Sixteenth and Seventeenth Centuries. Hors-Séries 2. Paris: Association Archipel.

Pires, Tomé. 2017 (1512-1515). Suma Oriental. Edited by Rui Manuel Loureiro. Lisboa and Macau: Centro Científico e Cultural de Macau and Fundação Jorge Álvares; Macau: Fundação Macau.

Syukri, Ibrahim. 1985. Sejarah Kerajaan Melayu Patani: History of the Malay Kingdom of Patani. Translated by Corner Bailey and John Norman Miksic. Ohio: Ohio University Press.

Wade, Geoff. 2013. “The Patani Region in Chinese Texts of the 6th to the 19th Centuries.” In Ghosts of the Past in Southern Thailand: Essays on the History and Historiography of Patani, 53–84. Singapore: NUS Press.

Wheatley, Paul. 1961. The Golden Khersonese: Studies in the Historical Geography of Malay Peninsula before AD1500. Kuala Lumpur: University of Malaya Press.



กำลังโหลดความคิดเห็น