“คฤหัสถ์ทะเลาะกันเรื่องกาม สมณพราหมณ์ทะเลาะกันเรื่องทิฏฐิ”
ข้อความข้างต้นผู้เขียนจำไม่ว่าเป็นพุทธพจน์หรือเป็นคำพูดของนักปราชญ์ท่านใด แต่ที่นำมาเสนอท่านผู้อ่านก็ด้วยเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมพุทธปัจจุบัน
โดยนัยแห่งวาทกรรมข้างต้น มีความหมายชัดเจนว่าคฤหัสถ์ซึ่งเป็นปุถุชนคนมีกิเลส จะขัดแย้งกันทะเลาะกันก็ด้วยเรื่องกาม
คำว่า กามในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประการคือ
1. วัตถุกาม ได้แก่ สิ่งที่มีรูปร่างหรือภาวะที่สัมผัสได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติชนคนทั่วไปอยากได้ อยากมี และอยากเป็น บ่อเกิดหรือที่มาของกิเลสกาม
2. กิเลสกาม ได้แก่ กามตัณหาความอยากมี ภวตัณหาความอยากเป็น วิภวตัณหาความไม่อยากมี ความไม่อยากเป็น
ส่วนสมณพราหมณ์หรือนักบวชได้แก่ ผู้ที่ละเพศคฤหัสถ์มาเป็นผู้แสวงหาสัจธรรม จะทะเลาะและวิวาทกันก็ด้วยความเห็นที่ต่างกันในเรื่องเดียวกัน กล่าวหาซึ่งกันและกันในทำนองว่า แนวทางที่ตนเองพูดและทำเป็นสิ่งถูกต้อง ส่วนของคนอื่นซึ่งแตกต่างจากของตนไม่ถูกต้อง และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยมีมานะคือ การถือว่าตนเองดีกว่าคนอื่นหรือถือว่าคนอื่นด้อยกว่าตน
ในขณะนี้ผู้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวพุทธสับสนวุ่นวายกับข่าวพระภิกษุทะเลาะกับพระภิกษุด้วยกัน และพระภิกษุทะเลาะกับคฤหัสถ์ โดยที่ต่างฝ่ายต่างอ้างทำไปเพื่อปกป้องพุทธศาสนา จึงออกมาต่อต้านสิ่งที่อีกฝ่ายพูด และทำด้วยเห็นว่าการทำเช่นนั้น ทำให้พุทธศาสนาเสียหาย
ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างพระภิกษุกับพระภิกษุ และระหว่างพระภิกษุกับคฤหัสถ์แล้ว เชื่อตามนั้นก็จะคล้อยตามว่าทุกฝ่ายทำไปเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงเจตนาและวิธีการที่แต่ละฝ่ายแสดงออก ก็จะทำให้เกิดข้อกังขาว่า ถ้าทุกฝ่ายมีเจตนาดีทำเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงไม่ยึดแนวทางตามคำสอนของพระพุทธองค์โดยเริ่มจากการศึกษาปริยัติได้แก่ การเรียนรู้คำสอนในแง่ของทฤษฎี และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าสับสนก็ถามผู้รู้จนได้ข้อยุติตรงกับคำสอน ทั้งในส่วนของอรรถะและพยัญชนะแล้วนำไปปฏิบัติ
ดังนั้น ถ้าท่านต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อลด ละกิเลส จึงไม่เกิดประโยชน์อันใดที่จะมาถกเถียงกันเพื่อเอาชนะกันเพราะจะทำให้กิเลสคือความโกรธลุกโชน และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เว้นไว้แต่ว่าท่านศึกษาธรรมะเพื่อสนทนาแสวงหาชื่อเสียง และการยอมรับจากผู้คนในสังคมโดยรวม หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากจำนวนคนที่เข้ามาดูในโลกโซเชียล ดังที่หลายๆ ท่านทำอยู่ในขณะนี้
ยิ่งกว่านี้ ถ้าท่านเป็นนักบวช ท่านจะต้องระลึกเสมอถึงความเป็นสมณะหรือสมณสัญญาคือ ความจำได้หมดรู้ว่าท่านเป็นนักบวชแสวงหาความสงบไยต้องมาขัดแย้งกันเพราะความเห็นไม่ตรงกัน เพราะนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังเสียเวลาด้วย
คนสองฝ่ายเถียงกันในเรื่องเดียวกันมีโอกาสผิดทั้งคู่หรือถูกคนใดคนหนึ่ง ส่วนว่าถูกทั้งคู่ไม่มี จะมีเพียงบางส่วนผิดบางส่วนถูกเท่านั้น
อีกประการหนึ่ง ถ้ายึดตามหลักธรรมคุณข้อที่ว่า วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ วิญญูหิ) ก็จะบอกได้ว่าผู้ปฏิบัติจนได้บรรลุธรรมเท่านั้น จึงจะบอกได้ว่าตนเข้าถึงธรรมข้อใด เว้นไว้แต่ว่าผู้เข้าถึงธรรมระดับเดียวกับผู้รู้กันหรือผู้ที่เข้าถึงธรรมในระดับสูงกว่าผู้ที่เข้าถึงธรรมในระดับที่ต่ำกว่า เช่น พระโสดาบันย่อมรู้โสดาบันด้วยกัน หรือพระอรหันต์ย่อมรู้พระอริยบุคคลทุกระดับ เป็นต้น