หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ปักหมุดไว้แต่แรกนะครับว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการที่ดินเขากระโดงซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟคืน เป็นกรณีพิพาทอื้อฉาวที่ยืดเยื้อกันมานานเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนโดยทั่วไป ผู้ครอบครองนอกจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งแล้วยังมีนักการเมืองตระกูลชิดชอบ เครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” ที่ดินบางแปลงดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ก่อตั้งสนามกีฬาฟุตบอลและสนามกีฬาแข่งรถของตระกูลชิดชอบ
ในรัฐบาลที่แล้วพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้มีบารมีในพรรคนั้นดูแลกระทรวงคมนาคมก็คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนในสมัยนี้นายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกรมที่ดิน
กรณีที่ดินเขากระโดงที่ตระกูลชิดชอบครอบครองพร้อมกับชาวบ้านอื่นจำนวนประมาณ 850 แปลง จำนวนทั้งสิ้น 5,083 ไร่ โดยเป็นของเครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวาที่การรถไฟยืนยันว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 และ842-876/260 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 และคดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้มีคำพิพากษาว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และเป็นที่ดินรถไฟอย่างแน่นอน
และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ศาลได้มีคำพิพากษาโดยยึดเอาคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ถือได้ที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี ศาลระบุว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีคือการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ในคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับที่ศาลปกครองชี้ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟนั้นมีผู้ฟ้องการรถไฟฯ แล้วแพ้คดี 35 รายฉบับหนึ่งและ 2 รายฉบับหนึ่งรวม 37 ราย ศาลปกครองชี้ว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยเพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆนอกเหนือจากที่เป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถยันกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิ์ที่ดีกว่า
พูดง่ายๆ ก็คือ ศาลปกครองบอกว่าที่ดินเขากระโดงที่มีปัญหาพิพาทนั้นเป็นของการรถไฟฯ ไม่ใช่เฉพาะคดีที่ศาลฎีกาชี้ชัดแล้วจำนวน 37 ราย แต่รวมถึงที่ดินแปลงอื่นที่เป็นข้อพิพาทด้วยว่าเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่สองคือ อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตรวจสอบที่ดินในบริเวณดังกล่าว และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด
ถ้าตีความคำวินิจฉัยของศาลปกครองก็คือ ให้อธิบดีกรมที่ดินตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตามมาตรา 61 เพื่อให้เพิกถอนที่ดินที่มีข้อพิพาทกับการรถไฟทั้งหมดตามคำพิพากษาศาลฎีกานั่นเอง โดยศาลชี้ตอนหนึ่งด้วยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือกรมที่ดินมีภารหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท นั่นหมายรวมถึงที่ดินของการรถไฟซึ่งถือเป็นที่ดินของรัฐนั่นเอง
ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการของกรมที่ดินตามมาตรา 61 ตามคำสั่งของศาลปกครอง จนมีข่าวเมื่อพฤศจิกายน ปี 2566 ว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นอนุมัติใบลาออกจากราชการของ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งการลาออกในครั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ ได้ให้เหตุผลว่า เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและภรรยา โดยนายชยาวุธ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอธิบดี และแจ้งความประสงค์จะลาออกก่อนเกษียณเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อไปดูแลคนในครอบครัว
โดยการตัดสินใจลาออกในครั้งนั้นของอธิบดีกรมที่ดิน ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเชื่อมโยงกับปมข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือไม่ ซึ่งนายอนุทิน รมว.มหาดไทยต้นสังกัด ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และยืนยันว่าการขอลาออกในครั้งนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินเขากระโดง ไม่มีการกดดันทางการเมือง หรือ ปัญหาอื่นๆแน่นอน ขออย่าไปโยง
แต่แล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ทายาท นายพร เพ็ญพาส อดีตผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ที่ถูกโยกขึ้นมารับเป็นอธิบดีกรมที่ดินเมื่อ 20 ก.พ.2567 แทนนายชยาวุธได้ลงนามในหนังสือถึง ผู้ว่าการ การรถไฟฯ แจ้ง “ยุติเรื่องที่ดินเขากระโดง 5,000 ไร่”
เนื้อความในหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่แจ้งไปยัง รฟท.ระบุว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท.จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้” พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
สรุปง่ายๆ ว่า กรณีพิพาทเขากระโดงนั้นในมุมของคณะกรรมการของกรมที่ดินที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งของศาลปกครองนั้นได้ข้อยุติแล้วว่า กรมที่ดินจะไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของผู้ครอบครองที่เหลือ แม้จะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในที่ดินบางแปลงให้การรถไฟฯ ชนะคดีแล้ว ถ้าจะเอาที่ดินแปลงอื่นคืนการรถไฟฯ ต้องไปพิสูจน์สิทธิ์ในศาลเอาเอง
พูดง่ายๆว่า กรมที่ดินโดยอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นที่มีนายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดินเป็นประธาน กล้าที่จะลุยไฟโดยไม่สนใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของศาลปกครอง โดยยืนยันว่า ที่ดินที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินที่การรถไฟฯ จะอ้างเป็นเจ้าของหรือไม่ใช่ที่รถไฟ แต่ถ้าการรถไฟฯ ยังยืนยันก็ไปฟ้องเอาเอง การทำหน้าที่ของกรมที่ดินตามคำวินิจฉัยของซองศาลปกครองได้ยุติลงแล้ว นอกจากนั้นกรณีถือครองที่ดินของตระกูลชิดชอบนั้นเคยเข้าสู่การพิจารณาของป.ป.ช.มาแล้วตามที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอไว้ เหตุเริ่มต้นจากว่า เรียงศักดิ์ แขงขัน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหา บัญชา คงนคร รองผู้ว่าการ รฟท. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ในขณะนั้น ว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดิน รฟท. กรณี ชัย ชิดชอบ ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ กรุณา ชิดชอบ ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของรฟท. โดยวันเวลาที่เกิด คือ เดือนมิ.ย.2549-มิ.ย.2550
ต่อมาวันที่ 15 ก.ค.2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหา และมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งที่ 301/2551 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงนานกว่า 3 ปี และในระหว่างที่ไต่สวนฯนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ไต่สวนฯข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในบางเรื่อง
จนกระทั่งประมาณเดือนก.ย.2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มี ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน และกรรมการป.ป.ช. 8 คน ได้แก่ กล้าณรงค์ จันทิก ,ใจเด็ด พรไชยา ,ประสาท พงษ์ศิวาภัย , ศ.ภักดี โพธิศิริ ,ศ.เมธี ครองแก้ว , วิชา มหาคุณ ,วิชัย วิวิตเสวี และปรีชา เลิศกมลมาศ มีมติว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของรฟท. ซึ่งเป็น ‘ที่สงวนหวงห้าม’ มิให้ออกโฉนด จึงเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดิน ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 99
แต่ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมืองและการอยู่ในอำนาจทางการเมืองมายาวนานของตระกูลชิดชอบทุกอย่างก็ยังดำเนินไปจนกระทั่งล่าสุดกรมที่ดินยุคที่พรรคภูมิใจครอบครองอำนาจในกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือแจ้งว่า เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท.จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้
แน่นอนว่า การรถไฟฯ คงไม่อาจที่จะยอมรับหนังสือชี้แจงของกรมที่ดินได้ เพราะไม่นั้นก็จะมีความผิดเสียเอง แต่จะรับมือกับอำนาจทางการเมืองอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan