xs
xsm
sm
md
lg

ตามพรลิงค์ : สมาพันธรัฐที่โลกลืม ตอน หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับลังกาสุกะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

แผนที่เม่าคุ้น (茅坤) จากเอกสารอู๋เป่ยจื้อ (武備志) แสดงเมืองลังกาสุกะใกล้บนขวา (สงชลาค่อนไปทางขวาและสุไหงกลันตันและตรังกานูค่อนไปทางซ้าย) หลักฐานจีนและอาหรับให้ลังกาสุกะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู พงศาวดารซินถังชู้กล่าวลังกาสุกะมีพรมแดนติดกับปัน-ปันและแผนที่ทางทหารสมัยราชวงศ์หมิงอู๋เป่ยจื้อให้อยู่ทางใต้ของสงขลาใกล้กับแม่น้ำปัตตานี [Jacq-Hergoual’ch 2002: 162-163] หลักฐานร่วมสมัยของอาหรับให้ตั้งอยู่ระหว่างกลันตันกับสงขลา แต่หลักฐานมลายูอย่างฮิกายัตมะหรงมหาวงศ์ให้ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูมีอยู่ก่อนหน้าเคดาห์สมัยใหม่ แม้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับปัตตานี [Jacq-Hergoual’ch 2002: 162-163; Bendahara 1970] หลักฐานจีน อาหรับและอินเดียแยกเคดาห์และลังกาสุกะออกอย่างชัดเจนว่าเป็นคนละเมืองทางภูมิศาสตร์ ดูจากหลักฐานหลายฝ่ายพอล วีทลีย์นักภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษสรุปว่าลังกาสุกะควรตั้งอยู่ใกล้กับปัตตานี [Wheatley 1961]

อนันต์ วัฒนานิกร อดีตศึกษาธิการอำเภอยะรัง จ.ปัตตานี เป็นผู้เริ่มต้นขุดค้นทางโบราณคดีในอำเภอยะรังอย่างจริงจังเป็นคนแรกในปีพ.ศ.2496 ในปีพ.ศ.2505-2506 สจ็วต เวเวล (Stewart Wavell) นำทีมขุดค้นหาเมืองลังกาสุกะตามรอยธิดาพญานาคและสรุปว่าโบราณสถานยะรังคือลังกาสุกะจากการไปดูซากคูเมืองที่บ้านประแวซึ่งเมืองโบราณยะรังในขณะนั้นมีบริเวณคูเมือง 3 จุด มีเนินดิน 30 แห่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตรและอยู่ห่างจากอ่าวปัตตานีไปประมาณ 12-13 กิโลเมตร ในปีพ.ศ.2517 ควอริซท์ เวลส์ตรวจสอบวัตถุโบราณที่คุณอนันต์เก็บไว้ เช่น ธรรมจักรศิลาแบบทวาราวดี สถูปขนาดเล็กแบบคุปตะ นักโบราณคดีหลายท่าน เช่น จานิส สตาร์การ์ดท์ ศรีศักร วัลลิโภดม ชูศรี จามรมาน เขมชาติ เทพไชย ต่างลงความเห็นว่ากุณฑีที่ยะรังต่างจากกุณฑีที่ค้นพบที่สทิงพระบริเวณทะเลสาบสงขลา บ้านประแวและตัมมะหงงมีกำแพงและคูเมืองสร้างเมื่อประมาณพ.ศ.2050-2350 จากการขุดค้นในปีพ.ศ.2529 ได้พบกุณฑีจากบ้านประแว อายุประมาณพ.ศ.1600-1850 มีเนินเจดีย์ 2 เนิน เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์หมิงแต่ไม่มีกำแพงเมือง[Welch & McNeill 1989] มิเชล ฌัคส์-เอกวลช์ นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเสนอว่าปากแม่น้ำปัตตานีเดิมที่อยู่ใกล้ยะรังน่าจะเป็นที่ตั้งของลังกาสุกะ และเสนอว่าบริเวณทั้งหมดระหว่างปัตตานี สายบุรีและยะลาเป็นส่วนหนึ่งของลังกาสุกะและบูกาสเชื่อว่าปัตตานีสืบทอดต่อมาจากลังกาสุกะ [Bougas 1994] การขุดค้นในช่วงพ.ศ.2505-2515 อาศัยคำแนะนำของวีทลีย์และ การขุดค้นของกรมศิลปากรเริ่มในปี พ.ศ.2532 [Jacq-Hergoual’ch 2002: 166-175] การค้นพบทางโบราณคดีในปัจจุบันค้นพบซากโบราณสถานใกล้ อ. ยะรัง ในหมู่บ้านที่อยู่ทางใต้ อ.เมืองปัตตานีไป 15 กม.ซึ่งอาจเป็นที่ตั้งของเมืองที่ถูกบันทึกในพงศาวดารเหลียงชู้ [Jacq-Hergoual’ch 2002: 166-175] ลังกาสุกะเป็นนครรัฐหลายชาติพันธุ์มีทั้งพวกเงาะเนกริโตดูจากรูปวาดของจีน ออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ดูจากการค้นพบเหรียญและโบราณวัตถุที่เชื่อมโยงกับทวารวดีและมลายูจากโบราณวัตถุศรีวิชัย

เมืองโบราณยะรังมีอาณาบริเวณกว้างแต่ศูนย์กลางอยู่ในเขตบ้านประแว ต.ยะรังและบ้านวัด ต.วัด เป็นแหล่งชุมชนโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ เป็นที่ตั้งของลังกาสุกะที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6-8 เป็นอย่างน้อย มีแหล่งโบราณคดีสำคัญๆแบ่งเป็น 2 เขตดังนี้ 1) กลุ่มโบราณคดีในเขตต.ยะรัง บ้านประแว (ปาลาแว) บ้านใหม่ (กำปงบารู) และบ้านบอแล 2) กลุ่มโบราณคดีในเขตต.วัด ต.ปิตุมูดี ต.ระแว้ง ต.กระโด ได้แก่แหล่งโบราณคดีบ้านวัด บ้านลุโบะ บ้านพงกูวา บ้านปอซัน บ้านระแว้ง บ้านเกาะหวาย บ้านกระโด บ้านดูวิง ขอบเขตของกลุ่มโบราณสถานบ้านจาและทั้ง 2 กินพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตรอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี โบราณสถานบ้านจาและ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ต.ยะรังห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร ซากโบราณสถานที่กระจุกตัวอยู่ที่บ้านวัดอาจเป็นศูนย์กลางเมือง ส่วนโบราณสถานบ้านจาและอยู่ทางเหนือห่างจากตัวอำเภอ 2 กม.ทำให้นักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสันนิษฐานว่าเมืองลังกาสุกะตั้งอยู่ที่โบราณสถานยะรัง มีการค้นพบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 6-8 และสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ที่ยะละและจาและ อ.ยะรัง [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]

รายงานของคุณอนันต์เปิดเผยว่าพบศิวลึงค์ที่คูเมืองบ้านประแวจากสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 (เขต 1) โบราณวัตถุสมัยทวารวดีและคุปตะมาจากเนินเจดีย์ใกล้ๆบ้านวัด มีธรรมจักรศิลาและแบบหล่อตุ้มหู ที่เนินดินใกล้คูเมืองทางทิศตะวันตกของบ้านวัด (เขต 2) [Welch & McNeill 1989] จากการขุดค้นมีการค้นพบซากพุทธสถานแบบมหายาน โบราณวัตถุเช่นพระพุทธรูป เทวรูปพุทธมหายานและฮินดู พระพิมพ์ มีการค้นพบโบราณวัตถุก่อนสมัยศรีวิชัยเป็นจำนวนมากนอกจากนี้ยังค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยตอนปลายที่วัดคูหาภิมุข จ.ยะลา นอกจากนี้ยังค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยตอนปลายที่วัดคูหาภิมุข จ.ยะลาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 6-8 จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 [ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก] การค้นพบเหรียญกษาปณ์เปอร์เซียสมัยราชวงศ์แซสแซนิด 2 เหรียญ (พ.ศ.767-1185) เหรียญกษาปณ์อาหรับและเหรียญกษาปณ์จีนสมัยราชวงศ์ถังตอนต้นที่ร่วมสมัยกันก่อนยุคศรีวิชัยที่แหล่งโบราณคดียะรังแสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของลังกาสุกะในยุคนั้น [อนันต์ วัฒนานิกร พ.ศ.2534; Jacq-Hergoual’ch 2002: 166-175] และในเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 มีการค้นพบเหรียญทองจารึกว่า “ศรีลงกาโศเกศวรวรปุณยะ” จึงยืนยันได้ว่าโบราณสถานยะรังคือลังกาสุกะ [กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม 20 กรกฎาคม พ.ศ.2566] ดังนั้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 12-15 ชาวเมืองนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และพุทธศาสนาเถรวาทร่วมสมัยกับอารยธรรมทวารวดีในภาคกลาง และในพุทธศตวรรษที่ 14-15 หันมานับถือพุทธศาสนามหายานแบบศรีวิชัย แต่บริเวณนี้ไม่พบโบราณสถานและวัตถุของศาสนาอิสลาม [กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2542]

ที่บ้านสิเด๊ะ มีการค้นพบโครงสร้างอาคารอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อาจจะเคยเป็นวัดพุทธศาสนาซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ส่วนโกตามะลิฆัยอยู่ทางใต้สุดทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี ที่บริเวณบ้านกรือเซะ มีหลักฐานน้อยมากที่ชี้ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณชายทะเลก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 [Welch & McNeill 1989] เนื่องจากตัวเมืองอยู่ห่างชายฝั่ง 16 กิโลเมตรและมีคลองเชื่อมกับแม่น้ำไปออกทะเล [O’Reilly 2006: 53-54] การเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำอาจทำให้เมืองนี้เสื่อมลง ทำให้นักโบราณคดีหลายท่าน เช่น จานิซ สตาร์การดท์ ศรีศักร วัลลิโภดม ชูศรี จามรมานและเขมชาติ เทพไชยต่างมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับวิวัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในจังหวัดปัตตานี

รูป 1.โบราณสถานยะรังที่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะ ได้รับการอนุเคราะห์ภาพถ่ายจากสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา
เอกสารอ้างอิง

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม 20 กรกฎาคม พ.ศ.2566 [https://www.silpa-mag.com/]
คณะกรรมการฝ่ายประมวลผลเอกสารและจดหมายเหตุในคระกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. 2542. “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น:ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ภาคใต้.” รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย.

ครองชัย หัตถา พ.ศ.2552ก. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนันต์ วัฒนานิกร พ.ศ.2534. “เหรียญกษาปณ์เปอร์เซีย (ที่แหล่งโบราณคดีอำเภอยะรัง).” รูสิมิแล, 19–22.

Bendahara. 1970. Sejarah Melayu or Malay Annals. Translated by C. C. Brown. Kuala Lampur: Oxford University Press.

Bougas, Wayne A. 1994. The Kingdom of Patani : Between Thai and Malay Mandala. Dunia Melayu. Terbitan Tak Berkala 12. Bangi, Selangor: Institut Alam dan Tamadun Melayu, Universiti Kebangsaan Malaysia.

Jacq-Hergoualc’h, Michel. 2002. The Malay Peninsula: Crossroads of the Maritime Silkroad: 100BC-1300AD. Leiden: E J Brill.

O’Reilly, Dougald J. W. 2006. Early Civilizations of Southeast Asia. Lanham, MD: Rowman Altamira.

Welch, David J. and Judith R. McNeill. 1989. “Archaeological Investigations of Pattani History.” Journal of Southeast Asian Studies 20 (1): 27–41.

Wheatley, Paul. 1961. The Golden Khersonese: Studies in the Historical Geography of Malay Peninsula before AD1500. Kuala Lumpur: University of Malaya Press.



กำลังโหลดความคิดเห็น