xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยคือระบอบที่ดีที่สุด กับนายกรัฐมนตรีที่ชื่ออุ๊งอิ๊งค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ไม่รู้ว่าสังคมไทยมีความเห็นอย่างไรบ้างที่ได้ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอนล่ะว่าคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ต้องพออกพอใจแน่ แต่มีคำถามบ้างไหมว่า เราได้นายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถที่จะนำพาประเทศของเราไปข้างหน้าหรือไม่ อะไรคือคุณสมบัติที่อุ๊งอิ๊งค์มีนอกจากเป็นลูกสาวของทักษิณเท่านั้น


การเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยนั้นเป็นการเลือกทางอ้อมโดยให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ หากพรรคนั้นได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคการเมืองนั้นต้องมีจำนวนส.ส.อย่างน้อย 5 % หรือ 25 คนขึ้นไปจากจำนวน 500 คน หากไม่ถึงรายชื่อที่พรรคการเมืองพรรคนั้นเสนอก็ตกไป

พูดกันตามความเป็นจริงก่อนเลือกตั้ง เราก็น่าจะพอรู้แล้วว่า มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่พอจะมีส.ส.ถึง 25 คนบ้าง แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็เสนอรายชื่อคนที่ตัวเองจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีกันแม้ว่า จะไม่มีโอกาส คนที่อยากได้ชื่อว่าตัวเองเคยได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในพรรคเล็กก็อาจจะมีราคาที่ต้องจ่ายแม้ว่ารู้ว่าไม่มีโอกาสแม้แต่น้อยนิด แต่ก็เอาโปรไฟล์ไปใช้ได้แม้แต่เพียงเพื่อสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองก็ตาม

แต่พรรคที่มีความหวังว่าอาจจะชนะเลือกตั้งหรืออย่างน้อยเชื่อว่าตัวเองจะได้ส.ส.ถึง 5 % แน่ๆ ก็จะต้องคัดคนที่คิดว่าดีที่สุดมีความน่าเชื่อถือ มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้ แม้โดยปกติจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็มีประวัติการทำงานที่มีความรู้มีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง

แต่มีพรรคการเมืองหนึ่งก็คือ พรรคเพื่อไทยที่แม้จะเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนจนเต็มโควตา แต่หนึ่งในนั้นก็คือ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ลูกสาวของทักษิณ ซึ่งไม่เคยมีประวัติการทำงานที่ไหนมาก่อนและไม่มีใครรู้ว่าเธอมีความรู้ความสามารถอะไรที่จะนำพาประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไปแล้ว และคนเกือบ 70 คนในประเทศนี้กำลังถูกฝากชะตากรรมไว้กับเธอ

เธอไม่เคยมีประวัติการทำงานอะไรมาเลยทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่การทำงานในบริษัทของครอบครัวเองก็ไม่เคยผ่านงานบริหารอะไรมาก่อนเลย เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของทักษิณที่เกิดจากกองเงินกองทอง และได้รับการตามใจในฐานะลูกคนเล็กของครอบครัว หลังจากจบมหาวิทยาลัยไม่นานเธอก็แต่งงานมีครอบครัวมีลูกสองคนนั่นเป็นประวัติที่เรารับรู้

และในปีที่เธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีข่าวว่า ข้อสอบรั่วซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริงจากนายสุเมธ ตันติเวชกุลที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน ไม่รู้หรอกว่าข้อสอบรั่วไปถึงมือใครบ้าง แต่ผลการสอบของเธอในครั้งที่สองมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในเกือบทุกวิชา และเธอสามารถสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

หญิงสาวที่มีประวัติอย่างเธอไม่มีทางที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย และเวลาต่อมาเธอก็ยังได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย เหตุผลเดียวที่พอจะมีก็คือ เธอเป็นลูกสาวของทักษิณที่สังคมเชื่อว่า เป็นเจ้าของพรรคตัวจริงนั่นเอง สะท้อนว่าในพรรคเพื่อไทยที่พยายามเรียกตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้มีประชาธิปไตยในพรรคที่แท้จริง แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีเจ้าของ

แต่การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเธอก็มาตามหนทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จากรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่เราเชื่อมั่นว่า เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เมื่อเราได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ อุ๊งอิ๊งค์ที่เราสงสัยในความรู้ความสามารถแล้ว ก็มีคำถามเหมือนกันว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดจริงๆ หรือ

อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเขาจะยอมรับว่าประชาธิปไตยมีข้อดีในเรื่องของเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมือง แต่เขาก็วิจารณ์ว่ามันอาจนำไปสู่การปกครองโดยพวกที่ไม่เป็นฝ่ายดี (demagogues) และสนับสนุนผลประโยชน์ส่วนตนเหนือผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่เป็นธรรม

จอห์น สจวร์ต มิลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษที่มีอิทธิพลอย่างมากในด้านปรัชญาการเมืองและสังคม ยืนยันว่าการที่เสียงข้างมากเลือกในสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะกลุ่มเสียงข้างมากอาจมีอคติ ความไม่รู้ หรือผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดต่อผลประโยชน์และสิทธิของเสียงส่วนน้อย



ผลลัพธ์ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่ออุ๊งอิ๊งค์นั้น ชวนให้เราตั้งคำถามว่า วิธีเลือกนายกรัฐมนตรีแบบทางอ้อมที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนนั้นเป็นหนทางที่ถูกต้องไหม แม้เธอจะมาจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่การที่พรรคการเมืองพรรคนั้นได้เสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น เราเลือก ส.ส.ในแต่ละจังหวัดโดยพิจารณาถึงตัวบุคคลที่เราเลือกโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของนายกรัฐมนตรีที่พรรคนั้นเสนอไม่

มันสะท้อนว่า ระบอบเลือกตั้งของเราที่อ้างว่าอยู่ในระบอบประชิปไตยนั้นไม่ใช่วิธีที่ทำให้เราสามารถเลือกคนดีที่มีความสามารถได้ มันกลายเป็นการเลือกคนที่สามารถระดมส.ส.เข้ามาในสภาได้มากหรือไม่เท่านั้นไม่ได้การันตีเรื่องความรู้และความสามารถของคนเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจริงๆหรือ

เราไปดูการเลือกผู้นำของสิงคโปร์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบกึ่งเผด็จการ” (semi-authoritarian democracy)ประเทศสิงคโปร์มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่มักถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองเดียวคือ พรรคกิจสังคม (People's Action Party - PAP) ซึ่งเป็นพรรคที่ครองอำนาจมาโดยตลอดตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในปี 1965 การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองอื่น ๆ มักถูกข้อแคลงให้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากการกฎหมายและข้อบังคับที่เคร่งครัด บางรายงานยังชี้ว่ามีพฤติกรรมที่มุ่งเน้นการกีดกันพรรคการเมืองอื่น ๆ ออกจากการแข่งขันเต็มที่

แต่เขาได้นายกรัฐมนตรีที่มีคุณภาพมากหากไล่ไปดูนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อตั้งประเทศอย่างลีกวนยูมาจนถึงลอเรนซ์ หว่องในปัจจุบัน หรือแม้แต่ลีเซียนลุงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สามถึงจะเป็นลูกชายของลีกวนยูก็ต้องผ่านการทดสอบถึงความรู้ความสามารถก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ลอเรนซ์ หว่องนั้น ก่อนจะมีวันนี้เขาเคยทำงานในแวดวงราชการที่สำคัญหลายตำแหน่ง โดยเขาเคยทำงานในกระทรวงการสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการศึกษา เมื่อเข้าสู่การเมือง หว่องได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ครั้งแรก โดยเขาชนะการเลือกตั้งที่เขต จูร่ง จีอาร์ซี (Jurong GRC) จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงการศึกษาและกระทรวงกลาโหม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาชุมชน เยาวชน และกีฬา

ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา (Minister for Education) เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาในสิงคโปร์ จากนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Minister for Finance) เขามีบทบาทในการจัดการงบประมาณและการเงินของประเทศในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ถือเป็นการท้าทายที่สำคัญในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนี้

เมื่อไปดูการเลือกผู้นำประเทศจีน ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้นำของเขาจะต้องไต่เต้าจากระดับท้องถิ่น จนขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ไม่ได้ลอยมาแบบอุ๊งอิ๊งค์ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย

สีจิ้นผิงนั้นเมื่อายุ 15 ปี เขาถูกส่งไปทำงานในชนบทระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “ส่งเยาวชนไปชนบท” หรือ “Down to the Countryside Movement” ในปี ค.ศ. 1969 หรือปี พ.ศ. 2512 สีจิ้นผิงถูกส่งไปทำงานที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ (Liangjiahe) ในมณฑลส่านซี

สีเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีพ.ศ. 2517 และเริ่มทำงานในหลายตำแหน่งที่มณฑลเหอเป่ย (Hebei) จากนั้นได้มีบทบาทในรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน (Fujian), เมืองเซียะเหมิน (Xiamen), และมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) จนในปีพ.ศ. 2550 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการถาวรของสำนักงานการเมืองกลาง (Politburo Standing Committee) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุดในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในปีพ.ศ. 2551 สีจิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดี และหลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2553 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลาง (Central Military Commission) ในปีพ.ศ. 2555 สีได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลาง และในปีพ.ศ. 2556 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนมาถึงปัจจุบัน

เมื่อเทียบการขึ้นมาสู้ผู้นำประเทศอย่างลอเรนซ์ หว่อง และสีจิ้นผิง ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเทียบกับอุ๊งอิ๊งค์ นายกรัฐมนตรีของไทยที่มาจากระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันสะท้อนว่า เป้าหมายที่ดีย่อมสำคัญกว่าวิธีการ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้นำจีนและสิงคโปร์สามารถที่จะนำพาประเทศและมีบทบาทเด่นบนเวทีโลกโดยไม่ต้องพึ่งพาไอแพคและมีพี่เลี้ยงแบบนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของเรา


กำลังโหลดความคิดเห็น