xs
xsm
sm
md
lg

ไทยกับเขมรใครเสียเปรียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความพยายามในการนำพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับเขมรกลับมาบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง เกิดขึ้นในวันที่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาล ครั้งแรกที่นำมาพูดกันระหว่างผู้นำสองประเทศคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีมาเยือนไทยและมีการเจรจาเรื่องนี้กับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

จนกระทั่งมาปรากฏต่อสาธารณะด้วยการประกาศของทักษิณ เจ้าของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศในวันได้รับเชิญจากสื่อเครือเนชั่นไปแสดงวิสัยทัศน์หลังจากพ้นโทษจำคุกคดีทุจริตมาไม่นาน วันนั้นทักษิณประกาศว่า ต้องเจรจาเอาทรัพยากรในทะเลในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลมาใช้ โดยทักษิณอ้างว่า ถ้าไม่รีบขุดขึ้นมาใช้อีก 20 ปีก็ใช้ไม่ได้แล้ว

เพราะในปี ค.ศ. 2050-2060 หลายประเทศมีพันธสัญญากันว่า จะมุ่งไปสู่การไม่ปลดปล่อยคาร์บอน

และต่อมาอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ได้คุยเรื่องนี้อีกครั้งกับฮุน มาเนตในการพบกันที่เวียงจันทน์ หลักการที่ทักษิณและรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยอ้างก็คือ เส้นเขตแดนทางทะเลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างก็ว่ากันไป แต่ขุดเอาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนเอามาใช้ก่อนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทั้งสองประเทศในด้านพลังงาน

ถามว่าทำอย่างนั้นได้ไหม คือ ขุดทรัพยากรมาแบ่งปันกันก่อน เรื่องพื้นที่เขตแดนค่อยว่ากัน ตอบว่าทำไม่ได้ เพราะ MOU44 ข้อ 2 ระบุว่า การเจรจาสำหรับทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและการตกลงแบ่งเขตสำหรับอาณาเขตทางทะเลนั้นให้จัดทำไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้

ตีความภาษากฎหมายก็คือ จะตกลงแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลกับเขมรได้ก็เมื่อการเจรจาเส้นเขตแดนจบแล้ว คือ เหลือพื้นที่ทับซ้อนกันจริงๆ เท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีพื้นที่ทับซ้อนกันแน่ แต่จะถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ตามที่ทั้งสองอ้างสิทธิในเส้นเขตแดนที่ขัดลงไปในทะเลโดยยึดหลักกฎหมายที่ต่างกัน

กลับมาที่ MOU 44 อุ๊งอิ๊งค์ นายกรัฐมนตรีของไทยบอกว่าไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะจะถูกเขมรฟ้อง คำถามว่า ฟ้องใครที่ไหน การทำบันทึกความเข้าใจกันทำไมคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะยกเลิกแล้วแจ้งให้คู่สัญญาทราบไม่ได้ ดังนั้นต้องดูที่อุ๊งอิ๊งค์อ้างว่า ยกเลิกไม่ได้นั้นจริงไหม

ปรากฏว่าในการแถลงของกระทรวงการต่างประเทศในวันเดียวกัน นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายช่วงปี 2552 เรามีความสัมพันธ์ท้าทายหลายประเด็นกับกัมพูชากระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอครม. ให้ยกเลิก MOU 2544 เพราะมองว่าไม่มีความคืบหน้าก็ไม่มีความจำเป็นซึ่งขณะนั้นครม. รับในหลักการ ก็แปลว่า MOU 44 สามารถยกเลิกได้ใช่ไหม คำพูดของอุ๊งอิ๊งค์จึงไม่เป็นความจริง พูดภาษาชาวบ้านก็คือ มั่ว

เพียงแต่ในครั้งนั้นการยกเลิกกรอบการเจรจาตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องผ่านสภาฯ เสียก่อน ปรากฏว่ายังไม่เข้าสภาฯ ก็มีการยุบสภาเสียก่อน ต่อมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ปี 2557 มองว่า MOU 2544 ยังมีประโยชน์ข้อดีมากกว่าข้อเสียและกัมพูชาก็ยอมรับจึงได้เสนอกลับ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม. แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีการเจรจาอะไรกันจริงๆ จังๆ จนมาฟื้นเมื่อระบอบทักษิณกลับมามีอำนาจนี่แหละ

ต้องไม่ลืมนะว่า ฮุนเซนกับทักษิณ เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน อาทิ ฮุนเซนเคยเสนอที่พักอาศัยในเขมรให้แก่ทักษิณเมื่อเขาเผชิญกับปัญหาทางการเมืองในประเทศ นอกจากนั้น ฮุนเซนยังเคยกล่าวว่าพร้อมที่จะให้ทักษิณเข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจเขมร

ปัญหาที่สำคัญคืออะไร คำตอบคือเส้นเขตแดนทางทะเลที่เขมรลากมานั้น ลากผ่านเกาะกูดของไทย โดยเมื่อถึงตัวเกาะกูด เขมรก็วกเป็นรูปตัว U เพื่อยืนยันว่า เขมรไม่ต้องการเกาะกูดของไทย ซึ่งตรงกับที่อุ๊งอิ๊งค์และคนในรัฐบาลประสานเสียงกันว่า เกาะกูดเป็นของไทยซึ่งก็เป็นความจริง และเป็นของไทยตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 (Treaty of 1907 between Siam and France) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ได้มีการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนที่ตกลงระหว่างสยามและฝรั่งเศสสนธิสัญญานี้กำหนดให้พื้นที่ปัจจุบันที่เป็นจังหวัดตราดรวมถึงเกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของสยาม (ไทย) เพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนบางส่วนที่เป็นพื้นที่ในปัจจุบันของเขมร

เขมรก็รู้ดี เมื่อถึงเกาะกูดเขาก็ลากเส้นเว้าอ้อมเกาะไม่ผ่ากลางเกาะกูด แต่ถ้าเรายอมเจรจากับเขมรตาม MOU 44 โดยไม่เจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลให้จบเสียก่อน เขมรก็ยังอ้างสิทธิในเส้นเขตแดนนี้ที่ลากมา ลองนึกดูนะครับถ้าเส้นเขตแดนนี้ยังอยู่ว่า เกาะกูดทั้งเกาะเราสามารถใช้พื้นที่ทางทะเลได้เฉพาะตอนเหนือของเกาะครึ่งหนึ่ง เพราะครึ่งหลังถ้าเราหย่อนเท้าลงไปในทะเล เขมรก็จะอ้างได้ว่าพื้นที่นั้นเป็นของเขาได้ทันที

แล้วปัญหาระหว่างไทยกับเขมรคืออะไร คำตอบคือการยึดกฎหมายกันคนละฉบับ อ้างหลักการคนละหลักการจึงทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ถ้าพูดกันจริงไม่มีใครผิดใครถูกหรอกต้องเอาไปให้ศาลระหว่างประเทศตัดสิน แต่ทางออกที่ดีคือ ทำอย่างไรให้ไทยและเขมรยึดหลักการและกฎหมายเดียวกันในการลากเส้นเขตแดนทางทะเล

ทั้งนี้ไทยอิงหลักการที่เรียกว่า “principle of equidistance” หรือ “หลักกึ่งกลาง” (Equidistance Principle) โดยหลักการนี้จะคำนวณเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลโดยยึดระยะที่เท่ากันจากชายฝั่งของสองประเทศตามหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea - UNCLOS) ปี 1982

ส่วนเขมรอ้างตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยใช้อีกหลักการหนึ่งที่เรียกว่า “principle of equity” หรือ“หลักความยุติธรรม” (Equity Principle) ซึ่งไม่ได้ยึดแค่ระยะกึ่งกลางแต่จะพิจารณาปัจจัยหลายประการเช่นลักษณะของชายฝั่ง, การใช้งานทรัพยากรที่มีอยู่และประเด็นประวัติศาสตร์ทั้งนี้เขมรได้ลงนามในอนุสัญญา UNCLOS แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน

ถ้าสองประเทศตกลงกันไม่ได้ทางออกคือ ต้องให้ศาลระหว่างประเทศหรืออนุญาโตตุลาการที่ตีความกฎหมายระหว่างประเทศและเปิดโอกาสให้ชาติทั้งสองเสนอมุมมองของตนเองในข้อพิพาททะเลซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ เพราะที่ผ่านมามีคำพิพากษาของศาลที่ทั้งยึดหลักการ Equidistance Principle และ Equity Principle แต่ทางที่ดีที่สุดคือต้องตกลงกันให้ได้

แต่ดูเหมือนท่าทีของรัฐบาลไทยจะยอมรับการเจรจาตาม MOU 44 กับเขมรโดยมีเส้นที่เขมรลากผ่านเกาะกูดแล้วเว้าเป็นตัว U เลาะไปทางใต้ของเกาะซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก แน่นอนว่า เขมรเขาไม่สนใจเกาะกูดจริงๆ นั่นแหละ แต่เขาพอใจที่มีเส้นเขตแดนที่เขาลากมา ดังนั้น ถ้าไม่ตกลงเส้นเขตแดนให้จบก่อนแล้วไปตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายอ้างว่าทับซ้อนเพื่อเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้ ฝ่ายที่เสียเปรียบคือประเทศไทย เป็นไปได้หรืออาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดเรามีสิทธิโดยไม่ทับซ้อนเพียงครึ่งเดียว

ลองใช้สติปัญญาเพียงน้อยนิดว่าฝ่ายไหนที่ได้ประโยชน์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน ที่ไม่มีวันที่ประชาชนจะได้ใช้พลังงานที่ถูกลงจากโครงสร้างในปัจจุบันแลกกับการสุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดน
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น